เทพชัยเชื่อ คสช.อยากมีอำนาจต่อ ชี้กฎหมายสื่อควรออกในบรรยากาศประชาธิปไตย

เทพชัยยันต่อให้มีสื่อ 15 คนนั่งสภาวิชาชีพก็ไม่เอา เพราะยังมีอำนาจออกใบประกอบวิชาชีพสื่อ เชื่อรัฐบาลทหารอยากมีอำนาจต่อหลังเลือกตั้ง สุภิญญาชี้แนวโน้มคุมสื่อหนักขึ้น กสทช.เป็นเครื่องมือที่รัฐใช้แทรกแซงสื่อ ขณะพิรงรองระบุ ร่างกฎหมายทำลายการปฏิรูปสื่อ

22 ก.พ. 2560 เทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวในการเสวนาเรื่องการกำกับดูแลสื่อในประเทศไทย กรณีร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน จัดโดยสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) ว่า กรณีที่ กมธ. ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อมวลชน สปท.ปรับลดสัดส่วนของปลัดกระทรวงในโครงสร้างของสภาวิชาชีพลงจาก 4 เป็น 2 คน (อ่านข่าว) ไม่สำคัญเท่ากับเรื่องที่กำหนดให้สภาวิชาชีพนี้สามารถออกและถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อได้ โดยจะถือเป็นครั้งแรกในไทยที่มีการออกใบอนุญาตทำสื่อ เป็นการให้อำนาจซึ่งขัดกับหลักการเสรีภาพสื่อ

เขาย้ำว่า คนที่จะมานั่งในสภาวิชาชีพนี้จะเป็นใครไม่สำคัญเท่ากับอำนาจนี้ ต่อให้เป็นนักข่าวทั้ง 15 คนก็ยอมไม่ได้เช่นกัน ไม่ควรมีใครมีอำนาจในการควบคุมสื่อ

นอกจากนี้ เทพชัย กล่าวเสริมว่า ร่างกฎหมายนี้ให้งบประมาณสภาวิชาชีพสื่อถึง 100 ล้านบาทต่อปี ชวนคิดว่าเมื่อมีทั้งอำนาจและเม็ดเงินจำนวนมากเช่นนี้ สภาวิชาชีพนี้จะทำอะไรกับอุตสาหกรรมสื่อ 

เขามองว่า รัฐบาลทหารยังอยากมีอำนาจหลังการเลือกตั้ง ไม่เช่นนั้น คงไม่ออกกฎหมายแบบนี้

"กฎหมายนี้กว่าจะมีผลใช้ก็หลังเลือกตั้งแล้ว ไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลจะออกกฎหมายให้นักการเมืองใช้ ประกอบการแนวคิดยุทธศาสตร์ชาติยี่สิบปี ทำให้เชื่อว่า คสช. คงอยากจะอยู่ในอำนาจในรูปแบบอื่นๆ ต่อไป เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่อยากมีอำนาจต่อไปคงอยากมีเครื่องมือควบคุมกำกับความเห็นของประชาชนผ่านการกำกับสื่อ" เทพชัยกล่าวและย้ำว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสิทธิของสื่อไม่ควรร่างในบรรยากาศที่มีอำนาจปกครองแบบนี้ ในบรรยากาศที่มีผู้นำประเทศที่มีทัศนคติต่อสื่อในเชิงลบแบบนี้ ควรร่างในบรรยากาศประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนมากกว่า

สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มองว่า นี่เป็นยุค Empire Strikes Back เพราะนอกจากร่าง พ.ร.บ.นี้ พ.ร.บ.กสทช.ก็กำลังถูกแก้ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขณะที่ กสทช.เองก็ไม่ใช่องค์กรกำกับสื่อที่ก้าวหน้าอีกต่อไป และหลายครั้งก็เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการแทรกแซงสื่อ เช่น พักใช้หรือถอนใบอนุญาต กรณีวอยซ์ทีวี พีซทีวี เรียกสื่อเช่น เนชั่น มาสอบ ตักเตือน ทำให้เกิดบรรยากาศของความกลัว และจำกัดเสรีภาพสื่อ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น

สุภิญญา ชี้ว่า ตอนนี้วาทกรรมที่รัฐบาลใช้อ้างเพื่อออกพ.ร.บ.การคุ้มครองสื่อฯ คือ ทุกวันนี้คนได้ข้อมูลข่าวสารจากโซเชียลมีเดีย สื่อเองก็แข่งขันกัน โดยนำเรื่องในโซเชียลมีเดียมาเสนอซ้ำ บางครั้งไปไกลถึงขนาดบิดเบือน ทำร้ายความรู้สึกสังคม ละเมิดจริยธรรม ทำให้หลายคนรู้สึกว่าสื่อทำเกินไปแล้วและต้องควบคุมสื่อ ซึ่งเธอมองว่า ไม่ว่าจะเห็นว่าสื่อกำกับตัวเองไม่ดีพออย่างไรก็ไม่ควรเอาอำนาจไปให้รัฐอยู่ดี

พิรงรอง รามสูตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นส่วนหนึ่งของการทำลายการปฏิรูปสื่อ ซึ่งเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 ที่สื่อวิทยุทีวีถูกควบคุมโดยรัฐ ทำให้มีการเรียกร้องสื่อเสรี ส่งผลให้มีการบรรจุเรื่องคลื่นความถี่เป็นสมบัติสาธารณะไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองของสื่อ และมีการระบุในกฎหมายให้คลื่นความถี่อย่างน้อย 20% เป็นของภาคประชาชน ทำให้มีสื่อชุมชนเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีองค์กรกำกับดูแล ทำให้เกิดภาวะสุญญากาศขึ้น เป็น "อนาธิปไตยของคลื่นความถี่" ในช่วงที่มีเสื้อเหลืองเสื้อแดง สื่อถูกฉวยใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง และสปท. ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารก็หยิบเรื่องนี้มาอ้างในการออกกฎหมายดังกล่าว ทั้งที่มีความเข้าใจเรื่องสื่ออย่างจำกัด

"สปท.ไม่เคยให้โอกาสกับการกำกับดูแลกันเองเช่นเดียวกับที่รัฐบาลทหารไม่ให้โอกาสประชาธิปไตย" พิรงรองกล่าว

พิรงรอง ชี้ว่า การออกกฎหมายเพื่อทำให้การควบคุมสื่อเป็นเรื่องถูกกฎหมายนี้ เป็นการมองข้ามความก้าวหน้าในเรื่องการปฏิรูปสื่อ เช่น การเกิดขึ้นของสภาการหนังสือพิมพ์ ซึ่งถึงแม้ยังทำผลงานได้ไม่เป็นที่น่าประทับใจนัก แต่ก็ถือว่าเป็นองค์กรที่มีโครงสร้างชัดเจน ทั้งนี้ เคยมีงานวิจัยชี้ว่าองค์กรวิชาชีพสื่อในประเทศไทย 200 แห่ง มีเพียง 5 แห่งที่มีกลไกรับเรื่องร้องเรียน สภาการ นสพ. ก็มีแต่จากการสอบถาม มีเรื่องร้องเรียนตลอดปีเพียง 5 เรื่อง แสดงให้เห็นว่า องค์กรยังไม่เป็นที่รับรู้ของสาธารณะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท