ไอลอว์ส่งจม.เปิดผนึก ปม 'ไผ่ ดาวดิน' ขอศาลยุติธรรมผดุงไว้ซึ่งหลักกฎหมาย-ความยุติธรรม

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ส่งจดหมายเปิดผนึก ถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ปม คดี 112 และการไม่ให้ประกันตัว 'ไผ่ ดาวดิน' ร้องขอศาลยุติธรรมผดุงไว้ซึ่งหลักกฎหมาย-ความยุติธรรม

ไผ่ ดาวดิน (แฟ้มภาพ ประชาไท)
 
8 ก.พ. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ได้ออกจดหมายเปิดผนึก ถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เรื่อง ขอให้ศาลยุติธรรมผดุงไว้ซึ่งหลักกฎหมายและความยุติธรรม โดยระบุว่า ตามที่การดำเนินคดี จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีกระบวนการที่ไม่ได้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหลายประการ อันกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของจำเลย โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ในฐานะผู้ติดตามสังเกตการณ์คดีเสรีภาพและคดีการเมืองมานาน จึงส่งจดหมายเรียนอธิบดีผู้พิพพากษาศาลอาญา ขอให้ศาลยุติธรรมผดุงไว้ซึ่งหลักกฎหมายและความยุติธรรม
 
โดยเนื้อความในจดหมายมีดังต่อไปนี้
 
 
7 กุมภาพันธ์ 2560 
 
เรียน อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา
เรื่อง ขอให้ศาลยุติธรรมผดุงไว้ซึ่งหลักกฎหมายและความยุติธรรม
 
ตามที่นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ตกเป็นผู้ต้องหาด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในคดีหมายเลข ฝ. 2322/2559 และปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น ด้วยอำนาจการฝากขังระหว่างการสอบสวนของศาลจังหวัดขอนแก่น โดยปรากฏว่าในชั้นการฝากขัง มีกระบวนการหลายอย่างเกิดขึ้นในคดีนี้ ตัวอย่างเช่น 
 
1. เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ศาลจังหวัดสั่งเพิกถอนการประกันตัวของผู้ต้องหา โดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาแสดงออกในสื่อสังคมออนไลน์โดยการโพสต์รูปภาพหรือส่งข้อความเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ขณะที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 กำหนดว่า ศาลจะสั่งไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งต่อไปนี้เท่านั้น (1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี (2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน (3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น (4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ และ (5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล
 
2. เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ในการพิจารณาฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 3 ศาลจังหวัดขอนแก่นสั่งอนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวน โดยไม่ได้นำตัวผู้ต้องหามาศาลเพื่อสอบถามและเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาคัดค้านการฝากขัง ขณะที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 วรรคสาม กำหนดไว้ว่า เมื่อพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหา ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ โดยไม่ได้มีกำหนดข้อยกเว้นเอาไว้
 
3. ในการไต่สวนเพื่อสั่งเพิกถอนการประกันตัวเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 การไต่สวนการขอฝากขังผู้ต้องหา ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2560  การไต่สวนการขอฝากขังผู้ต้องหา ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 และการไต่สวนการขอฝากขังผู้ต้องหา ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 ศาลจังหวัดขอนแก่นสั่งให้ไต่สวนเป็นการลับ ทั้งที่เนื้อหาการไต่สวนเป็นเพียงเรื่องเหตุผลและความจำเป็นของพนักงานสอบสวนที่ต้องการให้คุมขังผู้ต้องหาไว้เท่านั้น ขณะที่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 177 กำหนดให้ศาลสั่งพิจารณาคดีลับได้ เฉพาะเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศมิให้ล่วงรู้ถึงประชาชน 
 
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ซึ่งเป็นองค์กรที่ติดตามบันทึกข้อมูลการดำเนินคดีต่อประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการดำเนินคดีทางการเมืองมากว่า 6 ปี เห็นว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันรัฐบาล ที่นำโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จับกุมและดำเนินคดีประชาชนที่แสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสงบปราศจากอาวุธเป็นจำนวนมาก โดยอ้างอิงอำนาจตามกฎหมายเป็นเครื่องมือ ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกเป็นศัตรูกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและสูญเสียศรัทธาในระบบกฎหมาย สร้างความขัดแย้งแตกแยกในสังคมให้ร้าวลึกหนักขึ้นไปอีก 
 
ดังนั้น หากรัฐบาลใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อปิดกั้นการแสดงออกโดยสุจริตของประชาชน ศาลจึงเป็นสถาบันแห่งเดียวที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารเพื่อให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนได้ ซึ่งการทำหน้าที่ของสถาบันศาลนั้นจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อ ตลอดกระบวนการพิจารณาคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการที่ส่งผลร้ายต่อจำเลย ดำเนินไปโดยถูกต้องตามหลักกฎหมายทุกประการ และตรวจสอบการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อผดุงไว้ซึ่งหลักกฎหมายและปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากสถาบันศาลยุติธรรมทำหน้าที่ได้ดังเช่นนี้แล้ว ก็ย่อมเป็นสถาบันอันทรงคุณค่าที่ช่วยลดความขัดแย้งในสังคม และนำพาความสงบสุขปรองดองคืนสู่สังคมไทยได้ 
 
 
ขอแสดงความนับถือ
 
ลงชื่อ จอน อึ๊งภากรณ์ 
ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท