‘ปกป้อง ศรีสนิท’ วิเคราะห์คำตัดสินคดีอุ้มหายทนายสมชาย เมื่อญาติไม่ใช่ผู้เสียหายกับช่องโหว่ที่ตามมา

วิเคราะห์คำวินิจฉัยศาลฎีกาคดีทนายสมชาย เมื่อตัดสินให้ภรรยาและลูกไม่ใช่ผู้เสียหาย เป็นโจทก์ร่วมไม่ได้ ผู้เสียหายคือทนายสมชายต้องฟ้องเอง นักวิชาการระบุคำวินิจฉัยทำให้เกิดช่องโหว่คือไม่มีการฟ้องดำเนินคดีเพราะไม่มีตัวผู้เสียหายและอาจทำให้ผู้กระทำผิดเลือกใช้วิธีอุ้มหายเพื่อไม่ต้องถูกดำเนินคดี เร่งดันกฎหมายป้องกันอุ้มหายหักล้างคำวินิจฉัย แต่หวั่น สนช. แก้สาระสำคัญ

คำพิพากษาศาลฎีกา หมายเลข 10915/2558 ซึ่งเป็นคำพิพากษาในคดีสมชาย นีละไพจิตร ทนายความนักสิทธิมนุษยชนที่ถูกอุ้มหายไปเมื่อปี 2547 จะผ่านไปปีกว่าแล้ว ทว่า ผลของคำพิพากษานั้นยังส่งผลที่ทำให้นักกฎหมายเห็นว่าเกิดช่องว่างขนาดใหญ่ต่อกรณีอุ้มหาย เนื่องจากส่วนหนึ่งของคำพิพากษามีคำวินิจฉัยประเด็นความเป็นโจทก์ร่วมที่น่าสนใจและส่งผลต่อกรณีอุ้มหายทุกกรณีหลังจากนี้ หากยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอุ้มหายโดยตรงออกมา

“เราทำอะไรไม่ได้เลย”

คดีอุ้มหายทนายสมชาย อังคณาและลูกได้ขอเป็นโจทก์ร่วมตั้งแต่ต้น ทนายฝ่ายจำเลยได้หยิบยกข้อกฎหมายเรื่องการเป็นโจทก์ร่วมขึ้นสู้ โดยในชั้นศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าอังคณาและลูกไม่ใช่โจทก์ร่วม ซึ่งประเด็นนี้สู้กันถึงฎีกา

และในที่สุดองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งประกอบด้วยภานุวัฒน์ ศุภะพันธุ์, สมยศ เข็มทอง และสมศักดิ์ คุณเลิศกิจ ก็มีคำวินิจฉัยว่าอังคณาและลูกไม่สามารถเป็นโจทก์ร่วมได้ โดยยึดเอาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(2) ว่าผู้ที่จะจัดการแทนผู้เสียหายได้คือผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ กรณีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยร่วมกันทำร้ายสมชาย แต่ไม่ยืนยันว่าเสียชีวิตหรือไม่ รวมถึงไม่ได้ความตามฟ้องว่าบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ แม้เมื่อปี 2552 ศาลแพ่งจะตัดสินให้สมชายเป็นบุคคลสาบสูญ แต่ก็เป็นการตายโดยกฎหมายไม่ใช่การถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตาย และไม่ปรากฏว่าถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตายหรือบาดเจ็บจนไม่อาจจัดการเองได้

"คดีนี้ก็มีผู้เสียหาย 1 คนคือทนายสมชาย ญาติพี่น้องไม่ใช้ผู้เสียหายตามมาตรานี้ ผลก็คือไม่มีผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายที่แท้จริงไม่รู้อยู่ไหน ศาลฎีกาจึงยกคำร้องในกรณีนี้ ไม่ยอมรับอังคณา ภรรยาของทนายสมชายเป็นโจทก์ร่วมหรือเป็นผู้เสียหายด้วย”

 

คลิปปกป้อง ศรีสนิท อธิบายคดีอุ้มหายกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร

 

ปกป้อง ศรีสนิท จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า

“ในคดีนี้ทนายสมชายเป็นผู้เสียหายแน่นอน คุณอังคณาเป็นผู้เสียหายหรือไม่ ต้องดูว่าทนายสมชายตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถดำเนินการได้หรือเปล่า เมื่อไม่ปรากฏว่าทนายสมชายเสียชีวิต ไม่พบศพ จึงถือว่าไม่ตาย แม้จะมีคำสั่งศาลว่าสาบสูญแล้ว แต่ก็เป็นการตายทางกฎหมายแพ่ง ไม่ใช่ตายจริง สอง-กรณีนี้ทนายสมชายเจ็บป่วยจนไม่สามารถจัดการเองได้หรือไม่ ก็ไม่เห็นเจ็บ ไม่มีหลักฐานว่าเข้านอนโรงพยาบาล แต่ถ้าหายไปแล้ว ไม่มีหลักฐานว่าเจ็บป่วย ก็ไม่เข้ามาตรา 5(2) เมื่อไม่ตาย ไม่เจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ คดีนี้ก็มีผู้เสียหาย 1 คนคือทนายสมชาย ญาติพี่น้องไม่ใช้ผู้เสียหายตามมาตรานี้ ผลก็คือไม่มีผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายที่แท้จริงไม่รู้อยู่ไหน ศาลฎีกาจึงยกคำร้องในกรณีนี้ ไม่ยอมรับอังคณา ภรรยาของทนายสมชายเป็นโจทก์ร่วมหรือเป็นผู้เสียหายด้วย”

อังคณา กล่าวกับประชาไทเกี่ยวกับคำวินิจฉัยนี้ว่า

“คำพิพากษาของศาลมองว่าครอบครัวของผู้สูญหายไม่ใช่ผู้เสียหายในคดี เราทำอะไรไม่ได้เลย”

“คดีลักษณะนี้จึงไม่มีใครฟ้องคดีได้”

อะไรคือผลของการตีความตรงตามตัวอักษรทุกกระเบียดนิ้วของศาลฎีกา

ปกป้อง อธิบายว่า ช่องโหว่ที่ใหญ่มากๆ จะเกิดขึ้นทันทีคือ ผู้ที่ถูกเอาตัวไป ไม่ว่าจะจากประชาชนด้วยกันเองหรือจากเจ้าหน้าที่รัฐ จะถูกทำให้หายสาบสูญ ต่อให้มีคนเห็นเหตุการณ์จำนวนมากและพร้อมจะเป็นพยาน ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะไม่มีผู้เสียหาย อีกทั้งญาติของผู้ที่ถูกพาตัวไปก็ไม่ใช่ผู้เสียหายตามคำวินิจฉัยนี้

“คดีลักษณะนี้จึงไม่มีใครฟ้องคดีได้ อัยการก็ฟ้องไม่ได้ ตำรวจก็สอบสวนไม่ได้ ต่อให้ทำส่งขึ้นไป ศาลก็ต้องยก เพราะความผิดนี้เป็นความผิดต่อส่วนตัวในกฎหมายของเรา ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์จึงจะดำเนินคดีได้”

ปกป้องแสดงทัศนะต่อว่า

“ความเห็นผม ศาลฎีกาน่าจะตีความให้ญาติพี่น้องเป็นผู้เสียหายตามมาตรา 5(2) ได้ ผมเทียบอย่างนี้ มันมีมิติอยู่ในกฎหมายอาญา แต่เราไม่ได้มองหลายๆ ตัวผสมกันเพื่อให้เห็นเจตนาของกฎหมาย ถ้าเราตีความตามตัวบทเป๊ะๆ เหมือนศาลฎีกาก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ความผิดต่อเสรีภาพมันกระทบกระเทือนจิตใจญาติพอกัน บางทีสะเทือนมากกว่า เพราะไม่รู้ว่าอยู่หรือตาย ทำไมเราไม่ให้เขาเข้ามาเป็นโจทก์ เป็นผู้เสียหาย ขนาดบาดเจ็บนอนอยู่โรงพยาบาลยังให้เป็นได้

“มาตรา 309 310 การเอาคนไปหน่วงเหนี่ยวกักขัง มันมีมิติเท่ากับการทำร้ายคนเหมือนกัน เพราะมาตรา 310 เขียนว่า ถ้าคุณหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น คุณถูกลงโทษ แต่ถ้าคุณหน่วงเหนี่ยวกักขัง แล้วทำให้เขาตาย ประมวลกฎหมายอาญาเขียนว่าให้ลงโทษเท่ากับมาตรา 290 คือทำร้ายจนทำให้เสียชีวิต เพราะฉะนั้นมิติของกฎหมายอาญากำลังบอกว่าการหน่วงเหนี่ยวกักขังและทำให้เสียชีวิตกับการทำร้ายและทำให้เสียชีวิต สุดท้ายมาเจอที่เดียวกัน ผมมองว่ามันเหมือนกัน ถ้าเราพิจารณากฎหมายอาญาประกอบกัน ผมว่าน่าจะให้ญาติเป็นผู้เสียหายในคดี อีกอย่างการที่ประชาชนคนธรรมดาจะดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐว่ายากอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอคำพิพากษานี้ ยิ่งยากเข้าไปอีก”

“คำพิพากษาของศาลมองว่าครอบครัวของผู้สูญหายไม่ใช่ผู้เสียหายในคดี เราทำอะไรไม่ได้เลย”

เหตุนี้การที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอไม่รับกรณีการหายตัวไปของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญเป็นคดีพิเศษ และพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือมุนอ ภรรยาของบิลลี่ก็ไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่มีใครสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ เพราะผู้เสียหายเพียงคนเดียวที่จะฟ้องร้องได้คือบิลลี่ พอละจี ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าตอนนี้อยู่ไหน เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถดำเนินการได้หรือไม่ ในกรณีของเด่น คำแหล้ ก็เช่นกัน

รอกฎหมายอุ้มหาย ล้มคำพิพากษาศาลฎีกา

เมื่อศาลฎีกาวางแนวทางไว้ดังนี้และจะส่งผลดังที่อธิบายไป หนทางเดียวที่จะปิดช่องโหว่นี้คือการออก ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ปกป้อง ซึ่งมีส่วนร่างกฎหมายดังกล่าว อธิบายว่า กรณีอุ้มหายในปัจจุบันสามารถดำเนินคดีได้ หากมีหลักฐานชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่รัฐพาตัวนาย ก. ไป แต่เป็นเพียงคดีลักพาตัว หน่วงเหนี่ยวกักขังตามมาตรา 309 310 ตามประมวลกฎหมายอาญา มีโทษจำคุก 3 ปีและยอมความได้ ซึ่งถือเป็นโทษที่ต่ำมาก

“เขาไม่ได้อยากถูกเอาไป แต่ถูกบังคับไป เข้าองค์ประกอบหน่วงเหนี่ยวกักขัง สามารถดำเนินคดีได้แล้ว แม้ไม่มีตัวผู้เสียหาย แต่เจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจ มีอาวุธ ทำเหมือนกันก็ดำเนินคดีเหมือนกัน บอกว่าก็ดำเนินคดีเขาข้อหาฆาตกรรมสิ อุ้มหาย ตายแล้วแน่นอน เกือบสิบยี่สิบปีแล้ว คำถามคือไหนล่ะศพ เมื่อไม่มีศพก็ดำเนินคดีฆาตกรรมไม่ได้ เมื่อมีหลักฐานแค่ว่าถูกเอาตัวไปก็ดำเนินคดีได้แค่หน่วงเหนี่ยวกักขัง ทั้งที่ความร้ายแรงไม่เหมือนกัน เจ้าหน้าที่รัฐทำถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นช่องว่างในกฎหมายไทยที่ไม่มีกฎหมายดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่อุ้มหายตามหลักสิทธิมนุษยชน ช่องโหว่ตรงนี้ทำให้ในปี 2006 ทั่วโลกจึงทำอนุสัญญาขึ้นมาฉบับหนึ่งเพื่อต่อต้านการบังคับสูญหาย ประเทศไทยลงนามแล้ว แต่รอลงสัตยาบันอยู่ อนุสัญญานี้เรียกร้องให้ประเทศภาคีไปกำหนดความผิดที่ยังเป็นช่องโหว่นี้”

สาระสำคัญคือการกำหนดฐานความผิดการอุ้มฆ่า อุ้มหาย ให้เป็นอาญาแผ่นดินหมายความว่าจะมีผู้เสียหายร้องทุกข์หรือไม่สามารถดำเนินคดีได้หมด ไม่ว่าจะเจอศพหรือไม่ และกำหนดโทษเจ้าหน้าที่รัฐให้หนักกว่าประชาชน ปกป้องกล่าวว่ากฎหมายฉบับนี้จะช่วยวางบรรทัดฐานใหม่ว่า ความผิดฐานบังคับสูญหาย สามี ภรรยา บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ได้รับผลกระทบ ถือเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายอาญาด้วย และความเป็นผู้เสียหายไม่ใช่แค่สามารถฟ้องได้เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการได้รับการเยียวยาจากรัฐด้วย เพราะเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้สร้างความเสียหาย

“คดีลักษณะนี้จึงไม่มีใครฟ้องคดีได้ อัยการก็ฟ้องไม่ได้ ตำรวจก็สอบสวนไม่ได้ ต่อให้ทำส่งขึ้นไป ศาลก็ต้องยก เพราะความผิดนี้เป็นความผิดต่อส่วนตัวในกฎหมายของเรา ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์จึงจะดำเนินคดีได้”

ปัจจุบัน ร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ในชั้นสภานิติบัญญัติ (สนช.) แล้ว แต่จากการติดตามของปกป้องพบว่า อาจมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญบางประเด็นของกฎหมาย

“กลไกที่ผมอยากให้มี เขาเอาออกไป นั่นคือกลไกที่ให้คณะกรรมการมีอำนาจในการกำหนดการสอบสวนและมีอำนาจสอบสวน เขาเอาออกไป ที่ผมร่างคือให้คณะกรรมการนี้เป็นคณะกรรมการอิสระ มีตัวแทนภาครัฐและภาคประชาชนเข้ามาร่วมกัน มีอำนาจสอบสวนและกำหนดบุคคลผู้สอบสวน เช่น ตำรวจหรือทหารถูกกล่าวหา ถ้าให้ตำรวจหรือทหารสอบสวน ไม่มีทางจะหาคนผิดได้ จึงให้อำนาจแก่คณะกรรมการให้ดูเรื่องการสอบสวนด้วย คณะกรรมการสอบสวนเองไม่เป็นหรอก แต่อย่างน้อยที่สุดเราเซ็ทอำนาจให้เพื่อให้กรรมการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่รัฐที่มีประสบการณ์และไม่ขัดกันในตำแหน่งหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนได้อย่างอิสระ”

สังคมไทยคงต้องรอให้กฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อเปิดช่องให้ครอบครัวของเหยื่ออุ้มหายเป็นผู้เสียหายได้ แต่เมื่อกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ หากสาระสำคัญที่ถูกตัดออกไปดังที่ปกป้องกล่าว การนำเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเช่นนี้มาลงโทษจะเกิดขึ้นหรือไม่ ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม

คลิปปกป้อง ศรีสนิท อธิบายคดีอุ้มหายกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท