Skip to main content
sharethis
 
หวั่นเกาหลีระงับแรงงานไทยถูกกฎหมาย หลังคนไทยลอบเข้าทำงานจำนวนมาก
 
เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานอย่างผิดกฎหมายในสาธารณรัฐเกาหลี ขณะนี้ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อธิบดีกรมการจัดหางาน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน รวมถึงผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และกระทรวงยุติกรรม เตรียมเดินทางไปพูดคุยกับทางการเกาหลีที่เกี่ยวข้องในวันที่ 8-11 ก.พ.นี้
 
เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่า มีคนไทยจำนวนมากแอบลักลอบไปทำงานที่เกาหลี โดยการเดินทางครั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2 ประเทศจะพูดคุยเพื่อหาแนวทางความร่วมมือแก้ปัญหานี้ ว่าควรมีวิธีการอย่างไร หรือจะมีการประสานข้อมูลกับ ตม.ไทยในตรวจสอบผู้ที่อยู่เกินกำหนดระยะเวลาอนุญาต (Overstay) ได้หรือไม่ พร้อมทีมงานไทยยังจะไปศึกษา วิธีการทำงานของเกาหลีในการแยกประเภทกลุ่มนักท่องเที่ยว กับกลุ่มผู้ที่แอบเข้าไปทำงาน และไปขอความร่วมมือจากนายจ้างเกาหลี เนื่องจากสาเหตุหนึ่งที่คนไทยแอบไปทำงานในเกาหลีมาก มาจากความต้องการของนายจ้าง
 
เชื่อว่าหลังคณะทำงานชุดนี้กลับมาจะนำข้อมูลมาประเมิณเพื่อหาทางแก้ปัญหา ซึ่งอาจมีการแก้ไขกฎระเบียบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้มงวดมากขึ้น มิฉะนั้นอนาคตเกาหลีอาจระงับความร่วมมือโครงการส่งแรงงานไทยไปทำงานในเกาหลีอย่างถูกกฎหมายก็เป็นได้ ถ้าหากสถานการณ์นี้ไม่ดีขึ้น
 
อย่างไรก็ตามการเดินทางครั้งนี้ อธิบดีกรมสวัสดิฯ จะไปประสานขอขยายความร่วมมือด้านแรงงานของ 2 ประเทศให้มากขึ้น เช่น ไปขอเพิ่มโควตาจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในระบบ (อีพีเอส) แบบรัฐต่อรัฐ รวมถึงไปศึกษาดูงานวิชาการที่สถาบันความปลอดภัยการทำงานของเกาหลี นอกจากนั้นจะไปขอบคุณเกาหลีที่ผ่อนคล้ายให้แรงานไทยถูกกฎหมาย กลับเข้าไปทำงานได้ใหม่อีก 4 ปี 10 เดือน รวมถึงไปศึกษางานวิชาการต่างๆเพื่อนำมาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยต่อไป
 
 
ปลัด พม. เผย รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายค้ามนุษย์ ฉบับที่ 3 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินคดี 
 
นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 โดยมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2560 เป็นต้นไป โดย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ฯ ฉบับที่ 3 นี้ ได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และเพิ่มความเข้มข้นเอาจริงเอาจังในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะของสหรัฐฯ เมื่อปี 2559 โดยได้แก้ไขเพิ่มเติม อาทิ แก้ไขคำนิยามและเพิ่มลักษณะความผิดฐานค้ามนุษย์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น การบังคับใช้แรงงาน ให้ครอบคลุมถึงการยึดเอกสารสำคัญประจำตัว หรือนำภาระหนี้มาเป็นสิ่งผูกมัดโดยมิชอบ หรือที่เรียกกันว่า "แรงงานขัดหนี้"/เพิ่มโทษปรับให้สูงขึ้น โดยใช้อัตราโทษจำคุก 1 ปี ต่อโทษปรับ 1 แสนบาท และกำหนดฐานความผิดที่กระทำต่อเด็กที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี ให้ทำงานหรือให้บริการ อันอาจเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงและมีผลกระทบต่อร่างกายหรือจิตใจ การเจริญเติบโต หรือพัฒนาการของบุคคลหรือขัดต่อศีลธรรมอันดี ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี และปรับไม่เกิน 4 แสนบาท
 
นายไมตรี กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่ง พม. ได้เตรียมความพร้อมจะจัดอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทีมสหวิชาชีพ และเจ้าของสถานประกอบกิจการ โรงงาน และสมาคมประมงที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างการรับรู้และปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง โดยจะนำร่องจัดอบรมในพื้นที่ 22 จังหวัดติดชายทะเล และกระจายไปให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อจะได้นำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลต่อไป
 
 
แห่อายัดเงินเดือนพุ่งทะลุแสนเรื่อง ทุนทรัพย์แตะแสนล้านบาท
 
น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีคดีอายัดเงินเดือนเพิ่มขึ้นจำนวนมากเป็นแสนคดี มูลค่าทรัพย์รวมแสนล้านบาท ซึ่งกรมบังคับคดีมีแนวคิดที่จะจัดทำแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือในการตรวจสอบยอดเงินอายัด โดยเฉพาะการอายัดเงินเดือน เพื่อให้ผู้ถูกอายัดเงินเดือนสามารถที่จะตรวจสอบยอดการอายัดเงินเดือนได้ และมีแผนเพิ่มอำนวยความสะดวกชำระเงินหรือโอนเงินผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสต่างๆ ภายในเดือน เม.ย.นี้
 
ที่ผ่านมาพบว่ามีการอายัดเงินเดือนเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีโรงงานจำนวนมาก ซึ่งตามกฎหมายนายจ้างมีหน้าที่หักเงินเดือนพนักงานที่ศาลมีคำสั่งอายัดเงินเดือน เพื่อส่งเงินอายัดให้กรมบังคับคดี ซึ่งกรมบังคับคดีจะอำนวยความสะดวกให้เพิ่มช่องทางการนำส่งเงินอายัด รวมทั้งจะส่งเจ้าหน้าที่ไปชี้แจงแนวทางการปฏิบัติ ซึ่งเบื้องต้นกำหนดว่าเงินเดือน 1 หมื่นบาทแรก จะไม่ให้เจ้าหนี้อายัดเนื่องจากให้ลูกหนี้ไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน น.ส.รื่นวดี กล่าว
 
นอกจากนี้ กรมบังคับคดีจะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้ทำความเข้าใจกับธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากมีความเข้าใจผิดว่ามีลูกหนี้เข้ามาหากรมบังคับคดีเพื่อที่จะขอใบปลอดหนี้ โดยอ้างว่าธนาคารพาณิชย์ให้มาขอเพื่อประกอบการพิจารณาสินเชื่อ ซึ่งกรมบังคับคดีไม่มีหน้าที่และไม่ได้ออกใบปลอดหนี้ อีกทั้งหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อธนาคารพาณิชย์สามารถตรวจจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ได้อยู่แล้ว
 
 
พนง. บ.ผลิตถังไฟเบอร์กลาส รวมตัวประท้วงนายจ้างหลังบริษัทปิดกิจการ แต่จ่ายค่าชดเชยเพียงครึ่งเดียว
 
ที่ บริษัท เอเชี่ยนเคมีคัล แอนด์ เอ็นยิเนียริ่ง จำกัด เลขที่ 66 หมู่ 4 ต.สิบเอ็ดศอก อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เจ้าหน้าที่จากสำนักงานประกันสังคมจังหวัดฉะเชิงเทรา เจ้าหน้าที่ทหาร ชุดรักษาความสงบเรียบร้อย กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 21 รักษาพระองค์ อ.บ้านโพธิ์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรบ้านโพธิ์ เข้าเจรจากับกลุ่มพนักงาน ภายหลังที่พนักงานแสดงท่าทีไม่พอใจกับนายจ้างที่ประกาศเลิกกิจการเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559 โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 30 มกราคม 2560 นายจ้างได้นำเงินสดมาจ่ายเป็นค่าชดเชยให้กับพนักงานตามที่กฎหมายกำหนด แต่ปรากฏว่านายจ้างจ่ายจริงแค่ครึ่งเดียว พร้อมกับให้พนักงานเซ็นสัญญาว่าใครที่รับเงินจะต้องไม่มีการเรียกร้องหรือร้องเรียนเพื่อขอรับเงินเพิ่มเติมในส่วนที่ยังขาดหายไปอีกครึ่งหนึ่ง
 
ทั้งนี้จึงทำให้พนักงานในกลุ่มที่มีอายุงานมากกว่า 20 ปี เกิดความไม่พอใจ เพราะเท่ากับว่าเงินทุนที่พวกตนเองจะได้รับเพื่อนำไปเป็นทุนสำรองขณะตกงานอยู่หายไปหลายแสนบาทต่อคน ซึ่งพนักงานของบริษัทแห่งนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 67 คน โดยพนักงานที่มีอายุงานน้อยๆ ต่างก็ยินดีรับเงินชดเชยแค่ครึ่งเดียว มีจำนวน 29 คน ยังคงเหลือพนักงานที่มีอายุมากๆ จำนวน 48 คน ที่ยังไม่ยินยอมรับเงินชดเชยที่ทางบริษัทนำมาจ่ายให้ แค่ 50 % ของเงินที่ควรจะได้ ซึ่งในช่วงบ่ายวันนี้ทางผู้จัดการบริษัทจะได้เดินทางมาทำข้อตกลงและเจรจากับกลุ่มพนักงานอีกครั้ง หากไม่เป็นที่น่าพอใจ พนักงานทั้งหมดจะเดินทางเข้าร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และ ฝ่ายทหารที่ต้องได้รับความเดือดร้อนในครั้งนี้
 
ด้านนายอภิญญา สุจริตตานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่างถึงกรณี ในเรื่องนี้ว่า นายจ้างไม่สามารถต่อรองลดการจ่ายเงินค่าชดเชยให้ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ ดังนั้นกรณีนี้ลูกจ้างสามารถยื่นคำร้องกับพนักงานตรวจแรงงานจังหวัดให้ออกคำสั่ง เพื่อให้นายจ้างปฏิบัติตามระเบียบการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายกำหนด ภายใน 30 วัน แต่ถ้าหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามจะถือว่า เป็นการขัดคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน และสามารถดำเนินการเอาผิดนายจ้างได้ตามกฎหมายอาญา ซึ่งมีทั้งโทษจำและโทษปรับ ทั้งนี้เชื่อว่า เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินคดี นายจ้างส่วนใหญ่จะยอมจ่ายเงินชดเชยให้ตามกฎหมาย และเมื่อมีการขัดคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานเกิดขึ้น นายจ้างจะต้องถูกเปรียบเทียบปรับนอกเหนือจากเงินชดเชยลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนดเพิ่มขึ้นอีกด้วย
 
สำหรับเกณฑ์การจ่ายเงินชดเชยกรณีเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ระบุว่า 1. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จะต้องได้รับค่าชดเชย จำนวน 30 วัน 2. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จะได้รับค่าชดเชย 90 วัน 3. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จะได้รับค่าชดเชย 180 วัน 4. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จะได้รับค่าชดเชย 240 วัน 5. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 10ปี ขึ้นไป จะได้รับค่าชดเชย 300 วัน
 
 
แรงงานเผยอียูพอใจการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายไทย
 
นายสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะผู้แทนประเทศไทย เดินทางไปชี้แจงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) ที่สำนักงานใหญ่สหภาพยุโรป (อียู) ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 24 - 30 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น ทางคณะผู้แทนไทยสามารถให้ข้อมูลถึงผลการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง กับทางการอียูได้รับทราบถึงความพยายามแก้ปัญหาตามข้อสังเกตของสหภาพยุโรปในทุกด้าน จนได้รับความพึงพอใจ
 
ทั้งนี้จากข้อมูลของศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและติดตามสถานการณ์แรงงาน (ศปคร.) กระทรวงแรงงาน ระบุถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า มีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในภาคประมงผ่านศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (OSS) และระบบนำเข้าตามความตกลงระหว่างรัฐ (MOU) รวม 343,511 คน แบ่งแยกเป็น ภาคประมง 78,290 คน และแปรรูปสัตว์น้ำ 265,221 คน
 
นายสุทธิ กล่าวอีกว่า รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยทุกคน ทำงานแบบถูกต้องตามกฎหมาย โดยผ่านกระบวนการตรวจสัญชาติ และดำเนินการตามกรอบ MOU จึงได้มีการเจรจากับประเทศต้นทางอย่างต่อเนื่องให้นำเข้าแรงงานในภาคประมง เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ
 
ทั้งนี้ จะทำควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายและการยกระดับสภาพการจ้างให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกรณีอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และสหภาพยุโรป (EU) ผ่านโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการเพื่อการต่อต้านรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล (Ship to Shore Rights Project) เพื่อยกระดับสภาพการจ้างแรงงานในภาคประมงให้เป็นสากล สามารถทำงานอย่างไร้กังวล และการปฏิบัติซึ่งมีอยู่หลายหน่วยงานจะดำเนินการตามกรอบระยะเวลาที่ได้มีการหารือร่วมกันไว้กับสหภาพยุโรปต่อไป
 
 
แรงงานยันนายจ้างไม่สามารถต่อรองลดการจ่ายเงินค่าชดเชยต่ำกว่า กม.กำหนด
 
เมื่อวันที่ 31 ม.ค. นายอภิญญา สุจริตตานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่างถึงกรณีที่กลุ่มพนักงาน บริษัท เอเชี่ยนเคมีคัล แอนด์ เอ็นยิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟเบอร์กล๊าส ร้องเรียนไม่ได้รับความเป็นธรรมหลังจากนายจ้างประกาศปิดกิจการ แต่จะจ่ายเงินชดเชยให้เพียงร้อยละ 50 ของกฎหมายนั้น ว่าในเรื่องนี้นายจ้างไม่สามารถต่อรองลดการจ่ายเงินค่าชดเชยให้ต่ำกว่าที่กฎหมายกำกนดได้ ดังนั้นกรณีนี้ลูกจ้างสามารถยื่นคำร้องกับพนักงานตรวจแรงงานจังหวัด ให้สามารถออกคำสั่งเพื่อให้นายจ้างปฏิบัติตามระเบียบการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายกำหนด ซึ่งพนักงานต้องสั่งให้นายจ้างปฏิบัติตามภายใน 30 วัน แต่ถ้าหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามจะถือว่า เป็นการขัดคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน และสามารถดำเนินการเอาผิดนายจ้างได้ตามกฎหมายอาญา ซึ่งมีทั้งโทษจำและโทษปรับ
 
เชื่อว่าเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินคดี นายจ้างส่วนใหญ่จะยอมจ่ายเงินชดเชยให้ตามกฎหมาย และเมื่อมีการขัดคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานเกิดขึ้น นายจ้างจะต้องถูกเปรียบเทียบปรับนอกเหนือจากเงินชดเชยลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนดเพิ่มขึ้นอีกด้วย นายอภิญญา กล่าว
 
อย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินชดเชยกรณีเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ระบุว่า
1. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน
2. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 90 วัน
3. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน
4. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน
5. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 10ปี ขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วัน
 
ขณะที่สิทธิผู้ประกันตน กรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท
 
 
ผอ.ไบรท์ทีวี ปัดไล่ 24 คนมาสายออก รับมีทำผิดแต่ลงโทษตามขั้นตอน ไม่พูดปมปลด บก.
 
(30 ม.ค.) เว็บไซต์เฟซบุ๊ก Bright TV : Digital TV ช่อง 20 ได้โพสต์ข้อความคำชี้แจงของ น.ส.วรวีร์ วูวนิช ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไบรท์ทีวี ต่อกรณีที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอข้อมูลระบุว่าไบรท์ทีวีได้สั่งปลดพนักงานเพราะมาสายเกิน 12 ครั้งต่อปี เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า ยืนยันว่าไม่ได้มีการปลดพนักงาน 24 คนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม มีพนักงานที่ทำผิดระเบียบบริษัทโดยมาสายจริง ซึ่งมีผู้ที่มาสายสูงสุดมากถึง 153 ครั้งในรอบ 8 เดือน ซึ่งก็ถูกดำเนินการตามขั้นตอน เริ่มจากตักเตือนด้วยวาจา ตักเตือนโดยลายลักษณ์อักษร ภาคทัณฑ์ พักงาน และถ้ายังทำผิดซ้ำก็จะถูกให้ออก
 
น.ส.วรวีร์ระบุว่า นอกจากนี้ไบรท์ทีวีก็ไม่ต่างจากสถานีโทรทัศน์ทั่วไปที่มีพนักงานลาออกไป ซึ่งไบรท์ทีวี ก็ได้รับพนักงานทดแทน โดยประกาศรับสมัครทั้งผ่านทางสถานีไบรท์ทีวี และตามสื่อโซเชียลฯ มาตลอด 1 เดือน และในเดือนมกราคมไป ถึงกุมภาพันธ์ 2560 มีพนักงานมากกว่า 10 คน มาเริ่มงานใหม่กับไบรท์ทีวี จึงไม่อยากให้ข่าวนี้กระทบกับผู้ที่ตั้งใจจะมาร่วมทำงานกับไบรท์ทีวี จนถึงขณะนี้ยังเปิดรับสมัคร เพราะยังมีตำแหน่งที่ต้องการอีกจำนวนมาก และหวังว่าผู้ที่อยากจะมาทำหน้าที่สื่อมวลชนที่ดี จะต้องการมาร่วมงานกับไบรท์ทีวีเพิ่มเติมอีก
 
อย่างไรก็ตาม น.ส.วรวีร์ไม่ได้ระบุถึงประเด็นคำสั่งปลดบรรณาธิการข่าว 1 คน และโปรดิวเซอร์ 2 คน เพื่อปรับโครงสร้างองค์กร โดยได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย 3 เดือน และค่าตกใจ 1 เดือน ตามที่สำนักข่าวอิศราได้นำเสนอแต่อย่างใด
 
 
กยศ.เร่งทำกฎหมายลูกรับ พ.ร.บ.ใหม่ เล็งส่งข้อมูลให้เครดิตบูโรปี 2561 แม้กฎหมายไม่บังคับ
 
น.ส.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า กรณีที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ พ.ร.บ.กยศ.พ.ศ.2560 นั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน หรืออีก 6 เดือนข้างหน้า ระหว่างนี้กองทุน กยศ.เตรียมจัดทำกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมและการบริหารจัดการหนี้ โดยหลักการสำคัญของ พ.ร.บ.กยศ.ฉบับใหม่นี้เป็นการรวมกองทุน กยศ.และกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เข้าด้วยกัน ส่วนการบริหารจัดการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารหนี้ ให้กองทุน กยศ.มีอำนาจในการขอข้อมูลลูกหนี้ในองค์กรต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชนได้ รวมถึงเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน และการชำระเงินคืนกองทุนของผู้กู้ยืมเงินให้แก่หน่วยงาน หรือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน หรือบุคคลใดตามที่ร้องขอให้หน่วยงาน หรือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน หรือบุคคลใด ซึ่งเป็นผู้ครอบครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้กู้ยืมเงิน จัดส่งข้อมูลให้กองทุนตามที่กองทุนร้องขอภายในเวลาอันสมควร
 
น.ส.ฑิตติมากล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังกำหนดว่าให้องค์กรนายจ้าง ทั้งภาครัฐและเอกชน หักเงินของผู้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นพนักงาน หรือลูกจ้าง เพื่อชำระเงินกู้ยืมคืนตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ โดยให้นำส่งกรมสรรพากรภายในกำหนดระยะเวลานำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดการหักเงินตามวรรคหนึ่ง ต้องหักให้กองทุนเป็นลำดับแรกถัดจากการหักภาษี ณ ที่จ่าย และการหักเงินเข้ากองทุนที่ผู้กู้ยืมเงินต้องถูกหักตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม
 
“ส่วนการส่งข้อมูลทางการเงินให้กับเครดิตบูโรนั้น ไม่ได้กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.กยศ. แต่ถือเป็นนโยบาย โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2561 โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ระหว่างนี้ กยศ.จะเร่งทำกฎหมายลูก รวมถึงหลักเกณฑ์การปล่อยกู้ให้คณะกรรมการ กยศ.พิจารณาต่อไป” น.ส.ฑิตติมากล่าว
 
น.ส.ฑิตติมากล่าวอีกว่า ผลจากการบริหารจัดการหนี้ที่ผ่านมา ทำให้ กยศ.มียอดชำระหนี้เพิ่มขึ้น โดยในปี 2556 มียอดชำระหนี้รวม 1.1 หมื่นล้านบาท ปี 2557 จำนวน 1.3 หมื่นล้านบาท ปี 2558 จำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท และล่าสุดปี 2559 มียอดชำระหนี้รวม 2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้กองทุน กยศ.ไม่ต้องของบประมาณแผ่นดินในปี 2560 และ 2561 เพิ่ม
 
 
ส.คนพิการ ยื่น ศาล ปค.ถอนคำสั่งให้กองทุนคนพิการส่งเงิน 2 พันล.เป็นรายได้แผ่นดิน
 
สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย นำโดยนายมณเฑียร บุญตัน นายกสมาคมฯ และนายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานอนุกรรมการฝ่ากฎหมายของสมาคมฯเข้ายื่นฟ้องต่อ กระทรวงการคลัง กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตและคนพิการ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 0406.2/ล.2973 ลงวันที่ 30 พ.ย. 59ที่ให้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นำเงินสภาพคล่องส่วนที่เกิดความจำเป็น ส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินจำนวน 2,000 ล้านบาท และในระหว่างที่ศาลพิจารณาคดีขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้คำสั่งของกระทรวงการคลังดังกล่าวไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
 
โดยนายมณเฑียร กล่าวว่า เงินกองทุนฯ ดังกล่าวมาจากหลายส่วน ทั้งจากคนพิการ รัฐ แต่โดยส่วนใหญ่มาจากการเรียกเก็บจากนายจ้างที่ไม่จ้างคนพิการ เพื่อไว้ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้ดีขึ้น เทียบได้กับเงินกองทุนประกันสังคม และเป็นแหล่งทุนเดียวที่คนพิการสามารถกู้ยืมไปฝึกเพื่อสร้างอาชีพได้ ฉะนั้นกองทุนนี้จึงเป็นเหมือนปราการเดียวของคนพิการที่จะทำให้อยู่รอดในท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจได้ ดังนั้นจึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ว่า ถ้ากองทุนนี้ไม่มั่นคงและถูกคุกคามได้โดยง่าย โอกาสที่จะสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมให้กับคนพิการก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
 
"กองทุนไม่ได้มีจำนวนเงินมากเกินความจำเป็นเหมือนอย่างที่กระทรวงการคลังใช้เป็นเหตุว่าจะขอคืนเข้าแผ่นดิน ตัวเลขที่บอกว่ามีมากเกินความจำเป็นมันผกผันตามอัตราการไหลเข้ากับไหลออกของกองทุน ณ.ขณะนี้ ซึ่งมันเกิดจากความไม่คล่องตัวของกองทุนเองไม่ใช่เกิดจากความผิดที่ว่าคนพิการใช้เงินไม่เต็มที่ ไม่ใช่ จำนวนมากหรือน้อยเกินความจำเป็น มันไม่ได้เป็นที่ตัวจำนวนเงินแต่เป็นเรื่องประสิทธิภาพของกองทุนเองมากกว่า ดังนั้นแทนที่จะใช้เทคนิคในการนำเงินคืนเข้าแผ่นดินในลักษณะนี้ซึ่งจะเป็นการบั่นทอนกำลังคนพิการ ก็ควรมาปรับปรุงประสิทธิภาพกองทุนมากว่า"
 
นายมณเฑียร ยังกล่าวด้วยว่า ดังนั้นทางสมาคมฯจึงขอให้ศาลพิจารณาว่า กองทุนอยู่ในข่ายต้องนำเงินคืนเข้าแผ่นดินหรือไม่ เพราะสภาคนพิการฯเห็นว่าเงินที่กองทุนมีไม่ได้มากเกินความจำเป็น เพราะมีความจำเป็นต้องใช้เงินกองทุนอีกมากมายปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่เงินกองทุนมีเท่าไร แต่อยู่ที่เราได้ออกแบบ และมีการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้เงินกองทุนมากน้อยเพียงไรมากกว่า อีกทั้งนอกจากนี้แนวโน้มเงินที่จะไหลเข้ากองทุนจะน้อยลงในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากรัฐบาลนี้มีนโยบายส่งเสริมนายจ้างให้จ้างคนพิการทำงานมากขึ้น ซึ่งถ้าเราใช้เงินมีประสิทธิภาพหมายถึงเงินจะไหลออกมากขึ้นเพราะมีการเอาไปสร้างงานให้คนพิการ และไหลเข้าน้อยลงคือนายจ้าง ๆ คนพิการทำงานมากขึ้น มันก็จะเกิดภาวะสมดุลย์ในเร็วๆ นี้ และอาจเกิดภาวะกองทุนถดถอยด้วย
 
นายวิริยะ กล่าวว่า เราได้เสนอไปแล้วว่าวิธีที่ดีที่สุดคือรัฐบาลควรมาร่วมมือกับเครือข่ายคนพิการหาวิธีว่าจะนำเงินกองทุนนี้มาสร้างอาชีพให้คนพิการอย่างไรจึงจะดีที่สุด เราก็บ่นกันเยอะว่าต้องการเงินไปอบรม แต่ก็ไม่ได้ หรือล่าช้า กว่าที ถ้ารัฐบาลคิดว่าเงินนี้ควรมาจากงาน อาชีพให้คนพิการตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ก็จะเป็นที่ถูกทางที่สุดเพราะการช่วยคนพิการคือช่วยให้เขามีงานทำ แต่ถ้าปล่อยให้ไม่มีงานทำก็เป็นภาระของครอบครัว และสังคม เพราะปัจจุบันมีคนพิการที่อยู่ในวัยทำงานราว 7 แสนคน มีงานทำแสนกว่าคน พิการไม่สามารถทำงานได้อีกแสนกว่าคน ส่วนที่สามารถทำงานได้แต่ยังว่างงานอยู่มีถึง 4 แสนคน ทำไมไม่เร่งเอาเงินนี้มาสร้างอาชีพ ดังนั้นการที่กระทรวงการคลังซึ่งมีอำนาจ และวิธีการที่จะหาเงินหลากหลายวิธี ไปบังคับเอาเงินกับกองทุนอื่นๆ ที่มีอยู่ 100 กว่ากองทุนได้แล้ว ก็ไม่ควรจะมาเอาเงินคนพิการที่แทบจะไม่พอใช้ในการดำรงชีวิตไปอุ้มชูคนอื่นทั่วไป เพราะถือเป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ ขัดต่อกฎหมายและการปกครอง รวมถึงกติการะหว่างประเทศที่นานาอารยะประเทศยอมรับเป็นหลักสากลด้วย
 
 
สปส.ขู่ "คลินิกทำฟัน" หาก "เก็บเงิน-คิดเกินราคา" เอาผิดทันที
 
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงกรณีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ทันตกรรมเป็น 900 บาทต่อคนต่อปี โดยไม่ต้องสำรองจ่ายในคลินิกทันตกรรมเอกชน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ว่า สำหรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวยอมรับว่ายังไม่ครอบคลุมคลินิกหลายแห่ง ซึ่งขณะนี้มีคลินิกทันตกรรมเอกชนที่เข้าร่วมแล้วกว่า 530 แห่ง และคาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะเพิ่มเป็น 800 แห่ง ทั้งนี้ ก่อนรับบริการให้สังเกต “สติกเกอร์” สัญลักษณ์ประกันสังคม ที่จะติดไว้ที่คลินิกที่ร่วมโครงการ ซึ่งหมายถึงสามารถรับบริการโดยไม่ต้องสำรองจ่ายได้ แต่หากมีสติกเกอร์แล้วและยังเก็บเงินอีกสามารถเอาผิดได้ โดยผู้ประกันตนต้องโทร.แจ้งเข้ามายังสายด่วย สปส. โทร. 1506 โดยขั้นตอนอาจมีการพิจารณาคืนเงิน หรือให้คลินิกดังกล่าวออกจากระบบประกันสังคม
 
“ปัญหาหนึ่งเมื่อมีการให้สิทธิเพิ่มค่ารับบริการทันตกรรมเป็น 900 บาทต่อคน บางรายกลับพบว่าคลินิกบางแห่งมีการขึ้นค่าทันตกรรม แต่ไม่ได้ประกาศราคาชัดเจน ทั้งนี้ หากผู้ประกันตนคนใดประสบปัญหาดังกล่าวให้แจ้งมายัง สปส. ซึ่งเราจะรวบรวมข้อมูลและส่งให้กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต่อไป ซึ่งผิดทั้งเรื่องการแสดงราคาและยังเข้าข่ายผิดจรรยาบรรณทันตแพทย์ด้วย” เลขาธิการ สปส. กล่าว
 
นพ.สุรเดช กล่าวว่า สำหรับโรงพยาบาลรัฐที่จะเข้าร่วมโครงการไม่ต้องสำรองจ่ายนั้น ซึ่งจะมีทั้งโรงพยาบาลสังกัด สธ. และโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ สังกัดกระทรวงกลาโหม และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเดิมจะเข้าร่วมในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ แต่เพื่อความพร้อมเพียงกันในการประกาศบริการทันตกรรมไม่ต้องสำรองจ่าย จะประกาศร่วมเข้าโครงการพร้อมกันในวันที่ 1 เมษายน 2560 นี้
 
อนึ่ง คลินิกเอกชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการบริการทันตกรรมไม่ต้องสำรองจ่าย สามารถขอรับและยื่นใบสมัครได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดในเขตพื้นที่ที่สถานพยาบาลตั้งอยู่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 เขต/จังหวัด/สาขา ที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการทุกวัน เวลา 07.00 – 19.00 น. ระบบโทรศัพท์ตอบรับอัตโนมัติให้บริการ 24 ชั่วโมง)
 
 
ศธ.เร่งแจงสาระ กม.ใหม่ "กยศ." ให้ "ครู-ผู้กู้-สถานศึกษา" เข้าใจ
 
เมื่อวันที่ 31 มกราคม นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2560 นั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับ ศธ. ตามกฎหมายใหม่ ได้มีการยกเลิกคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่ 1 และคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่ 2 โดยให้มีคณะอนุกรรมการกำกับและประเมินสถานศึกษาที่เข้าร่วมดำเนินงานกับกองทุน มีปลัด ศธ.เป็นประธาน มีเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนกรมบัญชีกลาง และผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 คน เป็นกรรมการ ซึ่งอนุกรรมการ ชุดนี้ จะทำหน้าที่กำกับ ติดตาม ตรวจสอบ ดูแลสถานศึกษา พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะแก่คณะกรรมการบริหารกองทุนกยศ.ซึ่งจะทำให้ ศธ.มีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดมาตรฐานในการเลือกสถานศึกษา กำหนดมาตรฐานในการดูแลเด็กที่กู้ยืม ตลอดจนสาขาวิชาที่จะให้กู้ยืม เป็นต้น
 
นายชัยพฤกษ์กล่าวต่อว่า พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 จะช่วยให้กยศ.สามารถขอข้อมูลหน่วยงานต่างๆ เพื่อติดตามทวงหนี้ โดยเฉพาะผู้กู้ยืมที่ไม่ชำระหนี้ได้ ซึ่งขณะนี้มีผู้ค้างชำระหนี้ กยศ.ประมาณ 1 ล้านคน ตลอดจนกรมสรรพากร สามารถแจ้งให้นายจ้างหรือผู้บังคับบัญชา หักเงินเดือนของผู้กู้เพื่อชำระหนี้ได้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะทำให้การชำระหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีเงินหมุนเวียนกลับเข้ากองทุนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การกู้ยืมตามกฎหมายฉบับใหม่นี้ผู้กู้จะต้องเซ็นยินยอมให้หักเงินชำระหนี้
 
"จากนี้ ศธ.จะเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ให้แก่ครู อาจารย์ สถานศึกษา ตลอดจนนิสิต นักศึกษา และนักเรียน ได้รู้ว่ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเอง ทั้งเรื่องการกู้ยืมเงิน กยศ.และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ว่าควรปฏิบัติตนก่อน ระหว่าง และหลังกู้ยืมเรียนอย่างไรบ้าง โดยจะเน้นเป็นพิเศษ เรื่องความรับผิดชอบและความซื่อสัตย์" นายชัยพฤกษ์กล่าว
 
 
เคลียร์เกณฑ์ “ตรวจสุขภาพฟรีผู้ประกันตน” ย้ำต้องยังไม่มีอาการ แนะ รพ.ช่วยสะท้อนต้นทุนค่าบริการ
 
ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้จัดการประชุมชี้แจงสิทธิประโยชน์ และการจัดบริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลในโครงการประกันสังคม รุ่นที่ 1 เพื่อทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมแก่โรงพยาบาลคู่สัญญาในการให้บริการสิทธิประโยชน์ตรวจสุขภาพฟรี ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ผู้ประกันตน โดยมีสถานพยาบาลเข้าร่วมประชุมกว่า 240 แห่ง
 
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ขณะนี้ยอมรับว่า การให้บริการตรวจสุขภาพฟรี ยังมีปัญหา เนื่องจากโรงพยาบาลคู่สัญญาหลายแห่งยังไม่ทราบเรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ทำให้ผู้ประกันตนที่เดินทางไปรับบริการประสบปัญหา อย่างไรก็ตาม สปส. ยืนยันว่า ได้ทำหนังสือแจ้งการเพิ่มสิทธิประโยชน์ดังกล่าวไปยังโรงพยาบาลคู่สัญญาทุกแห่งแล้ว นอกจากนี้ ยังพบว่า โรงพยาบาลคู่สัญญาหลายแห่งยังมีความไม่เข้าใจถึงรายละเอียดในการเริ่มต้นจัดบริการดังกล่าว จึงได้จัดให้มีการประชุมดังกล่าว เพื่อสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมแก่โรงพยาบาลคู่สัญญา
นพ.สนธยา พรึงลำภู ที่ปรึกษาการแพทย์ สปส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ผู้ประกันตนใช้สิทธิรับบริการทางการแพทย์ก็ต่อเมื่อเจ็บป่วยเท่านั้น ดังนั้น การเพิ่มสิทธิประโยชน์ส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค โดยจัดให้มีการตรวจสุขภาพฟรีที่โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ จึงช่วยให้ผู้ประกันตนสามารถรับบริการทางการแพทย์เมื่อยังไม่เจ็บป่วยได้ สำหรับการประชุมในครั้งนี้ได้ชี้แจงให้โรงพยาบาลคู่สัญญาของประกันสังคมเข้าใจถึงลักษณะของการตรวจสุขภาพที่เข้าเกณฑ์ตามสิทธิประโยชน์ดังกล่าว คือ ต้องเป็นการตรวจคัดกรองในผู้ประกันตนที่ยังไม่มีอาการป่วยมาก่อน จึงถือว่าเข้าเกณฑ์การเบิกจ่ายสิทธิประโยชน์ตรวจสุขภาพ แต่หากเป็นการตรวจสุขภาพในโรคที่เป็นอยู่แล้ว เช่น เป็นเบาหวานแล้วขอตรวจน้ำตาลในเลือด เป็นต้น หรือแพทย์สั่งตรวจสุขภาพเพิ่มเติม เพื่อประกอบการวินิจฉัยโรค หาสาเหตุของโรค ความรุนแรงของโรค ถือเป็นการตรวจสุขภาพตามสิทธิการรักษาพยาบาลอยู่แล้ว ตรงนี้ก็จะเบิกจ่ายจากงบเหมาจ่ายรายหัวที่ สปส. ส่งให้กับโรงพยาบาลคู่สัญญาอยู่แล้ว ต้องแยกให้ชัดเจน
 
“สำหรับข้อกังวลของโรงพยาบาลคือ หลักเกณฑ์การตรวจสุขภาพและต้นทุนค่าบริการ ซึ่งอาจเกินจากอัตราค่าใช้จ่ายที่ สปส.กำหนดจะทำอย่างไร ก่อนอื่นขอชี้แจงว่า รายการตรวจสุขภาพและค่าบริการนั้น สปส. ยึดตามหลักเกณฑ์ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และมีการปรับให้เหมาะสม อย่างเรื่องเอกซเรย์ เกณฑ์ของกรมการแพทย์ไม่ได้พูดถึง แต่มีในประกาศแนบท้ายของ สปส. เป็นต้น ซึ่ง สปส. กำหนดเพราะบางอาชีพจำเป็นต้องได้รับการตรวจสุขภาพด้วยการเอกซเรย์จึงกำหนดเอาไว้ด้วย อย่างไรก็ตามขอให้โรงพยาบาลยึดตามบัญชีแนบท้ายของ สปส. ตรวจคัดกรองตามความเสี่ยงจากการทำงาน และกลุ่มอายุ และพิจารณาตามความเหมาะสม ส่วนเรื่องต้นทุนการบริการ สปส. เองก็อยากทราบต้นทุนที่แท้จริงเช่นกันว่าเพียงพอหรือไม่ ถ้าหากโรงพยาบาลพบว่าไม่เพียงพอ ก็ต้องสะท้อนข้อมูลเข้ามายัง สปส. ซึ่งจะรายงานเข้าไปยังที่ประชุมคณะกรรมการการแพทย์ต่อไป ซึ่งหากคณะกรรมการเห็นว่า มีความจำเป็น ก็สามารถออกประกาศเพื่อปรับอัตราค่าบริการใหม่ได้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของโรงพยาบาล” นพ.สนธยา กล่าว
 
นพ.อรรถสิทธิ ศรีสุบัติ ผอ.สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ สธ. กล่าวว่า การมีโปรแกรมตรวจสุขภาพให้ผู้ประกันตน จะช่วยให้รู้ความเสี่ยงและป้องกันตัวเองแต่เนิ่นๆ ช่วยยืดระยะเวลาการป่วยด้วยโรคต่างๆ ได้ เพราะหากไม่รู้ตัวเองก็จะไม่ระวัง และอาจจะทำให้เป็นโรคเร็ว ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษามากกว่าการเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพ แต่ข้อควรระวัง คือ การตรวจสุขภาพมีทั้งที่จำเป็น และไม่จำเป็น เพราะบางอย่างเมื่อตรวจไปแล้วโอกาสเกิดผลบวกลวงสูง ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพเพิ่มเติม ซึ่งมีหลายกรณีพบว่าเมื่อตรวจไปแล้วกลับไม่ได้เป็นโรคตามที่ผลตรวจสุขภาพบอก ก็ทำให้เสียเวลา ค่าใช้จ่าย และสุขภาพจิต ดังนั้น สถาบันวิจัยฯ จึงทำการศึกษาแนวทางการตรวจสุขภาพที่เหมาะสม โดยเน้นเรื่องของการซักประวัติ ประเมินความเสี่ยง ตรวจร่างกาย และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการตามความจำเป็น เมื่อพบความเสี่ยงก็ให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ เพื่อไม่ให้เกิดโรค แต่ถ้าพบโรคก็ตรวจยืนยันและรักษาต่อไป
 
ด้าน นพ.วุฒิชัย บุญไชยะ แพทย์ประจำโรงพยาบาลบุรีรัมย์ ฝ่ายสิทธิบัตร กล่าวว่า รพ.บุรีรัมย์ มีความพร้อมในการให้บริการตรวจสุขภาพผู้ประกันตน เพราะมีประสบการณ์ในการจัดบริการให้แก่สิทธิบัตรทองและข้าราชการมาก่อน โดยมีการแยกหน่วยบริการตรวจสุขภาพทุกสิทธิการรักษาออกมาโดยเฉพาะ ทำให้ผู้มารับบริการไม่ต้องไปรอคิวปะปนกับผู้ป่วยที่มาพบแพทย์เพื่อรักษาทั่วไป ซึ่งแต่ละวันผู้มารับบริการตรวจสุขภาพก็มีไม่มาก ทำให้ไม่ต้องรอคิวนาน แต่หากตรวจสุขภาพแล้วพบว่ามีความจำเป็นต้องตรวจเฉพาะทางเพิ่มเติมก็อาจต้องไปเข้าระบบคิวตามปกติ อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลของโรงพยาบาล คือ ผู้มารับบริการจะขอตรวจสุขภาพไปทุกอย่างมากกว่า ซึ่งบางอย่างถือว่าไม่จำเป็นต้องตรวจ เพราะการตรวจมากๆ อาจทำให้เกิดผลบวกลวงได้ ทั้งนี้ รพ.บุรีรัมย์ ได้ให้บริการตรวจสุขภาพผู้ประกันตนตามสิทธิมาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา พบว่า ยังไม่มีปัญหาเรื่องการให้บริการแต่อย่างใด ส่วนการตรวจสุขภาพโดยรวมมักเข้ามารับบริการตรวจเบาหวาน นิ่ว และ เกาต์ เป็นส่วนใหญ่
 
 
ก.แรงงานออก กม.ประกันว่างงานช่วยแรงงานประสบอุทกภัยภาคใต้
 
ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานเผยแนวทางช่วยเหลือแรงงานในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยภาคใต้ ได้แก่ การลดอัตราจ่ายเงินสมทบ ประกันสังคม เหลือร้อยละ 3 (ม.ค.-มี.ค.) พร้อมออกกฎหมายช่วยลูกจ้างที่หยุดงานได้สิทธิประกันการว่างงาน
 
นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ประสบปัญหาอุทกภัยทางภาคใต้ โดยในส่วนของกระทรวงแรงงานมีแผนให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง และการช่วยเหลือที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ การลดอัตราจ่ายเงินสมทบ และขยายเวลาการนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมให้กับนายจ้างลูกจ้าง จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 3 เป็นระยะเวลา 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค. 2560) การให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อให้คำปรึกษาเรื่องงานให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบมีรายได้เพิ่ม
 
นอกจากนี้ ล่าสุดทางกระทรวงแรงงานยังได้เตรียมออกกฎหมายให้ลูกจ้างที่ต้องหยุดทำงานจากน้ำท่วม ได้รับสิทธิประกันการว่างงานด้วย
 
 
จ่อเปิดศูนย์ตรวจสัญชาติพม่าย้ำต่ออายุต่างด้าวรอบสุดท้าย
 
กรมการจัดหางานจ่อเปิดศูนย์ตรวจสัญชาติแรงงานต่างด้าว "เมียนมา" 6 ศูนย์ 5 จังหวัด สามารถเลือกสถานที่ตรวจสัญชาติได้ โดยชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง 7-Eleven สาเหตุที่ยังไม่เริ่มดำเนินการเนื่องจากทางการเมียนมาแจ้งว่าอยู่ในระหว่างการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ยันผ่อนผันและต่ออายุใบอนุญาตแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงและแปรรูปสัตว์น้ำจะเป็นครั้งสุดท้าย แนะนายจ้างดำเนินการให้ถูกต้อง
 
นายวิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช รองอธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญในการเร่งรัดการตรวจสัญชาติแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เข้าสู่ระบบจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมายภายในระยะเวลาที่กำหนดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ล่าสุดกรมการจัดหางานได้รับแจ้งจากทางการเมียนมาว่า จะดำเนินการตรวจแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาจำนวน 6 ศูนย์ ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ 1.จ.สมุทรสาคร เลขที่ 69/30 หมู่ 1 ต.มหาชัย (เทศบาลนครสมุทรสาคร) อ.เมืองสมุทรสาคร และสถานีขนส่งจังหวัดสมุทรสาคร เทศบาลตำบลท่าจีน อ.เมืองสมุทรสาคร 2.จ.สมุทรปราการ เลขที่ 1467 หมู่ 1 ถนนเทพารักษ์ ต.เทพารักษ์ อ.เมืองสมุทรปราการ 3.จ.เชียงราย เลขที่ 9 ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย
 
4.จ.ตาก เลขที่ 298 หมู่ 2 ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก 5.จ.ระนอง เลขที่ 89/150 ต.ปากน้ำ อ.เมืองระนอง มีขั้นตอนคือ แรงงานต่างด้าวนำบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะ เบียน (บัตรสีชมพู) ยื่นชำระค่าธรรมเนียมผ่านทางเคาน์เตอร์เซอร์วิสที่ร้าน 7-Eleven โดยสามารถเลือกสถานที่ที่ประสงค์จะไปตรวจสัญชาติได้ และเดินทางไปตามกำหนดพร้อมทั้งนำใบเสร็จรับเงินที่ชำระ 7-Eleven และบัตรสีชมพูไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่ตรวจสัญชาติ ซึ่งจะเปิดให้บริการระหว่างวันจันทร์เสาร์ เวลา 08.30-16.30 น. ซึ่งในขณะนี้ทางการเมียนมาแจ้งว่าอยู่ในระหว่างการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ จึงยังไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงาน
 
นายวิวัฒน์กล่าวด้วยว่า กรมการจัดหางานจึงขอประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าวทราบ ทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวที่ผ่านการตรวจสัญชาติแล้วจะได้รับเอกสารที่ใช้แทนหนังสือเดินทางเพื่อใช้ในการยื่นขอใบอนุญาตทำงาน และเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งแรงงานต่างด้าวจะได้รับสิทธิ
 
ประโยชน์ตามมาตรฐานสากล เช่น สิทธิด้านการประกันสังคม การคุ้มครองดูแลตามกฎหมายโดยยึดหลักความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ ตามนโยบาย พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน
 
นอกจากนั้น รัฐบาลยังมีนโยบายให้จ้างแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย โดยวิธีการนำเข้าภายใต้ "MOU" หากนายจ้าง/สถานประกอบการใดจำเป็นต้องจ้างแรงงานต่างด้าว (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) สามารถดำเนินการด้วยวิธีการนำเข้า ซึ่งจะมีความสะดวก รวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ และสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694
 
ด้านนายสิงหเดช ชูอำนาจ อธิบดีกรมการจัดหางาน ยืนยันว่า จากมติคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) เห็นชอบขยายระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร และการอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงทะเล และแรงงานในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำที่อยู่ระหว่างผ่อนผัน เพื่อขยายสิทธิการทำงานอยู่ในราชอาณาจักรไทยออกไปอีกจนถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 โดยกรมการจัดหางานจะผ่อนผันต่อใบอนุญาตทำงานให้กับแรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ซึ่งมีกว่า 100,000 คน เป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งเปิดให้ขึ้นทะเบียนวันที่ 1 กุมภาพันธ์จนถึง 31 มีนาคม 2560 เท่านั้น หากไม่ไปดำเนินการตามกำหนดจะต้องถูกผลักดันกลับประเทศต้นทางทันที
 
สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสัญชาติภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 หากไม่ดำเนินการก็จะถูกดำเนินคดีลงโทษตามกฎหมายอย่างจริงจัง ทั้งแรงงานต่างด้าวและนายจ้างที่จ้างแรงงานผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันในส่วนของประเทศต้นทาง โดยเฉพาะทางการเมียน มาและกัมพูชา ได้ประสานผ่านทูตแรงงานหลายครั้งให้เร่งดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้เป็นไปตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ ซึ่งทาง รมว.แรงงานสั่งกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการในส่วนของประเทศไทยให้แล้วเสร็จโดยไม่ต้องไปรอประเทศต้นทาง เพื่อให้มีการนำเข้าแรงงานถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้นานาชาติเห็นว่าประเทศไทยเอาจริงกับการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย
 
นายสิงหเดชอธิบายว่า ที่ผ่านมาการเร่งรัดการดำเนินการพิสูจน์สัญชาตินั้น กรมการจัดหางานทำมาอย่างต่อเนื่อง แต่การตรวจสัญชาติเป็นเรื่องของประเทศต้นทาง ซึ่งกรมการจัดหางานเราทำได้เพียงการดูแลควบคุมไม่ให้มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกินจริงเท่านั้น
 
 
โดนแล้ว แรงงานดำเนินคดีนายจ้างเมืองระยองใช้เด็กต่ำ 15 ทำงานตามนโยบายตรวจเข้ม 5 ประเภทกิจการ
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กสร.ได้ดำเนินการตรวจเข้มสถานประกอบกิจการใน ๕ ประเภทกิจการ ตามนโยบายของ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานและการป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ได้แก่ ๑. กิจการที่มีการใช้ปั้นจั่นหรือเครน ๒. กิจการที่มีการใช้สารเคมี ๓. กิจการขนส่งทางบก ๔. กิจการที่มีการใช้แรงงานเด็ก ๕. กิจการเกี่ยวกับประมงและต่อเนื่อง ซึ่งในการตรวจแรงงานดังกล่าว กสร.ได้จัดตั้งชุดเฉพาะกิจคุ้มครองแรงงานเพื่อเสริมการปฏิบัติงานของพนักงานตรวจแรงงานให้มีความเข้มข้นมากขึ้น จากการดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีกับนายจ้างในจังหวัดระยองที่มีการใช้เด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปีเข้าทำงาน และเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาชุดเฉพาะกิจฯ ได้ตรวจสถานประกอบกิจการอู่ซ่อมรถ
แห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง พบว่ามีการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี และได้แจ้งความดำเนินคดีนายจ้างรายนี้เรียบร้อยแล้ว
 
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งจะมีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ เป็นต้นไป ได้เพิ่มอัตราโทษสำหรับความผิดเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กโดยมีโทษต่ำสุดปรับปรับตั้งแต่ ๔๐๐,๐๐๐ บาท ถึง ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท จำคุกไม่เกิน ๒ ปี ถึงไม่เกิน ๔ ปี ต่อลูกจ้างหนึ่งคน หรือทั้งปรับทั้งจำ ซึ่งเป็นโทษที่มีอัตราสูงจึงขอเตือนนายจ้าง ผู้ประกอบการให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายหากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ กองคุ้มครองแรงงาน โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔ ๕๗๑๗๐, ๐ ๒๒๔๖ ๖๓๘๙ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครเขตทั้ง ๑๐ เขต สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน ๑๕๔๖
 
 
เผยปัญหาล่วงละเมิดทางเพศในการทำงานใน อปท. ยังไม่ลด เตือนเด็กฝึกงานระวังตัว
 
(3 ก.พ.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยทำหนังสือที่ มท 0211.3/ว0539 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในการทำงาน ภายหลังได้รับแจ้งจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ว่า พม.ได้รับข้อสังเกตจากกรรมการสิทธิมนุษยนแห่งชาติ ว่ายังพบปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงานเกิดขึ้นอยู่ในองค์กรและหน่วยงานท้องถิ่น จึงขอให้ผู้ว่าฯ แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานในภูมิภาคให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน
 
ทั้งนี้ พม.ยังได้ส่งแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในการทำงาน ที่ครอบคลุมบุคลากรทุกคนที่อยู่ในหน่วยงาน รวมทั้งผู้ที่ดำเนินงานที่เกี่ยวข้องอยู่ในหน่วยงาน เช่น นักศึกษาฝึกงาน ผู้รับจ้าง รวมทั้งให้ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักให้ทุกคนในหน่วยงานรับทราบและถือปฏิบัติ นอกจากนี้ยังขอให้จังหวัดส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและเสริมสร้างพฤติกรรมแก่บุคลากร อปท.และหน่วยงานในภูมิภาคต่อหน่วยงานดังกล่าวนำไปปฏิบัติ เช่น การให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชา, การลดความเสี่ยงจากปัญหา เช่น แต่งกายให้เหมาะสม การจัดห้องทำงานที่เปิดเผยโล่ง มองเห็นได้ชัดเจนหลีกเลี่ยงที่ลับตาหรือทำงานสองต่อสอง มีผู้วางใจอยู่ด้วยในกรณีถูกเรียกเข้าพบหรืองานที่มอบหมายนอกเวลาทำงาน เป็นต้น รวมถึงให้มีการสอดส่องและรายงานพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นในหน่วยงานต่อผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งไม่เพิกเฉยหากมีปัญหาเกิดขึ้นกับผู้ร่วมงาน และควรให้คำปรึกษาให้ความช่วยเหลือแก่เพื่อร่วมงาน, ผู้บังคับบัญชาการทุกระดับควรทำเป็นแบบอย่างที่ดี และมีหน้าที่โดยตรงในการป้องกันปัญหา, บุคลาการควรมีจิตสำนึกรักศักดิ์ศรี ภาคภูมิใจในการทำงานของตนเอง เห็นคุณค่าการทำงานของตนเองมากกว่าที่จะก้าวหน้าโดยวิธีอื่น
 
ทั้งนี้ยังขอให้มีกระบวนการแก้ไขและจัดการปัญหาอย่างจริงจัง ทันที รวดเร็ว รวมถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการที่เหมาสมในการสอบข้อเท็จจริง โดยอาจมีบุคคลที่เป็นเพศเดียวกันกับผู้เสียหายหรือเป็นบุคคลที่ผู้เสียหายไว้วางใจเข้าร่วมฟังในการสอบข้อเท็จจริงได้ โดยให้ทางจังหวัดเร่งทำหนังสือเวียนดำเนินการทันที
 
มีรายงานว่า เมื่อการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2558 ได้เห็นชอบมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน ประกอบด้วย หลักการที่หน่วยถือปฏิบัติ 7 ข้อดังนี้ (1) หน่วยงานต้องมีการจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศในการทำงานที่ครอบคลุมบุคลากรทุกคนที่ทำงานในหน่วยงานรวมทั้งผู้ที่มีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน เช่น นักศึกษา นักศึกษาฝึกงาน ผู้รับจ้าง ฯลฯ โดยให้บุคลากรในหน่วยงานได้มีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และยอมรับ รวมทั้งต้องประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักแก่บุคลากรทุกคนในหน่วยงานได้รับทราบและถือปฏิบัติ
 
(2) หน่วยงานต้องแสดงเจตนารมณ์อย่างจริงจังในการส่งเสริมความเท่าเทียบกันระหว่างบุคคล เพื่อให้บุคลากรปฏิบัติต่อกันอย่างให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน โดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีเน้นการป้องกันปัญหาเป็นพื้นฐานควบคู่กับการปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ (3) หน่วยงานต้องเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ และแนวทางในการแก้ไขในกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้น รวมทั้งกำหนดให้เป็นประเด็นหนึ่งในหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรทุกระดับ การจัดสถานที่ทำงานเพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ เช่น จัดห้องทำงานที่เปิดเผย โล่ง มองเห็นกันได้ชัดเจน เป็นต้น
 
(4) การแก้ไขและจัดการปัญหาอาจใช้กระบวนการอย่างไม่เป็นทางการ เช่น การพูดคุยกันอย่างเป็นมิตร การประนอมข้อพิพาทฯ ฯลฯ เพื่อยุติปัญหา หากกระบวนการไม่เป็นทางการไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงจะเข้าสู่กระบวนการทางวินัยตามกฎหมายที่หน่วยงานนั้นถือปฏิบัติอยู่ (5) การแก้ไขและจัดการปัญหาต้องดำเนินการอย่างจริงจังโดยทันที และเป็นไปตามเวลาที่กำหนดในแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศในการทำงาน และต้องเป็นความลับ เว้นแต่คู่กรณี ทั้งสองฝ่ายยินดีให้เปิดเผย รวมทั้งให้ความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่ายเท่าเทียมกัน กรณีที่ขยายเวลาออกไปต้องมีเหตุผลที่ดีพอ
 
(6) กรณีที่มีการร้องเรียนหรือการรายงานเรื่องนี้ให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานสอบข้อเท็จจริง ประกอบด้วย ประธานคณะทำงานที่มีตำแหน่งสูงกว่าคู่กรณีบุคคลจากหน่วยงานต้นสังกัดของคู่กรณี โดยมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าคู่กรณี บุคคลที่มีผลงานด้านการแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศจนเป็นที่ประจักษ์ โดยอาจมีบุคคลที่มีเพศเดียวกับผู้เสียหายไม่น้อยกว่าหนึ่งคน และให้มีบุคคลที่ผู้เสียหายไว้วางใจเข้าร่วมรับฟังในการสอบข้อเท็จจริงได้ หากต้องมีการดำเนินการทางวินัย ขอให้คณะทำงานนำข้อมูลเสนอผู้บริหารประกอบการดำเนินการทางวินัย (7) หน่วยงานต้องติดตามผลการดำเนินงานตามแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศในการทำงานอย่างต่อเนื่องและรายงานต่อคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
 
สำหรับตัวอย่างแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงานซึ่งหน่วยงานต้องจัดทำขึ้นโดยความร่วมมือของบุคลากรในหน่วยงาน เนื้อหาประกอบด้วยเจตนารมณ์ คำนิยาม พฤติกรรมที่พึงปฏิบัติและไม่พึงปฏิบัติสิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่อถูกล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ กระบวนการจัดการปัญหาอย่างไม่เป็นทางการมาตรการคุ้มครองผู้ร้องทุกข์/พยาน/ผู้ถูกกล่าวหา หน่วยรับเรื่องร้องทุกข์ และช่องทางการร้องทุกข์ เป็นต้น
 
 
ชนกลุ่มน้อยทำงานนอกพื้นที่ได้ทุกประเภทงานแล้ว
 
ชนกลุ่มน้อยและคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานขออนุญาตทำงานได้ทุกประเภทงานแล้ว กรณีออกนอกพื้นที่ต้องขออนุญาตออกนอกเขตพื้นที่เพื่อไปทำงานกับนายจ้างต่อนายอำเภอในเขตพื้นที่ ขณะที่แรงงานต่างด้าวในกิจการก่อสร้าง ขนส่งสินค้า และกิจการที่มีลักษณะเดียวกัน สามารถทำงานได้ตามความจำเป็นของกิจการ โดยนายทะเบียนจะอนุญาตให้ทำงานทั้งจังหวัดตามความจำเป็นหรืออนุญาตทำงานในหลายจังหวัดต่อเนื่องกัน
 
นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายให้แรงงานต่างด้าวที่เป็นชนกลุ่มน้อยหรืออยู่อาศัยในประเทศไทย เป็นเวลานานทำงานได้ทุกประเภทงาน และได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงาน ซึ่งที่ผ่านมาแรงงานจะประสบปัญหาถูกตรวจสอบจับกุมเมื่อออกนอกเขตพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้สั่งการให้กรมการจัดหางานหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือแรงงานในกรณีดังกล่าว
 
ด้านนายสิงหเดช ชูอำนาจ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมการ-จัดหางานได้จัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดแนวทางการเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมของชนกลุ่มน้อย และคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน เพื่อขออนุญาตทำงานให้สอดคล้องกับประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำหนดให้คนต่างด้าวดังกล่าวสามารถทำงานได้ทุกประเภทงาน โดยในเบื้องต้นที่ประชุมรับทราบการปรับปรุงแนวทางการขออนุญาตออกนอกเขตพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินการสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยมอบหมายให้นายอำเภอเป็นผู้พิจารณาออกนอกเขตพื้นที่ ใช้เวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จ 3 วันทำการ โดยยื่นคำขอ 1 วัน พิจารณาอนุญาต 2 วัน ซึ่งได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ทั้งนี้ หากยกเลิกการขออนุญาตออกนอกเขตพื้นที่จะกระทบกับการพิจารณาให้ถิ่นที่อยู่กับแรงงานบางกลุ่มเนื่องจากไม่มีถิ่นที่อยู่ถาวร ซึ่งจะส่งผลต่อการให้สัญชาติในอนาคตต่อไป
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในกิจการก่อสร้าง ขนส่งสินค้า และกิจการที่มีลักษณะเดียวกัน สามารถทำงานได้ตามความจำเป็นของกิจการ โดยอาจพิจารณาอนุญาตทำงานทั้งจังหวัดตามความจำเป็น หรืออนุญาตทำงานในหลายจังหวัดต่อเนื่องกัน เช่น กรณีกิจการขนส่งสินค้าในจังหวัดที่มีระยะทางไกล และต้องผ่านจังหวัดอื่น ๆ ระหว่างเดินทาง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net