แอมเนสตี้ ออกแถลงการณ์ระบุ รัฐไทยใช้กฎหมายปิดปากผู้วิจารณ์ ยกเคสไผ่ ดาวดิน เป็นตัวอย่าง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ออกรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนภาคประชาสังคมไทย พร้อมแถลงการณ์ชี้ที่ผ่านมา รัฐไทยใช้กฎหมายจัดการผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมยกตัวอย่างเคส ไผ่ ดาวดิน จะเป็นรอยด่างที่รัฐทหารไม่อาจลบเลื่อน

8 ก.พ. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เว็บไซต์แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ได้มีการเผยแพร่แถลงการณ์ชื่อว่า ประเทศไทย: ภาคประชาสังคมถูกโจมตีจากการที่ทางการเอาผิดทางอาญากับผู้แสดงความเห็นต่าง ซึ่งเป็นรายงานของแอสเนสตี้ ฉบับล่าสุดที่เกี่ยวกับประเทศไทย โดยในแถลงการณ์ระบุว่า ทางการไทยได้พยายามเอาผิดทางอาญาและลงโทษผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ โดยพุ่งเป้าโจมตีภาคประชาสังคมและนักกิจกรรมทางการเมืองซึ่งได้ใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ อีกทั้งที่ผ่านมา มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและบุคคลอื่นๆ หลายสิบคน ถูกสอบสวนและฟ้องคดีตามกฎหมายและคำสั่งที่ให้อำนาจรัฐอย่างกว้างขวางซึ่งรัฐบาลทหารของไทยใช้กฎหมายเหล่านี้มาปิดปากผู้ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์

แชมพา พาเทล (Champa Patel) ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า ทางการไทยทำสร้างบรรยากาศที่น่าหวาดกลัว ทำให้ประชาชนไม่สามารถแสดงความเห็นหรือชุมนุมอย่างสงบ เนื่องจากเสี่ยงที่จะถูกจับกุมหรือดำเนินคดีได้

“การจำกัดอย่างเข้มงวดต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนถึงท่าทีของรัฐบาลที่ไม่ยอมให้มีการแสดงความเห็นต่างใด ๆ เลย ในประเด็นที่มีความสำคัญระดับชาติ” แชมพา พาเทลกล่าว

ทั้งนี้ ในรายงาน “พวกเขาไม่สามารถทำให้เราเงียบได้:เมื่อนักกิจกรรม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และบุคคลอื่นในประเทศไทยโดนเอาผิดทางอาญา” (“They Cannot Keep Us Quiet”: The Criminalization of Activists, Human Rights Defenders and Others in Thailand”) ประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาที่กำลังเกิดขึ้นกับสมาชิกภาคประชาสังคมจำนวน 64 คนในประเทศไทยทั้งที่เป็นนักกิจกรรมทางการเมือง นักศึกษา นักเคลื่อนไหวระดับชุมชน และนักปกป้องสิ่งแวดล้อม รวมถึงบุคคลอื่นๆ ที่เป็นนักวิจัย นักกฎหมาย ผู้สื่อข่าว และนักวิชาการ

ในรายงานระบุว่า บุคคลเหล่านี้ถูกสอบสวนและดำเนินคดีเพียงเพราะการใช้สิทธิของตน  โดยไม่มีใครที่ใช้หรือสนับสนุนความรุนแรง บางคนตกเป็นเป้าหมายการโจมตีเพียงเพราะจัดทำรายงานเกี่ยวกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย แสดงความกังวลเกี่ยวกับการกระทำที่ทุจริต คนอื่นๆ ต้องถูกดำเนินคดีเพราะการเรียกร้องให้มีเสรีภาพทางวิชาการมากขึ้น หรือแสดงความต้องการแสดงความคิดเห็นต่อการทำงานของรัฐบาล หลายคนที่ถูกสอบสวนและดำเนินคดี เพียงเพราะทำงานของตนในฐานะนักกฎหมาย ผู้สื่อข่าว และนักรณรงค์เพื่อชุมชนที่ถูกเอาเปรียบ ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีต้องเคารพและคุ้มครองสิทธิการแสดงออกของประชาชนตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

ทางการไทยได้ใช้กฎหมายและคำสั่งหลายฉบับเพื่อสอบสวน จับกุม และดำเนินคดีต่อคนทำงานภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายอาญาว่าด้วยข้อหาขบถล้มล้างการปกครอง ความผิดฐานหมิ่นประมาท และความผิดเกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์ รวมทั้งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่มุ่งจำกัดสิทธิและเสรีภาพที่จะแสดงออกอย่างสงบ

ทางการไทยยังได้ดำเนินคดีอาญาโดยใช้อำนาจตามกฎหมายและคำสั่งใหม่ๆ ที่ประกาศใช้โดยรัฐบาลทหาร นับแต่การยึดอำนาจโดยการทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 รวมทั้งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 ซึ่งเป็นคำสั่งที่ประกาศใช้โดยนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2558 ซึ่งห้าม “การชุมนุมทางการเมือง” ของบุคคลห้าคนหรือกว่านั้นทางการมักใช้อำนาจตามคำสั่งฉบับนี้เพื่อควบคุมตัวและตั้งข้อหาต่อผู้ประท้วงอย่างสงบ

นักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจำนวนมากต้องเข้าสู่กระบวนการไต่สวนที่ยาวนานในศาลทหาร ซึ่งเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม หลายคนต้องเข้ารับการไต่สวนเนื่องจากถูกดำเนินคดีอาญาหลายข้อหา และหากศาลตัดสินว่ามีความผิด อาจได้รับโทษจำคุกรวมกันหลายสิบปี

ยกตัวอย่างเช่นจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” นักศึกษาที่เป็นนักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกำลังถูกดำเนินคดีอาญาถึงห้าคดี โดยเป็นผลมาจากการเข้าร่วมการประท้วงในที่สาธารณะ การแจกใบปลิวเชิญชวนให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และการโพสต์เนื้อหาของบทความที่ถูกกล่าวหาว่าวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ของไทยลงในเฟซบุ๊ก  ขณะนี้เขายังคงถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษจังหวัดขอนแก่น หลังจากศาลเพิกถอนประกัน หากศาลตัดสินว่าเขามีความผิดและมีคำสั่งลงโทษ เขาอาจได้รับโทษจำคุกรวมกันทุกคดีไม่เกิน 40 ปี

 “ทางการไทยได้ทำให้กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือเพื่อบังคับควบคุม เพื่อปิดปากนักสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางการเมือง หากกระบวนการอาญาเหล่านี้นำไปสู่การตัดสินว่ามีความผิดจริง สิ่งที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นรอยด่างของรัฐบาลทหารที่ไม่อาจลบเลือนได้” แชมพา พาเทลกล่าว

ขณะนี้รัฐบาลทหารไทยได้พยายามปราบปรามภาคประชาสังคมและการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ ทำให้เกิดความกังวลต่อแผนที่จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2561

ภาคประชาสังคมที่ถูกจำกัดสิทธิโดยรัฐบาลทหาร รวมทั้งสิทธิมนุษยชนนานัปการ อาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงกรณีที่ศาลตัดสินว่าคนทำงานภาคประชาสังคมจำนวนมากมีความผิดจริง โดยจำเลยในคดีเหล่านี้มักเป็นแกนนำในประเด็นต่างๆ และพวกเขาต่างมีบทบาทสำคัญในการกำหนดอนาคตของประเทศไทย 

ทางการไทยจึงต้องยกเลิกข้อกล่าวหาเหล่านี้โดยทันที และยุติการดำเนินคดีอาญาต่อบุคคลซึ่งมีข้อมูลในรายงานฉบับนี้ รวมทั้งบุคคลอื่นๆ ที่กำลังถูกสอบสวนหรือดำเนินคดีเพียงเพราะการใช้สิทธิของตนอย่างสงบ

อย่างไรก็ดีในเดือนมกราคมที่ผ่านมา อัยการได้สร้างบรรทัดฐานในเชิงบวก โดยการสั่งไม่ดำเนินคดีต่อนริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ หรือ “เมย์” ที่มีข้อมูลอยู่ในรายงานฉบับนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ทหารได้แจ้งความให้ดำเนินคดีอาญากับเธอเพียงเพราะเธอได้รณรงค์ต่อสาธารณะเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับน้าชายของตน ซึ่งเป็นพลทหารที่ถูกทรมานจนเสียชีวิตระหว่างการฝึกซ้อมทางทหาร

การจำกัดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลทหารซึ่งเดิมถูกอ้างว่าเป็นมาตรการชั่วคราว ยังไม่ถูกยกเลิกไปแม้จะผ่านไปกว่าสองปีครึ่งหลังรัฐประหาร และอาจกลายเป็นมาตรการถาวรตามรัฐธรรมนูญใหม่ของไทย ซึ่งให้ความชอบธรรมและให้อำนาจทางกฎหมายอย่างกว้างขวางกับมาตรการเหล่านี้

ที่สำคัญก็คือ ทางการไทยไม่เคยระบุเลยว่าจะมีการยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งห้ามการชุมนุมสาธารณะเมื่อใด ซึ่งทำให้เกิดข้อกังวลต่อพรรคการเมืองและกลุ่มพลเมืองที่เตรียมตัวเพื่อการรณรงค์หาเสียงครั้งใหม่ รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนกับการปฏิรูปหรือยกเลิกกฎหมายและคำสั่งเหล่านี้ ซึ่งไม่เคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งกฎหมายและคำสั่งที่กล่าวถึงในรายงานนี้

 “นับตั้งแต่เข้าสู่อำนาจ รัฐบาลทหารไทยได้ทำลายมาตรการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน และปิดกั้นการแสดงออกอย่างเสรีในประเทศ หากยังไม่มีการปฏิรูปหรือยกเลิกกฎหมายและคำสั่งที่ใช้อำนาจปราบปรามเช่นนี้ การลิดรอนสิทธิมนุษยชนก็จะยิ่งหยั่งรากลึกมากขึ้น” แชมพา พาเทลกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท