แด่นักสู้ผู้จากไป: เปิดนิทรรศการภาพถ่ายนักปกป้องสิทธิผู้เสียชีวิต-สูญหายในรอบ 20 ปี

นิทรรศการภาพถ่ายของ ลุค ดักเกิลบี ช่างภาพสารคดีชาวอังกฤษ เล่าเรื่องราวจากจุดสังหาร-อุ้มหาย นักปกป้องสิทธิมนุษยชน 37 ราย จากที่เกิดขึ้น 59 รายทั่วประเทศในรอบ 20 ปี ภรรยาเจริญ วัดอักษรหวังให้สังคมรับรู้ว่ามีปัญหาเกิดขึ้น อังคณา นีละไพจิตร ชี้รูปภาพเป็นประจักษ์พยานของความไม่เป็นธรรม โดยนิทรรศการจัดจัดที่หอศิลป์ กทม. จนถึง 5 กุมภาพันธ์ หลังจากนั้นเดินสายทั่วไทยเริ่มที่เชียงใหม่ มหาสารคาม และสงขลา

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีการเปิดงานนิทรรศการแสดงภาพถ่าย "แด่นักสู้ผู้จากไป" (For Those Who Died Trying) ลุค ดักเกิลบี (Luke Duggleby) ช่างภาพสารคดีชาวอังกฤษ ซึ่งทำงานในภูมิภาคเอเชียมานานกว่า 10 ปี

นิทรรศการดังกล่าวแสดงภาพถ่ายของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จากจุดที่พวกเขาถูกสังหารและบังคับสูญหายในประเทศไทยจำนวน 37 คน จากกรณีที่เกิดขึ้น 59 รายในรอบ 20 ปี ในจำนวนนี้รวมทั้งสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชนที่ถูกลักพาตัวจากย่านรามคำแหงในเดือนมีนาคม 2547 และเจริญ วัดอักษร นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ถูกยิงเสียชีวิตในเดือนมิถุนายน 2547

ภาพจากนิทรรศการ "แด่นักสู้ผู้จากไป" ผลงานของลุค ดักเกิลบี เป็นภาพถ่ายพิทักษ์ โตนวุธ แกนนำต่อต้านโรงโม่หิน ที่ จ.พิษณุโลก จากที่เกิดเหตุซึ่งเขาถูกยิงเสียชีวิตใกล้กับหมู่บ้านเมื่อ 17 พฤษภาคม 2544

ภาพจากนิทรรศการ "แด่นักสู้ผู้จากไป" จุดที่เจริญ วัดอักษร ถูกลอบยิงระหว่างลงจากรถทัวร์เมื่อ 21 มิถุนายน 2547 ที่ อ.บ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ 

ภาพจากนิทรรศการ "แด่นักสู้ผู้จากไป" ฉวีวรรณ ปึกสูงเนิน อบต.นากลาง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ผู้เปิดโปงการบริหารงานมิชอบและโครงการทุจริตงานก่อสร้างในพื้นที่ ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตเมื่อ 21 มิถุนายน 2544 นอกบ้านของเธอ

บทเพลงเพื่อนักปกป้องสิทธิ Musical DNA live performances

ในพิธีเปิดงานยังมีการบรรเลงบทเพลงเพื่อนักปกป้องสิทธิ Musical DNA live performances จากวง The 90s string quartet แต่งโดยแฟรงค์ โฮวาร์ต (Frank Horvat) นักประพันธ์เพลงรุ่นใหม่ของแคนาดา โดยการแกะโน้ตดนตรีจากชื่อภาษาอังกฤษของนักสิทธิมนุษยชน 4 รายที่ถูกสังหารและถูกบังคับให้สูญหาย และมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์ของการถูกบังคับให้สูญหายและตายของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทย

 

จร เนาวโอภาส พี่ชายของผู้ใหญ่ประจวบ เนาวโอภาส แกนนำชาวบ้านที่ถูกสังหารจากการต่อต้านการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมและสารพิษ เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

โดนิกา พ็อทธี (Donica Pottie) เอกอัครราชทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย

 

ทูตแคนาดาหวังให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้รับการจดจำ

โดนิกา พ็อทธี (Donica Pottie) เอกอัครราชทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย กล่าวเปิดนิทรรศการตอนหนึ่งว่า "บทบาทของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมีความสำคัญในการต่อต้านความอยุติธรรม พวกเขามีส่วนช่วย สร้างความเปลี่ยนแปลง ทำให้พวกเราแข็งแกร่ง ทำให้สิทธิมนุษยชนได้รับการยอมรับนับถือ"

"ดิฉันมีความหวังเล็กๆ ว่าพวกเราทุกคนในที่นี้จะทำในเท่าที่เราจะทำได้ เพื่อสนับสนุนนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อย่างเต็มความสามารถ เพื่อที่เราจะได้ยกย่องพวกเขา จดจำพวกเขา และเราจะได้ทำเท่าที่เราจะสามารถทำได้ เพื่อปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิมนุษยชน"

 

ลุค ดักเกิลบี ช่างภาพเจ้าของผลงานนิทรรศการภาพถ่าย "แด่นักสู้ผู้จากไป" (For Those Who Died Trying)

ช่างภาพหวังให้ชุมชนขับเคลื่อนนิทรรศการภาพถ่าย และให้เรื่องราวยังคงถูกถกเถียงต่อไป

ลุค ดักเกิลบี (Luke Duggleby) ช่างภาพสารคดีชาวอังกฤษ ซึ่งทำงานในภูมิภาคเอเชียมานานกว่า 10 ปี รวมถึงประเทศไทย เจ้าของผลงานภาพถ่าย กล่าวว่า ครั้งแรกที่เขาได้พบกับครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ ที่บ้านหรือหรือชุมชนเล็กๆ ของพวกเขา ความรู้สึกในเวลานั้นคือ ต้องการช่วยพวกเขาจริงๆ

"ความรู้สึกเปลี่ยวเหงา ความรู้สึกโดดเดี่ยว เกิดขึ้นกับพวกเขา ผมต้องการที่นำกรณีเหล่านี้มาแสดงให้ประจักษ์แจ้ง"

"แต่ขณะเดียวกัน ผมก็ตระหนักว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ไม่มีข้อยุติ และต้องถกเถียงกันในสังคมไทย โดยสังคมไทย ไม่ใช่โดยสังคมภายนอก สำหรับโครงการนี้ก็ชัดเจนสำหรับผม ผมจะทำโครงการนี้ให้สำเร็จด้วยความสามารถของผม จากนั้นผมจะให้โครงการดำเนินได้เอง ผ่านช่องทางขององค์กรเอ็นจีโอในไทย เครือข่ายของชุมชน และโซเชียลมีเดีย"

"ด้วยความหวังว่า ผู้คนที่คุณเห็นจากนิทรรศการวันนี้ จะไม่ถูกลืมว่าพวกเขาได้ทำอะไร ด้วยความหวังว่าเราสร้างความตระหนักถึงปัญหาที่ยังคงเกิดขึ้น และไม่ได้หายไปไหน และหวังให้ประเด็นสนทนาทั้งหมดยังอยู่ในการถกเถียง และถูกนำมากล่าวถึงอีกเพื่อให้ในอนาคต จะไม่มีผู้เสียชีวิตเพราะลุกขึ้นมารณรงค์เช่นนี้อีก" ดักเกิลบีกล่าวในพิธีเปิด

 

กรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาของเจริญ วัดอักษร

กรณ์อุมา พงษ์น้อย: หวังให้สังคมรับรู้ว่ามีปัญหาเกิดขึ้น

กรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาของเจริญ วัดอักษร กล่าวถึงความคาดหวังจากงานนิทรรศการว่า "อย่างน้อยก็ยังมีกลุ่มคนที่ให้ความสำคัญและเล็งเห็นปัญหาของคนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ ในเรื่องของการปกป้องสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชนที่ถูกกระทำและละเมิด และถึงที่สุดนอกจากไม่ได้รับการคุ้มครองแล้ว เวลาถูกกระทำก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมด้วยซ้ำ ทำให้คนในสังคมจะมากจะน้อยก็แล้วแต่ได้รับรู้ว่ามันมีปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้น"

 

อังคณา นีละไพจิตร: รูปภาพเป็นประจักษ์พยานของความไม่เป็นธรรม

ด้านอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภรรยาสมชาย นีละไพจิตรผู้ถูกทำให้หายสาบสูญ กล่าวว่า รูปภาพเป็นสิ่งแทนถ้อยคำได้เป็นร้อยเป็นพัน รูปภาพคือประจักษ์พยานของความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้เธอหวังว่าผู้ที่ได้เข้าชมนิทรรศการ จะเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของพวกเขา ก็ส่งผลกระทบต่อชุมชน และสังคม หากไม่มีการปกป้องนักต่อสู้เหล่านี้ ก็จะไม่มีใครกล้าต่อสู้อีก

อังคณายังหวังว่า หากเจ้าหน้าที่รัฐมีโอกาสเข้าชมนิทรรศการภาพถ่ายในวันนี้ ก็จะเข้าใจในปัญหาความทุกข์ยากของครอบครัวผู้สูญเสียเหล่านี้ เข้าใจความสำคัญในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรม และโอบกอดครอบครัวของผู้สูญเสีย

 

ในรอบ 20 ปีนี้ มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้สูญหายและเสียชีวิตกว่า 59 คน

ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจากองค์กร PROTECTION international กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลา20ปีที่ผ่านมามีนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเรียกร้องการเข้าถึงสิทธิและเสรีภาพในกระบวนการขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนและสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมถูกบังคับให้สูญหายและตายไปกว่า 59 คน

และเมื่อรวบรวมย้อนหลังไปอีก 35 ปียิ่งพบตัวเลขที่น่าตกใจว่าประเทศไทยมีการบังคับสูญหายอีกกว่า 90 กรณี โดยกว่า 81 กรณี ยังไม่ได้รับการแก้ไข รวมถึงกรณีของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่หายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 และกรณีของนายเด่น คำแหล้ ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ที่ได้ต่อสู้ในประเด็นที่โฉนดชุมชนที่ดินทำกินซึ่งหายตัวไปเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2559 หลังเดินทางเข้าป่าเพื่อเก็บหน่อไม้ และยังพบข้อมูลที่น่าสนใจจากการเก็บสถิติอีกว่าภาคอีสานและภาคใต้มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารและบังคับให้สูญหายมากที่สุด

ทั้งนี้นักต่อสู้ถูกสังหารและบังคับให้สูญหายนั้นมีจำนวนที่มากแต่มีเพียงไม่กี่กรณีเท่านั้นที่มีการสอบสวนและคดีขึ้นสู่ชั้นศาล สิ่งที่เกิดขึ้นจังทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐและกระบวนการยุติธรรมในบ้านเรานั้นล้มเหลว เพราะมีหลายคดีที่ผู้กระทำความผิดยังลอยนวลจนทำให้กลายเป็นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด หรือการที่ผู้กระทำผิดละเมิดสิทธิของผู้อื่นแล้วไม่ต้องรับผิด ซึ่งปัญหานี้ที่ฝังรากลึกอยู่กับสังคมและการเมืองไทยมายาวนานและหากวัฒนธรรมนี้ยังคงอยู่ก็จะสร้างสภาวะที่อันตรายอย่างถาวรต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วย และที่สำคัญจะส่งผลที่ร้ายแรงต่อสังคมโดยรวมเพราะผู้มีอำนาจเชื่อว่าเครือข่ายอำนาจอุปถัมภ์จะสามารถทำให้พวกเขาลอยนวลพ้นผิดได้อย่างง่ายดาย การตัดสินใจใช้ความรุนแรงจึงไม่ใช่เรื่องต้องคิดมาก วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดจึงเป็นภาวะอัปลักษณ์ของสังคมไทยที่เราต้องช่วยกันแก้ เริ่มจาการปกป้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แก้ไขความเหลื่อมล้ำทางอำนาจและความยุติธรรม

นอกจากนี้แล้วประเทศไทยยังขาดกรอบกฎหมายเพื่อการรับผิดในคดีการบังคับให้สูญหาย เพราะข้อจำกัดทางกฎหมายของประเทศไทยยังไม่ได้กำหนดให้การบังคับสูญหายเป็นความผิดทางอาญารวมถึงกระบวนการสืบสวนสอบสวนค้นหาความจริงยังขาดความเป็นอิสระ หรืออาจไม่ใส่ใจที่จะสืบสวนสอบสวนโดยทันที ดังนั้นรัฐบาลควรกําหนดให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญาและ กําหนดกลไกสืบสวนสอบสวนที่ เหมาะสม และประกันสิทธิอย่างเต็มที่ของผู้เสียหายและญาติ นอกจากนี้แล้วควรมีการแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่เกี่ยวกับการคุ้มครองพยาน การควบคุมตัว ข้อกําหนดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตและการทําลายพยานหลักฐาน และควรมีการปรับปรุงขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนและการฟ้องคดี รวมทั้งขั้นตอนการแจ้งความ การสืบสวน สอบสวนในเบื้องต้นและการส่งต่อคดีอย่างรวดเร็วให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ รวมถึงควรกําหนดให้มีการคุ้มครองพยาน และการเคารพสิทธิของญาติด้วย

