Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เมื่อเรามองดูประเทศไทยในปัจจุบันแล้วเรามองเห็นปัญหาอะไรบ้าง? ภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงัน ประเทศที่ติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง ความขัดเคืองใจต่อระบอบประชาธิปไตยเนื่องมาจากนโยบายประชานิยมที่ดึงเอาอำนาจและผลประโยชน์ในสังคมแทบทั้งหมดไปไว้กับผู้มีรายได้น้อย รัฐสวัสดิการซึ่งผู้ที่พอมีอันจะกินไม่เคยต้องการจะข้องแวะด้วย การละเมิดสิทธิมนุษยชน สังคมที่แตกแยก ความเหลื่อมล้ำในสังคมที่สูงขึ้น และการตัดตัวเองออกจากความสัมพันธ์อันดีในเวทีโลก จะมีหนทางใดที่เป็นทางออกให้ปัญหาเหล่านี้ได้?

มีแนวคิดทางเศรษฐกิจและการเมืองอยู่แนวคิดหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นทางออกให้สถานการณ์นี้ได้ แนวคิดนี้เรียกว่า สังคมประชาธิปไตย (social democracy) ซึ่งเป็นแนวคิดทางเศรษฐกิจและการเมืองเชิงสังคมนิยมที่ได้รับการยอมรับและถูกนำไปใช้ในหลายประเทศในทวีปยุโรป โดยมีตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในประเทศเยอรมนีและสวีเดน แต่แนวคิดนี้นั้นในอดีตที่ผ่านมาไม่ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในประเทศไทยนัก นี่จึงเป็นโอกาสอันดีที่แนวคิดนี้จะได้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และนี่คือบทวิเคราะห์คำประกาศของโครงการสังคมประชาธิปไตย

แม้ว่าแนวคิดสังคมประชาธิปไตยจะเป็นแนวคิดเชิงสังคมนิยม แต่ก็มีความแตกต่างกับระบอบสังคมนิยมที่สำคัญอย่างมาก อันดับหนึ่งคือสังคมประชาธิปไตยนั้นเน้นสนับสนุนระบบตลาด นั่นคือรัฐจะทำงานร่วมกับระบอบทุนนิยม และไม่ได้มีความคาดหวังจะล้มล้างระบอบทุนนิยมแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้สังคมประชาธิปไตยจึงมุ่งหวังให้ชนชั้นกลางและประชาชนผู้เสียภาษีรับบทบาทเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและผลักดันประเทศ เป้าหมายสำคัญของแนวคิดสังคมประชาธิปไตยจึงเป็นการสร้างความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ และพาประเทศให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

เมื่อเป็นแนวคิดเชิงสังคมนิยมแล้วก็ย่อมมาพร้อมกับรัฐสวัสดิการ เช่นการศึกษาและระบบสุขภาพ โดยใช้ภาษีจากแหล่งต่างๆมาสนับสนุน ทว่าในขณะที่ระบอบสังคมนิยมโดยทั่วไปเน้นการเก็บภาษีมาเจือจานรัฐสวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อย สังคมประชาธิปไตยจะมีความมุ่งหวังในการสร้างรัฐสวัสดิการที่มีคุณภาพในระดับที่แม้แต่ชนชั้นกลางขึ้นไปก็ยังจะรู้สึกพอใจและภาคภูมิใจกับการใช้บริการระบบต่างๆเหล่านั้น ดังที่เห็นได้ในตัวอย่างของประเทศเยอรมนีและสวีเดนที่มีคุณภาพของรัฐสวัสดิการอยู่ในระดับสูง และประชาชนทั่วไปยินดีที่จะใช้บริการทางสุขภาพของรัฐและให้บุตรหลานเข้าศึกษาในสถาบันของรัฐบาล

นี่เป็นภาพที่ต่างกับลักษณะของนโยบายของหลายๆรัฐบาลของประเทศไทยในช่วงประมาณสองทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งมีนโยบายในเชิงประชานิยม โดยเริ่มต้นด้วยการสร้างรัฐสวัสดิการแก่คนระดับรากหญ้าโดยใช้เงินสนับสนุนจากภาษีที่เรียกเก็บจากชนชั้นกลางขึ้นไป แต่ไม่ได้ทำการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศควบคู่กันไปด้วย จึงทำให้ผู้เสียภาษีมีความรู้สึกเหมือนกับถูกขูดรีด และยังไม่ได้มีความพยายามที่จะพัฒนารัฐสวัสดิการเหล่านั้นให้มีคุณภาพพอถึงระดับที่ผู้ซึ่งต้องเสียภาษีสนับสนุนจะพึงพอใจในการใช้บริการ จึงกลายเป็นสถานการณ์แบบ “ผู้จ่ายไม่ได้ใช้ ผู้ใช้ไม่ได้จ่าย” ซึ่งเป็นที่มาของความขัดเคืองใจในหมู่ผู้เสียภาษีจำนวนมากในประเทศ

จะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์สำคัญสองข้อของแนวคิดสังคมประชาธิปไตยนั้นดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน การมุ่งสร้างความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจให้กับประเทศจะทำให้ประเทศและประชาชนมีรายได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งหมายถึงการเก็บภาษีได้มากยิ่งขึ้น และนั่นย่อมหมายถึงงบประมาณที่สูงขึ้นและความสามารถในการพัฒนารัฐสวัสดิการให้มีคุณภาพสูง เพื่อที่รัฐสวัสดิการเหล่านั้นจะเป็นตัวเลือกที่แท้จริงสำคัญทุกคนในสังคมและไม่ใช่การทำนาบนหลังกลุ่มผู้เสียภาษีเหมือนในอดีต และเมื่อรัฐสวัสดิการเช่นการศึกษาและบริการสุขภาพมีความทั่วถึง ก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศด้วยการสร้างพลเมืองที่มีความรู้ความสามารถและมีสุขภาพที่ดีต่อไป กลายเป็นวัฏจักรที่ส่งเสริมกันและกัน

สองสิ่งนี้คือเป้าหมายสำคัญของแนวคิดสังคมประชาธิปไตย ซึ่งโครงการสังคมประชาธิปไตยต้องการจะนำเสนอสู่สาธารณะ และแน่นอนว่าการมีเพียงเป้าหมายนั้นไม่ได้เพียงพอต่อการประสบผลสำเร็จ แต่จะต้องมียุทธวิธีในการที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จด้วย ซึ่งยุทธิวิธีต่างๆที่จะทำให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายในกรอบของสังคมประชาธิปไตยนั้นมีดังต่อไปนี้

 

การเพิ่มอำนาจต่อรองผ่านการรวมกลุ่ม

· นับตั้งแต่ระดับสังคม ระบอบสังคมประชาธิปไตยจะให้การสนับสนุนการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ให้โอกาสแรงงานได้มีอำนาจในการต่อรองเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้มาซึ่งมาตรฐานสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงานและค่าแรงที่เหมาะสม อันจะนำไปสู่สุขภาวะที่ดีขึ้น อัตราการเปลี่ยนงานที่ต่ำลง และรายรับที่สูงขึ้น ซึ่งจะมีผลในการผลักดันให้ชนชั้นล่างระดับบนขยับขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางระดับล่างได้มากขึ้น ส่งผลให้มีการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการ และยังเป็นการเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บภาษี อันจะพาไปสู่การพัฒนารัฐสวัสดิการต่อไป

· ในระดับประเทศนั้นการรวมกลุ่มก็จะเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีพรรคการเมืองเป็นตัวแทนผู้คนในภาคส่วนต่างๆ ด้วยเหตุนี้แนวโน้มของรัฐบาลในระบอบสังคมประชาธิปไตยจึงมักเป็นรัฐบาลผสมที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียหลากหลายกลุ่มในสังคม และมีผู้นำทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

· ในระดับนานาชาตินั้นรัฐบาลในระบอบสังคมประชาธิปไตยจะเน้นการทำงานร่วมกับองค์กรในระดับนานาชาติต่างๆ เช่น สหประชาชาติ องค์กรการค้าโลก ทั้งนี้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศและเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับประเทศมหาอำนาจ อีกทั้งยังเป็นการดึงเอาองค์ความรู้มาจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่นยูเนสโก

 

ผลักดันระบบเศรษฐกิจให้เป็นตัวนำประเทศ

· รัฐบาลในระบอบสังคมประชาธิปไตยนั้นจะปฏิเสธ “การแข่งขันไปสู่จุดต่ำสุด” (Race to the bottom – การแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดด้วยการใช้แรงงานคุณภาพต่ำค่าจ้างถูกเพื่อผลิตสินค้าด้อยคุณภาพในราคาถูก) เนื่องจากแนวทางดังกล่าวนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะพาประเทศให้หลุดจากกับดักรายได้ปานกลางและดำเนินไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ในทางกลับกันหนทางที่จะใช้คือการพัฒนาคุณภาพฝีมือแรงงาน เพิ่มผลิตภาพ และสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาในระยะยาว

· ในการนี้นั้นรัฐบาลในระบอบสังคมประชาธิปไตยจะทำการเปิดตลาดอย่างเสรี เช่นเปิดตลาดพลังงานในไทย ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาในปัจจุบันที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตไม่สามารถกระจายการเข้าถึงไฟฟ้าได้เพียงพอ และนำไปสู่การใช้พลังงานทดแทนพร้อมๆกับการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำลายสิ่งแวดล้อม การเปิดตลาดอย่างเสรีจะนำไปสู่การแข่งขัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภค และยังกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากฝั่งผู้ผลิตอีกด้วย

· ดังนั้นแนวทางในการวางแผนเศรษฐกิจของรัฐบาลในระบอบสังคมประชาธิปไตยจึงไม่มีความต้องการที่จะดำเนเศรษฐกิจแบบวางแผนเบ็ดเสร็จ และจะไม่พึ่งพิงการวางแผนระยะยาวดังเช่นแผนพัฒนาประเทศ 20 ปี เนื่องจากแผนในทำนองดังกล่าวนั้นจะไม่มีความยืดหยุ่นที่จะปรับตัวเข้ากับเงื่อนไขของตลาดในช่วงเวลานั้นๆ และยังเป็นความเสี่ยงที่จะนำประเทศไปสู่ระบอบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จอีกด้วย

 

ความเป็นปึกแผ่นและความเท่าเทียมกันของมนุษยชาติ

มุ่งเน้นความเป็นปึกแผ่นของมนุษยชาติ และผลักดันความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนอาศัยอยู่บนโลกนี้ร่วมกัน ในการนี้นั้นสังคมประชาธิปไตยจะมุ่งเน้นการหาทางออกร่วมกันโดยการเจรจากับองค์กรการค้าโกและสนธิสัญญาการค้าอื่นๆในโลก ทั้งนี้เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับตลาดโลก และเพื่อสร้างความเป็นสากลให้ประเทศไทยเอง และยังจะให้ความเคารพต่อสิ่งแวดล้อม โดยทำงานอย่างเข้มแข็งร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวสีเขียวและตั้งเป้าหมายระยะยาวที่ทำได้จริง เช่นการพยายามลดภาวะเรือนกระจกเพื่อที่จะช่วยรักษาเมืองชายฝั่งทะเล เช่นกรุงเทพมหานคร ไม่ให้จมหายไปในอนาคต

ในระดับประเทศนั้นความเป็นปึกแผ่นจะมาจากกาคให้ความเคารพต่อบุคคลในทุกๆระดับของสังคม ทั้งผ่านรัฐสวัสดิการที่มีคุณภาพและทั่วถึง และผ่านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สิทธิทางการเมือง เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในการชุมนุม และสิทธิมนุษยชนทางสังคม ตัวอย่างเช่นการรับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ส่งเสริมสิทธิสตรีในระบบศาสนา ยกเลิกโทษประหารชีวิต รับรองสถานะของชุมชนชาติพันธุ์ต่างๆในประเทศ และการสนับสนุนการเรียนทวิภาษาโดยใช้ภาษาแม่ในการเรียนการสอน

ในปัจจุบันนั้นประเทศไทยอยู่ในอาการป่วยไข้ สังคมและการเมืองอยู่ในความเจ็บปวดรวดร้าว สิทธิมนุษยชนถูกละเมิด และยังไม่มีแผนการที่ชัดเจนที่จะนำให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า แต่แม้ว่าวิกฤติทางการเมืองจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราก็ยังมีความเชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถหาทางออกทางสังคมและการเมืองที่ถาวรได้ และดังที่ได้กล่าวมา แนวคิดทางสังคมประชาธิปไตยจะเป็นคำตอบที่สำคัญคำตอบหนึ่งในการคลายปมปัญหาในสังคมไทย และนำพาประเทศให้เดินหน้าไปได้

ถ้าพรรคสังคมประชาธิปไตยได้รับการเลือกแม้จะในสัดส่วนเล็กน้อยเพียง 8-10% ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนั้นก็เท่ากับว่าเราได้มีส่วนในการสร้างทางออกให้ประเทศแล้ว

ประเทศไทยควรมีอนาคตที่ดีกว่านี้

 

(ดูข้อความอธิบายข้างล่าง)

 

 

 

ข้อความแสดงจุดมุ่งหมายของโครงการสังคมนิยมประชาธิปไตย

1) โครงการสำหรับสังคมนิยมประชาธิปไตยประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่มีจุดประสงค์เดียวกัน ซึ่งจะสนับสนุนปรัชญา หลักการ รวมถึงนโยบาย ทางการเมืองระบอบประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมในประเทศไทย โครงการแรกนั้นจะเป็นร่างสรุปการประกาศหลักการคร่าวๆ เกี่ยวกับปรัชญาและรูปแบบการก่อตั้งระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตย โดยที่จะดำเนินการด้านการพัฒนากลยุทธ์และนโยบาย

2) สังคมนิยมประชาธิปไตยสนับสนุนการควบคุมความยุติธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ ภายใต้เงื่อนไขของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโดยมาจากประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง ตัวอย่างของนโยบายสังคมนิยมประชาธิปไตยรวมถึงการรวมตัวกันง่ายยิ่งขึ้นเพื่อเจรจาต่อรองในการเพิ่มอำนาจให้ผู้ใช้แรงงานและมีการกระจายความมั่งคั่งโดยมีการจัดสรรมาตราฐานสวัสดิการสู่ประชาชนทุกคน ยกตัวอย่างจากประเทศสวีเดน โดยมีการจัดเก็บภาษีสูงจากผู้มีรายได้สูงซึ่งทำให้ประชาชนในประเทศทุกคนมีมาตราฐานการครองชีพที่สูงเพื่อให้เกิดความสมดุลย์ภายในประเทศ รวมถึงธุรกิจและประชาสังคม

3) พรรคการเมืองระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตยมีอยู่ทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรป ทางองค์กรสังคมนิยมประชาธิปไตยจะเข้าทำการสนับสนุนทุกพรรคการเมืองไทยที่เป็นกลุ่มสังคมประชาธิปไตยและจะทำการโปรโมทสังคมนิยมประชาธิปไตย เมื่อใดก็ตามที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลทหารของประเทศไทย ถ้าจำเป็นจริงๆทางองค์กรอาจจะหาทางสร้างพรรคการเมืองสังคมนิยมประชาธิปไตยหรือเข้าไปทำการสนับสนุนพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยที่มีอยู่

4) ทางเรามีความเชื่อว่า รัฐบาล การพาณิชย์และประชาสังคมนั้น ล้วนมีบทบาทในประเทศไทยในแบบใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบันก็ยังไม่มีความเท่าเทียมกันทางอำนาจทั้งในด้านรัฐบาล ด้านเศรษฐกิจ และประชาสังคม

5) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่รัฐบาลมีอำนาจมากเกินไปแต่ประชาสังคมกลับไม่มีอำนาจ และทางเราเชื่อว่าธุรกิจสามารถถูกเกื้อหนุนได้โดยการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทำงานจากสหภาพแรงงานและได้รับการปกป้องจากกฎหมายแรงงาน นั่นถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจการค้ามุ่งความสนใจไปที่มูลค่าที่เพิ่มจากสินค้าจากการใช้เทคโนโลยีต่างๆ แต่ละขั้นตอนจะมีผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทำงานแทนที่จะพึ่งระบบหนี้ดอกเบี้ยสูงและเงินเดือนขั้นต่ำ อีกผลกระทบที่ทำให้ไม่เกิดสมดุลย์กันคือผลกระทบทางด้านการค้าที่จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นสิ่งสนับสนุนจากรัฐบาล ยกตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน ทางเรายังเชื่อมั่นถึงการสร้างศักยภาพ การแก้ไขและปรับปรุงประชาสังคม โดยการให้การศึกษาที่มากขึ้นและดีขึ้นกับคนไทยทุกคนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

6) ทางเราเชื่อมั่นถึงการสนทนาอย่างเสรีและเปิดกว้างโดยไม่มีการเซ็นเซอร์หรือกลัวสิ่งที่จะสะท้อนกลับมา ซึ่งทั้งสองอย่างจำเป็นในประชาสังคม การสร้างความเข้าใจ ความกังวลใจ รวมถึงเป้าหมายที่มีต่อกลุ่มหลากหลายเชื้อชาติและกลุ่มสังคมต่างๆในประเทศไทย เพื่อที่จะส่งเสริมแนวคิดการมีส่วนร่วมของคนไทย ดังนั้นทางเราจึงสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มที่และลดบทบาทของกฎหมายการหมิ่นประมาทให้น้อยลง

7) ระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตยนั้นมาจากสิทธิมนุษยชนสากล เช่น เดอะยูเอ็นส์ 1948  ประกาศอย่างเป็นสากลถึง  สิทธิมนุษยชนและข้อตกลงหว่างประเทศ อย่างแรกว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองและเศรษฐกิจ อย่างที่สองสิทธิทางสังคมและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามในสัญญาแต่ไม่ค่อยได้ปฏิบัติตาม ทางเราเชื่อว่าสิทธิมนุษยชนเป็นรูปแบบพื้นฐานสำหรับความยุติธรรมในประเทศไทย ซึ่งการอภิปรายและการที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมอย่างเสรีนั้นมาจากแนวความคิดของความเท่าเทียมกันในสังคม แต่ยังคงอนุรักษ์เอกลักษณ์ของความเป็นไทย 

8) สังคมนิยมประชาธิปไตยรวบรวมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจากความรู้ความเข้าใจของประชาชนและความโปร่งใสของรัฐบาล ทางเราไม่ได้เจาะจงไปเฉพาะแค่คนไทยเท่านั้นและยังรวมไปถึงชาวต่างชาติที่เป็นเสมือนเป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมในประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น ผู้ปกครองของคนไทย คู่สมรสของคนไทย นักลงทุนในประเทศไทย นักศึกษาและนักวิชาการที่ห่วงใยในอนาคตของประเทศไทย ทางเรายินดีต้อนรับสมาชิกจากทุกองค์กรและทุกท่านที่สนใจ

เราตระหนักแล้วว่าถ้าประเทศไทยสามารถยอมรับในหลักการได้ เราจะสามารถเป็นผู้นำของโลกและเป็นตัวอย่างไปสู่ผู้อื่นได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net