จรัญ เชื่อ ‘ร่างรธน.มีชัย’ มีนิติธรรม อยู่ได้ยาวในสังคมไทย

28 ม.ค.2560 เครือข่ายสตรีเพื่อการพัฒนาชาวพุทธ จัดเสวนา กฎหมายและศาสนาจัดความสัมพันธ์อย่างไรจึงลงตัว โดยมีวิทยากรเสวนา คือ ศ.(พิเศษ)จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, และ คุณกิตติชัย จงไกรจักร นักวิชาการด้านกฎหมาย ดำเนินรายการโดย สมฤทธิ์ ลือชัย ณ สวนวชิรเบญจทัศ(สวนรถไฟ)

จรัญ กล่าวว่า กฎแห่งกรรมและกฎหมายมีลักษณะคล้ายๆ แต่กฎหมายมีลักษณะหยาบเพราะมนุษย์เป็นผู้สร้างในขณะที่กฎแห่งกรรมเป็นกฎธรรมชาติครอบงำพฤติกรรมมนุษย์รวมทั้งคนร่างกฎหมาย คนบังคับใช้กฎหมาย

จรัญกล่าวอีกว่า ประเทศไทยไม่เคยมีผู้ปกครองคนไหนที่แย่งเอาพระราชอำนาจจากพระราชาแล้วไม่ได้เอาธรรมะของพระราชามาด้วยเลย เอามาแต่อำนาจ ส่วนธรรมของพระราชาก็ให้พระราชาท่านปฏิบัติไปแต่พระองค์เดียว เพราะพวกเราไม่ใช่พระราชา ฉะนั้นจึงใช้อำนาจไปตามกิเลสตัณหารวมถึงการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บางคนเลยกลายเป็นยักษ์เป็นมาร ฆ่าประชาชนได้อย่างไม่รู้สึกผิด หากรู้สึกว่าคือการทำประโยชน์ให้กับสังคม

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกล่าวว่า กฎหมายเราก็สร้างกันเองด้วยกิเลสตัณหาของพวกเราและเราก็บังคับใช้มันเองด้วยความมืดบอดของเรา และเราก็ตีความไปตามตัวหนังสือตามวิชากฎหมาย แล้วก็มีเยอะไปหมดในพระไตรปิฎก ในฐานข้อมูล หรือในโทรทัศน์ที่เอาธรรมะมาพูดให้ฟังเป็นภาษาง่ายๆ แต่เราก็ไม่ได้สดับรับฟังเสียงธรรมะที่ก้องกังวานอยู่ทั่วประเทศ เรารู้จักแต่กฎหมาย รู้จักแต่เทพเจ้าแห่งเงินตรา แล้วก็บูชาเงินตรากันอย่างสุดชีวิตจิตใจ เพราะไม่รู้จักชีวิต ไม่รู้จักโลก ในอเมริกาก็มีการบูชาเงินตรา ดูเถิดว่ามันวิบัติขนาดไหน

จรัญกล่าวว่า กฎหมายจึงต้องเขามาช่วยบำรุงพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ยืดยาวต่อไปที่สุดเท่าที่จะทำได้ กฎหมายจึงมีกรอบคือหลักธรรมครอบอยู่ เราจึงผลักดันให้กฎหมายมีหลักนิติธรรมและตั้งใจจะใช้คำนี้ เพราะหลักกฎหมายอย่างนิติรัฐไม่มีความหมายอะไรโดยชื่อ ซึ่งแปลว่าประเทศถือกฎหมายเป็นใหญ่ มันไปไม่ถึงสิทธิที่เรากำลังค้นหาอยู่ จึงเสนอว่าอย่าใช้คำว่านิติรัฐเลยให้ใช้นิติธรรม เพราะแปลว่ากฎหมายต้องอยู่ภายใต้ธรรม และธรรมต้องครอบงำกฎหมายให้ได้ทุกมิติสาขา

“โชคดีที่รัฐธรรมนูญไม่ว่าฉบับของคุณบวรศักดิ์หรือคุณมีชัย ก็ใช้หลักนิติธรรม และผมมั่นใจว่าจะอยู่เรื่อยไปในสังคมไทย” จรัญกล่าว

จรัญ ย้ำว่าอย่าเข้าใจผิดว่าคำว่าหลักนิติธรรมเป็นหลักกฎหมายชนิดหนึ่ง มันเป็นชื่อที่ตรงกับที่ชาวต่างชาติเรียกว่า Rule of Law เพราะ Rule of Law ไม่ได้ลึกซึ้งอะไรมากไปกว่าระบบกฎหมายของชาวโลก แต่คำว่าหลักนิติธรรมในภาษาไทย ยิ่งใหญ่กว่า Rule of Law เยอะ และผมเข้าใจว่ามันคือ Rule of Law plus คือขั้นต่ำของมาตรฐานกฎหมายไทยจะต้องไม่ต่ำไปกว่ามาตรฐานโลก The Rule of Law เป็นหลักปฐมฤกษ์ของกฎหมายไทย แต่นิติรัฐมันมากกว่านั้นลึกซึ้งกว่านั้น

จรัญ กล่าวถึงกฎหมายอาญาว่า ประชาชนไม่ได้ต้องการกฎหมาย แต่ประชาชนต้องการความยุติธรรม กฎหมายคือยานพาหนะที่ให้ท่านใช้ไปส่งมอบความยุติธรรมให้กับสังคมประชาชนให้ได้ คือให้ยุติโดยธรรมอย่ายุติโดยอำนาจ ส่วนใหญ่ที่นักกฎหมายจะเชื่อมโยงกับศาสนา ก็มักจะเชื่อมโยงระหว่างกับกฎหมายอาญาและพระวินัย เช่นกฎหมายอาญาไม่ย้อนหลังไปลงโทษคน พระวินัยของพระพุทธเจ้าก็ไม่ปรับอาบัติกับต้นบัญญัติ เพราะไม่ให้ย้อนหลังให้ใช้ไปข้างหน้า กฎหมายอาญาต้องการเจตนาถ้าไม่มีเจตนาไม่ผิดพระวินัยสิกขาบททั้งหลายก็ต้องการเจตนาถึงจะครบองค์การอาบัติ กฎหมายบอกว่าแม้ไม่เจตนาในบางกรณีประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงแก่ผู้คนต้องรับผิด พระวินัยบางบทก็บอกว่าถ้าไม่มีเจตนาก็ปรับอาบัติได้

กิตติชัย กล่าวว่า แท้จริงแล้วกฎหมายคืออุดมการณ์ของรัฐ โดยหลักวิชาการหลักรัฐและศาสนาดำรงอยู่ในหลายลักษณะ 1.ไม่แยกออกจากกัน รัฐนำหลักการใดของศาสนาขึ้นมาเป็นอุดมการณ์หลักในการปกครองประเทศหรือที่เข้าใจในบริบทที่เรียกว่ารัฐศาสนา 2.รัฐที่มีความสัมพันธ์ทางศาสนาที่ซับซ้อนสัมพันธ์ในบางเรื่องและไม่สัมพันธ์ในบางเรื่อง  ในบริบทของสังคมไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่าพระพุทธศาสนามีอิทธิพลอย่างมาก ในมโนธรรมสำนึกภายใต้จิตใจของคน ในการขับเคลื่อนสังคม  ในบางเรื่องรัฐปฏิเสธศาสนาเช่น ในทางสิทธิทางการเมืองรัฐธรรมนูญ บอกว่าห้ามบักบวชหรือพระเลือกตั้งเพราะอาจทำให้ศาสนาใดเดินทางสู่เส้นทางอำนาจรัฐและแย่งชิงอำนาจรัฐ