 

เครือข่ายเรียกร้อง 7 ข้อปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

ในงานดังกล่าว PROTECTION international ยังได้เปิดตัวหนังสือคู่มือการปกป้องและความปลอดภัยสำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชน และในช่วงท้ายของงานภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันอ่านข้อเรียกร้องถึงรัฐต่อแนวทางในการป้องกันไม่ให้นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนถูกบังคับให้สูญหายและถูกสังหารจำนวน 7 ข้อ ได้แก่ 1. รัฐไทยและคนในสังคมไทยควรต่อสู้กับการลอยนวลพ้นผิด ในกรณีการละเมิดนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะระดับชุมชน โดยสร้างความเชื่อมั่นว่าจะดำเนินการตรวจสอบอย่างรวดเร็วและเที่ยงธรรม ผู้กระทำผิดจะต้องรับผิด และผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจะได้รับความยุติธรรมโดยทันทีและมีการเยียวยาที่เหมาะสม

2.รัฐต้องมีการสอบสวนและประกันให้เกิดความยุติธรรมต่อกรณีการข่มขู่ คุกคามและทำร้ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

3. รัฐบาลไทยต้องหยุดการข่มขู่ จับกุม ฟ้องร้อง คุกคามประชาชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะประเด็นปัญหาการเข้าถึงมี่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ

4. รัฐบาลไทยต้องปฏิบัติการอย่างทันทีในการสนับสนุนบทบาทและความชอบธรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อให้เกิดการบรรลุสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งสามารถหนุนให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐในการส่งเสริม ตรวจสอบและการปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่สำคัญคือป้องกันมิให้รัฐและหรือเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเอง

5. กำหนดให้การทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญเป็นความผิดทางอาญา ฐานความผิดดังกล่าวต้องสอดคล้องกับนิยามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญ และต้องได้รับการสืบสวนสอบสวนโดยทันที เป็นกลางและมีประสิทธิภาพโดยต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้แม้ไม่พบตัวหรือไม่พบชิ้นส่วนศพก็ตาม และต้องตระหนักว่าสิทธิในการรับทราบความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของเหยื่อเป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้

6. ในทุกรณีของการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องกำหนดแนวทางการคุ้มครองพยานอย่างมีประสิทธิภาพและชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่คุ้มครองพยานต้องไม่เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเดียวกันหรือใกล้ชิดกับหน่วยงานที่ถูกกล่าวหาว่าทำการทรมานหรือบังคับให้หายสาบสูญ เพื่อให้ความมั่นใจว่าผู้กระทำผิดจะไม่มีอิทธิพลต่อกลไกการคุ้มครองพยาน

7.กำหนดให้องค์ประกอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะกรรมการที่เข้ามาทำหน้าที่ในการป้องกันการสังหารและการทรมานและบังคับบุคคลสูญหาย ต้องมีหลักประกันความเป็นอิสระเพื่อไม่ให้คณะกรรมการถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจและผู้มีอิทธิพลและควรกำหนดให้มีสัดส่วนของภาคประชาสังคมในจำนวนที่สมดุลกับกรรมการโดตำแหน่งที่มาจากภาครัฐ อีกทั้งต้องพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้เสียหายและญาติผู้เสียหายด้วย

 

จัดที่ กทม. ถึง 5 กุมภาพันธ์ ก่อนเดินสายเชียงใหม่ สงขลา มหาสารคาม

สำหรับนิทรรศการภาพถ่ายซึ่งจัดโดย PROTECTION international ร่วมกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สถานทูตแคนาดาประจำประเทศไทย โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (มอส.) และภาคีเครือข่าย จะจัดที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร จนถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้

หลังจากนั้นในวันที่ 4 ถึง 12 กุมภาพันธ์ จะจัดที่ลาน think park ถนนนิมมานเหมินทร์ จากนั้นวันที่ 7-12 กุมภาพันธ์ 2560 จัดที่จังหวัดสงขลาโดยร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และวันที่ 21-25 กุมภาพันธ์ 2560 จัดที่จังหวัดมหาสารคามโดยร่วมกับคณะวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท