Skip to main content
sharethis

กสทช. ประวิทย์ ชี้หลักเกณฑ์ใหม่ย้ายค่ายเบอร์เดิมเพิ่มความสะดวก แต่ผู้ใช้บริการจำนวนมากย้ายไม่ได้ เหตุค่ายมือถืออ้างค้างชำระค่าบริการ กระตุ้นสำนักงานเร่งตรวจสอบ

                  
25 ม.ค. 2560 สืบเนื่องจากการที่สำนักงาน กสทช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ปรับปรุงระบบการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย หรือ “ย้ายค่ายเบอร์เดิม” เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการมากขึ้น โดยระบบใหม่นี้ได้พัฒนาระบบตรวจสอบสถานะของผู้ใช้บริการในการย้ายค่าย ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่าย โดยกด *151*เลขบัตรประชาชน 13 หลัก# แล้วกดโทรออก หากไม่ติดเงื่อนไขใด เช่น ข้อมูลผู้จดทะเบียนไม่ถูกต้อง หรือมียอดค้างชำระค่าบริการ ผู้ใช้บริการก็จะได้รับรหัสแสดงตน 8 หลัก ทาง SMS ภายใน 10 นาที เพื่อนำไปสมัครย้ายค่าย ณ จุดบริการของค่ายใหม่ โดยจะใช้เวลาในการดำเนินการย้ายค่ายภายใน 2 วันทำการ

ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เปิดเผยว่า การย้ายค่ายเบอร์เดิมในระบบนี้ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ โดยสามารถตรวจสิทธิในการขอย้ายค่ายได้ด้วยตนเอง เพียงกดรหัส ก็จะทราบผลได้ภายใน 10 นาที ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่ศูนย์ให้บริการของค่ายมือถือเหมือนแต่ก่อน ซึ่งบริการในระบบใหม่นี้ได้เปิดอย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างไม่เป็นทางการ พบว่าผู้ใช้บริการบางส่วนสามารถใช้บริการย้ายค่ายเบอร์เดิมโดยไม่พบปัญหา แต่ก็มีผู้ใช้บริการบางส่วนที่ภายหลังกดขอรับรหัสแสดงตน 8 หลักแล้ว ได้รับข้อความปฏิเสธว่าไม่สามารถย้ายค่ายได้ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับแจ้งว่ามียอดค้างชำระค่าบริการ ทั้งที่ไม่ได้ค้างชำระค่าบริการ บางรายชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิต หรือบางรายใช้บริการแบบระบบเติมเงิน (prepaid) ซึ่งเมื่อผู้ใช้บริการเหล่านี้ติดต่อสอบถามไปยังบริษัทตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ระบุไว้ในข้อความสั้น กลับเจอระบบตอบรับอัตโนมัติ ทำให้ไม่ได้รับทราบข้อเท็จจริงว่าเหตุใดจึงไม่สามารถขอย้ายเลขหมายได้ กลายเป็นปัญหาอุปสรรคที่เพิ่มขึ้นของผู้ต้องการโอนย้ายเลขหมาย

“โดยหลักเกณฑ์เงื่อนไขในกรณีที่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบจ่ายรายเดือน หากมีการค้างชำระค่าบริการจริงก็จะไม่สามารถโอนย้ายได้ แต่ถ้าเป็นการขอโอนย้ายในระหว่างรอบบิล คือยังไม่มีการเรียกเก็บค่าบริการ ก็จะไม่ใช่กรณีการค้างชำระค่าบริการ ซึ่งบริษัทไม่สิทธิปฏิเสธคำขอโอนย้ายค่ายของผู้ใช้บริการได้ ส่วนค่าบริการที่ยังไม่ได้ชำระ ก็เป็นหน้าที่ที่ผู้ใช้บริการต้องไปชำระในภายหลังเมื่อได้รับบิลเรียกเก็บค่าบริการแล้ว ส่วนผู้ใช้บริการแบบระบบเติมเงินซึ่งเป็นการชำระค่าบริการไว้ล่วงหน้า ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะค้างชำระค่าบริการ”

ส่วนกรณีที่ผู้ใช้บริการติดสัญญาซื้อเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ในราคาพิเศษนั้น ประวิทย์ กล่าวว่า อันที่จริงผู้ใช้บริการมีสิทธิย้ายค่ายได้ เพราะตามประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานสัญญาให้บริการฯ ระบุชัดว่าผู้ใช้บริการสามารถยกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ เพียงแต่ผู้ใช้บริการต้องรับผิดชอบส่วนต่างค่าเครื่องเท่านั้น ดังนั้นหากเป็นปัญหานี้ ทางบริษัทก็ต้องแจ้งส่วนต่างดังกล่าวให้ผู้ใช้บริการรับทราบ ไม่ใช่ว่าห้ามย้ายหรือบอกว่าย้ายไม่ได้

นอกจากนี้ จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์ ยังพบปัญหาอื่นๆ เช่น ผู้ใช้บริการบางรายประสบปัญหาว่าไม่ได้รับข้อความสั้นตอบกลับ บางรายได้รับข้อความว่าอยู่ในกระบวนการย้ายค่าย หลังจากนั้นมีพนักงานบริษัทโทรมาพูดคุยในลักษณะหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ย้ายค่าย หรือแม้กระทั่งบางรายประสบปัญหาพนักงานบริษัทอ้างว่าเคยลงทะเบียนซิมไว้แบบถ่ายรูปบัตรประชาชน จึงไม่มีชื่ออยู่ในระบบ ทำให้ไม่สามารถโอนย้ายได้ เป็นต้น

“ผมอยากให้ผู้ใช้บริการที่ประสบปัญหาแจ้งข้อมูลมายังสำนักงาน กสทช. สายด่วน 1200 เพื่อสำนักงาน กสทช. จะได้รวบรวมปัญหาและตรวจสอบข้อเท็จจริง หลังจากนั้นจะได้บังคับผู้ให้บริการปรับปรุงระบบและดำเนินการให้บริการโอนย้ายเลขหมายผู้ใช้บริการตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขให้ถูกต้องต่อไป เพราะหัวใจสำคัญในช่วงแรกของการบังคับใช้หลักเกณฑ์เงื่อนไขใหม่นี้ คือการตรวจสอบว่าระบบและกระบวนการขั้นตอนการโอนย้ายมีปัญหาหรือติดขัดอุปสรรคใดหรือไม่ เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้ระบบและกระบวนการสามารถใช้ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากไม่เร่งทำตอนนี้ ต่อไปปัญหาก็จะสะสมและสุดท้ายทำให้ระบบและกระบวนการขาดประสิทธิภาพ” ประวิทย์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net