Skip to main content
sharethis

ปัญหา พ.ร.บ.หอพัก ยังคงถกเถียงกันไม่จบ คนร่างกม.แจง หวังคุ้มครองเด็กและเยาวชน นักสังคมวิทยาฯติงเรื่องการแยกเพศในพ.ร.บ. ชี้น.ศ.ช-ญ อยู่ด้วยกันมานานแล้ว ด้านนักกฎหมายเสนอแนวทางฝรั่งเศส จัดโซนหอพัก-เผยยังมีช่องโหว่อีกมาก แนะแก้ที่รากปัญหา

15 ก.พ. 2560 ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ "แค่ต่างเพศ ต้องต่างหอ?: ประเด็นทางกฎหมายในการบังคับใช้ พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ. 2558" ที่มธ. ศูนย์รังสิต โดยมี ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. เป็นผู้ดำเนินรายการ

ณรงค์ จันทร์บูรณะพินิจ ผู้แทนจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หนึ่งในผู้ร่วมร่าง พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ. 2558 กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ไม่มี พ.ร.บ.ใดสามารถดูแลนักศึกษาที่พักในหอพักได้นอกจาก พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กและเยาวชน จึงมีการนำ พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ.2507 มาแก้ไขให้เข้ากับสังคมปัจจุบันและกฎหมายอื่นๆ เพื่อเอื้อต่อความปลอดภัยและการเรียนหนังสือของนักศึกษา นอกจากนี้ยังอยากให้หอพักเปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 ปัญหาที่พบมากที่สุดในหอพัก คือเรื่องยาเสพติด ตามด้วยเรื่องเพศ เช่น การอยู่กันเป็นคู่ การล่วงละเมิดทางเพศ และปัญหาคุณแม่วัยใส โดยเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีตั้งครรภ์ประมาณ 400 กว่าคนต่อวัน จึงนำมาสู่การแยกหอพักหญิงและหอพักชาย และสุดท้ายคือ ความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นของหาย หรือเกิดเหตุการณ์ที่เป็นเหตุให้เสียชีวิต จึงทำให้ต้องบังคับให้ผู้ประกอบการหอพักทำประกันภัยกับผู้พัก ทั้งนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าว จะใช้กับนักศึกษาปริญญาตรีอายุไม่เกิน 25 ปี

มาตาลักษณ์ ออรุ่งโรจน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเด็กและเยาวชน กล่าวว่า พ.ร.บ.นี้ควรจะแบ่งเกณฑ์ว่าใช้สำหรับเด็กมัธยมฯ และเด็กมหาวิทยาลัยให้ชัดเจนไม่ใช่กล่าวรวมๆ ว่า 18-25 ปี โดยนอกจากจะเน้นเรื่องความปลอดภัยของโครงสร้างอาคารที่พักแล้ว ควรที่จะเน้นการคุ้มครองที่เป็นมาตรการการป้องกัน เช่น บังคับติดกล้องวงจรปิดเมื่อเกิดเหตุร้ายจะได้จัดการได้ สถานศึกษาควรจะจัดโซนเพื่อให้เอื้อต่อการศึกษา โดยให้ระยะ 3-5 กิโลเมตรรอบๆ สถานศึกษาอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่เคร่งครัด เช่น ควบคุมร้านเหล้า สถานที่อโคจร ฯลฯ

ต่อมาคือ การแบ่งประเภทหอพัก โดยยกตัวอย่างการแบ่งแบบฝรั่งเศส เช่น บ้านที่แปลงรูปมาเป็นห้องเช่า โฮมสเตย์ หรือบ้านที่มีเจ้าของบ้านอยู่ร่วมด้วยแล้วแบ่งเป็นห้องเช่า ซึ่งอาจจะเป็นการช่วยลดปัญหาอาชญากรรมที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากผู้ร่วมพักรู้สึกเป็นครอบครัวเดียวกับเจ้าของที่พัก เกิดการดูแลเอาใจใส่กันเสมือนเป็นผู้ปกครองกับเด็ก อย่างไรก็ตาม กรณีของไทย อาจยากที่จะจัดการ เนื่องจากเราไม่ใช่รัฐสวัสดิการอย่างฝรั่งเศสที่มีเงินช่วยเหลือจากรัฐในส่วนนี้ และสุดท้ายก็ควรจะคำนึงถึงกลุ่มผู้คนข้ามเพศว่าควรจะจัดในกลุ่มไหน อยู่หอพักชายหรือหญิง แต่ไม่ควรกีดกันพวกเขาให้อยู่ในหอพิเศษ

ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน กล่าวว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวระบุว่ามีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแก้ไขความปลอดภัยเกี่ยวกับปัญหาเรื่องเพศ แต่ส่วนตัวมองว่าควรจะแก้ไขปัญหาที่รากฐานของปัญหานั้นๆ อีกทั้งกฎหมายยังมีช่องโหว่ ขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายไม่ชัดเจน อาจจะทำให้เกิดปัญหากับผู้ประกอบการในเรื่องรายได้ เช่น ถ้าผู้ประกอบการจดทะเบียนหอพักตาม พ.ร.บ.นี้แล้ว คนภายนอกที่ไม่ใช่นักศึกษาก็ไม่สามารถเข้ามาอยู่ในหอพักได้เลยใช่หรือไม่ หรือถ้าไม่ได้จดทะเบียนหอพัก นักศึกษาจะไม่สามารถพักได้ใช่หรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีคำถามว่า หอพักควรมีลักษณะอาคารแบบไหน เพราะในพ.ร.บ.ไม่ได้กำหนดไว้ คำนิยามของ “สถานศึกษา” ก็คลุมเครือ โดยในมาตรา 4 ระบุว่า “สถานศึกษา หมายความว่า โรงเรียน วิทยาลัย สถาบัน มหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาในระบบตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ทั้งนี้ ไม่หมายความรวมถึงสถาบันหรือมหาวิทยาลัยของรัฐที่จัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา” หรือแม้กระทั่งการห้ามบุคคลอื่นขึ้นหอพักในมาตรา 64 ผู้จัดการหอพักมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้ “(1) ดูแลไม่ให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้พักเข้าไปในห้องพัก เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้จัดการหอพัก” แตกต่างจาก พ.ร.บ.ในปี 2507 ที่ระบุชัดเจนว่า ไม่ให้ผู้ชายขึ้นหอพักผู้หญิงและไม่ให้ผู้หญิงขึ้นหอพักผู้ชาย ฉะนั้น ถ้าตีความตามนี้ ผู้ประกอบการก็ควรที่จะมีหอพัก 2 หอเพื่อแยกหอพักชายและหอพักหญิง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็ไม่เคยมีหอพักที่เป็นชายล้วน ในขณะเดียวกัน การระบุเช่นนี้เหมือนเป็นการบีบบังคับให้ผู้ประกอบการเลือกที่จะรับหรือไม่รับนักศึกษาซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิของเขา ดังนั้น เขาจึงมองว่าไม่ใช่ปัญหาที่จะต้องแยกเพศ แต่ควรจะไปดูว่า สาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดปัญหาทางเพศแล้วแก้ตรงจุดนั้นแทน

โสพิน โตธิรกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยาพฤติกรรมวัยรุ่น กล่าวว่า การใช้ พ.ร.บ.เพื่อแยกหอพักชายหญิง คงทำได้ยาก เพราะเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้ พร้อมยกวิทยานิพนธ์ที่เคยทำ ชื่อ “อยู่ก่อนแต่ง : การอยู่ร่วมกันโดยไม่แต่งงานของนักศึกษามหาวิทยาลัย” มาอธิบายว่า คำว่า “อยู่ก่อนแต่ง” เมื่อนำมาใช้ในความหมายของสังคมไทยจากการสำรวจกลุ่มนักศึกษาชายพบว่า มีด้วยกัน 3 อย่างด้วยกันคือ 1.Sex ใช้การอยู่ด้วยกันกับเพื่อนผู้หญิงแทนการหาผู้หญิงที่ขายบริการ 2.ประหยัด สะดวกสบาย เพื่อใช้ในการแชร์ค่าห้อง และผู้หญิงก็ช่วยทำการบ้าน งานบ้านให้ 3.รักจริง เน้นอารมณ์ความรู้สึกแต่ไม่ถึงขั้นแต่งงาน ซึ่งในสองข้อแรกมีสัดส่วนมากกว่า แต่ผู้หญิงมองว่าเป็นความรักจริงแต่ไม่ถึงขั้นแต่งงาน และไม่ใช่การอยู่ก่อนแต่ง เนื่องจากทั้งสองก็ไม่ได้อยู่กันฉันสามีภรรยา อย่างไรก็ตาม นักศึกษาให้เหตุผลว่า พวกเขาโตแล้ว ถึงจะมีเพศสัมพันธ์กัน แต่ก็สามารถไปเรียน และรับผิดชอบตัวเองได้ ถือเป็นรูปแบบการใช้ชีวิตแบบหนึ่งที่มีโลกทัศน์ต่างจากการอยู่กับเพื่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net