กิตติชัยกล่าวอีกว่า ธรรมชาติของรัฐและศาสนามีมุมมองที่ต่างกัน เพราะจุดประสงค์เป้าหมายของสองสิ่งนี้แม้จะมีเป้าหมายเดียวกันคือความสงบสุขของบ้านเมือง แต่โดยรายละเอียดแล้วอาจต่างกัน เพราะกฎหมายเป็นเรื่องของการบังคับการใช้อำนาจ เพื่อให้สังคมเรียบร้อย แต่ศาสนาเป็นเหมือนน้ำความอ่อนโยนที่จะทำให้อุดมการณ์ของศาสนาเผยแพร่ออกไปให้สังคมพ้นทุกข์

กิตติชัยกล่าวต่ออีกว่า บทบาทของกฎหมายที่มีต่อศาสนามีอยู่ 3 ลักษณะ บทบาทแรกคือการคุ้มครอง รับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนาที่ตัวเองนับถือ จะละเมิดโดยที่เป็นเหตุจากการนับถือศาสนาไม่ได้ โดยการใช้เสรีภาพเหล่านี้ต้องเป็นไปโดยไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่พลเมืองขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี

กิตติชัย กล่าวถึงศีลธรรมอันดีว่า ในบริบทที่เราอยู่กันอย่างหลากหลายในสังคมไทย ศีลธรรมอันดีของสังคม ไม่น่าจะจำกัดอยู่ในศาสนาใดศาสนาหนึ่ง อาจจะเป็นมาตรฐานศีลธรรมที่ทุกศาสนามีพ้องต้องกันเช่น ชีวิตมนุษย์มีความสำคัญ คนเท่ากัน ทุกอย่างจะต้องความเคารพจะเบียดเบียนกันไม่ได้ ฉะนั้นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นก็อาจขัดต่อเสรีภาพและศีลธรรมอันดีของประชาชน

กิตติชัยกล่าวถึง กรณีภิกษุณี รัฐต้องอธิบายให้ได้ว่าการมีอยู่ของภิกษุณีเป็นปฏิปักษ์ของสังคมอย่างไร ขัดต่อศีลธรรมและความสงบเรียบร้อยอย่างไร ตัวเองคิดว่าไม่น่าจะไปสู่จุดนั้นได้ แม้รัฐธรรมจะคุ้มครองเสรีภาพ แต่รัฐเองก็มีภารกิจที่จะคุ้มครองศาสนา ปรากฏขึ้นครั้งแรกในปี 2540 คือรัฐจะต้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา ซึ่งบทบาทของการควบคุมจะอยู่ใน พ.ร.บ.สงฆ์ที่มีมาตั้งแต่รัชกาลที่5 ซึ่งไม่ได้ระบุถึง การตั้งสังฆราชไว้เลย ให้เป็นพระราชอำนาจของพระองค์อย่างเต็มที่ มหาเถรสมาคมเป็นเพียงที่ปรึกษาที่คอยให้คำแนะนำ

กิตติชัยทิ้งท้ายว่า สำนักบางสำนักดำรงอยู่ด้วยเพราะว่ามีช่องทางในการเข้าถึงอำนาจรัฐ พยายามติดต่อการภาครัฐต่างๆจนทำให้เหมือนมีเกราะกำบังของอำนาจรัฐเกิดขึ้น ถ้าเรายังดำรงเส้นทางอันนี้ไว้สุดท้ายจะเกิดการแย่งชิงในทางศาสนาเองเพื่อที่จะยึดกุมอำนาจในการตีความศาสนา และนำไปสู่การบิดเบือนคำสอนของศาสนาได้ เมื่อไรที่สำนึกใดสำนักหนึ่งที่กุมอำนาจรัฐในการตีความศาสนาไว้ได้เมื่อนั้นสังคมจะไม่เกิดการถกเถียงว่าคำสอนของพระองค์ที่แท้จริงอยู่ตรงไหน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท