เลือกตั้งเปลี่ยนโลกปี 2017 โลกขวาหันจริงหรือ (แล้วไทยจะได้เลือกตั้งไหม?)

ทบทวนการเลือกตั้งสำคัญในโลกปี 2016 สะท้อนการแก้ไขปัญหาการเมืองผ่านช่องทางประชาธิปไตย และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2017 เมื่ออังกฤษผ่าน Brexit และโดนัลด์ ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี จะเกื้อหนุนให้การเลือกตั้งในปี 2017 เปลี่ยนยุโรปไปทางขวาจริงหรือ ทั้งที่เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี

ส่วนที่ฮ่องกงจะมีการสรรหาผู้ว่าการฮ่องกง ขณะที่พลเมืองรณรงค์คู่ขนานเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งแบบ 1 คน 1 เสียง ขณะที่เมืองไทยคสช. ซึ่งเคยเปรยว่าโรดแมปจัดเลือกตั้งภายในปีนี้ ก็ชัดเจนแล้วว่าจะเลื่อนออกไป

การเมืองระหว่างประเทศในปี 2017 จะส่งผลกระทบต่อโลกแค่ไหน

ย้อนพินิจการเลือกตั้งสำคัญในโลกปี 2016 สะท้อนการแก้ไขปัญหาการเมืองผ่านช่องทางประชาธิปไตย และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2017 เมื่ออังกฤษผ่านประชามติ Brexit ในปีที่แล้ว และปีนี้โดนัลด์ ทรัมป์ สาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา ทั้งหมดนี้จะเกื้อหนุนให้การเลือกตั้งในปี 2017 เปลี่ยนยุโรปไปทางขวาจริงหรือไม่

โดยเนเธอร์แลนด์กลางเดือนมีนาคมนี้กำลังจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. โดยผู้สมัครอย่างเคียร์ต วิลเดอร์สที่ชูนโยบายถอนตัวจากอียู ต่อต้านผู้อพยพ และมักใช้ข้อความเฮทสปีชโดยอ้างเสรีภาพการพูดเป็นผ้าคลุม ก็กำลังได้รับความนิยม แต่ฝันของพรรคฝ่ายขวาอาจไม่เป็นเช่นนั้น หากพรรครัฐบาลเดิมยังรวมเสียงตั้งรัฐบาลผสมได้

ส่วนที่ฝรั่งเศสปลายเดือนเมษายนจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบแรก โดยมารีน เลอ แปน ผู้นำพรรคขวาจัด “แนวร่วมชาตินิยม” กำลังคุยโตหลังชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ และหวังเห็นยุโรปเป็นเช่นสหรัฐอเมริกาและอังกฤษบ้าง แต่ก็อาจจะยากเพราะคู่แข่งสำคัญคือพรรคแนวทางขวากลางที่นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรี ฟร็องซัว ฟียง ที่ชูนโยบายผ่อนคลายกฎหมายจ้างงาน ลดภาษีภาคธุรกิจ ลดการจ้างงานภาครัฐ ขณะที่รัฐบาลพรรคสังคมนิยมแม้คะแนนนิยมไม่กระเตื้อง แต่จะมีความชัดเจนขึ้นเมื่อผ่านการเลือกตั้งขั้นต้นภายในพรรคฝ่ายซ้ายที่เบอนัว อามง ผู้เสนอเก็บภาษีหุ่นยนต์ ทำให้กัญชาถูกกฎหมายและระบบเงินเดือนพื้นฐาน กำลังได้รับความนิยม

ส่วนที่เยอรมนี แองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรี 3 สมัยจากพรรคคริสเตียนเดโมแตรต จะลงสมัครในการเลือกตั้งเดือนกันยายนนี้เป็นสมัยที่ 4 แม้ต้องเผชิญความท้าทายจากพรรคฝ่ายขวา และอาจสูญเสียที่นั่งในสภาไปบ้าง แต่แมร์เคิลก็จะนำพรรคคริสเตียนเดโมแครตชนะการเลือกตั้ง และชูนโยบายเป็นมิตรกับผู้อพยพ และเป็นผู้นำชาติในสหภาพยุโรปต่อต้านท่าทีแข็งกร้าวของรัสเซีย แต่หากผลการเลือกตั้งไม่เป็นเช่นนั้น ทั้งเยอรมนีและสหภาพยุโรปจะตกอยู่ในปัญหาใหญ่

ที่ฮ่องกง การต่อสู้เพื่อขยับพื้นที่ประชาธิปไตยคัดง้างกับอำนาจของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ดำเนินต่อเนื่องมาหลายปี เดือนมีนาคมปีนี้จะชี้วัดกันที่การสรรหาผู้ว่าการฮ่องกง ที่แม้รัฐบาลปักกิ่งจะทรงอิทธิพล และที่มาของผู้ว่าการฮ่องกงก็มาจากการเลือกโดยคณะผู้เลือกตั้งจากสมาคมและกลุ่มวิชาชีพหลักพันคน แต่ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยฮ่องกงก็พยายามขยายพื้นที่่ต่อสู้นั้นเพื่อให้เกิดการเลือกตั้ง 1 คน 1 เสียง ที่พลเมืองฮ่องกงสามารถเลือกตัวแทนของพวกเขาได้เอง

ขณะที่ในเกาหลีใต้ หลังการชุมนุมยาวนานจนรัฐสภาถอดถอน พัก กึนเฮนั้น บัดนี้เสียงรวมกันของฝ่ายค้านในสภาเข้มแข็งพอที่จะผ่านกฎหมายหรือแม้แต่แก้ไขรัฐธรรมนูญ จะมีผลทำให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในปีนี้เปลี่ยนขั้วกลายมาเป็นผู้นำจากพรรคฝ่ายค้านหรือไม่ ขณะที่บัน คีมุน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติที่แย้มว่าต้องการลงเล่นการเมือง ก็มีจุดอ่อนเต็มไปหมด

กลับมาเมืองไทย คสช. ซึ่งเคยเปรยว่าโรดแมปจัดเลือกตั้งภายในปีนี้ก็ชัดเจนแล้วว่าจะเลื่อนออกไป

 

เลือกตั้งเนเธอร์แลนด์: จะเกิด “Nexit” สั่นสะเทือนสหภาพยุโรปหรือไม่

มาร์ก รุท (Mark Rutte) (ซ้าย) นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ผู้นำพรรค VVD และเคียร์ต วิลเดอร์ส (Geert Wilders) (ขวา) ผู้นำพรรคขวาจัดแบบประชานิยม PVV (ที่มา: Rijksvoorlichtingsdienst/Flickr และ Metropolico.org)

สำหรับยุโรปมีคำถามตามมาว่าจะมีประเทศใดอีกที่จะถอนตัวจากสหภาพยุโรป โดยบทวิเคราะห์ใน The Atlantic เสนอว่า การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาของเนเธอร์แลนด์ 150 ที่นั่ง ในวันที่ 15 มีนาคม 2017 นี้จะเป็น “Nexit” ตาม “Brexit” ของสหราชอาณาจักร หรือไม่ เมื่อนักการเมืองขวาจัดจากพรรค PVV อย่าง เคียร์ต วิลเดอร์ส (Geert Wilders) ชูนโยบายถอนตัวจากสหภาพยุโรป ขณะที่ผลสำรวจความนิยมช่วงต้นเดือนมกราคมนี้ก็มีคะแนนนำพรรครัฐบาล VVD ที่มีมาร์ก รุท (Mark Rutte) เป็นนายกรัฐมนตรี

ไวด์เดอร์ส ได้รับความนิยมจากการที่เขามักใช้ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง เขาเคยกล่าวว่าต้องการเห็นผู้อพยพโมร็อกโกน้อยลงกว่านี้ จากข้อความดังกล่าวทำให้เขาถูกฟ้องร้องในข้อกล่าวหาก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ แต่เขาก็ไม่ถูกตัดสินลงโทษ แถมเขายังใช้คดีความที่ว่านี้สร้างชื่อเสียงว่าเขาเป็นผู้ปกป้องเสรีภาพการพูด และเป็นเหยื่อของความถูกต้องทางการเมือง (Political Correctness-PC) นอกจากนี้ไวด์เดอร์สยังมีภาพของนักการเมืองที่ต่อต้านอิสลาม ต่อต้านคนเข้าเมือง เคยเสนอให้คัมภีร์อัลกุรอานเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เก็บภาษีผ้าคลุมศีรษะ และห้ามการสร้างมัสยิด

อย่างไรก็ตามการแข่งขันเป็นไปอย่างสูสี คะแนนจากผลสำรวจความนิยมพบว่าบรรดาพรรคการเมืองต่างเปลี่ยนกันขึ้นมานำ และหากพรรคฝ่ายขวา PVV ยังคงรักษาคะแนนความนิยมเอาไว้ได้ ช่วงใกล้เลือกตั้งบรรดาพรรคการเมืองก็อาจจะรวมตัวเพื่อตั้งพรรคร่วมรัฐบาล และหยุดยั้งไม่ให้ไวด์เดอร์สและพรรค PVV ขึ้นสู่อำนาจ ซึ่งนั่นอาจทำให้ภาวะการนำของเนเธอร์แลนด์ต้องหยุดชะงักชั่วคราว ในช่วงที่สหภาพยุโรปเองก็เผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่

 

เลือกตั้งฝรั่งเศส: แม้ผู้นำขวาจัด ‘เลอ แปน’ ไม่ชนะ
แต่นโยบายอนุรักษ์นิยมยังค
งมีอิทธิพล

จากซ้ายไปขวา (1) เบอนัว อามง (Benoit Hamon) ผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส (PS) ผู้เสนอเงินเดือนพื้นฐาน เก็บภาษีหุ่นยนต์ กัญชาถูกกฎหมาย (2) ฟร็องซัว ฟียง (François Fillon) อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคสาธารณรัฐ (Les Républicains) เสนอลดภาษีภาคธุรกิจ ผ่อนคลายกฎหมายแรงงาน เลิกจ้างงานภาครัฐ 5 แสนตำแหน่ง เพื่อลดภาระของภาครัฐบาล และ (3) มารีน เลอ แปน (Marine Le Pen) ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (Front National) ซึ่งเสนอถอนตัวจากสหภาพยุโรป (ที่มา: [1] Ulysse Bellier/Wikipedia [2] Blandine Le Cain/Wikipedia [3] Marie-Lan Nguyen/Wikipedia)

ในฝรั่งเศสจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส รอบแรกในวันที่ 23 เมษายน และรอบสองในวันที่ 7 พฤษภาคม 2017 โดยคนที่น่าจับตาคือ มารีน เลอ แปน (Marine Le Pen) ผู้นำพรรคฝ่ายขวาจัด “แนวร่วมชาตินิยม” (FN) ซึ่งเคยคุยโตหลังชัยชนะของ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ว่าเธอจะเป็นประธานาธิบดีคนถัดไปของฝรั่งเศส และในการประชุมของบรรดาพรรคฝ่ายขวายุโรปในเยอรมนีเมื่อ 21 มกราคมที่ผ่านมา เลอ แปน ก็กล่าวว่า “ปี 2016 เป็นปีที่โลกแองโกล-แซกซันตื่นขึ้น และดิฉันมั่นใจว่าปี 2017 จะเป็นปีที่ประชาชนในภาคพื้นยุโรปจะตื่นขึ้น”

บทวิเคราะห์ใน The Atlantic ชี้ว่า แม้ว่าผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนจะไม่ได้สะท้อนว่าเธอได้รับความนิยมเช่นนั้น แต่ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ถ้าเธอสามารถไปถึงรอบที่ 2 ที่มีผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเหลือ 2 คน อะไรก็เกิดขึ้นได้ โดยปัจจัยสนับสนุนเลอแปนมาจากผู้สนับสนุนอันแข็งขันของเธอ ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามคือพรรคฝ่ายซ้ายก็แบ่งเป็นขั้วต่างๆ

ทั้งนี้ประธานาธิบดีฟร็องซัว ออลล็องด์ จากพรรครัฐบาลคือพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส (PS) ซึ่งคะแนนนิยมในช่วงท้ายของการดำรงตำแหน่งไม่ดีนัก ตัดสินใจไม่ลงแข่งในการเลือกตั้งอีก และในวันอาทิตย์ที่ 23 ม.ค. 2017 พรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสและแนวร่วมได้จัด “การเลือกตั้งขั้นต้น” ภายในเพื่อเฟ้นหาผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่มีผู้เสนอตัว 7 คน อย่างไรก็ตามในรายงานของอัลจาซีรา ระบุว่าสมาชิกพรรคมาลงคะแนนเลือกตั้งขั้นต้นน้อยกว่าการเลือกตั้งเมื่อ 5 ปีก่อน และน้อยกว่าการเลือกตั้งขั้นต้นของพรรคสาธารณรัฐเมื่อปี่ที่แล้ว ที่มีผู้มาลงคะแนนถึง 4 ล้านคน

ผลการเลือกตั้งขั้นต้นภายในพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส บีบีซีรายงานว่า อันดับ 1 คือเบอนัว อามง (Benoit Hamon) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาแห่งชาติ ผู้เสนอนโยบายเงินเดือนพื้นฐาน เก็บภาษีหุ่นยนต์ กัญชาถูกกฎหมาย ได้คะแนนร้อยละ 36.1 อันดับ 2 มานูเอล วาลส์ (Manuel Valls) อดีตนายกรัฐมนตรีสายกลางซ้ายได้คะแนนร้อยละ 31.2 สำหรับการเลือกตั้งขั้นต้นรอบสุดท้ายจะเกิดขึ้นในวันที่ 29 มกราคมนี้

อย่างไรก็ตามภายในพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสก็มีการแยกตัว โดยเอมมานูเอล มาครอง (Emmanuel Macron) อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และกิจการดิจิทัล ได้ถอนตัวจากรัฐบาลออลล็องด์ และไปตั้งกลุ่มใหม่คืออองมาร์ช (En Marche!) โดยเขายังประกาศจะเป็นผู้สมัครประธานาธิบดีอีกด้วย

ในขณะที่พรรคสาธารณรัฐฝรั่งเศส (Les Républicains) เลือกอดีตนายกรัฐมนตรี ฟร็องซัว ฟียง (François Fillon) เป็นผู้สมัครตัวแทนจากพรรค ท่ามกลางความแตกแยกของพรรคฝ่ายซ้ายทำให้ฟียงมีแนวโน้มจะได้เปรียบ โดยเขามีข้อเสนอลดภาษีภาคธุรกิจ ผ่อนคลายกฎหมายแรงงาน และขยับชั่วโมงทำงานสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมงของฝรั่งเศสเพื่อเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังวางแผนการเลิกจ้างงานของภาครัฐ 5 แสนตำแหน่ง เพื่อลดภาระของรัฐบาล

บทวิเคราะห์ใน The Atlantic เสนอว่า หากเลอแปนได้รับชัยชนะจริงก็จะกลับหัวกลับหางการเมืองฝรั่งเศส และเป็นแรงขับเคลื่อนส่งต่อไปยังพรรคฝ่ายขวาที่ใดที่หนึ่งในยุโรป ทั้งยังจะทำให้นายกรัฐมนตรีเยอรมนี แองเกลา แมร์เคิล เป็นผู้นำคนเดียวในยุโรปที่รณรงค์เพื่อการรวมเป็นหนึ่งของสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าจะแพ้ แต่เลอแปนก็จะผลักดันฝรั่งเศสไปทางขวา ในขณะที่คู่แข่งผู้ซึ่งหากต้องการถอนข้อเสนอของเธอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายผู้อพยพ การก่อการร้าย และสหภาพยุโรป คงต้องทำงานให้มากขึ้น

 

เลือกตั้งเยอรมนี: การชิงชัยสมัยที่ 4 ของแมร์เคิล
และความท้าทายจากกระแสฝ่ายขวา

แองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรี 3 สมัยของเยอรมนี ซึ่งจะลงสมัครเป็นสมัยที่ 4 ในการเลือกตั้งของเยอรมนีในเดือนกันยายนปีนี้ (ที่มา: securityconference.de/Wikipedia)

ขณะที่เยอรมนีจะมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในระดับชาติเช่นกัน ในวันที่ 24 กันยายน 2017 โดยแองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรี 3 สมัยจากพรรคคริสเตียนเดโมแตรตและแนวร่วม CDU/CSU เพิ่งประกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่าจะลงสมัครเป็นสมัยที่ 4

จากการเป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี 2005 แมร์เคิลได้ประทับตราผลงานของเธอเอาไว้และส่งผลต่อการเมืองและเศรษฐกิจของยุโรปหลายประการ นับตั้งแต่มาตรการรัดเข็มขัดเพื่อรับมือกับวิกฤตหนี้สินยูโรโซน ต้อนรับผู้อพยพ 1 ล้านคนเข้าสู่เยอรมนี เป็นผู้นำให้ชาติในสหภาพยุโรปรวมตัวกันต่อต้านท่าทีแข็งกร้าวของรัสเซีย

คาดหมายว่าแม้พรรค CDU/CSU จะสูญเสียที่นั่งในรัฐสภาในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ แต่แมร์เคิลก็จะนำพรรคชนะการเลือกตั้งอยู่ดี ขณะที่คู่แข่งอีกรายคือ ซิกมาร์ กาเบรียล จากพรรคซ้ายกลาง สังคมประชาธิปไตย (SPD) ก็ยังไม่สามารถจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ และผลสำรวจความนิยมล่าสุดเขามีคะแนนนิยมตามแมร์เคิลอยู่ร้อยละ 10 (แมร์เคิลร้อยละ 34 กาเบรียลร้อยละ 24)

สำหรับไพ่โจ๊กเกอร์ของการเลือกตั้งเยอรมนีที่จะถึงนี้ก็คือ พรรคอัลเทอร์เนทีฟเพื่อเยอรมนี (Alternative for Germany Party - AfD) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวา มีนโยบายต่อต้านผู้อพยพ ต่อต้านอิสลาม และวิจารณ์สหภาพยุโรป พรรค AfD สร้างความประหลาดใจในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นของรัฐต่างๆ ในเยอรมนี โดยได้เสียงสนับสนุนถึงร้อยละ 13 นอกจากนี้ยังได้ที่นั่งเป็นพรรคอันดับ 2 ในรัฐเมคเลินบวร์ค-ฟอร์พ็อมเมิร์น รัฐบ้านเกิดของแมร์เคิลโดยได้ที่นั่ง 18 ที่นั่ง มากกว่าพรรค CDU/CSU ที่ได้ 16 ที่นั่ง ส่วนพรรคอันดับ 1 ยังเป็นพรรค SPD ที่ได้ 26 ที่นั่ง โดยพรรค AfD อาจได้รับคะแนนเพิ่มมากขึ้น หากเสียงต่อต้านนโยบายผู้อพยพของแมร์เคิลมีมากขึ้น

หากสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นและแมร์เคิลแพ้การเลือกตั้ง สหภาพยุโรปเองก็อาจตกอยู่ในปัญหาใหญ่

 

ฮ่องกง: พลเมืองฮ่องกงเสนอจัดเลือกตั้งจำลอง
คู่ขนานกับการสรรหาผู้ว่าการฮ่องกง

ผู้สนับสนุนกลุ่มแพน-เดโมแครตในฮ่องกงต่อต้านแผนการปฏิรูปของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อปี 2015 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Civic Party)

ในเดือนกันยายนปี 2016 ที่ผ่านมา ฮ่องกงมีการจัดเลือกตั้งสภานิติบัญญัติฮ่องกง (LegCo) ซึ่งแม้จะเป็นการเลือกตั้ง ‘ครึ่งใบ’ ซึ่งครึ่งหนึ่งของเขตเลือกตั้งเป็นการเลือกกันเองภายในสมาคมหรือกลุ่มวิชาชีพ แต่พรรคการเมืองกลุ่มที่ไม่นิยมรัฐบาลจีนก็ได้ที่นั่งรวมกันถึง 30 ที่นั่ง ขณะที่พรรคการเมืองสายนิยมรัฐบาลจีนได้ 40 ที่นั่ง (อ่านล้อมกรอบ)

และในวันที่ 26 มีนาคม 2017 นี้ จะมีการสรรหาผู้ว่าการฮ่องกง (CE) สมัยที่ 5 ซึ่งตำแหน่งนี้ถือเป็นตำแหน่งสูงสุดของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง อย่างไรก็ตามตำแหน่งของผู้นำฝ่ายบริหารดังกล่าวไม่ได้ใช้วิธีจัดเลือกตั้งทั่วไป แต่เป็นการคัดเลือกผ่านคณะผู้เลือกตั้ง (Election Committee) 1,200 คน ซึ่งมีที่มาจากประเภทวิชาชีพและองค์กรต่างๆ 38 ประเภท

แม้จะไม่ใช่การเลือกตั้งระบบ 1 คน 1 เสียง แต่ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยฮ่องกง พยายามเข้าไปมีที่นั่งในคณะผู้เลือกตั้ง 1,200 ที่นั่ง ที่เลือกกันผ่านสมาคมวิชาชีพ โดยรายงานของ HKFP รายงานว่า ในเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ผู้สมัครเป็นคณะผู้เลือกตั้งฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยสามารถเอาชนะได้หลายประเภทวิชาชีพ โดยกวาดที่นั่งทั้งหมดของโควตาจากสาขาวิชาชีพ 6 ด้าน คือกิจการสาธารณะ ไอที บริการสาธารณสุข กฎหมาย การศึกษา และการศึกษาขั้นสูง นอกจากนี้ยังได้ที่นั่งอีกมากในสาขาวิชาชีพอื่นได้แก่ บัญชี สถาปัตยกรรม การแพทย์ วิศวกรรม แพทย์แผนจีน โควตาของสมาชิกสภานิติบัญญัติ รวมมีเสียงราว 325 คน จากทั้งหมด 1,200 คน

ส่วนผู้เสนอตัวชิงตำแหน่งผู้ว่าการฮ่องกงในเวลานี้มี หวู กว็อกฮิง (Woo Kwok-hing) อดีตรองประธานศาลอุทธรณ์ฮ่องกง ประธานคณะกรรมาธิการกิจการเลือกตั้ง ซึ่งประกาศจะชิงตำแหน่งผู้ว่าการฮ่องกงมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2016 โดยเขาเสนอให้มีการปฏิรูประบบเลือกตั้งของฮ่องกง ด้วยการขยายฐานของสมาชิกกลุ่มต่างๆ ที่มีสิทธิเลือกคณะผู้เลือกตั้ง จากฐาน 250,000 คน ไปสู่ 1 ล้านคนในปี 2022 และ 3 ล้านคนในปี 2032 เพื่อให้เป็นระบบกึ่ง 1 คน 1 เสียงในที่สุด

ขณะที่ผู้สมัครคนอื่นๆ เรจินา ยิป (Regina Ip) หัวหน้าพรรค New People's Party ซึ่งเป็นฝ่ายหนุนปักกิ่ง ประกาศเมื่อ 15 ธันวาคมว่าต้องการชิงตำแหน่งผู้ว่าการฮ่องกง หลังจากที่ผู้ว่าการฮ่องกงคนปัจจุบัน เหลียง ชุนอิง ประกาศจะไม่ลงชิงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 โดยเขาจะเป็นผู้ว่าการฮ่องกงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งสมัยเดียว ขณะที่อดีตหัวหน้าฝ่ายบริหารฮ่องกง แครี หลำ และรัฐมนตรีฝ่ายการคลัง จอห์น จัน ลาออกในวันที่ 16 และ 19 มกราคมตามลำดับ เพื่อลงชิงตำแหน่งผู้ว่าการฮ่องกง

HKFP รายงานเมื่อ 23 มกราคมนี้ว่า เบนนี ไท้ (Benny Tai) อาจารย์นิติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยฮ่องกง ผู้ก่อตั้ง Occupy Central ในปี 2013 เพื่อรณรงค์สิทธิเลือกตั้ง 1 คน 1 เสียง เสนอกระบวนการให้สาธารณชนเสนอชื่อผู้ว่าการฮ่องกงคู่ขนานกับกระบวนการที่รัฐบาลฮ่องกงจัด เพื่อสร้างเงื่อนไขให้คณะผู้เลือกตั้งฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย 325 คน พิจารณาผู้สมัครผู้ว่าการฮ่องกง ที่มี 3 คุณสมบัติ คือ 1. ได้รับการเสนอชื่อมากกว่า 37,790 รายชื่อ ซึ่งเท่ากับร้อยละ 1 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งฮ่องกง 2. เป็นผู้ที่ให้สัญญาว่าจะมีแพ็กเกจปฏิรูปที่ไม่ยึดตามข้อเสนอของรัฐบาลปักกิ่ง 3. จะต้องปกป้องคุณค่าหลักของฮ่องกง โดยกระบวนการเสนอชื่อโดยสาธารณชน จะจัดขึ้นในวันที่ 7 และ 22 กุมภาพันธ์นี้ ที่สาขาวิชาสำรวจมติมหาชน มหาวิทยาลัยฮ่องกง และศูนย์นโยบายทางสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยโปลิเทคนิคฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม ก็มีเสียงวิจารณ์ว่า ผู้รณรงค์อาจจะเสนอชื่ออดีตรัฐมนตรีฝ่ายการคลัง จอห์น จัน ที่พวกเขาเห็นว่าเลวร้ายน้อยที่สุด ในหมู่แคนดิเดตผู้ว่าการฮ่องกงที่ต่างเป็นฝ่ายนิยมรัฐบาลปักกิ่ง ในขณะที่เหลียง กว็อกฮุง สมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกง ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย เห็นว่า การหันไปเลือกผู้สมัครที่เป็นฝ่ายนิยมรัฐบาลปักกิ่ง รวมทั้งการเลือก จอห์น จัน จะเป็นผลร้ายต่อขบวนการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย ทำให้ผู้สนับสนุนขบวนการรู้สึกหมดหวังและจะเลิกล้มการต่อสู้ ทั้งนี้ เหลียง กว็อกฮุง เองก็แสดงเจตนาที่จะลงสมัครผู้ว่าการฮ่องกงเช่นกัน แต่เขาต้องการทราบผลว่าได้รับเสียงสนับสนุนจากสาธารณชนมากพอหรือไม่ก่อน

ขณะที่ ‘โจชัว หว่อง’ ก็เตือนผู้สนับสนุนประชาธิปไตยฮ่องกงเช่นกันให้ทบทวนนโยบายเศรษฐกิจของจอห์น จัน ที่ทำลายผลประโยชน์ของคนหาเช้ากินค่ำและในฮ่องกง

 

เกาหลีใต้: ผู้นำฝ่ายค้านจ่อขึ้นชิงประธานาธิบดีหลังยุค ‘พัก กึนเฮ’
ส่วน ‘บัน คีมุน’ ยังมีข้อจำกัด

การประชุมรัฐสภาเกาหลีใต้เพื่อลงมติลับถอดถอน ประธานาธิบดีพัก กึนเฮ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2016 (ที่มา: JTBC News)

หลังการชุมนุมทุกสุดสัปดาห์ติดต่อกันมาตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2016 จนกระทั่งเมื่อ 9 ธันวาคมปีที่ผ่านมา รัฐสภาเกาหลีใต้ลงมติถอดถอนประธานาธิบดี พัก กึนเฮ ในข้อกล่าวหาที่ว่าให้ชเว ซุนซิล เพื่อนสนิทแทรกแซงกิจการการเมืองทั้งที่ไม่มีตำแหน่งในรัฐบาล และเรียกรับผลประโยชน์ จากการที่เพื่อนสนิทกดดันให้บริษัทยักษ์ใหญ่บริจาคเงินให้มูลนิธิที่ตัวเองตั้งขึ้นด้วย

ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้มีเวลาทบทวนความชอบทางกฎหมายของมติถอดถอนซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 180 วัน หรือภายในวันที่ 7 มิถุนายน 2017 และหากศาลรัฐธรรมนูญยืนตามมติถอดถอน การเลือกตั้งประธานาธิบดีก็จะจัดเร็วขึ้น โดยตามกฎหมายของเกาหลีใต้การเลือกตั้งทั่วไปจะต้องจัดภายใน 60 วัน หลังจากประธานาธิบดีลงจากตำแหน่ง หรือถูกขับให้พ้นจากตำแหน่ง ทำให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเร็วขึ้นกว่ากำหนดเดิมคือก่อนวันที่ 20 ธันวาคม 2017 โดยอาจจะมีการจัดเลือกตั้งอย่างช้าที่สุดภายในเดือนสิงหาคม 2017

หากมีการจัดเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้รอบใหม่ พัก กึนเฮ ก็ไม่สามารถลงสมัครได้ เนื่องจากข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญไม่ให้ลงสมัครประธานาธิบดีในสมัยที่ 2 ได้ ขณะเดียวกันสถานการณ์ภายในพรรคแซนูรี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลก็ประสบความแตกแยก โดยมีกลุ่ม ส.ส. เกือบ 30 คน แยกตัวออกไปตั้งพรรคใหม่คือพรรคบารึน หรือพรรคอนุรักษ์นิยมใหม่เพื่อการปฏิรูป ทำให้ขณะนี้พรรครัฐบาลแซนูรี มี ส.ส. เพียง 96 คน จากทั้งสภา 300 คน พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปไตยเกาหลี (DPK) มี ส.ส. ถึง 121 คน ขณะที่พรรคกุกมิน หรือพรรคประชาชนมี ส.ส. 38 คน พรรคยุติธรรมมี ส.ส. 6 คน และผู้สมัครอิสระมี ส.ส. 6 คน ทำให้ขณะนี้เมื่อรวมเสียง ส.ส. พรรคฝ่ายค้านซึ่งมีเสียงเกินร้อยละ 60 ของที่นั่งในสภาทั้งหมด ฝ่ายค้านสามารถเสนอกฎหมายควบคุมบรรษัทขนาดใหญ่ รวมไปถึงขอแก้ไขรัฐธรรมนูญก็สามารถทำได้โดยที่ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ไม่สามารถรวมเสียงเพื่อทัดทานได้

ผลสำรวจความนิยมของผู้ที่จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี (จากซ้ายไปขวา) อันดับ 1 มุน แจอิน ผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งปัจจุบันครองเสียงข้างมากในสภา เหนือพรรครัฐบาลที่แพ้การลงมติถอดถอนพัก กึนเฮ อันดับ 2 บัน คีมุน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ แต่มีจุดอ่อนเรื่องไม่มีฐานการเมืองและไม่มีผลงานโดดเด่นในสหประชาชาติ และ อันดับ 3 ลี แจมุง นายกเทศมนตรีซองนัม เมืองทางตอนใต้ของกรุงโซล ผู้เสนอควบคุมเครือธุรกิจยักษ์ “แชโบล” เพิ่มสวัสดิการกรรมกร และเป็นมิตรกับเกาหลีเหนือ (ที่มา: ที่มา: [1] Lifesavior/Wikipedia [2] World Economic Forum/Wikipedia และ [3] Yonhap)

ผลสำรวจความนิยมล่าสุด เมื่อ 18 มกราคมที่ผ่านมา พบว่าผู้นำฝ่ายค้านจากพรรคประชาธิปไตยเกาหลี (DK) คือ มุน แจอิน ได้รับคะแนนนิยมร้อยละ 31.4 ขณะที่ บัน คีมุน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ที่หลังพ้นจากการดำรงตำแหน่งก็แสดงท่าทีต้องการเล่นการเมือง ได้คะแนนเป็นอันดับสองคือร้อยละ 20 ส่วนลี แจมุง นายกเทศมนตรีซองนัม ชานเมืองทางทิศใต้ของโซล ได้คะแนนเป็นอันดับสามคือร้อยละ 9.5

โดยผู้ได้คะแนนอันดับ 1 อย่าง มุน แจอิน เคยลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแข่งกัน พัก กึนเฮในปี 2012 แต่พ่ายแพ้ไป มาหนนี้พรรคประชาธิปไตยเกาหลี (DK) ที่เขาเป็นหัวหน้าพรรค เป็นพรรคที่กุมฐานเสียงใหญ่ หลังเพิ่งได้ที่นั่งมากที่สุดในการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2016

ส่วนอันดับ 2 อย่าง บัน คีมุน นั้น บทวิเคราะห์ใน The Diplomat ระบุว่า ด้วยจุดอ่อนทางการเมือง ความไม่คงเส้นคงวาในบทบาทเลขาธิการองค์การสหประชาชาติจะทำให้ บัน คีมุน ดูเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ขาดชีวิตชีวา ทั้งนี้ บัน คีมุน มีข้อจำกัดหลายเรื่อง เขาไม่มีฐานทางการเมืองในเกาหลีใต้ แม้จะเคยพูดว่าต้องการทำงานกับนักการเมืองทุกคน แต่เมื่อพิจารณาท่าทีตอบรับ ก็ดูเหมือนมีเพียงพรรคบารึนที่ตั้งขึ้นมาใหม่จะคิดอ่านใกล้เคียงกับเขา นอกจากนี้แม้เขาแสดงเจตนาต้องการทำงานกับพรรคฝ่ายค้านอย่าง พรรคประชาธิปไตยเกาหลี (DK) แต่ผู้สนับสนุนของอดีตประธานาธิบดีโน มูฮย็อน และมุน แจอิน ก็มีท่าทีไม่ชอบบัน คีมุน

ขณะเดียวกันในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติก็ไม่มีผลงานน่าประทับใจ ช่วงที่เรือเซวอนล่มกลางทะเลมีนักเรียนเสียชีวิตหลายร้อยคนเขาก็ไม่แสดงท่าทีอะไร และข้อสำคัญคือสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติเคยมีมติในปี 1946 ให้เลขาธิการองค์การสหประชาชาติหลีกเลี่ยงการรับตำแหน่งของรัฐบาลใดๆ ภายหลังพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งทำให้อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ 2 คนคือเคิร์ต วัลเฮล์ม (Kurt Waldheim) และชาวิเอ เปเรซ (Javier Perez de Cuellar) ต้องรอถึง 5 ปี ก่อนจะรับตำแหน่งประธานาธิบดีออสเตรีย และเปรู อย่างไรก็ตามกรณีนี้อาจไม่เกิดกับบัน คีมุนก็ได้ เนื่องจากมติของสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติไม่มีผลผูกมัดชาติสมาชิก อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกเรื่องที่น่าจะส่งผลต่อการตัดสินใจทางการเมืองของบัน คีมุน ก็คือข่าวที่น้องชายคนสุดท้อง และหลานชายของเขาถูกอัยการสหรัฐอเมริกาตั้งข้อหาเสนอเงินสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ของประเทศในตะวันออกกลาง

สำหรับผู้ได้คะแนนนิยมอันดับ 3 ลี แจมุง มีพื้นเพมาจากครอบครัวชนชั้นล่าง เคยทำงานโรงงานจนได้แผล ในบทสัมภาษณ์กับบลูมเบิร์ก เขาถูกมองว่าเป็นทั้ง ‘ทรัมป์’ และ ‘แซนเดอร์ส’ แห่งเกาหลีใต้ โดยพื้นเพเคยเป็นทนายความช่วยเหลือกรรมกรในซองนัม ก่อนที่จะเริ่มเล่นการเมืองท้องถิ่นมาตั้งแต่ปี 2006 แต่มาชนะได้เป็นนายกเทศมนตรีในปี 2010 โดยเมืองที่เคยเป็นย่านที่อยู่อาศัยของกรรมกร เนื่องจากราคาที่ดินในกรุงโซลพุ่งกระฉูดนั้น ปัจจุบันกลายเป็นเขตที่เก็บภาษีได้สูงที่สุดในเกาหลีใต้เนื่องจากเป็นที่ตั้งของบริษัท Naver เจ้าของเว็บท่าใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ซึ่ง ลี แจมุงนั้นประกาศจะควบคุมเครือธุรกิจยักษ์คือ “แชโบล” โดยเขาเห็นว่านโยบายของรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนเหล่านี้ ทำให้เศรษฐกิจประสบปัญหา นอกจากนี้เขาให้คำมั่นว่าจะขยายสวัสดิการกรรมกร รวมทั้งต้องการเป็นมิตรกับเกาหลีเหนือ

 

ประเทศไทย: คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะจัดเลือกตั้งภายในปี 2017 หรือไม่

คำตอบ = ไม่ทัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในงานวันเด็กแห่งชาติที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อเดือนมกราคม 2016 (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

ทั้งนี้นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ 22 พฤษภาคม 2014 และเคยกล่าวถึงแผนโรดแมปเพื่อจัดการเลือกตั้งในหลายโอกาส แต่มีการเลื่อนแผนนั้นบ่อยครั้ง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) กระทั่งหลัง 6 กันยายน 2015 สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และต้องมีการตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดใหม่ และกำหนดวันลงประชามติ 7 สิงหาคม 2016

โดยภายหลังจากที่ประชามติผ่าน โรดแมปที่เคยเสนอก่อนลงประชามติว่าจะจัดการเลือกตั้งภายในปี 2017 ก็เลื่อนออกไป โดยถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยขั้นตอนปัจจุบันรัฐบาล คสช. เพิ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังจากได้รับพระราชทานคืนกลับมาจากพระมหากษัตริย์เมื่อ 20 มกราคมนี้ โดยตามกรอบในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว รัฐบาลจะใช้เวลาไม่เกิน 30 วันเพื่อแก้ไข จากนั้นจะทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยภายใน 90 วัน

และเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีขั้นตอนร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก 10 ฉบับ ไม่เกิน 240 วัน และมีขั้นตอนพิจารณาโดย สนช. ไม่เกิน 60 วัน และเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งผ่าน จะต้องเลือกตั้ง ส.ส. ภายใน 150 วัน ทำให้วันเลือกตั้งช้าสุดจะอยู่ในเดือนสิงหาคม 2018

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 10 มกราคม มีรายงานด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ระบุด้วยว่าโรดแมปการเมืองและการเตรียมเลือกตั้งจะเดินหน้าต่อไป หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีพระบรมศพและพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

พินิจโลกเปลี่ยนและผลจากการเลือกตั้งในรอบปี 2016

ในปี 2016 ที่ผ่านมา มีหลายประเทศที่มีการเลือกตั้งทั่วไปและการเลือกตั้งผู้นำประเทศคนใหม่ โดยนอกจากการเลือกตั้งที่โลกจับตามองและมีผลต่อภูมิทัศน์การเมืองระหว่างประเทศของโลก นอกจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤศจิกายนที่โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน เอาชนะ ฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต และเพิ่งสาบานตนไปเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2017 นั้น ช่วงปีที่ผ่านมาก็มีการเลือกตั้งในประเทศอื่นๆ ที่มีประเด็นน่าสนใจและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในชาตินั้นๆ เช่นกัน

ไต้หวันได้ประธานาธิบดีหญิงคนแรก: เป็นคนรักแมว-หนุนสิทธิคนรักเพศเดียวกัน

ไช่ อิงเหวิน ผู้สมัครประธานาธิบดีไต้หวันพรรค DPP หาเสียงโค้งสุดท้ายเมื่อ 15 .. 2016 (ที่มาเฟซบุ๊ค 蔡英文 Tsai Ing-wen)

ตั้งแต่ต้นปี 2016 ในเดือนมกราคม สาธารณรัฐจีน หรือไต้หวันก็ได้ประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งคนใหม่คือ ไช่อิงเหวิน จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) โดยเอาชนะพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ที่เป็นพรรครัฐบาลเดิมอย่างท่วมท้นด้วยคะแนนร้อยละ 56.1 ต่อร้อยละ 31.0 ทำให้เธอกลายเป็นประธานาธิบดีผู้หญิงคนแรกที่ได้เป็นประธานาธิบดีไต้หวัน เธอเป็นผู้มีนโยบายหนุนการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันและมีท่าทีต่อเรื่องสถานะของความเป็นประเทศไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่แบบต้องการคงสถานะปัจจุบันไว้จากที่เธอไม่ได้แสดงออกอย่างเปิดเผยว่าจะให้ไต้หวันเป็นเอกราชและไม่เคยแสดงออกยอมรับให้มีการรวมชาติกับจีนแผ่นดินใหญ่

ทั้งนี้ ในกรณีของไต้หวันยังมีการวิเคราะห์ว่าพรรค DPP และไช่อิงเหวิน ต่างก็ได้รับประโยชน์จากการเคลื่อนไหวดอกทานตะวันที่เป็นการประท้วงต่อต้านพรรค KMT โดยกลุ่มเยาวชน นอกจากนี้ยังอาจจะเป็นเพราะกลุ่มประชากรเริ่มนิยามตัวเองว่าเป็น "คนไต้หวัน" มากกว่าเป็น "คนจีน" เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจากร้อยละ 17.6 ในปี 1992 เป็นร้อยละ 60.6 ในปี 2014 จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิงจี (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

ฟิลิปปินส์เลือกตั้งได้ผู้นำสไตล์มือปราบปืนเถื่อน ทำสงครามยาเสพย์ติดประเดิมรับตำแหน่ง

แต่ประเทศที่ได้ผู้นำขวาจัดคนใหม่อย่างชัดเจนดูเหมือนจะเป็นฟิลิปปินส์ ที่การเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โรดริโก ดูเตอร์เต อดีตนายกเทศมนตรีดาเวาซิตี ชนะการเลือกตั้งได้ ดูเตอร์เตผู้มีภาพลักษณ์เป็น "มือปราบปืนเถื่อน" ผู้สัญญาว่าจะปราบอาชญากรรมและยาเสพติดด้วยความรุนแรง มีคนพยายามวิเคราะห์ว่าเหตุใดชาวฟิลิปปินสืถึงหันมานิยมผู้นำที่ดูรุนแรงแบบนี้ บ้างก็บอกว่ามันเป็นการเมืองเรื่องที่เน้นบุคลิกภาพตัวบุคคลมากกว่าจะสนใจเรื่องนโยบาย แต่ก็มีบางส่วนมองว่าชาวฟิลิปปินส์เรียกร้องหา "อำนาจนิยมใหม่" เพราะโกรธแค้นชนชั้นนำเดิมที่มีความเป็นคณาธิปไตย ละเลย และไม่ใยดีพวกเขา

 

ฮ่องกง: 'โลคัลลิสต์ขั้วอำนาจใหม่หลังปฏิวัติร่มชนะเลือกตั้งหลายเขต แต่ไม่วายถูกจีนสกัด

สมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงหน้าใหม่ ที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2016 (แถวบนจากซ้ายไปขวา) 1. นาธาน หลอ แกนนำนักศึกษาชุมนุมปฏิวัติร่ม จากพรรค Demosisto 2. เอ็ดดี ชู อดีตสื่อมวลชนและนักกิจกรรมด้านสิทธิชุมชนของฮ่องกง 3. เล่า เสี่ยวไหล อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยที่บรรยายเรื่อง "ความยุติธรรมทางสังคม" ในช่วงชุมนุมปฏิวัติร่ม (แถวล่างจากซ้ายไปขวา) 4. บัจโจ เหลียง ผู้ก่อตั้งพรรค Youngspiration 5. เหยา ไว-ชิง จากพรรค Youngspiration เคยแพ้นักการเมืองรุ่นใหญ่ในการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ขอฮึดสู้สนามใหญ่จนชนะเลือกตั้งในที่สุด 6. เจิ้ง จุง-ไท้ หันหลังให้พรรคสายประนีประนอมรัฐบาลปักกิ่ง สู่การตั้งพรรค Civic Passion โดยกรณีของบัจโจ เหลียง และ เหยา ไว-ชิง กลายเป็นประเด็นอีกรอบ หลังศาลฮ่องกงให้พวกเขาขาดคุณสมบัติเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกง โดยอ้างว่า “ไม่จริงใจ” ในการสาบานตน

ในฮ่องกงกำลังมีประเด็นในเรื่องความไม่พอใจต่อการแทรกแซงการเมืองโดยจีนแผ่นดินใหญ่ โดยผลการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติฮ่องกง (LegCo) เมื่อ 4 กันยายน 2016 ที่ผ่านมา พบว่าพรรคการเมืองกลุ่มไม่นิยมรัฐบาลจีน ได้ที่นั่งรวมกัน 30 ที่นั่ง ประกอบด้วยพรรคการเมืองสายนิยมประชาธิปไตย (Pan-democrats) ได้ 22 ที่นั่ง และขั้วการเมืองใหม่ที่ก่อตัวหลังการชุมนุม “Occupy Central” หรือการปฏิวัติร่มเมื่อปี 2014 ได้แก่ พรรคการเมืองสาย “โลคัลลิสต์” (Localists) และกลุ่มเรียกร้องให้ฮ่องกงเป็นอิสระ ได้ 8 ที่นั่ง

ทั้งนี้ แม้ว่าพรรคฝ่ายหนุนจีนแผ่นดินใหญ่จะยังคงได้รับที่นั่งเสียงข้างมากในสภา แต่ก็มีกลุ่มเยาวชนที่เคยเคลื่อนไหวเรียกร้องไม่ให้จีนแทรกแซงประชาธิปไตยฮ่องกงจำนวนหนึ่งชนะการเลือกตั้งได้เป็นผู้แทนสภา ไม่ว่าจะเป็น นาธาน หลอ กับเพื่อนๆ นักกิจกรรมของเขาจากกลุ่มเดโมซิสโต (Demosisto) หรือ ซิกซ์ตัส บัจโจ เหลียง กับ เหยา ไว-ชิง จากกลุ่ม 'ยังสไปเรชัน' ที่ต้องการเรียกร้องอิสรภาพให้ฮ่องกง

ทว่าในช่วงพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง เหลียงละโหยวไว่ชิงปฏิเสธไม่ยอมสาบานตนว่าจะภักดีต่อ "เขตปกครองพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน" แต่กลับสาบานตนต่อ "ประเทศฮ่องกง" แทน ทำให้จีนแผ่นดินใหญ่ไม่พอใจ และศาลสูงของฮ่องกงได้ตัดสินให้พวกเขา "มีคุณสมบัติไม่เหมาะสม" โดนอ้างว่า ไม่จริงใจในการสาบานตน

 

เปรูผู้นำพรรคสายกลางเฉือนชนะลูกสาวฟูจิโมริ
พรรคฝ่ายซ้ายได้ที่นั่งในสภา 20 ที่นั่ง

ในเปรูเมื่อเดือนเมษายนก็มีการเลือกตั้ง ส.ส.และประธานาธิบดี โดยในการเลือกตั้งส.ส. พรรคป็อบปูลาร์ฟอร์ซชนะที่นั่งในสภาอย่างท่วมท้นโดยได้รับ 73 ที่นั่งจากทั้งหมด 130 ที่นั่ง ในด้านการเลือกตั้งประธานาธิบดีมีการเลือกตั้งแบ่งเป็นสองรอบ โดยในรอบแรกผู้สมัคร เคย์โกะ ฟูจิโมริ ตัวแทนจากพรรคป็อบปูลาร์ฟอร์ซ ลูกสาวของอดีตประธานาธิบดีอัลแบร์โต ฟูจิโมริ ได้รับคะแนนเสียงข้างมากแต่ยังไม่ถึงร้อยละ 50 ทำให้ตามกฎของเปรูแล้วจึงมีการเลือกตั้งรอบสอง แต่ในการเลือกตั้งรอบที่สองเปโดร ปาโบล คักซินสกี จากพรรคคู่แข่งเปรูเวียนฟอร์เชนจ์พลิกกลับมาเอาชนะได้อย่างเฉียดฉิวด้วยคะแนนเสียง 8.59 ล้านเสียง หรือร้อยละ 50.12 ขณะที่ฟูจิโมริได้รับคะแนนเสียง 8.55 ล้านเสียง หรือร้อยละ 49.88 ฟูจิโมริประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ต่อคักซินสกีในวันที่ 10 มิถุนายน

นอกจากการขับเคี่ยวของสองพรรคใหญ่แล้ว พรรคสำดับที่สามซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายของเปรูชื่อ 'เอล เฟรนเต อัมปริโอ' (El Frente Amplio) หรือ 'บรอดฟรอนท์' ก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับคนทำงานบริการทางเพศชื่อ อังเกลา วิลลอง ผู้ลงชิงชัยในการเลือกตั้ง ส.ส. ของเปรู เพราะต้องการช่วยเข้าไปเรียกร้องสิทธิสตรีและสิทธิแรงงานจากที่เธอเคยมีพื้นเพเป็นผู้เคยอยู่กับความยากจนมาก่อน โดยในการเลือกตั้งที่ผ่านมาได้รับคะแนนเสียงการเลือกตั้งสมาชิกสภาร้อยละ 13.9 ชนะที่นั่ง 20 ที่นั่ง อย่างไรก็ตามวิลลองไม่สามารถชนะการเลือกตั้งเข้าไปในสภาได้ในครั้งนี้

 

สเปนฝ่าทางตันทางการเมืองได้ด้วยวิถีแห่งการเลือกตั้ง

ยุโรปอีกประเทศหนึ่งที่มีกลุ่มฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายขับเคี่ยวกันในศึกการเลือกตั้งอย่างไม่มีใครลดราวาศอกคือสเปนที่มีการจัดการเลือกตั้งซ้ำเป็นครั้งที่ 2 เพื่อแก้ไขสถานการณ์หลังจากที่ในการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อเดือน ธันวาคม 2014 ไม่สามารถตกลงจัดตั้งสภากันได้ โดยที่ไม่มีพรรคใดได้เป็นเสียงข้างมากในสภา

ในการเลือกตั้งรอบ 2 ของสเปนเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาพรรคฝ่ายซ้ายอย่างโปเดมอสพยายามรวมกลุ่มฝ่ายซ้ายด้วยกัน เป็นยูนิดอส โปเดมอส เพื่อต่อสู้กับสองพรรคใหญ่ดั้งเดิมอย่างพีเพิลปาร์ตีหรือพีพี (PP) นำโดย มาริอาโน ราฮอย และ กับพรรคสังคมนิยมแรงงานสเปนหรือพีเอสโออี (PSOE) นำโดย เปโดร ซานเชซ แต่ผลออกมาก็ยังไม่มีใครชนะขาด โดยที่พรรคสายขวากลางของราฮอยยิ่งได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นด้วย

แต่ในวันที่ 29 ตุลาคม สเปนก็พ้นจากทางตันทางการเมืองหลังจากที่พรรคพีเอสโออีมีปัญหาภายในจนงดออกเสียงในที่ประชุมสภาเพื่อลงมติแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทำให้มาริอาโน ราฮอย ได้รับคะแนนเสียงมติในสภามากพอจะเป็นนายกรัฐมนตรีในที่สุด

 

ฝ่ายขวาผงาดยุโรป แต่พรรคกรีนยังคงชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีออสเตรีย

ยุโรปยังถูกจับตามองจากสื่อด้วยความกังวลว่าพรรคการเมืองแนวทางขวาจัดจะมีอำนาจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้งประธานาธิบดีออสเตรียรอบที่ 2 เมื่อ 4 ธันวาคม สมาชิกพรรคกรีน อเล็กซานเดอร์ แวน เดอ เบลเลน ก็เป็นฝ่ายชนะด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 53.8 ได้คะแนนเสียง 2.4 ล้านคะแนน ขณะที่ผู้นำพรรคขวาจัดนีโอนาซีอย่างนอร์เบิร์ต โฮเฟอร์ ออสเตรียนฟรีดอมปาร์ตีหรือ เอฟพีโอ (FPO) ได้รับคะแนนร้อยละ 46.2 ซึ่งถึงแม้ว่าจะพรรคฝ่ายขวายังคงแพ้การเลือกตั้ง แต่ก็ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนถึง 2.1 ล้านคะแนน Foreign Policy วิเคราะห์ว่าเป็นเพราะออสเตรียซึ่งเป็นประเทศที่เคยมีส่วนร่วมในการกระทำโหดร้ายในสงครามโลกครั้งที่ 2 กลับพยายามปกปิดรอยบาปของตนเองจนทำให้ประชาชนไม่ได้เรียนรู้

 

กานาฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจ

ในอีกมุมหนึ่งของโลกคือแอฟริกาผู้ที่เป็นฝ่ายค้านก็เป็นฝ่ายกลับมาเอาชนะพรรครัฐบาลเดิมได้เช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม นานา อะคูโฟ-แอดโด จากพรรคชาตินิยมใหม่ (New Patriotic หรือ NPP) ชนะคู่แข่งจอห์น ดรามานี มาฮามา จากพรรคเอ็นดีซี (NDC) ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 53.85 ต่อร้อยละ 44.4 นักวิเคราะห์มองว่าที่พรรคฝ่ายค้านสายอนุรักษ์นิยมของกานาได้รับคะแนนเสียงจนชนะการเลือกตั้งได้ในครั้งนี้เป็นเพราะชาวกานากำลังประสบปัญหาการว่างงาน เรื่องค่าครองชีพ ทำให้การหาเสียงของพรรค NPP ที่เน้นเรื่องการสร้างงานสามารถมัดใจประชาชนได้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท