Skip to main content
sharethis
 
กระทรวงแรงงานเร่งหางานให้ผู้พ้นโทษกว่า 1 หมื่นคน
 
นายสิงหเดช ชูอำนาจ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่มีผู้ต้องขังจำนวนหลายหมื่นคน ได้รับการพระราชทานอภัยโทษ นั้น ทาง พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการกรมการจัดหางานเร่งให้ความเหลือบุคคลดังกล่าวให้มีอาชีพ มีงานทำโดยเร็ว ดังนั้นกรมการจัดหางานจึงได้สั่งการให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด รวมถึงสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ประสานผ่านกรมราชทัณฑ์หรือผู้พ้นโทษโดยตรง เพื่อให้ผู้พ้นโทษดังกล่าวที่ประสงค์จะหางานทำมาลงทะเบียนสมัครงาน และส่งตัวพบนายจ้างที่แจ้งตำแหน่งงานว่างไว้ได้พิจารณาบรรจุงานต่อไป
จากนั้นให้ติดตามผลการบรรจุงานและรายงานผลให้กรมการจัดหางานทราบโดยด่วน ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งว่างงานทั่วประเทศรองรับ จำนวนกว่า  55,000 อัตรา เช่น พนักงานบรรจุภัณฑ์ พนักงานในกระบวนการผลิต พนักงานขายหน้าร้าน พนักงานขับรถ แม่บ้าน พ่อครัว เป็นต้น ซึ่งสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือสมัครงานได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694
 
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวอีกว่าสำหรับผู้พ้นโทษที่เคยได้รับการฝึกอาชีพในระหว่างต้องขัง ที่ต้องการจะประกอบอาชีพอิสระของตนเองก็ได้จัดกิจกรรมให้คำปรึกษา แนะแนวอาชีพ เช่น อาชีพที่ตนเองมีความรู้ ความสามารถ ตลาด แหล่งเงินทุน เป็นต้น
 
"ขอให้นายจ้าง สถานประกอบการ และประชาชนทั่วไปมั่นใจได้ว่าคนกลุ่มนี้มีฝีมือและจะสามมารถทำงานในสังคมได้"อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว
 
 
ก.แรงงานยันลูกจ้างบ้านน้ำท่วม หยุดงานไม่ถือเป็นวันลา
 
เมื่อวันที่ 7 ม.ค. นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัดและขยายเป็นบริเวณกว้างนั้น ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน ได้ตระหนักในความเดือดร้อนของประชาชน จึงได้มีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดบูรณาการทำงาน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องแรงงาน ลูกจ้าง ผู้ประกอบการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ลูกจ้าง พนักงาน ที่ประสบความเดือดร้อนจากอุทกภัย ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่ถือเป็นวันลา รวมทั้งจะดำเนินการสำรวจผลกระทบและความต้องการทำงานว่าจะมีผู้ที่ไม่สามารถทำงานในพื้นที่เดิมหรือต้องการประกอบอาชีพต่าง ๆ ว่ามีจำนวนเท่าใด เพื่อดำเนินการจัดเตรียมตำแหน่งงานพร้อมอาชีพอิสระไว้ให้ในพื้นที่เดิมรวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงรองรับภายหลังน้ำลด ในด้านของผู้ประกันตนจะช่วยเหลือโดยการลดการจ่ายเงินสมทบเหลือ 3 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ลดสิทธิประโยชน์
 
“สำหรับพี่น้องแรงงาน ลูกจ้าง นายจ้าง และประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยในครั้งนี้ สามารถขอรับบริการความช่วยเหลือ จากกระทรวงแรงงาน โดยสามารถติดต่อได้ที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ได้ที่สำนักงานแรงงานจังหวัด สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด สถาบันศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด และสำนักงานประกันสังคมทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 สายด่วนประกันสังคม 1506 และสายด่วนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 1546” โฆษกกระทรวงแรงงานกล่าว
 
 
เผย 4 เดือน กพร.ปล่อยกู้พัฒนาฝีมือกว่า 46 ล้าน
 
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 มีสาระสำคัญเพื่อให้การพัฒนากำลังคนของประเทศมีการพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตั้งกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ไทยแลนด์ 4.0 สนับสนุนอุดหนุนกับผู้ประกอบการที่ส่งลูกจ้างเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และเมื่อนายจ้างได้จ่ายเงินค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือฯ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 180 วัน สามารถยื่นของรับเงินอุดหนุนจำนวน 1,000 บาท ต่อลูกจ้าง 1 คนไม่เกินปีละ 100,000 บาท
 
นอกจากนี้คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เห็นชอบค่าใช้จ่ายกองทุนฯ ประจำปี 2560 เป็นค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการกู้ยืมไปใช้ในการฝึกอบรมพนักงานด้วย ซึ่งระหว่างเดือนต.ค.-ธค. 59 อนุมัติให้กู้แล้ว 26,364,000 บาท 32 แห่ง กำหนดให้ชำระคืนภายในระยะเวลา 1 ปี โดยไม่มีดอกเบี้ย และในเดือนม.ค.60 คณะกรรมการส่งเสริมฯ พิจารณาอนุมัติให้กู้ยืมอีก 19,998,300 บาท เพื่อให้นายจ้างหรือผู้ประกอบการนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม หรือเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อให้ลูกจ้างได้รับอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้น
 
โดยส่วนนี้มีการกู้ยืม 24 แห่ง รวมอนุมัติให้กู้ยืมแล้ว 56 แห่งเป็นเงิน 46,362,300 บาท จากการสำรวจพบว่ามีสถานประกอบการประสงค์กู้ยืมระหว่างเดือน ก.พ.-ก.ย.2560 อีก 11 แห่ง เป็นเงิน 5,400,000 ลาท ซึ่งการให้กู้ยืมเงินหลังจากวันที่ 12 มกราคม 2560 แล้ว จะคิดอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 3 ต่อปี นายจ้างหรือผู้ประกอบการสอบถามได้ที่ 0 2643 4977 หรือ 0 2245 4035
 
 
คนงานไทยจำนวน 36 คน ได้ถูกนายหน้าหลอกลวง โดยอ้างว่าสามารถส่งไปทำงานในประเทศเกาหลีได้
 
เมื่อวันเสาร์ที่ 7 ม.ค. 60 ที่ผ่านมา คนงานไทย จำนวน 36 คน ได้ถูกนายหน้าที่เป็นคนจังหวัดนครราชสีมาชื่อนางนาง และพวก หลอกลวง โดยอ้างว่าสามารถส่งไปทำงานในประเทศเกาหลีได้ โดยเก็บค่าค่าดำเนินการและค่าใช้จ่ายจากคนหางานไป คนละ 65,000 - 120,000 บาท คนหางานหลงเชื่อจ่ายเงินไปให้ แต่เมื่อถึงวันเดินทาง คนงานได้ไปขึ้่นตั๋วโดยสารกับสายการบินฯ ที่สนามบินดอนเมือง แต่พนักงานประจำเคาว์เตอร์ เห็นพิรุท ว่า เป็นการซื้่อตั๋วไปขาเดียว ไม่มีขากลับ จึงไม่ออกตั๋วให้ คนงานจึงไม่สามารถเดินทางไปได้ จึงจะรวมตัวกันไปแจ้งความดำเนินคดีกับนางนางและพวกต่อไป เลยขอเตือนบรรดาคนหางานทั้งหลายนะครับ การลักลอบไปทำงานในเกาหลีมีความเส่ียงต่อการถูกหลอกลวงสูงมาก ในระยะหลัง มีคนหางานหลายราย มาร้องทุกข์กับ ศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน ว่า จ่ายเงินไปแล้วไม่ได้บิน หรือบินไปแล้วงานและ รายได้ไม่เป็นไปตามท่ี่นายหน้่าอ้าง บางรายก็ถูก ต.ม.จับกุมขณะทำงาน ทั้งที่เพิ่งยังทำไม่ถึงเดือนก็มี ดังนั้น ก่อนคิดจะลักลอบไปทำงานต่างประเทศ โทร.มาปรึกษาเราสักนิด เพื่อป้่องกัีนมิให้ถูกหลอกลวงจนเสียเงินเสียทอง แถมยังต้องมาเจ็บใจอีกต่างหาก สอบถามรายละเอียด โทร. สายด่วน กรมการจัดหางาน
 
 
อยุธยาเปิดตลาดนัดแรงงานรองรับคนตกงานกว่า 1,500 อัตรา
 
(10 ม.ค.) ที่เดอะฮอลล์ ศูนย์การค้าอยุธยา ซิตี้พาร์ค ว่าที่ร้อยตรีพิเชียน ลิมป์หวังอยู่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดกิจกรรม "วันนัดพบแรงงานอาชีวศึกษาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา" ซึ่งจัดขึ้นโดยอาชีวศึกษาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและสถานประกอบการต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษาและประชาชนได้มีงานทำ พร้อมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน
 
โดยภายในงานได้มีการให้ความรู้แก่นักเรียน นักศึกษาเกี่ยวกับโอกาสในการทำงาน การเตรียมความพร้อมก่อนการทำงาน เทคนิคในการสมัครงานให้มีโอกาสได้รับงานสูง การเขียนใบสมัครงาน และการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น 108 อาชีพให้ฟรี นอกจากนี้ ที่สำคัญยังมีการออกบูธรับสมัครงานจากบริษัทชั้นนำต่างๆกว่า 40 บริษัท เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่กำลังหางานและต้องการเปลี่ยนงาน สามารถเลือกสมัครได้โดยตรง โดยมีตำแหน่งงานรองรับกว่า 1,500 อัตรา
 
โดย ว่าที่ร้อยตรีพิเชียน ลิมป์หวังอยู่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า การจัดงานดังกล่าวนับเป็นโอกาสที่ดีของชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษาที่เรียนมาในสายอาชีวะและใกล้จะเรียนจบได้มีช่องทางในการทำงาน ขณะที่สถานการณ์การจ้างงานของจังหวัดยังเป็นปกติ อัตราการเลิกจ้างมีน้อยมาก เนื่องจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางทางด้านอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหลายๆแห่ง ยังมีความต้องการแรงงานอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นแหล่งรองรับแรงงานทางวิชาช่างได้เป็นอย่างดี
 
นายจรัญ ยุบรัมย์ ประธานอาชีวศึกษาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์แรงงานในภาคอุตสาหกรรมได้เริ่มก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 นั่นคือจะมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยในการทำงานมากขึ้น สิ่งสำคัญในการทำงานยุคนี้คือความรู้ความเข้าใจในเรื่องของภาษาและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพราะฉะนั้นการเตรียมคนของอาชีวะหลังจากนี้จะต้องมีการเน้นหนักในเรื่องนี้เป็นพิเศษ อาจจะมีการเปลี่ยนจากการสอนให้คนทำงานเป็นสอนให้คนเรียนรู้การใช้เครื่องจักรแทน และที่ผ่านมาได้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับประเทศต่างๆ เพื่อเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้
 
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก เนื่องจากนักศึกษาที่จบมาล้วนมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้อัตราการรับจ้างงาน ยังมีมากกว่าจำนวนนักศึกษาที่จบมา ดังนั้น จึงเพียงพอต่อการจ้างแรงงานในอนาคต
 
 
เตือนเรือประมงยื่นขอ ซีบุ๊ค พ้น 120 วัน ใช้ต่างด้าวผิด กม.
 
กรมประมงเผยเรือประมงพาณิชย์ มายื่นขอ"ซีบุ๊ค" แล้วกว่า 3,000 ลำ มีแรงงานต่างด้าวกว่า 3หมื่นคน เตือนเรือประมงที่เหลือกว่า 8,000 ลำมายื่นขอภายใน 120 วัน หากพ้นกำหนดพบใช้แรงงานต่างด้าวมีโทษปรับสูงสุดถึง 8 แสนบาทต่อคน พร้อมเพิกถอนใบอนุญาตทำประมง
 
นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หลังจากที่กรมประมงได้แจ้งให้เจ้าของเรือประมงพาณิชย์ที่มีขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอส ขึ้นไป หรือเจ้าของเรือประมงพาณิชย์ที่มีขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไปที่ใช้เครื่องมือทำการประมงประเภทอวนลาก อวนล้อมจับและอวนครอบปลากะตักที่มีแรงงานต่างด้าวทำงานในเรือประมง ต้องมายื่นคำขอรับหนังสือคนประจำเรือสำหรับคนต่างด้าวหรือ "ซีบุ๊ค" ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนถึงวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมเรียกเก็บ 100 บาท ต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน ทั้งนี้ ล่าสุดมีเรือประมงพาณิชย์มายื่นขอซีบุ๊คแล้วกว่า 3,100 ลำ จากเรือประมงพาณิชย์ที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมง 11,045 ลำ และมีแรงงานต่างด้าวมายื่นขอซีบุ๊คทั้งหมดกว่า 3 หมื่นคน จากแรงงานต่างด้าวซึ่งตามข้อมูลของกรมการจัดหางานมีมากกว่า 1.3 แสนคน
 
นางอุมาพร กล่าวอีกว่า หลังวันที่ 15 ตุลาคม 2559 เรือประมงพาณิชย์ที่มายื่นขอ ซีบุ๊คจะต้องเสียค่าธรรมเนียม 100 บาทต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน และหลังวันที่ 10 มกราคม 2560 ซึ่งครบกำหนด 120 วัน ตามที่ประกาศ
 
สำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการออกหนังสือคนประจำเรือกำหนดไว้ หากแรงงานต่างด้าวไม่มีซีบุ๊คแล้วไปทำงานในเรือหรือท่าเทียบเรือ เจ้าของเรือประมงพาณิชย์จะมีความผิดตามมาตรา 153 พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 โดยมีโทษปรับไม่น้อยกว่า 400,000 บาท แต่ไม่เกิน 800,000 บาทต่อแรงงานต่างด้าวที่ประจำเรือ 1 คน และให้อธิบดีกรมประมงมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมงของเจ้าของเรือประมง และให้อธิบดีกรมเจ้าท่ามีคำสั่งเพิกถอนประกาศนียบัตรของผู้ ควบคุมเรือตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อพ้นกำหนด 120 วัน กรมประมงยังคงเปิดให้เจ้าของเรือประมงพาณิชย์มายื่นขอซีบุ๊คได้ จึงขอให้มาดำเนินการเพื่อให้ เป็นไปตามกฎหมาย
 
 
แรงงาน บรรเทาเดือดร้อนนายจ้าง ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ ฟื้นฟูสถานประกอบกิจการหลัง
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ มีสถานประกอบกิจการได้รับผลกระทบ ๘,๗๒๕ แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ๑๒๕,๙๑๘ คน ในการนี้ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้ทุกงานในสังกัดเร่งลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือเป็นการด่วน ในส่วนของกสร. ได้กำหนดมาตรการในการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับนายจ้าง ลูกจ้าง ที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นสองระยะ คือ มาตรการแรกขณะที่ยังมีสถานการณ์น้ำท่วม
 
โดยสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเข้าไปตรวจเยี่ยมสถานประกอบกิจการที่ประสบปัญหาอุทกภัยโดยร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสม
และขอความร่วมมือจากนายจ้างให้ผ่อนผันเวลาทำงาน หรืออนุญาตให้ลูกจ้างที่ไม่สามารถมาทำงานได้ตามปกติสามารถหยุดงานโดยไม่ถือเป็นวันลา มาตรการระยะที่สองคือการบรรเทาความเดือดร้อนหลังจากน้ำลด โดยการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่นายจ้างเพื่อนำไปปรับปรุงซ่อมแซมเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ภายในวงเงิน ๒ ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๒ ต่อปี ผ่อนชำระไม่เกิน ๔ ปี ปลอดเงินต้นในปีแรก
 
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวต่อไปว่า นายจ้าง ผู้ประกอบการรายใดสนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
 
 
บอร์ดประกันสังคม มีมติลดอัตราจ่ายเงินสมทบ พร้อมขยายเวลานำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ให้นายจ้าง-ลูกจ้าง ประสบอุทกภัย 12 จังหวัดภาคใต้
 
เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 60 ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานกรรมการประกันสังคม เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการประกันสังคม ว่า บอร์ดประกันสังคม มีมติให้ลดอัตราจ่ายเงินสมทบ และขยายเวลาการนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมให้กับนายจ้างลูกจ้างที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 12 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง และประจวบคีรีขันธ์
 
ทั้งนี้ ให้ลดอัตราเงินสมทบจากนายจ้างและลูกจ้าง ลงฝ่ายละร้อยละ 2 คือ จากเดิมที่จ่ายฝ่ายละร้อยละ 5 ให้เหลือจ่ายฝ่ายละร้อยละ 3 เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค. โดยนายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จ่ายฝ่ายละร้อยละ 3 ส่วนผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 จ่ายเดือนละ 288 บาท และให้ขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาการนำส่งเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนของเดือน ม.ค.-มี.ค. โดยไม่เสียเงินเพิ่ม
 
อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคม อยู่ระหว่างการเสนอร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ.2560 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ไม่สามารถทำงานได้หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายวัน ทั้งนี้ ไม่เกิน 180 วัน โดยสำนักงานประกันสังคมจะได้เร่งดำเนินการเพื่อเสนอให้ รมว.แรงงาน ลงนามในกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวต่อไป
 
 
พนักงานสยามแอร์ ร้องผู้บริหารจ่ายเงินล่าช้า
 
พนักงานสายการบินสยามแอร์ ของบริษัท สยามแอร์ ทรานสปอร์ต จำกัด รวมตัวที่สำนักงานสยามแอร์ สนามบินดอนเมือง เรียกร้องให้ผู้บริหารจ่ายเงินเดือนพนักงาน หลังค้างจ่ายเงินเดือนพนักงานกว่า 150 คน เป็นเวลากว่า 2 เดือน โดยจ่ายเงิน เดือนพฤศจิกายนเพียงครึ่งเดียว และยังค้างจ่ายของเดือนธันวาคม รวมทั้งก่อนหน้านี้ ยังจ่ายเงินเดือนไม่ตรงตามกำหนดเป็นเวลา 8 เดือน
 
โดยอ้างเหตุผลว่า ยังไม่ได้รับเงินจากบริษัทแม่ที่ประเทศจีน แต่ไม่ชี้แจงว่าจะสามารถจ่ายเดือนเงินพนักงานได้เมื่อใด ทำให้พนักงานมีปัญหาภาระค่าใช้จ่าย เพราะไม่สามารถผ่อนชำระหนี้สินได้ทันตามกำหนด และถูกคิดดอกเบี้ย
 
นอกจากนี้ พนักงาน ยังไม่ได้รับสิทธิประกันสังคม นาน 8 เดือน เพราะบริษัทส่งข้อมูลพนักงานล่าช้า ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้ จึงต้องการให้บริษัทเปลี่ยนคณะผู้บริหาร และจ่ายเงินชดเชย ผลกระทบ
 
เวลาต่อมา เรืออากาศเอก สุรินทร์ สุขขัง ประธานบริหารบริษัท สยามเเอร์ ทรานสปอร์ต ได้เข้ามาเจรจากับพนักงาน โดยระบุ ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา สายการบินประสบปัญหาทางธุรกิจ จากมาตรการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ เเละถูกอาชญากรข้ามชาติจากจีนโจรกรรมข้อมูลทางการเงิน ทั้งนี้ จะขอหารือกับพนักงานเป็นการภายใน และยืนยันจะยื่นหนังสือชี้แจงกับกระทรวงแรงงาน
 
ทั้งนี้ เชื่อว่า พนักงานบางส่วนที่มารวมตัวกัน อาจได้รับการจ้างวานจากคู่เเข่งทางธุรกิจ เพราะมีข้อเรียกร้องที่ตรงกับความต้องการของฝ่ายตรงข้าม
 
ด้านที่ปรึกษากฎหมายบริษัท สยามเเอร์ ทรานสปอร์ต ยอมรับ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทถูกอาชญากรข้ามชาติ ปลอมเเปลงเอกสาร เเละโกงเงินบริษัทไม่ต่ำกว่า 4-5 ล้านบาท เบื้องต้น ได้ประสานไปยังเจ้าของบริษัทที่ประเทศจีน เพื่อให้จ่ายเงินเดือนพนักงานที่ค้างอยู่ในสัปดาห์หน้า
 
ล่าสุด ฝ่ายผู้บริหาร ยินยอมจ่ายเงินเดือนให้พนักงานส่วนที่เหลือของเดือนพฤศจิกายน และสัปดาห์หน้า จะจ่ายเงินของเดือนธันวาคมทั้งหมด โดยยืนยันว่า เดือนกุมภาพันธ์ จะจ่ายล่าช้า ไม่เกินภายในวันที่ 15 และมีนาคมจะเข้าสู่สถานการณ์ปกติ
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net