Skip to main content
sharethis

อนุสรณ์ ธรรมใจ 14 มาตรการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นและสินบนข้ามชาติ ทั้งทางกฎหมาย ส่งเสริมเสรีภาพอย่างมีความรับผิดชอบ การศึกษา รวมทั้งความร่วมมือกับภาคประชาชนและองค์กรระหว่างประเทศ ชี้หากลดการคอร์รัปชั่นได้เพียงครึ่งจะมีงบฯ ได้ปีละ 2 แสนล้าน หนุนแนวคิดลดโทษ 'ผู้ให้สินบน' จูงใจเปิดข้อมูล

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ (กลาง) ที่มา แฟ้มภาพประชาไท

7 ก.พ. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า ผศ. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ ข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและสินบนข้ามชาติในระบบราชการและรัฐวิสาหกิจไทย ในงานสัมมนาวิชาการประจำปีครั้งที่ 10 ของคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต เรื่อง พุทธเศรษฐศาสตร์และเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร. 9

อนุสรณ์ ได้สรุปเนื้อหาบทวิเคราะห์โดยย่อและกล่าวว่า การคอร์รัปชั่นในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการติดสินบน เป็นปัญหาที่สั่งสมและหยั่งรากลึกในสังคมไทยมานาน โดยมีการคอร์รัปชั่นทุกภาคส่วนทั้งในระบบราชการและรัฐวิสาหกิจ การคอร์รัปชั่นในรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างเป็นการคอร์รัปชั่นขั้นพื้นฐานที่ไม่มีความสลับซับซ้อนอะไร ต่างจากการคอร์รัปชั่นบางประเภท เช่น การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ การใช้นโยบายเอื้อประโยชน์ การออกแบบนโยบายเพื่อคอร์รัปชั่นถอนทุนจากการซื้อเสียง หรือคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย การสร้างวุ่นวายขึ้นเพื่อหาเหตุในทำการรัฐประหารยึดอำนาจ หรือคอร์รัปชั่นอำนาจของประชาน เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียงบประมาณรั่วไหลไม่ต่ำกว่า 120,000 – 400,000 ล้านบาทต่อปี หากสามารถรักษางบประมาณและภาษีประชาชนได้ปีละ 200,000 ล้านบาท ลดการคอร์รัปชั่นได้ 50% ของมูลค่าคอร์รัปชั่นโดยเฉลี่ยจะทำให้ ประเทศไทยมีโรงพยาบาลดีๆ แบบโรงพยาบาลจุฬาฯ โรงพยาบาลศิริราชกระจายอยู่ในต่างจังหวัดทั่วประเทศ เราจะมีโรงเรียนดีๆ อย่างโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สวนกุหลาบ อัสสัมชัญ กระจายอยู่ทั่วประเทศ สามารถลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและการศึกษา ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลและการศึกษาที่มีคุณภาพได้ จังหวัดสำคัญตามภูมิภาคต่างๆจะมีระบบขนส่งมวลชนระบบรางแบบกรุงเทพฯและปริมณฑล เราอาจมีเงินมากพอที่จะสร้างสนามบินแบบสุวรรณภูมิได้อีกสามแห่งที่เชียงใหม่ ภูเก็ตและขอนแก่น มีระบบประปาและไฟฟ้าเข้าถึงทุกพื้นที่ของประเทศไทย หากสามารถรักษาเงินงบประมาณภาษีของประชาชนได้ปีละ 200,000 ล้านบาท ในกรณีที่คอร์รัปชั่นลดลง 50% เป็นเวลา 5 ปี จะได้เงินมากถึง 1 ล้านล้านบาท หรือ หากลดคอร์รัปชั่นได้ 100% จะได้เงินมากถึง 2 ล้านล้านบาท สิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมด โรงเรียนดีๆ โรงพยาบาลดีๆ กระจายทั่วประเทศ ประชาชนทุกพื้นที่มีน้ำประปามีไฟฟ้าใช้ มีสนามบินแบบสุวรรณภูมิอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ได้ภายใน 5 ปีโดยไม่ต้องกู้เงิน

อนุสรณ์ ได้เสนอนโยบาย มาตรการและแนวทางการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น การจัดซื้อจัดจ้างและสินบนข้ามชาติ ประกอบด้วย มาตรการแก้ปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและสินบนข้ามชาติ  ซึ่งประกอบด้วย มาตรการทางด้านเศรษฐศาสตร์และบริหารจัดการ มาตรการทางกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย มาตรการส่งเสริมเสรีภาพอย่างมีความรับผิดชอบ มาตรการการศึกษา รวมทั้งมาตรการการสร้างความร่วมมือกับภาคประชาชนและองค์กรระหว่างประเทศ ดังนี้

1. การพัฒนาระบบควบคุมภายในและระบบตรวจสอบให้ได้มาตรฐานสากลเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและสินบนข้ามชาติ การควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพและเข้มแข็งและการตรวจสอบที่มีประสิทธิผลเป็นปัจจัยที่สามารถชี้เป็นชี้ตายต่อความสำเร็จในความพยายามที่จะสร้างกลไกต่อด้านการทุจริตในระดับโลกได้และสินบนข้ามชาติได้ กฎหมายว่าด้วยการกระทำอันเป็นการทุจริตข้ามชาติของสหรัฐอเมริกา (The U.S.Foreign Corrupt Practices Act – FCPA) หากเกิดขึ้นในหลายๆประเทศรวมทั้งไทยจะเป็นกลไกต่อต้านการทุจริตที่ดีเยี่ยม

2. การปรับโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการขององค์กร ผู้ตรวจสอบภายในจำเป็นต้องมีความเป็นอิสระจากผู้บริหารระดับสูง และ การควบรวมระบบประเมินความเสี่ยงจากการติดสินบนและคอร์รัปชันเข้าสู่ระดับนโยบายของรัฐวิสาหกิจและระบบราชการ

3. ปฏิรูประบบค่าตอบแทนและระบบแรงจูงใจให้เกื้อหนุนต่อการลดปัญหาการติดสินบนในการจัดซื้อจัดจ้างและการทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น ควรมีการปรับเพิ่มเงินเดือนและระบบค่าตอบแทนให้กับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีระดับใกล้เคียงหรือสูงกว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชนขนาดใหญ่

4. พัฒนาให้เกิดความก้าวหน้าของประชาธิปไตยทางการเมือง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ โดยมีมาตรการหรือนโยบายในการลดอำนาจการผูกขาดทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ เปิดเสรีและเพิ่มการแข่งขันภายใต้กติกาที่เป็นธรรม ส่งเสริมค่านิยมและวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยที่ยึดถือเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียม หลักภราดรภาพ หลักนิติรัฐเคารพกฎหมาย ยึดหลักเหตุและผล ใช้หลักพุทธเศรษฐศาสตร์และแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต

5. ธนาคารแห่งประเทศไทยยกเลิกการใช้ธนบัตรเงินสดบางประเภทโดยต้องนำมาแลกคืนธนบัตรรุ่นใหม่ หรือยกเลิกธนบัตรบางประเภทไปเลย เนื่องจากผู้ติดสินบนและผู้รับสินบนมักจ่ายเป็นเงินสดเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบและมักเก็บธนบัตรเงินสดไว้จำนวนมากไม่สามารถนำเงินฟอกผ่านสถาบันการเงินได้ 

6. มาตรการยึดทรัพย์ผู้กระทำการทุจริตและทรัพย์มรดกที่ได้มาจากการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยผ่านกระบวนการยุติธรรมโดยไม่ใช้อำนาจพิเศษที่ขาดการตรวจสอบ เพราะอาจทำให้เกิดการทุจริตซ้ำซ้อนขึ้นและอาจมีการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม

7. ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และ สร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เมื่อรายได้โดยเฉลี่ยของประชาชนสูงขึ้น ย่อมทำให้การเข้าถึงการศึกษาและข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้นดีขึ้น ลดอำนาจผูกขาดทางการเมืองและเศรษฐกิจ มีผลทำให้การทุจริตคอร์รัปชั่นโดยรวมจะลดลงด้วย   

6. บังคับใช้กฎหมายฟอกเงินอย่างจริงจังและให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่อต้านการฟอกเงินระหว่างประเทศ

7. บังคับให้การใช้ “สัญญาคุณธรรม” อย่างจริงจัง เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของรัฐวิสาหกิจและราชการเกี่ยวกับงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้างและการให้สัมปทาน

8. แก้ไขกฎหมาย ปปช ให้การทำงานของสำนักงาน ปปช ปลอดจากอำนาจทางการเมืองและมีความเป็นอิสระในการทำงานอย่างแท้จริง

9. แก้ไขกฎหมายให้มีระบบในการคุ้มครองผู้เปิดเผยข้อมูลและปกป้องพยานอย่างแท้จริงและผู้ให้สินบนที่ให้ความร่วมมือในการเปิดเผยข้อเท็จจริงและให้ความร่วมมือกับหน่วยงานปราบปรามการทุจริตและทางการจะไม่ได้รับโทษทางอาญา จะทำให้ได้รับการเปิดเผยข้อมูลผู้รับสินบนและผู้ทุจริตได้มากขึ้น

10. ส่งเสริมการใช้เสรีภาพอย่างมีความรับผิดชอบของสื่อมวลชนและนักวิชาการ

11. ยกระดับการศึกษาโดยเฉลี่ยของประชาชนให้สูงขึ้น มีคุณภาพดีขึ้นและส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา

12. ส่งเสริมการศึกษาและสร้างจิตสำนึกคุณธรรม จริยธรรม สร้างค่านิยมแห่งความซื่อสัตย์สุจริตและเคารพนับถือคนดี มากกว่า ยกย่องคนรวยหรือคนมีอำนาจที่ทุจริต

13. พัฒนากลไกการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนและองค์กรระหว่างประเทศในการตรวจสอบโครงการภาครัฐ หรือ การจัดซื้อจัดจ้างอย่างจริงจัง รวมทั้งการมีระบบประชาพิจารณ์โครงการให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ

14. ปฏิบัติตามมาตรฐานความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อโดยรัฐขององค์การการค้าโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องความโปร่งใส การเผยแพร่ข้อมูลด้านกฎระเบียบและขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง และเข้าเป็นสมาชิกของความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อโดยรัฐ (The Government Procurement Agreement: GPA) ขององค์การการค้าโลก

หนุนแนวคิดลดโทษ 'ผู้ให้สินบน' จูงใจเปิดข้อมูล

อนุสรณ์ ได้กล่าวถึง ข้อเสนอของกระทรวงการคลังในการลดโทษให้กับ “ผู้ให้สินบน” กรณีรับสารภาพเพื่อสามารถมีข้อมูลเอาผิดกับ “ผู้รับสินบน” ได้ ว่าเห็นด้วยกับแนวความคิดดังกล่าวเพราะจะเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นกลไกป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นการสลายความสัมพันธ์อันมิชอบธรรมของเครือข่ายข้าราชการ นักธุรกิจและนักการเมือง ทั้งจากรัฐประหาร จากแต่งตั้งและเลือกตั้ง เพื่อไปให้เกิดการสมประโยชน์กันในการปิดบังข้อมูลหรือช่วยกันปกปิดความผิด และ หน่วยงานทางด้านการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นของไทยต้องใช้องค์ความรู้หลากหลายศาสตร์ในการแก้ปัญหา อย่าใช้เพียงมุมมองของนักกฎหมายและนักอาชญาวิทยาหรือการลงโทษเท่านั้นในการแก้ปัญหา ต้องใช้กลไกสร้างแรงจูงใจในการแก้ปัญหาด้วย ควรมีนักบัญชีนิติเวชและนักตรวจสอบภายใน ผู้เชี่ยวชาญการควบคุมภายใน นักบริหารความเสี่ยง นักเศรษฐศาสตร์ นักการเงิน โดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่ใน ปปช ต้องมีบุคลาการที่มีความรู้ที่หลากหลาย

“ปัญหาคอร์รัปชั่นและการติดสินบนบางส่วนเป็นปัญหาเกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจและสังคมที่มีปัญหาจึงต้องอาศัยการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง และประเทศจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ระยะยาวและการดำเนินการบนหลักการประชาธิปไตยซึ่งต้องเปิดกว้าง ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นที่ฝังรากลึกในสังคมไทยและได้สร้างปัญหาในเกือบทุกภาคส่วนของสังคมไทย การแก้ปัญหาควรยึดหลักนิติรัฐนิติธรรม ไม่ใช้อำนาจพิเศษที่ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลและอาจนำมาสู่การกลั่นแกล้งกันได้” อนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้าย 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net