TCIJ: สำรวจ 'วาเลนไทน์' ปีไหน ๆ 'ถุงยางผู้หญิง' ก็ไม่อินเทรนด์

รายงานพิเศษจาก TCIJ พบ ‘ถุงยางอนามัย’ อุปกรณ์สำคัญช่วง ‘วาเลนไทน์’ นอกเหนือจากค่านิยมอนุรักษ์นิยมในหลายพื้นที่ของโลก ที่มองผู้หญิงพก ‘ถุงยางอนามัย’ ในแง่ลบแล้ว ยังพบว่าผู้หญิงที่สลัดภาพนี้ไปได้ส่วนใหญ่กลับพกถุงยางสำหรับผู้ชาย ทั้งนี้เพราะในตลาดโลกมี ‘ถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิง’ แค่ 7.5% ร้านสะดวกซื้อแทบไม่มีวางขาย

<--break- />

ในช่วง ‘วาเลนไทน์’ ของทุกปี มักมีการหยิบยกเรื่อง ‘ถุงยางอนามัย’ มาเป็นประเด็นสาธารณะ ทั้งเรื่องประโยชน์จากการใช้ ความนิยม และข้อมูลทางการตลาดต่าง ๆ ซึ่งในหลายพื้นที่ของโลกที่ยังมี ‘วัฒนธรรมอนุรักษ์นิยม’ แค่พูดเรื่องถุงยางอนามัยก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่อง‘ต้องห้าม’ และแม้ในอีกหลายพื้นที่ของโลกจะมีการพูดถึงอยู่บ้าง ก็พบว่าส่วนใหญ่แล้วเรามักจะสื่อความถึงแค่ ‘ถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชาย’ แต่ยังละเลยในการพูดถึง ‘ถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิง’

การใช้ถุงยางอนามัยทั่วโลกเพิ่มขึ้น

การใช้ถุงยางอนามัยที่เพิ่มขึ้น มักจะสอดคล้องกับความตระหนักในด้านการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการวางแผนครอบครัว โดยส่วนวิจัยของ rubberasia.com ได้คาดการณ์ว่าตลาดถุงยางอนามัยทั่วโลกจะมียอดขายสูงถึง 48,500 ล้านชิ้น หรือคิดเป็นมูลค่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2565 และจากการวิจัยของ TechNavio Insights [อ้างใน 'ข้อมูลสรุปของการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่และหุ้นสามัญเดิมต่อประชาชน' บริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน)] คาดการณ์ว่าในช่วงระหว่างปี 2557 – 2562 ตลาดถุงยางอนามัยของโลกจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภูมิภาคที่เติบโตมากที่สุดคือ 1. กลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 9.8 อันดับ 2. กลุ่มประเทศในเขตเศรษฐกิจยูโรเมดิเตอร์เรเนียน (EMEA) อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 8.1 และอันดับ 3. กลุ่มประเทศในทวีปอเมริกา อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 7.9

นอกจากนี้การสนับสนุนและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้ถุงยางอนามัยจากหน่วยงานท้องถิ่นและระดับโลก ก็ได้กระตุ้นให้คนใช้ถุงยางอนามัยเพิ่มขึ้นเช่น UNAIDS ส่งเสริมและสนับสนุนในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศทั้งในแอฟริกาและอเมริกาใต้ เป็นต้น ส่วนอินเดียและจีนก็มีการใช้ถุงยางอนามัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย

ตลาดถุงยางอนามัยไทย

ถุงยางอนามัยถือเป็นอุตสาหกรรมผลิตจากน้ำยางที่สำคัญอุตสาหกรรมหนึ่งในประเทศไทย ข้อมูลจากเครือข่ายพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่าไทยเป็นผู้ส่งออกถุงยางอนามัยมากที่สุดในโลกมาตั้งแต่ปี 2547 โดยในปี 2556 ไทยมีมูลค่าการส่งออกถึง 139.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีส่วนแบ่งตลาดโลกร้อยละ 23.81 อันดับที่สอง คือ มาเลเซีย ส่งออกถุงยางอนามัยในปี 2556 มูลค่า 112.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีส่วนแบ่งตลาดโลกร้อยละ 19.14 โดยตลาดนำเข้าถุงยางอนามัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้แก่ จีนและสหรัฐอเมริกา

ข้อมูลจาก 'ข้อมูลสรุปของการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่และหุ้นสามัญเดิมต่อประชาชน บริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน)' พบว่าในช่วงปี 2554 ถึงปี 2558 มูลค่าการจำหน่ายถุงยางอนามัยในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 1 พันล้านบาทในปี 2554 เป็น 1.3 พันล้านบาทในปี 2558 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 7.1 โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อปริมาณความต้องการถุงยางอนามัยของประเทศไทย คือ การเพิ่มขึ้นของจานวนประชากรในประเทศไทย, จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส HIV และการวางแผนครอบครัว ในด้านส่วนแบ่งการตลาด ถุงอนามัยในประเทศไทย ประกอบไปด้วย 4 เครื่องหมายการค้าหลัก ได้แก่ durex, One touch, Okamoto และ PLAYBOY ซึ่งทั้ง 4 รายนี้ครองส่วนแบ่งทางการตลาดถึงร้อยละ 93.9 เลยทีเดียว (อ่านเพิ่มเติมใน ‘จับตา: ส่วนแบ่งทางการตลาดของถุงยางอนามัยรายใหญ่ในไทยปี 2558’)

ถุงยางอนามัยผู้หญิง ผลิตน้อย-หาซื้อยาก-วัฒนธรรมไม่เอื้อ

ถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิง ที่มาภาพ: [1] และ [2]

ถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิง (Female Condom หรือ FC) มีการใช้ครั้งแรกในวงแคบ ๆ ช่วงทศวรรษที่ 1980’s จากนั้นได้มีการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1989 ต่อมาในปี 1992 ถุงยางอนามัยผู้หญิงรุ่นแรก FC1 ก็ได้ออกวางจำหน่ายในวงกว้างขึ้น และในปี 1993 ได้มีการพัฒนาเป็นรุ่น FC2 และเริ่มมีการวางจำหน่ายทั่วโลก

แต่กระนั้น ปัจจุบันพบว่าการจำหน่ายและการใช้ถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิงนั้นยังมีน้อยมาก โดยข้อมูลจาก TechNavio Insights, Global Condom Market 2015-2019 ระบุว่าถุงยางอนามัยในตลาดส่วนใหญ่เป็นถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชาย โดยคิดเป็นประมาณร้อยละ 92.5 ของถุงยางอนามัยทั้งหมด เหลือของผู้หญิงเพียงร้อยละ 7.5 เนื่องจากถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชายโดยทั่วไปมีราคาถูกกว่า ในด้านการใช้งานก็พบว่าสัดส่วนยิ่งน้อยกว่าการผลิต ทั้งนี้เป็นเพราะมุมมองที่ว่าการใช้งานถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิงเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก รวมทั้งค่านิยมเรื่องเพศในวัฒนธรรมต่าง ๆ หลายพื้นที่ของโลกที่ไม่เอื้อให้ผู้หญิงจัดหาหรือมีถุงยางอนามัยสำหรับตนเองได้สะดวก แม้แต่ประเทศที่มีค่านิยมเรื่องเพศเสรีมากกว่าที่อื่น ๆ ในโลก อย่างสหรัฐรัฐอเมริกา ก็พบว่ามีการใช้ถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชายถึงร้อยละ 98 ส่วนการใช้ถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิงมีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น

ตลาดถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิง ลูกค้าหลักเป็นหน่วยงานรัฐหรือองค์กรระหว่างประเทศที่นำไปแจกจ่ายยังประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นการแจกจ่ายในเชิงการกุศลหรือโครงการด้านสุขภาพของรัฐ มากกว่าการค้าขายเชิงพานิชย์ ซึ่งถ้าหากยังไม่แพร่กระจายตามร้านค้าสะดวกซื้อต่าง ๆ เช่นเดียวกับถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชายแล้ว ก็ดูเหมือนเป็นเรื่องยากที่ถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิงจะได้รับความนิยม รวมทั้งปัจจัยเรื่อง 'ความรู้สึก' ที่ไม่สะดวกสบายขณะมีเพศสัมพันธ์ เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ ที่ทำให้ถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิงยังไม่ได้รับความนิยมเท่ากับถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชาย

สำหรับประเทศไทย เคยมีการพูดถึงประเด็นนี้เมื่อปี 2555 ในเวที ‘ระดมสมองเรื่องทิศทางของนโยบายการให้บริการด้านถุงยางอนามัยผู้หญิงในประเทศไทย’ ซึ่งเป็นความร่วมมือของกองทุนสหประชาชาติ ร่วมกับสำนักงานศึกษานโยบายสาธารณสุข สวัสดิการและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายสุขภาพและโอกาส มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) และแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จากเวทีนี้ ได้ข้อมูลที่สำคัญว่าความนิยมในการใช้ถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิงยังเทียบกับความนิยมใช้ถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชายไม่ได้ นั่นเป็นเพราะผู้ใช้รู้สึกว่าไม่คุ้นเคย แต่กระนั้นถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิงก็เหมือนกับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ลองใช้ครั้งแรกแล้วอาจจะไม่ชอบ (เพราะต้องมีการสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศ) ทำให้ผู้หญิงเกิดความกังวล อย่างไรก็ตามทางการแพทย์เชื่อว่าต้องทดลองใช้อย่างน้อย 3 ครั้งถึงจะเกิดความคุ้นชิน

นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยกลุ่มเป้าหมาย 6 กลุ่ม คือ 1.คู่สามี-ภรรยา 2.ผู้อยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อ HIV 3.สาวประเภทสอง 4.ชายรักชาย 5.ผู้ขายบริการทางเพศ และ 6.ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ จำนวน 309 คน โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก พบว่า กลุ่ม เป้าหมายเห็นด้วยกับการมีถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิงไว้ใช้ แต่ต้องมีการประชาสัมพันธ์อย่างแพร่หลายเพื่อสร้างทัศนคติที่ดีแก่ประชาชน เพื่อให้ผู้หญิงมีทางเลือกในการป้องกันตนเองมากขึ้น ซึ่งหากภาครัฐมีการผลักดันอย่างจริงจัง อย่างน้อยที่สุดฝ่ายหญิงก็มีทางเลือกเพิ่มเติมในการร่วมรักอย่างปลอดภัย และในเวทีครั้งนั้น ยังได้มีการเผยแพร่ผลสำรวจในเรื่องของความนิยมใช้ถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิงในกลุ่มพนักงานขายบริการ พบว่าจุดแข็งของถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิงจะช่วย 'เพิ่มอำนาจในการต่อรอง' เพราะผู้หญิงเป็นคนใส่เอง ซึ่งไม่ได้ลดความสุขในการร่วมเพศแต่อย่างใด ที่สำคัญคือช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ขณะที่ห่วงของถุงยางด้านนอกยังป้องกันการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงได้อีกด้วย

กล่าวได้ว่า ประเด็นสำคัญที่สุดของการใช้ถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิงก็คือ ‘การที่ผู้หญิงจะสามารถกำหนดการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดปลอดภัยด้วยตัวเธอเอง’

อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง:
จับตา: ส่วนแบ่งทางการตลาดของถุงยางอนามัยรายใหญ่ในไทยปี 2558

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท