Skip to main content
sharethis

ผอ.สมาพันธ์สื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประณาม กสทช. “ใช้อำนาจตามอำเภอใจ” ใช้เงื่อนไข "ความรอบด้าน" เป็นเครื่องมือปิดกั้นเสรีภาพสื่อ ด้านม.ล.ณัฐกรณ์ หรือคุณปลื้มยันรายการมาตรฐานสากล รับ กสทช. ลงดาบมีผลกดดัน แหล่งข่าวระบุ ก่อนหน้านี้โดนเรียกคุยหลายรอบจากหลายส่วน เคยยุติดำเนินรายการทั้งเป็นข่าวไม่เป็นข่าว

9 ก.พ.2560 เว็บไซต์ Vocie TV รายงานว่า  นายเอ็ดการ์โด เลกาสปี ผู้อำนวยการสมาพันธ์ผู้สื่อข่าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ซีป้า (The Southeast Asian Press Alliance (SEAPA)) ประณามการตัดสินใจของกสทช. เข้าข่ายใช้อำนาจตามอำเภอใจ หลังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง (กสท.) มีมติให้ระงับการออกอากาศรายการ The Daily Dose เป็นระยะเวลา 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่ง เนื่องจากสำนักงาน กสทช. ตรวจสอบพบว่า รายการ The Daily Dose ออกอากาศช่อง VOICE TV เมื่อวันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2560 เรื่อง “ขัดแย้งเพราะตุลาการ (ไม่) ภิวัฒน์” มีเนื้อหาเป็นการวิเคราะห์ที่ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม และนำข้อเท็จจริงมาเสนอไม่ครบถ้วน ขัดต่อประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557

“การสั่งงดรายการแสดงให้เห็นว่า แนวคิดของรัฐบาลทหารเกี่ยวกับการ ‘นำเสนอความเห็นอย่างรอบด้าน’ นั้นเป็นเงื่อนไขที่ใช้ปิดกั้นเสรีภาพในประเทศไทย” ผู้อำนวยการสมาพันธ์ผู้สื่อข่าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวและแสดงความเห็นว่า รายการ “เดลีโดส” นั้นได้ทำหน้าที่ที่ถูกต้องตามบทบาทของสื่อมวลชน ในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับข่าวกระแส

“ไม่ว่าจะเป็นรายการเชิงทัศนะความเห็น หรือการรายงานข่าว ล้วนมีบทบาทสำคัญ ในการสร้างความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคม แม้ว่าจะมีข้อเรียกร้องเรื่องความสมดุลและเป็นธรรม แต่เจตนารมณ์ของผู้รายงานก็คือการช่วยตั้งประเด็นให้สาธารณะได้แสดงทัศนะบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง”

นายเลกาสปียังกล่าวต่อไปด้วยว่า การเรียกร้องให้สื่อทำหน้าที่ “นำเสนอความเห็นจากทุกฝ่าย” นั้นเป็นทิศทางใหม่ของรัฐบาลไทย ซึ่งข้อเรียกร้องแบบนี้ก็ปรากฏอยู่ในนโยบาย รวมถึงร่าง พ.ร.บ. ที่กำลังเป็นปัญหา คือ พระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งจะเปิดทางให้มีการตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชน มากำกับดูแลการออกใบอนุญาตสื่อด้วย

ม.ล. ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้ดำเนินรายการเดลี โดส ให้สัมภาษณ์กับซีป้าว่า  เขายอมรับว่ารายการของเขาอาจจะไม่ได้เชิญผู้ร่วมรายการที่จะสะท้อนความเห็นได้รอบด้านมากพอ เนื่องจากตั้งใจจะให้รายการเดลี โดสเป็นรายการที่นำเสนอความเห็นที่แตกต่างบนพื้นฐานของประชาธิปไตย ดังนั้นรายการจึงอาจจะไม่ได้เปิดพื้นที่ให้กับทัศนะที่ “รอบด้านในทางที่จะทำให้คนดูรู้สึกว่าการรัฐประหารนั้นเป็นสิ่งที่ดี ส่วนการถูกสั่งงดรายการเป็นเวลา 7 วันนั้น เขาเห็นว่าเป็นการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนหรือเกินเลยไปมากกับสิ่งที่ถือว่าเป็นความผิด   จริงๆ แล้วมันไม่อาจนับได้ว่าเป็นความผิด เขาเพียงแต่จัดรายการที่สะท้อนความเห็น ซึ่งเชื่อว่าได้มาตรฐานดังเช่นรายการแบบเดียวกันในระดับสากล

 

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานเพิ่มเติมว่า ม.ล.ณัฏฐกรณ์ระบุว่า หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 สถานีวอยซ์ทีวีปิดไป 1 เดือน หลังจากนั้นมีการทำ MOU กับผู้มีอำนาจรัฐที่ให้กรอบการนำเสนอเนื้อหาที่ “ไม่สร้างความแตกแยก”  จนกระทั่งปี 2558 รู้สึกว่าบรรยากาศทางการเมืองน่าจะดีขึ้น เขาจึงกลับมาวิเคราะห์ข่าวในสไตล์เดิม ทำให้ช่วงนั้นถูกเชิญพบกับเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงเพื่อดื่มกาแฟอยู่ 3 ครั้งภายในครึ่งปีแรก โดยเขามองว่าเป็นการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันและ “ขอความร่วมมือ” ซึ่งไม่ได้กระทบต่อการประกอบอาชีพ แต่กระทบเนื้อหาที่เขานำเสนอให้ต้องเบาเสียงวิพากษ์วิจารณ์ลง ขณะที่สถานีอื่นๆ ก็ต้องเบาลงเช่นกัน กระทั่งกลางปี 2558 คสช.ปรับเปลี่ยนวิธีในการปฏิบัติการด้านสื่อ โดยไม่ใช่วิธีปรับทัศคติด้วยการเชิญดื่มกาแฟเช่นเดิม หากแต่ให้หน่วยงานอื่นเป็น “ผู้ดูแล” โดย กสทช.เป็นผู้กำกับดูแลโทรทัศน์และวิทยุ และตำรวจดูแลหนังสือพิมพ์ ซึ่งเมื่อ กสทช.กำกับดูแลนั้นค่อนข้างมีผลชัดเจนเพราะมีอำนาจในการลงโทษตามกฎหมายด้วย

สำหรับเนื้อหาที่เป็นเหตุให้เขาโดนเพ่งเล็งนั้น ม.ล.ณัฏฐกรณ์สรุปว่า มักจะเป็นประเด็นที่เขาอธิบายถึง “การตาสว่าง” โดยการตาสว่างในที่นี้หมายถึงการเชื่อมโยงให้ผู้ชมเห็นภาพว่า วิกฤตทางการเมืองที่ผ่านมาในรอบทศวรรษนั้นเป็น “วิกฤตที่ถูกสร้างขึ้น” เพื่อกำจัดนักการเมือง และเมื่อการรัฐประหารในปี 2549 ทำได้ไม่เต็มที่ทำให้ต้องมีการทำรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันในเป้าหมายและโดยผู้เล่นหลักกลุ่มเดิม เรียกว่าเป็นการกางแผนผังการล้มประชาธิปไตยให้เห็น

“ผมรู้อยู่แล้วว่าจะโดน และไม่ต้องการโวยวายอะไร ผมต้องการทำงานต่อ ต้องการหารายได้เลี้ยงครอบครัว ผมไม่ได้หัวชนฝาและประเมินว่าสถานการณ์เช่นนี้จะเป็นไปอีกยาวนาน” ม.ล.ณัฐกรณ์กล่าว

เขายังตอบคำถามอีกว่า การโดนแบนในครั้งนี้ย่อมมีผลต่อเนื้อหาที่จะนำเสนอต่อไปแน่นอน 

“ตอนนี้ผมก็นำเสนอแต่ทรัมป์อยู่คนเดียว เสนอในทุกรายการเลย ก็เป็นอย่างนี้ไปก่อน แต่มันก็มีความเหมือนบางอย่างกับผู้นำของเรา” ม.ล.ณัฏฐกรณ์กล่าว

แหล่งข่าวในสถานีคนหนึ่งให้ข้อมูลว่า การกดดันสถานีที่มีรายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองเพื่อให้ลดเพดานการนำเสนอนั้นมีทั้งแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทาง โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงและไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงหากแต่มีอำนาจจริงในการควบคุม รายการ Daily Dose นั้นเคยถูกกดดันและมีการยุติการออกอากาศ 3 วันโดยไม่เป็นข่าว ขณะที่รายการ Wake UP Thailand นั้น กสทช.มีการเรียกพบเพื่อพิจารณาเนื้อหาในรายการอย่างน้อย 7 ครั้ง มี 3 ครั้งที่เกี่ยวพันกับม.ล.ณัฐกรณ์  โดยครั้งหนึ่ง ม.ล.ณัฐกรณ์ตัดสินใจยุติการดำเนินรายการเอง เป็นเวลา 2 สัปดาห์โดยไม่เป็นข่าว ขณะที่อีกครั้งหนึ่ง กสทช.มีคำสั่งอย่างเป็นทางการว่าการนำเสนอมีปัญหาและทำให้ ม.ล.ณัฐกรณ์ กับ อธึกกิต แสวงสุข ผู้สื่อข่าวอาวุโสและพิธีกรอีกคนหนึ่งต้องยุติการดำเนินรายการเป็นเวลา 2 สัปดาห์ในช่วงปี 2559 ตามที่เป็นข่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net