Skip to main content
sharethis

ย้อนพินิจพิจารณาซีรีย์เปาบุ้นจิ้น ผู้พิพากษาที่หลายๆ คนยกเป็นตัวแทนของความยุติธรรม แท้จริงแล้วอาจไม่ใช่แบบที่คิดเสมอไป

หากพูดถึงทีวีซีรีย์ที่มีการนำมาฉายซ้ำในประเทศไทยหลายๆ ครั้ง เปาบุ้นจิ้น เองก็เป็นอีกหนึ่งซีรีย์ที่ถูกจัดประเภทอยู่ในกลุ่ม ซีรีย์ที่ฉายแล้วฉายอีก เปาบุ้นจิ้น และศาลไคฟง เวอร์ชั่นที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เป็นเวอร์ชั่น CTS จากประเทศไต้หวัน ถูกนำเข้ามาฉายในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 3 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2538, 2549 และ 2558 และสังคมไทยยังคุ้นเคยกับวรรณกรรมแปลเรื่องเปาบุ้นจิ้นมาอย่างยาวนาน โดยวรรณกรรมเรื่องเปาบุ้นจิ้นถูกแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2451 ในสมัยรัชกาลที่ 6

หลายครั้งที่ตัวละครเปาบุ้นจิ้น กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความยุติธรรม อาจจะด้วยท่าทีโผงผาง  พูดจาเสียงดัง ดูน่าเกรงขาม แต่ก็มีท่าทีที่แสดงออกถึงความเมตากับคนเล็กคนน้อย และพร้อมที่จะตัดสินลงโทษผู้ต้องหาโดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรมหม สั่งประหารได้ทั้งชาวบ้าน พ่อค้า ขุนนาง ไปจนถึงชนชั้นสูง หากพบว่ามีความผิดจริง ตัวอย่างซีรีย์ตอน ราชบุตรเขยจอมโหด แม้จะเป็นผู้ที่อยู่ในราชวงศ์ หากพบว่าทำผิดจริง เปาบุ้นจิ้นก็ไม่ละเว้น ดังที่เห็นในละครว่า เครื่องประหารในศาลไคฟงมีให้เลือกใช้หลายประเภทเพื่อให้เหมาะสมกับสถานะทางสังคมของผู้ต้องหา เช่น เครื่องประหารหัวสุนัข สำหรับประหารชีวิตไพร่  เครื่องประหารหัวพยัคฆ์ สำหรับขุนนางข้าราชการ และเครื่องประหารหัวมังกร สำหรับชนชั้นสูง-เชื้อสายราชวงศ์ ประกอบกับการเกิดอภินิหารที่แสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ และความเหนือมนุษย์ของผู้พิพากษาแห่งศาลไคฟง ผู้ซึ่งทรงความยุติธรรม ที่มีให้เห็นในหลายๆ ตอน ทั้งหมดนี้อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ หลายคนยกให้ท่านเปาเป็นราวกับเทพเจ้าแห่งความยุติธรรมอย่างไม่ต้องสังสัย

แต่ก็อีกนั่นแหละ หากมองให้ลึกลงไปอีกขั้น มองให้เห็นกระบวนการยุติธรรมในศาลไคฟง มองให้เห็นว่าแท้จริงแล้วทีวีซีรีย์เรื่องนี้สะท้อนอะไร บางทีศาลไคฟง และเปาบุ้นจิ้น อาจจะไม่ใช่ต้นแบบของความยุติธรรมที่หลายคนต้องการจริงๆ ก็ได้ และถ้าตั้งข้อสังเกต ในทางกลับกันเป็นไปได้มั้ยว่า ทุกวันนี้อาจจะมีศาลไคฟง หรือท่านเปา อยู่จริงๆ ในประเทศไทย ซึ่งเราอาจจะคุ้นชินกับมันโดยไม่รู้ตัว

หมายเหตุ: มุมมองที่จะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นการถอดความจาก รายการหมายเหตุประเพทไทย#142 เปาบุ้นจิ้นและโลกทัศน์เรื่องความยุติธรรม ดำเนินรายการโดย ชานันท์ ยอดหงษ์ เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี และรังสิมันต์ โรม แขกรับเชิญจากขบวนการประชาธิปไตยใหม่

เปาบุ้นจิ้น เทพเจ้าแห่งความยุติธรรมจริงดิ? (คลิกเพื่อดูภาพขนาดใหญ่)

1.ฟ้องร้องได้ง่าย แค่ตีกลองร้องทุกข์

การฟ้องร้อง หรือการร้องทุกข์ ในโลกของเปาบุ้นจิ้น  เกิดขึ้นได้ง่ายๆ หากใครมีเรื่องทุกข์ร้อนต้องการความยุติธรรมจากท่านเปา ก็สามารถที่จะเดินทางไปยังศาลไคฟง ตีกลอง เพื่อร้องทุกข์ จากนั้นท่านเปาก็จะสั่งให้เปิดศาลรับเรื่องร้องทุกข์ และหากผู้ที่มาร้องทุกข์สามารถทำให้ท่านเปาเชื่อได้ว่าถูกกระทำมาจริง คดีความก็จะเกิดขึ้นในทันที จะเห็นได้ว่า เปาบุ้นจิ้น มีสิทธิชี้ขาดเพียงผู้เดียวว่าเรื่องใดควรเป็นคดี และเรื่องใดไม่ควรเป็นคดี และนอกจากคดีความที่เกิดขึ้นในเมืองไคฟงแล้ว เปาบุ้นจิ้น ยังได้รับอาญาสิทธิ์ให้ตัดสินคดีได้ทุกคดี โดยมีตอนหนึ่งที่เปาบุ้นจิ้น ไปเอาคดีจากศาลต้าหลี่มาตัดสินเอง

2.ไม่เคารพสิทธิของผู้ต้องหา

ในโลกของเปาบุ้นจิ้น กระบวนการในพิจารณาคดีเป็นไปโดยใช้ ระบบไต่สวน คนสืบสวน สอบสวนคดี กับคนพิจารณาคดี เป็นคนเดียวกัน และผู้ที่ตกเป็นจำเลยจะอยู่ในสถานะที่ถูกทำให้เป็นวัตถุ และไม่สิทธิใดๆ ทั้งสิน ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่มีการใช้ระบบกล่าวหา ซึ่งมีการแยกระหว่าง คนสืบสวน สอบสวนคดี ออกจากคนพิจารณาคดี และให้ผู้ถูกกล่าวหา เป็นประธานในคดี มีสิทธิต่างๆ ในคดี สิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ สิทธิที่จะมีทนายความช่วยเหลือ

3.ไม่ได้ยึดหลักจำเลยบริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำตัดสิน

ผู้ต้องหาแทบทุกรายมักจะถูกท่านเปา มองว่าเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว และบ่อยครั้งที่เราเห็นเปาบุ้นจิ้นสั่งโบยตีผู้ต้องหา เพื่อรีดให้ผู้ต้องหายอมรับสภาพว่ากระทำความผิดจริง อีกทั้งการสอบสวน สืบสวน เป็นหน้าที่ของศาลไคฟง ที่จะต้องไปหาข้อมูล หลักฐานพยาน มาชี้ให้เห็นชัดว่าผู้ต้องหามีความผิดตามที่ เปาบุ้นจิ้น เชื่อ

4.ยึดหลักจริยธรรมตัดสินคดี

การตัดสินของ เปาบุ้นจิ้น ในหลายๆ ตอนมักจะเป็นการตัดสินคดีความที่เกี่ยวข้องกับค่านิยมของสังคมในเวลานั้น หรือยึดอิงอยู่กับหลักการทางจริยธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่เลื่อนไหล และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

5.ตัดสินศาลเดียวจบ

การพิพากษาของท่านเปา ถือเป็นที่สุดแล้ว ผู้ต้องหาไม่มีสิทธิในการโต้แย้งคำพิพากษาด้วยการยื่นอุทธรณ์ หรือฎีกาได้เลย

6.ความยุติธรรม = การล้างแค้น

ปลายทางของกระบวนการยุติธรรมในโลกของท่านเปา คือการสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นโดยการแก้แค้น หากใครถูกตัดสินว่าผิด ผลที่ผู้นั้นจะได้รับคือการผลักให้ไปอยู่ในจุดที่เรียกว่า นรก ในทีวีซีรีย์ดังกล่าวไม่มีแนวคิดเรื่องการแก้ไขให้ผู้ที่กระทำความผิด ได้สำนึกผิด และปรับตัวเป็นคนดี หรือไม่มีกระบวนการใดที่จะเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใครทำผิดก็จะต้องทุกลงโทษให้สาสม  

7.เกินครึ่งของคดีทั้งหมด จบลงด้วยการประหาร

เปาบุ้นจิ้นในจำนวนที่ฉาย 41 คดี 236 ตอน คดีส่วนใหญ่จบที่โทษประหาร บางตอนเช่น ตอน องค์หญิงตกยาก ที่เปาบุ้นจิ้นไปตรวจราชการในนามฮ่องเต้ ได้สั่งประหารขุนนางในข้อหาทุจริตไป 18 ราย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ว่าแคว้น (เมื่อฮ่องเต้ทราบข่าวก็ทำได้แต่เพียงร้องเฮ้อ) ทั้งนี้พบว่ามีอย่างน้อย 17 ตอน ที่พบว่าไม่มีโทษประหาร

1) เปาบุ้นจิ้น ตอน ประหารมังกร ไม่ประหารเหวินซิ่นในคดีฆ่าหนิงเอ๋อ เพราะหนิงเอ๋อฟื้นขึ้นเสียก่อน
2) เปาบุ้นจิ้น ตอน สวรรค์ลงโทษ เปาบุ้นจิ้นไม่ทันประหารซ่งเทียนเป่า จำเลยก็ถูกฟ้าผ่าตายเสียก่อน
3) เปาบุ้นจิ้น ตอน ตระกูลใหญ่ใครกล้าแตะ ฮ่องเต้พระราชทานอภัยโทษ ไม่ให้ประหารเผยมู่เหวิน แต่ให้ลงโทษจำคุกเพื่อให้หลาบจำ
4) เปาบุ้นจิ้น ตอน นักฆ่าดอกไม้แดง หลิวกงกงดื่มยาพิษหนีความผิด
5) เปาบุ้นจิ้น ตอน ชิวเหนียงสะใภ้ยอดกตัญญู ตัดสินนายอำเภอ หวงจื้อสง ให้ยึดสมบัติเป็นของหลวง ครึ่งหนึ่งบริจาคคนจน ปลดให้เป็นสามัญชน เนรเทศทำงานชายแดน 10 ปี ลงโทษโบย 60 ไม้
6) เปาบุ้นจิ้น ตอน อภินิหารผ้ายันต์กินเลือด ไฉ่หยุนยอมตายเพื่อทำให้ผ้ายันต์หมดฤทธิ์
7) เปาบุ้นจิ้น ตอน ลูกเขยจำแลง ให้จำเลยไปใช้แรงงาน 3 เดือน
8)เปาบุ้นจิ้น ตอน พิณมรณะ เว้นโทษประหาร ให้ลงโทษจำเลยปลดเป็นสามัญชน กลับไปอยู่บ้านเกิด
9) เปาบุ้นจิ้น ตอน คดีฆ่าเสียบหัว จำคุก 10 ปี
10) เปาบุ้นจิ้น ตอน หมอดูเทวดา จำเลยจบชีวิตด้วยอาวุธที่เคยใช้สังหารพ่อตัวเอง
11) เปาบุ้นจิ้น ตอน เจ้าสาวจอมปลอม ฮ่องเต้พระราชทานอภัยโทษตระกูลฉีให้กลับตัวเสียใหม่
12) เปาบุ้นจิ้น ตอน ดอกเหมยปลิดชีพ จำเลยยืมปิ่นเงินจากเปาบุ้นจิ้นฆ่าตัวตายในศาล
13) เปาบุ้นจิ้น ตอน รักวิปโยค หยางกังยอมรับโทษแทนแม่ทัพซันป๋อ โดยทำการประหารตัวเองที่เครื่องประหารหัวเสือ ส่วนแม่ทัพซันป๋อฆ่าตัวตาย ก่อนจั่นเจาพามารับโทษที่ศาล
14) เปาบุ้นจิ้น ตอน อาญาสวรรค์ ฉายเหวินอี้ รอดพ้นโทษประหารเพราะราชครูผัง นำราชโองการห้ามฮ่องเต้ทำอันตรายลูกหลานสกุลฉาย แต่พอฉายเหวินอี้ออกไปนอกศาลก็ถูกฟ้าผ่าตาย
15) เปาบุ้นจิ้น ตอน ยอดหญิงแห่งแผ่นดิน เปาบุ้นจิ้นตัดสินประหารจางหลิวซื่อ จำเลยขอกลับบ้านไปนำป้ายพระราชทานมาคืนฮ่องเต้ เปาบุ้นจิ้นอนุญาต ระหว่างทางจางหลิวซื่อเอาหัวชนเสาตาย
16) เปาบุ้นจิ้น ตอน กฎแห่งกรรม ฉู่เทียนหมิงแบกพระพุทธรูปไปประดิษฐานผาดับจิต แต่เนื่องจากบาดเจ็บมาก่อนหน้านี้ เมื่อประดิษฐานพระพุทธรูปได้แล้วจึงเสียชีวิตเมื่อไปถึงผาดับจิต
17) เปาบุ้นจิ้น ตอน นางพญาเงือก เปาบุ้นจิ้นและพนักงานศาลใช้พลังลมปราณช่วยปลดปล่อยดวงวิญญาณเสี่ยวเหลียนที่ถูกกักขังในถ้ำน้ำแข็ง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net