วิป สปท.ให้ทบทวนร่าง พ.ร.บ.คุมสื่อ ก่อนกลับเข้าที่ประชุม 16 ก.พ.นี้

2 ก.พ. 2560 เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานว่า ในการประชุมวิป สปท. ซึ่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ.... ตามที่ กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท.นำเสนอนั้น

ที่ประชุมวิป สปท.มีมติให้ กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท. ปรับแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ จากนั้นให้นำกลับเข้าที่ประชุมวิป สปท.อีกครั้งในวันที่ 16 ก.พ. และหากวิป สปท.เห็นชอบ ก็จะบรรจุวาระในการประชุมใหญ่ สปท. ในวันที่ 20 หรือ 21 ก.พ.ต่อไป

คำนูณ สิทธิสมาน เลขานุการ สปท. แถลงว่า ที่ประชุมวิป สปท.มีความเห็นร่วมกันที่จะยังไม่เสนอร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ..... และร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ (ฉบับที่...) พ.ศ..... ของ กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท. ต่อที่ประชุม สปท. เนื่องจากมีข้อสังเกตจาก กมธ.จำนวนมาก และมีประเด็นสาธารณะที่มีความสำคัญและมีผลเกี่ยวข้องกับประชาชน จึงต้องการให้สมาชิก สปท.ได้มีเวลาพิจารณาความเห็นอย่างรอบคอบ ดังนั้นวิป สปท.เห็นควรให้ กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท. กลับไปปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และให้กลับมาเสนอวิป สปท.อีกครั้งหนึ่ง

"อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมวิป สปท.มีความเห็นตรงกันว่าควรต้องมีการปฏิรูปสื่อสารมวลชนเพื่อให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ โดยเฉพาะการกำหนดกระบวนการควบคุมกันเองของสื่อมวลชน จากเดิมที่เป็นการควบคุมกันเองโดยสมัครใจยกระดับมาเป็นการควบคุมกันเองโดยสภาพบังคับตามกฎหมาย ซึ่งมีประเด็นที่สำคัญคือ การตั้งสภาวิชาชีพและการกำหนดสัดส่วนและที่มาของคณะกรรมการในสภาวิชาชีพว่าจะมีกระบวนการสรรหาอย่างไร เพื่อให้เกิดความสมดุล ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ จึงเห็นควรให้ กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท.กลับไปพิจารณาให้ครบถ้วน" คำนูณกล่าว

 

30 องค์กรวิชาชีพสื่อยื่น สปท.ทบทวนร่าง กม.คุมสื่อ-เปลี่ยนตัวปธ.กมธ.

ก่อนหน้านั้น องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กร ยื่นจดหมายเปิดผนึกคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ต่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยมี อลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. คนที่ 1 เป็นผู้รับหนังสือ

เนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกระบุว่า ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ..... ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว และเตรียมนำเสนอต่อที่ประชุม สปท. นั้น มิได้อยู่บนพื้นฐานหลักการของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แต่กลับเน้นหลักการควบคุมสื่อมวลชนโดยใช้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่โดยอิสระของสื่อมวลชน และไม่สอดคล้องกับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย ฉบับที่ผ่านการลงประชามติ ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้สื่อมวลชนกำกับดูแลกันเองโดยอิสระและปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐ

"ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนพยายามท้วงติงและนำเสนอร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ..... ที่เน้นหลักการส่งเสริมเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพรวมถึงการกำกับดูแลกันเองของคนในวิชาชีพ ให้คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯ สภาการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศพิจารณา แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ และยิ่งกว่านั้น ยังได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายดังกล่าวโดยเปิดโอกาสให้รัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนมากยิ่งขึ้น โดยจะมีผลให้อำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาครอบงำสื่อมากกว่าที่ผ่านมา"

ทั้งนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้เรียกร้องต่อ สปท. ให้ชะลอการให้การรับรองร่างกฎหมายฉบับนี้ และให้คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯ กลับไปทบทวนให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ รวมถึงพิจารณาเปลี่ยนแปลงประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯ เพื่อให้บุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องปฏิรูปสื่อมวลชนเข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทน เนื่องจากที่ผ่านมา ประธานคนปัจจุบันได้ยอมรับว่าตนเองไม่มีความรู้เรื่องนี้ อีกทั้งยังมีพฤติกรรมบิดเบือนข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ระบุว่า พร้อมให้ความร่วมมือกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในการปฏิรูปประเทศในทุกด้าน โดยเฉพาะการปฏิรูปสื่อสารมวลชนเพื่อให้นำไปสู่การปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง

ต่อมา ตัวแทนสื่อ 4 คน ในคณะอนุ กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สปท. ประกอบด้วย จักร์กฤษ เพิ่มพูล, ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์, สุวรรณา สมบัติรักษาสุข และ อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งต่อประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด ประธานคณะอนุ กมธ.ฯ เพื่อคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว

 

0000

จดหมายเปิดผนึก
๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

เรื่อง      การคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
เรียน   สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ผ่านประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

ตามที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯ ได้ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... เพื่อเตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศตามความทราบแล้วนั้น

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ๓๐ องค์กรตามรายชื่อท้ายจดหมายนี้ เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ..... ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วนั้น มิได้อยู่บนพื้นฐานหลักการของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แต่กลับเน้นหลักการควบคุมสื่อมวลชนโดยใช้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่โดยอิสระของสื่อมวลชน และไม่สอดคล้องกับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย ฉบับที่ผ่านการลงประชามติ ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้สื่อมวลชนกำกับดูแลกันเองโดยอิสระและปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนพยายามท้วงติงและนำเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ..... ที่เน้นหลักการส่งเสริมเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพรวมถึงการกำกับดูแลกันเองของคนในวิชาชีพ ให้คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯ สภาการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พิจารณา แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ และยิ่งกว่านั้น ยังได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายดังกล่าวโดยเปิดโอกาสให้รัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนมากยิ่งขึ้น โดยจะมีผลให้อำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาครอบงำสื่อมากกว่าที่ผ่านมา

ดังนั้น องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จึงจัดทำข้อเรียกร้องมายังสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศดังต่อไปนี้

๑)    ขอให้สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศชะลอการให้การรับรองร่างกฎหมายฉบับนี้ และให้คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯ กลับไปทบทวนให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

๒)    ขอให้สมาชิกสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศพิจารณาเปลี่ยนแปลงประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯ เพื่อให้บุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องปฏิรูปสื่อมวลชนเข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทน เนื่องจากที่ผ่านมา ประธานคนปัจจุบันได้ยอมรับว่าตนเองไม่มีความรู้เรื่องนี้ อีกทั้งยังมีพฤติกรรมบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยอ้างว่าได้รับประทานอาหารหารือผู้แทนองค์กรวิชาชีพให้ยอมรับร่างกฎหมายแล้ว รวมทั้งการอ้างงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

๓)    องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนพร้อมให้ความร่วมมือกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในการปฏิรูปประเทศในทุกด้าน โดยเฉพาะการปฏิรูปสื่อสารมวลชนเพื่อให้นำไปสู่การปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
                                                                                   
ขอแสดงความนับถือ
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย
สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย
สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย
สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย
สมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาแห่งประเทศไทย
สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ
สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย
สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
สมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย)
สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย)
สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน
สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย
สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคเหนือ 17 จังหวัด
เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคอีสาน
เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคกลาง-ภาคตะวันออก
เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้
ชมรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโส
ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม
ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ
ชมรมเพื่อเพื่อนช่างภาพสื่อมวลชน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท