Skip to main content
sharethis
มติ สนช. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.การสาธารณสุข ไว้พิจารณา รมว.สาธารณสุข แจงตั้งคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายในระดับพื้นที่
(แฟ้มภาพ เพจ วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา)
 
2 ก.พ. 2560 เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้พิจารณาด้วยคะแนนเห็นด้วย 203 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 30 วัน  
 
ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ไม่มีกลไกหรือหน่วยงานที่ขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายในระดับพื้นที่โดยตรง ทำให้การจัดการปัญหาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ประกอบกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีปัจจัยที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนมากขึ้น จึงควรกำหนดให้มีคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัดและคณะกรรมการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายในระดับพื้นที่ โดยคำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนและกำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ เพื่อระงับและจัดการตามความจำเป็นมิให้เหตุรำคาญนั้นเกิดขั้นอีก ตลอดจนกำหนดให้ผู้ขออนุญาตในกิจการบางประเภทหรือบางขนาดต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดก่อนที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นพิจารณาออกใบอนุญาต นอกจากนี้ เพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการอุทธรณ์ให้เกิดความรอบคอบโดยให้มีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และกำหนดระยะเวลาการพิจารณาอุทธรณ์ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษและบทบัญญัติเกี่ยวกับการเปรียบเทียบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
 
สมาชิก สนช. เห็นด้วยกับหลักการและมองว่าการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีความสำคัญ และทำเพื่อให้เนื้อหาเกิดความสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ขณะเดียวกันได้ตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในหลายประเด็น อาทิ องค์ประกอบของคณะกรรมการจังหวัด ควรเพิ่มกลไกการมีส่วนร่วมของภาคสังคมให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น จะช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายลักษณะนี้เป็นไปโดยธรรมชาติ ไม่ใช่เกิดจากความหวาดกลัว แต่เกิดจากสำนึกความรับผิดชอบร่วมกัน บทกำหนดโทษควรเพิ่มทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงควรระบุนิยามคำว่า "เหตุรำคาญ" ให้มีความชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดการตีความภายหลัง  
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net