Skip to main content
sharethis
'ไพบูลย์ นิติตะวัน' เสนอทางออกโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ให้ กกต.จัดลงประชามติ ให้ประชาชน 460,00 คนในจังหวัดชี้ขาดเอา-ไม่เอา 
 
19 ก.พ. 2560 ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่านายไพบูลย์ นิติตะวัน ในฐานะประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอดีตสมาชิกวุฒิสภา แสดงความเห็นต่อกรณีที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ประชุมเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 มีมติเห็นชอบให้ กฟผ.ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015) เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าภาคใต้ โดยให้ กฟผ.เป็นหน่วยงานผู้รับสนองนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติโดยมีเครือข่ายประชาชนจังหวัดกระบี่ออกมาประกาศสนับสนุนโครงการ แต่ในขณะเดียวกันมีเครือข่าย NGO อ้างว่าร่วมกับประชาชนในจังหวัดกระบี่เช่นเดียวได้ออกมาคัดค้านโครงการอย่างเข้มข้น และที่สำคัญยังมีแกนนำพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรคประกาศจะคัดค้านโครงการจนถึงที่สุด ถึงกับประกาศว่าแม้ดำเนินโครงการไปแล้วก็จะหาทางยกเลิกในภายหลัง
       
โดยทั้งฝ่ายหนุนและฝ่ายคัดค้านต่างก็แสดงความเห็นยกเหตุผลสนับสนุนจุดยืนของฝ่ายตน โดยทุกฝ่ายก็อ้างว่ามีประชาชนในพื้นที่สนับสนุนฝ่ายตนเป็นจำนวนมากซึ่งมองแล้วเห็นว่าหากปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินการต่อไป จะสร้างความขัดแย้งรอบใหม่หาข้อยุติไม่ได้ เป็นชนวนนำไปปลุกปั่นขยายผลความขัดแย้งสู่เรื่องอื่นอีกมากมาย ซึ่งทางรัฐบาลในขณะนี้ไม่ว่าจะเดินหน้าต่อไป หรือหยุดชะลอโครงการ ทางใดทางหนึ่งก็เกิดปัญหาทั้งสิ้น จึงเสนอทางออกจากปัญหาว่า ในเมื่อทั้งฝ่ายหนุนและฝ่ายคัดค้านล้วนอ้างทำเพื่อประชาชนในจังหวัดกระบี่ทั้งสิ้น ในเมื่อโครงการนี้ไม่ว่าจะทำหรือไม่ทำผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือประชาชนทุกคนในจังหวัดกระบี่ จึงเสนอมายังรัฐบาลขอให้พิจารณาอนุมัติให้คณะกรรมการเลือกตั้งจัดทำประชามติเฉพาะในเขตจังหวัดกระบี่ให้ประชาชนทั้งจังหวัด 460,000 คน ออกมาใช้สิทธิตัดสินว่าจะเอาโครงการนี้หรือไม่เอา เพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเสียงข้างมากของประชาชน ให้เป็นอำนาจของประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าจะทำหรือไม่ทำโครงการ ไม่ใช่ให้หน่วยงานของรัฐ หรือเครือข่าย NGO หรือพรรคการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมาตัดสินแทนประชาชนทั้งจังหวัดกระบี่
       
หากผลประชามติออกมาว่าประชาชนจังหวัดกระบี่เสียงข้างมากสนับสนุนให้ทำโครงการ รัฐบาลก็จะมีความชอบธรรมที่จะดำเนินโครงการอย่างมั่นคง ไม่วุ่นวายในภายหลัง เพราะฝ่ายคัดค้านไม่สามารถนำไปขยายความขัดแย้งให้ยืดเยื้อต่อไป แต่หากประชาชนเสียงข้างมากออกเสียงไม่เอาโครงการก็เป็นเรื่องที่ดีที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลได้ฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง เมื่อไม่ต้องการก็ยุติโครงการไป ไม่ได้ยุติโครงการเพราะเกิดจากกลุ่มคัดค้านหรือพรรคการเมืองออกมากดดันให้หยุดดำเนินโครงการ และจะเป็นการแก้ไขความขัดแย้ง เสริมสร้างความปรองดอง อย่างมีส่วนร่วมของประชาชน และจะได้เป็นแนวทางนำร่องในการดำเนินโครงการของรัฐที่แม้จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก แต่ถ้าอาจจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือวิถีชุมชนอย่างมีนัยสำคัญ และมีกลุ่มคัดค้านโครงการเกิดขึ้นอย่างรุนแรง รัฐบาลก็อาจพิจารณาให้ประชาชนในพื้นที่นั้นออกเสียงลงประชามติให้ได้ข้อยุติ เพราะเพียงแต่ไปทำประชาพิจารณ์เท่าที่หน่วยงานรัฐทำมานั้น มักถูกกล่าวหาว่าเป็นเพียงพิธีกรรมรับรองโครงการเพื่อให้เกิดขึ้นเท่านั้น ทำให้ไม่ได้รับการยอมรับ เกิดความขัดแย้งไม่สิ้นสุด ทำให้หลายๆ โครงการที่ดีและประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ต้องการก็เลยดำเนินการไม่ได้ไปด้วย
       
สำหรับความเห็นส่วนตัว เกียวกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เนื่องจากเป็นผู้ริเริ่มเสนอให้ประชาชนทั้งประเทศลงประชามติคำถามพ่วงพร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะยึดถือหลักการเชื่อมั่นในอำนาจของประชาชน แต่ครั้งนี้เนื่องจากไม่ใช่คนกระบี่จึงไม่อยากแสดงความเห็นต่อโครงการ เกรงจะเป็นการก้าวล่วงการใช้ดุลพินิจตัดสินใจของประชาชนทุกคนในจังหวัดกระบี่ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net