เทวทัต ศีลธรรมขาว-ดำ และไผ่ ดาวดิน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


ภาพของ จตุภัทร บุญภัทรรักษา ในวัยเยาว์ 

ทำไมเวลามีพระท้าทายอำนาจการตีความ “ธรรมวินัย” ของคณะสงฆ์หรือศาสนจักรของรัฐ พระรูปนั้นมักถูกกล่าวหาว่าเป็น “เทวทัต” ดังยุคหนึ่งสมณะโพธิรักษ์ก็เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นเทวทัต แม้กระทั่งนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าเลว ก็ถูกกล่าวหาทำนองเดียวกัน ดังเช่นพระป่าบางรูปที่ชาวบ้านยกย่องว่าเป็น “พระอริยะเจ้า” ก็เคยกล่าวหาว่า “ทักษิณเป็นนักการเมืองเทวทัต” เป็นต้น

ดูเหมือนจะเป็นเรื่องไร้สาระมาก ถ้าเราเชื่อว่าเทวทัตเคยมีตัวตนอยู่จริงในสมัยพุทธกาลเมื่อเกือบ 3,000 ปีมาแล้ว แต่ยังมีคนอ้างพฤติกรรมของเขามาอธิบายการกระทำของพระและนักการเมืองยุคปัจจุบันที่ท้าทายอำนาจคณะสงฆ์ และอำนาจฝ่ายอนุรักษ์นิยม แต่เรื่องที่ดูไร้สาระเช่นนั้น กลับดูเหมือนจะเวิร์ค หรือยัง “ทำงาน” ได้จริงในสังคมไทยปัจจุบัน

ทำไมเป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่าเรื่องราวของเทวทัตอาจกล่าวได้ว่าเป็น “รูปแบบมาตรฐาน” ของ “ศีลธรรมแบบขาว-ดำ” และเป็นศีลธรรมขาว-ดำที่เชื่อมโยงกับ “อำนาจ” อย่างซับซ้อน

แรกสุดเลยคือ “อำนาจอรรถาธิบาย” เราต้องเข้าใจว่าเรื่องราวของเทวทัต ไม่ใช่เรื่องเล่าจากปากของเทวทัต และไม่ใช่เรื่องราวที่บันทึกขึ้นจากสาวกหรือผู้ที่ศรัทธาเลื่อมใสในตัวเขา หากเป็นเรื่องเล่าจากฝ่ายตรงข้าม หรือฝ่าย “ผู้ชนะ”

แกนหลักของปัญหาจริงๆ นั้น มาจาก “ความเห็นต่าง” ในเรื่องวัตรปฏิบัติของสังฆะ กล่าวคือ เริ่มจากเทวทัตเสนอต่อพุทธะว่า 1.ให้ภิกษุอยู่ป่าเป็นวัตร  2.ให้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร 3.ให้ครองผ้าบังสุกุล (ให้เอาผ้าที่ชาวบ้านทิ้งหรือผ้าห่อศพมาทำจีวร) เป็นวัตร 4.ให้อยู่โคนไม้เป็นวัตร และ 5.ไม่ฉันปลาและเนื้อจนตลอดชีวิต ข้อเสนอดังกล่าวมีลักษณะเรียกร้องให้บังคับพระภิกษุให้เคร่งในวัตรปฏิบัติมากขึ้น แต่พุทธะไม่เห็นด้วยที่จะบังคับตายตัวเช่นนั้น ควรปล่อยให้เป็นอิสระที่พระแต่ละรูปจะเลือกเองมากกว่า

เมื่อข้อเสนอของตนถูกปฏิเสธจากพุทธะ เทวทัตจึงชวนพระภิกษุที่เห็นด้วยกับตนแยกกลุ่มออกไป (อาจอธิบายหยาบๆ ว่า “แยกนิกาย”) แต่การกระทำเช่นนั้นถูกตัดสินจากฝ่ายตรงข้ามว่า เทวัตทำ “สังฆเภท” คือทำสงฆ์ให้แตกแยก เป็น “อนันตริยกรรม” หรือกรรมหนัก ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน

จากปัญหาความขัดแย้งทางความคิดและการแยกกลุ่มดังกล่าว ภาพลักษณ์ของเทวัตผ่านเรื่องเล่าของฝ่ายตรงข้าม คือภาพเปรียบเทียบระหว่างพุทธะกับเทวทัตแบบ “ขาว” กับ “ดำ” พุทธะคือผู้บริสุทธิ์สะอาด สมบูรณ์แบบ ขณะที่เทวทัตคือผู้สกปรกโสมม ชั่วร้ายผิดมนุษย์ทั่วไป ไม่เพียงแต่เทวทัตจะทำชั่วร้ายต่างๆ นานากับพุทธะในชาตินี้เท่านั้น เขายังเป็นศัตรูที่มุ่งทำสิ่งเลวร้ายต่อพุทธะมาก่อนนับชาติไม่ถ้วน

แต่ถึงที่สุดแล้ว เทวทัตก็พ่ายแพ้ต่ออำนาจบารมีของพุทธะ โดยในวาระสุดท้ายของชีวิตเขาสำนึกผิดและถูกธรณีสูบไปทุกข์ทรมาณในนรกอเวจีชั่วกัปป์ชั่วกัลป์ ทว่าเนื่องจากเขาสำนึกผิดและน้อมจิตบูชาพุทธะ จึงมีอานิสงส์ให้ได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธะในอนาคตหลังจากพ้นจากนรกอเวจีมาเกิดเป็นมนุษย์

สิ่งที่คนชั่วบริสุทธิ์อย่างเทวทัตได้รับคือ “ผลกรรม” อันเกิดจากการกระทำต่อผู้บริสุทธิ์ คือพุทธะ ซึ่งเป็น “มนุษย์สมบูรณ์แบบ” หรือ perfect man การได้รับผลกรรมโดยถูกธรณีสูบลงนรกอเวจีดังกล่าว นับเป็นการพ่ายแพ้ต่อ “พุทธานุภาพ” ในประวัติศาสตร์ยุคต่อมาบอกเราว่า ชนชั้นปกครองในรัฐที่นับถือพุทธศาสนาได้เข้า “สวม” ภาพลักษณ์ของ perfect man ในฐานะสมมติเทพ พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว

แน่นอน ศัตรูของผู้ปกครองเช่นนั้นย่อมต้องได้รับผลกรรมเช่นเดียวกับเทวทัต แต่ผลกรรมไม่ได้ถูกควบคุมโดยกรรมแห่งกรรม และไม่เกี่ยวกับพุทธานุภาพ แต่ถูกควบคุมโดย “อำนาจ” ของชนชั้นปกครอง ขณะเดียวกันจินตานาการเกี่ยวกับนรกขุมต่างๆ และวิธีการลงโทษสัตว์นรกแบบต่างๆ ก็ถูกนำมาออกแบบคุกและออกแบบวิธีการลงโทษรุนแรงเพื่อให้สาสมแก่กรรมชั่วที่ทำลงไป ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในพุทธศาสนายุคอโศกเป็นต้นมาเป็นอย่างน้อย

โปรดสังเกตว่า ในรัฐพุทธศาสนาในประวัติศาสตร์นั้น คนที่สวมภาพลักษณ์ perfect man ของพุทธะ ไม่ได้เป็นนักบวชแบบพุทธะ แต่เป็นผู้ปกครองที่มีอำนาจบารมีและอำนาจกองกำลังปกครองทั้งพระสงฆ์  เจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาส ผู้ปกครองที่เป็น perfect man จึงมีทั้งอำนาจบารมีในฐานะผู้ทรงคุณธรรมความดีโดยปราศจากระบบตรวจสอบ แต่อำนาจในการควบคุมกฎแห่งกรรมให้เป็นจริงนั้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องคุณธรรมความดี หากเป็นเรื่องของการใช้อำนาจรัฐที่ทำให้ผู้ไม่เชื่อฟัง หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐได้รับผลกรรมชั่วอย่างสาสม

ทุกวันนี้วัฒนธรรมการมองดี ชั่วแบบขาว ดำ มองคนดีแบบ perfect man และมองคนเลวบริสุทธิ์แบบเทวทัต ก็ยังทำงานอยู่จริงในสังคมไทย ดังเห็นได้บ่อยๆ จากละครหลังข่าว ที่จงใจสอนความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมผ่านบทบาทของตัวละคนที่ดี เลวแบบขาว ดำ

ละครการเมืองผ่านเหตุการณ์รัฐประหาร 2 ครั้ง จนปัจจุบันก็ไม่ต่างกัน ฝ่ายผิดดูเหมือนจะถูกทำให้เป็นเสมือนคน “เลวบริสุทธิ์” ไม่ต่างอะไรจากเทวทัต ทั้งๆ ที่แกนหลักของปัญหาคือ “ความเห็นต่าง” ข้อเสนอ ข้อเรียกร้องที่ต่างกัน แม้เหตุการณ์ปัจจุบันจะซับซ้อนต่างจากเรื่องเทวทัตมาก จนไม่อาจเทียบกันได้อย่างสมเหตุสมผล แต่ก็ดูเหมือนจะมีอำนาจเด็ดขาดคอยกำหนด “กฎแห่งกรรม” ให้ฝ่ายผิดทำอะไรก็ผิด ฝ่ายถูกถึงทำผิดก็ยังถูก หรือสถาปนาพวกตนเองเป็นฝ่ายถูกจากการทำสิ่งที่ผิด เพื่อมาขจัดคนเลวและความชั่วร้ายต่างๆ

คนอย่างไผ่ ดาวดิน ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย ก็คือคนที่ถูกตัดสินจากทัศนะทางศีลธรรมแบบขาว-ดำ เพราะความผิดของไผ่ไม่สามารถอธิบายได้บนหลักความเสมอภาคทางกฎหมาย หลักสิทธิ เสรีภาพ หรือแม้แต่ไม่ใช่ความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดให้เป็นความผิด (เช่น “การเย้ยหยันอำนาจรัฐ” ไม่มีกฎหมายระบุความผิดไว้เป็นต้น)

สิ่งที่บ่งบอกอิทธิพลของศีลธรรมแบบขาว-ดำ ก็คือ ปรากฏการณ์แบบไผ่ ไม่ได้ก่อความสะเทือนใจจากผู้คนในสังคมมากนัก ซึ่งแสดงถึงทัศนะเชิงยอมรับหรือยอมจำนนต่อ “กฎแห่งกรรมที่ถูกกำหนดโดยอำนาจรัฐ” ทำนองว่ากรรมใดใครก่อ คนนั้นก็ต้องก้มหน้ารับกรรม(โทษทัณฑ์จากรัฐ)ไป เรื่องของไผ่ซึ่งเป็นเรื่องต่อสู้เพื่อส่วนรวมจึงถูกมองเป็น “กรรมส่วนตัว” ไป

ที่ว่ามาทั้งหมด อาจมีคนแย้งว่า “ไม่ตรงตามหลักพุทธศาสนา” ก็ไม่เป็นไร เพราะผมไม่ต้องการจะพูดให้ตรง และยากที่จะพิสูจน์ว่าพูดอย่างไรถึงจะตรงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่นี่คือการมองเรื่องราวเทวทัตอีกมุมหนึ่ง ทำให้เห็นว่าเรื่องราวของเทวทัตเป็นวาทกรรมทางศีลธรรมแบบดี เลว ขาว ดำ มองคนดีแบบ perfect man และมองคนเลวแบบเลวบริสุทธิ์ที่สมควรรับผลกรรมอย่างสาสม

แต่วาทกรรมดี เลว ขาว ดำ perfect man และคนเลวบริสุทธิ์กลับสัมพันธ์กับ “อำนาจสีเทา” อย่างซับซ้อน และอำนาจสีเทานั่นเองที่เป็นอำนาจควบคุมกฎแห่งกรรมให้เป็นจริง ภายใต้สภาวะ paradox เช่นนี้กลับมีคนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องความเป็นมนุษย์ของตนเองและคนอื่น ปกป้องเสรีภาพ และประชาธิปไตยแบบไผ่ ดาวดิน คนแล้วคนเล่าที่ต้องกลายเป็น “ไก่ที่ถูกเชือดให้ลิงดู” เพื่อสร้างความหวาดกลัวในสังคม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท