Skip to main content
sharethis

สุวัจน์ ลิปตพัลลภ เสนออนุฯรับฟังด้านปรองดอง ควรทำประชาพิจารณ์ยุทธศาสตร์ชาติ ก่อนประกาศใช้ ด้านโฆษกกลาโหม เผยพรรคเพื่อไทย ตอบรับพูดคุยปรองดองแล้ว ขณะที่อภิสิทธิ เวชาชีวะ เตรียมนัด 10 สมาชิกพรรคพูดคุยก่อนไปยื่นข้อเสนอ

15 ก.พ. 2560 สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา พร้อมด้วย นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา และกรรมการบริหารพรรคชาติไทยพัฒนาจำนวน 15 คน เดินทางเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน โดยพรรคชาติพัฒนาได้เตรียมเอกสารและข้อมูลครบถ้วนทั้ง 10 ประเด็น ตามที่ได้รับเชิญมาจากคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง  ซึ่งสุวัจน์ ยืนยันก่อนหน้านี้ว่า พรรคชาติพัฒนา ได้ยึดถือหลักการทำงานด้านความสามัคคีปรองดองมาตลอด นับแต่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ผู้ก่อตั้งพรรคและอดีตหัวหน้าพรรค ภายใต้สโลแกน “หันหน้าเข้าหากัน สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย”

ชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา โฆษกพรรคชาติพัฒนา เปิดเผยภายหลังเข้าเสนอความเห็นเรื่องการสร้างความปรองดอง กับคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองว่า บรรยากาศเป็นไปด้วยดี ทางด้านคณะกรรมการเปิดโอกาสให้พรรค เสนอความเห็นเต็มที่  ซึ่งพรรคได้ทำข้อเสนอเป็นเอกสารจำนวน 18 หน้า มามอบให้พร้อมกับชี้แจงรายละเอียด

“สิ่งที่พรรคเสนอคือต้องสร้างความปรองดองก่อนเลือกตั้ง ภายใต้หลักการของความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ด้วยการให้อภัยซึ่งกันและกันและควรตกลงร่วมกันให้ทุกพรรคการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้งและยอมรับผลการเลือกตั้ง และหลังตั้งรัฐบาลแล้วทุกพรรคต้องร่วมกันทำงาน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ และต้องไม่สร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่ภาวะทางตันทางการเมือง” ลิตรัตน์ กล่าว

โฆษกพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ นอกจากนี้ยังเสนอให้ปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ทั้งการเกษตร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนากลไกควบคุมกันเองของสื่อ ปฏิรูปการศึกษา ทรัพยากรธรรมชาติ ยกระดับการกีฬาให้เป็นยุทธศาสตร์ชาติ พัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แผนยุทธศาสตร์ชาติควรมีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน และก่อนการประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ชาติต้องทำประชาพิจารณ์เพื่อการยอมรับของทุกภาคส่วนด้วย

โฆษกกลาโหมเผย ผลการพูดคุยปรองดองสองวันที่มาเป็นไปด้วยดี ระบุเพื่อไทยตอบรับร่วมพูดคุยแล้ว

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยผลการเชิญพรรคการเมืองมาพูดคุยเพื่อหาแนวทางสร้างความสามัคคีปรองดองของคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ว่า 2 วันที่ผ่านมา (14-15 ก.พ.) บรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สร้างสรรค์ ทุกพรรคเปิดใจกว้างพูดคุยแบบตรงไปตรงมา โดยสรุปประเด็นสำคัญใน 10 หัวข้อ ที่มีการพูดคุย คือ ด้านการเมือง พรรคการเมืองเห็นว่าปัจจัยทางการเมืองทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยมากที่สุด เพราะการแสวงหาอำนาจ การรักษาอำนาจ รวมถึงการใช้อำนาจไม่เป็นธรรม มีการเสนอใช้กระบวนการยุติธรรมทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับประชาชน รณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุด ไม่สร้างเงื่อนไขเพิ่ม ควรใช้กลไกรัฐสภาตามกรอบรัฐธรรมนูญในการแก้ไขปัญหา ไม่ออกมาเคลื่อนไหวนอกสภา พรรคการเมืองควรมีการทำประชาคมร่วมกัน เช่น จะคัดสรรคนที่ดีที่สุดมาลงรับสมัครเลือกตั้ง จะยอมรับผลการเลือกตั้ง และทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด

ส่วนด้านความเหลื่อมล้ำ การครอบครองที่ดินทำกินของเกษตรกร การบริหารจัดการน้ำ เห็นว่ารัฐควรบริหารจัดการที่ดิน แหล่งน้ำให้ดีที่สุด และด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม พรรคการเมืองเห็นว่าที่ผ่านมามีการใช้อำนาจรัฐอย่างไม่เป็นธรรม แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นรัฐต้องเร่งแก้ปัญหาและใช้กระบวนการยุติธรรมกับทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม ต้องมีการการปฏิรูปกฎหมายโดยเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

พล.ต.คงชีพ กล่าวต่อว่า ด้านสื่อสารมวลชน พรรคการเมืองเห็นว่า สื่อสารมวลชนต้องไม่ปลุกเร้าหรือกระตุ้นให้เกิดความเกลียดชังในสังคม ควรให้ข้อมูลข่าวสารรอบด้าน พร้อมสนับสนุนให้มีกลไกในการป้องกันการแทรกแซงสื่อ แต่ขณะเดียวกันก็เห็นว่า องค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชนต้องมีการตรวจสอบสื่อที่ทำผิดจรรยาบรรณอย่างจริงจัง ส่วนด้านป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น มีการเสนอให้ตั้งศาลทุจริต เพื่อพิจารณาคดีทุจริตคอร์รัปชั่นโดยเฉพาะ โดยให้มีบทลงโทษที่รวดเร็ว รุนแรง ด้านการต่างประเทศ ไม่ควรนำปัญหาภายในไปขยายผลนอกประเทศ เคารพพันธสัญญา และปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างจริงจัง และรักษาดุลยภาพระหว่างประเทศ

“ด้านการปฏิรูป พรรคการเมืองเห็นตรงกันว่าถึงเวลาแล้วที่จะประเทศไทยจะต้องปฏิรูปอย่างจริงจังในทุกภาคส่วนและทุกด้าน ส่วนด้านสังคมและเศรษฐกิจ รัฐต้องพัฒนาเศรษฐกิจให้ครอบคลุมทุกกลุ่มรายได้ ควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนด้านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พรรคการเมืองเห็นว่าประเทศไทยควรมียุทธศาสตร์ชาติเพื่อจะได้มีเป้าหมายและทิศทางพัฒนาประเทศที่ชัดเจน” พล.ต.คงชีพ กล่าว

พล.ต.คงชีพ กล่าวต่อว่า ในช่วงเช้าพรุ่งนี้ (16 ก.พ.) คณะอนุกรรมการฯ ได้เชิญพรรคต่างๆ มาร่วมพูดคุย ประกอบด้วยพรรคไทยรวมพลัง พรรคไทยมหารัฐพัฒนา พรรคประชากรไทย ช่วงบ่ายจะเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา ส่วนวันที่ 17 ก.พ.นี้ ในช่วงเช้าได้เเชิญพรรคประชาธิปัตย์มาพูดคุย ส่วนพรรคเพื่อไทย ตอบรับแล้วอยู่ระหว่างกำหนดวันพูดคุยอีกครั้ง

ด้านอภิสิทธิ เตรียมเรียก 10 สมาชิกพรรคประชุมก่อนไปพูดคุยปรองดอง

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวว่า ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ เวลา 14.00 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคฯ ได้นัดคณะทำงานที่จะไปร่วมประชุมกับคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.)ทั้ง 10 คน ประกอบด้วย 1. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคฯ รับผิดชอบด้านการเมือง 2.รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ รับผิดชอบด้านความเหลื่อมล้ำ 3.วิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคฯ รับผิดชอบเรื่องกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 4.นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคฯ รับผิดชอบหัวข้อแนวทางเสริมสร้างความปรองดอง ความแตกต่างทางสังคม ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การศึกษาและสาธารณสุข 5.สาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีตส.ส.ตรัง รับผิดชอบเรื่องแนวทางการไม่ใช้สื่อเป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้งในสังคม

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า 6.สาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรค รับผิดชอบเรื่องแนวทางการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 7.วีระชัย วีระเมธีกุล อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ ดูแลเรื่องปัญหากิจการภายในประเทศที่จะถูกยกระดับให้ขึ้นเป็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ 8.เกียรติ สิทธีอมร อดีต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ดูแลเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น 9.จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รับผิดชอบเรื่องปฏิรูปที่จำเป็นเร่งด่วน และ10.สรรเสริญ สมะลาภา อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ รับผิดชอบประเด็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน เพื่อหาข้อสรุป และประเด็นข้อเสนอที่จะไปพูดคุยกับคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีและปรองดองในวันที่ 17 ก.พ. นี้

 

ที่มาจาก: สำนักข่าวไทย 1 , 2 , มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net