3 นักสิทธิฯ ยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด ยันรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นประโยชน์สาธารณะ

‘สมชาย-พรเพ็ญ-อัญชนา’ เข้ายื่นหนังสือต่อสำนักงานอัยการสูงสุด หวังอำนวยความยุติธรรมกรณี ถูก กอ.รมน.ภาค 4 ฟ้องหมิ่นประมาท พ่วงพ.ร.บ.คอมฯ หลังเผยแพร่รายการการซ้อมทรมานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ยันรายงานเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และหน่วยงานรัฐควรถูกตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ได้

24 ก.พ. 2560 13.00 น ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ สมชาย หอมลออ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และ อัญชนา หีมมิหน๊ะ 3 นักสิทธิมนุษยชน ผู้เผยแพร่รายงาน “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีฯ ในจังหวัดชายแดนใต้  ปี 2557 – 2558” ซึ่งถูกฟ้องร้องดำเนินคดีโดยพ.ท.เศรษฐสิทธิ แก้วคูณเมือง ผู้รับมอบอำนาจจาก กอ.รมน.ภาค 4 เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ กับพนักงานสอบ สภ.เมืองปัตตานี ในความผิดร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2559 ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อขอให้อัยการสูงสุดที่ทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรม และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ในหนังสือฉบับดังกล่าว ระบุว่า เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2560 นักสิทธิมนุษยชนทั้งสามได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการจังหวัดปัตตานี โดยขอให้พนักงานอัยการพิจารณาให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนพยานบุคคลสำคัญเพิ่มเติม รวมทั้งพิจารณาถึงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ว่าคดีดังกล่าวเป็นการฟ้องร้องข้อหาที่นิติบุคคลอาจไม่มีอำนาจฟ้อง โดยที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เป็นหน่วยงานของรัฐ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีการปฏิบัติหน้าที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนโดยทั่วไปได้ จึงเป็นหน่วยงานที่พึงถูกตรวจสอบได้โดยประชาชน อีกทั้งประมวลกฎหมายอาญาที่กำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลไม่ให้ถูกละเมิด มิได้มุ่งที่จะคุ้มครองนิติบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานของรัฐจากการถูกตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้น ในทางกฎหมาย กอ.รมน.จึงมิใช่ผู้เสียหายแต่อย่างใด  โดยทางอัยการจังหวัดปัตตานีนัดฟังคำสั่งในวันที่ 21 มี.ค 2560

พรเพ็ญ ได้ให้สัมภาษณ์กับประชาไทถึงสาเหตุที่มายื่นหนังสื่อต่อสำนักงานอัยการสูงสุดครั้งนี้ว่า เพราะอัยการสูงสุดเป็นหน่วยงานที่รับเรื่องร้องเรียนของประชาชนซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มตนซึ่งทำงานอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงต้องการให้สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งอยู่ส่วนกลาง และมีบทบาทหน้าที่โดยตรง ซึ่งตาม มาตรา 21 ใน พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ ได้ระบุถึงการพิจารณ์ถึงประโยชน์สาธารณะ ในการที่จะสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้องคดีความ

มาตรา 21 พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าการฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรืออาจจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ หรือผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศให้เสนอต่ออัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด โดยความเห็นชอบของ ก.อ.

ให้นำความในวรรคสองมาบังคับใช้กรณีที่พนักงานอัยการไม่ยื่นคำร้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ถอนฟ้อง ถอนคำร้อง และถอนฎีกาด้วยโดยอนุโลม

พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ 2553

“สิ่งที่เราพยายามจะเสนอก็คือ รายงานด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสาธารณะอย่างหนึ่ง เราก็อยากให้ทางสำนักงานอัยการใช้มุมมองด้านนี้ในการพิจารณา ประกอบกับข้อเท็จจริง และกฎหมายที่ถูกนำมาใช้เพื่อฟ้องร้องคดีนี้ด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วเราพยายามจะนำเสนอในชั้นพนักงานสอบสวน แต่พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการโดยที่รับฟังพยานเพียง 3 ปาก ซึ่งยังไม่ได้รับฟังพยานอีกหลายราย ประกอบกับอำนาจในการฟ้องร้อง ซึ่งหากพนักงานอัยการ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้ความรู้ความเข้าใจทางด้านกฎหมาย พร้อมกับทำความเข้าใจว่า งานของนักสิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่งานของนักข่าวเอง เป็นสิทธิที่ควรจะได้รับการปกป้องคุ้มครอง” พรเพ็ญ กล่าว

เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรกับการที่เคยแต่เพียงทำงานเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่ครั้งนี้กลับตกอยู่ในฐานะของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเสียเอง พรเพ็ญระบุว่า รู้สึกเหนื่อยเพิ่มขึ้น เพราะภาระกิจที่เกิดจากการถูกฟ้องร้อง ไม่สามารถที่จะทำให้ตนทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นที่ถูกละเมิดสิทธิได้อย่างเต็มที่ ซึ่งปัจจุบันยังคงมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาเพื่มขึ้นเรื่อยๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีฯ ในจังหวัดชายแดนใต้  ปี 2557 – 2558” ได้เผยแพร่เมื่อเดือน ม.ค. 2559 โดยเป็นรายงานที่รวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ที่อ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ทรมานฯ จำนวน 54 ราย ร่วมจัดพิมพ์โดย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี และกลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นภาคประชาสังคมที่ทำงานกับครอบครัวของเหยื่อของการทรมานฯ และดำเนินการเพื่อให้มีการฟื้นฟูเยียวยาผู้เสียหายในจังหวัดชายแดนใต้

สำหรับผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ราย คือ สมชาย หอมลออ ปัจจุบันเป็น ที่ปรึกษาอาวุโสและอดีตประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ปัจจุบันเป็น ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดเก็บและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และสนับสนุนการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้เสียหาย ด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายและดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนขอความเป็นธรรม พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ยังได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการบริหารองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เมื่อเดือน มิ.ย. 2559 ส่วน อัญชนา หีมมิหน๊ะ เป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการกลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นภาคประชาสังคมที่ทำงานกับครอบครัวของเหยื่อของการทรมานฯและดำเนินการเพื่อให้มีการฟื้นฟูเยียวยาผู้เสียหายในจังหวัดชายแดนใต้

แถลงการณ์

สามนักสิทธิถูกฟ้องยื่นหนังสือร้องเรียนอัยการสูงสุด

ยืนยันจัดทำรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ในวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา  13.00 น. นายสมชาย หอมลออ นางสาวพรเพ็ญ  คงขจรเกียรติ     และนางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ นักสิทธิมนุษยชนทั้งสามได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ตึก A เพื่อขอให้อัยการสูงสุดที่ทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรม และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้ความเป็นธรรมแก่นักสิทธิมนุษยชนทั้งสาม ด้วยการคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์  2560 นักสิทธิมนุษยชนทั้งสามยังได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการจังหวัดปัตตานี โดยขอให้พนักงานอัยการพิจารณาให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนพยานบุคคลสำคัญเพิ่มเติม รวมทั้งพิจารณาถึงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ว่าคดีดังกล่าวเป็นการฟ้องร้องข้อหาที่นิติบุคคลอาจไม่มีอำนาจฟ้อง โดยที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เป็นหน่วยงานของรัฐ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีการปฏิบัติหน้าที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนโดยทั่วไปได้ จึงเป็นหน่วยงานที่พึงถูกตรวจสอบได้โดยประชาชน อีกทั้งประมวลกฎหมายอาญาที่กำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลไม่ให้ถูกละเมิด มิได้มุ่งที่จะคุ้มครองนิติบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานของรัฐจากการถูกตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้น ในทางกฎหมาย กอ.รมน.จึงมิใช่ผู้เสียหายแต่อย่างใด  โดยทางอัยการจังหวัดปัตตานีนัดฟังคำสั่งในวันที่ 21 มีนาคม 2560

ก่อนหน้านี้นส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ เคยถูกแจ้งความร้องทุกข์โดยกรมทหารพรานที่ 14 จังหวัดยะลา ในข้อหาหมิ่นประมาท โดยกล่าวหาว่า “ได้กล่าวข้อความทำให้กรมทหารพรานที่ 41 จังหวัดยะลา ได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียง” มาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2557  ในครั้งนั้นพนักงานอัยการจังหวัดยะลาได้เคยมีหนังสือคำสั่งลงวันที่ 17 มิถุนายน 2558 ไม่ฟ้องนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ    ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิฯ โดยพนักงานอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่า “น่าเชื่อว่าผู้ต้องหามีเจตนาเพียงให้ผู้บังคับบัญชาของผู้กล่าวหาและองค์กรที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น... เป็นการติชมการทำงานขององค์กรสาธารณชนตามความเข้าใจทั่วๆไป ขาดเจตนาในการกระทำผิด ...”

“หากการร้องเรียนเป็นผลให้ผู้ร้องทุกข์ ผู้ร้องเรียน หรือพยานต้องถูกดำเนินคดีย่อมจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม   การฟ้องร้องคดีต่อนักสิทธิมนุษยชนทั้งสามสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะขัดขวางการทำงานของกลไกอิสระในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่ไม่เป็นธรรมในพื้นที่ มีผลทำให้ประชาชนหวาดกลัวในการใช้สิทธิมากยิ่งขึ้น ส่งผลอย่างร้ายแรงต่อกระบวนการสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนใต้”  นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิฯ กล่าว

ข้อมูลเพิ่มเติม

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ดำเนินการกิจกรรมด้านการส่งเสริมความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2550 โดยทำงาน ในการให้ความช่วยเหลือทางกฏมายต่อผู้ได้รับผลกระทบจากการทรมานและปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม โดยใช้แนวทางกฎหมายและการส่งเสริมความเข้าใจระหว่างประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายพิเศษกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือทางคดีมีแนวทางเพื่อการค้นหาความจริง การเรียกร้องให้มีการรับผิดทางแพ่งและทางอาญาโดยเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่มีข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด

กรณีที่ผู้เสียหายร้องเรียนว่ามีการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมก็ได้ดำเนินการทำหนังสือร้องเรียนขอให้ตรวจสอบโดยได้ปฏิบัติงานในการตรวจสอบข้อมูล ทำหนังสือร้องเรียน หนังสือเปิดผนึกและทำการเผยแพร่สื่อมวลชน เพื่อสร้างความเข้าใจในข้อหลักการทางสิทธิมนุษยชนและกฎหมายเพื่อยุติการทรมาน โดยที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 10  ปี ได้รับความร่วมมือจากกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม  กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ  และรวมทั้งหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี   กอรมน. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นอย่างดีในการปรับเปลี่ยนแนวทาง วิธีการปฏิบัติ การออกกฎระเบียบการควบคุมตัว ทั้งนี้ยังคงมีแก้ไขช่องโหว่ให้มีการทรมานและการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กระบวนการการทำงานของมูลนิธิฯ ยึดหลักสิทธิมนุษยชนและหลักกฎหมายเพื่อให้ผู้ถูกละเมิดสามารถเข้าถึงความยุติธรรม การร้องเรียนต่อหน่วยงานดังกล่าถือเป็นขั้นตอนตามกฎมายสามารตรวจสอบได้ทั้งโดยตรงกับหน่วยงานต้นสังกัดและการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีหน้าที่ตรวจสอบดำเนินการเพื่อร่วมกันแสวงหาข้อเท็จจริงว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ไม่ได้มีความประสงค์จะทำลายความน่าเชื่อถือของหน่วยงานรัฐแต่อย่างใด 

ทั้งนี้เนื่องจากรัฐมีพันธกรณีตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ในการสอบสวนข้อต้องเรียนเรื่องการทรมานโดยพลันและมีหน้าที่ในการคุ้มครองผู้ร้องทุกข์และพยานให้ได้รับความคุ้มครองพ้นจากการประทุษร้ายหรือข่มขู่ให้หวาดกลัวอันเป็นผลจากการร้องทุกข์หรือการให้พยานหลักฐานของบุคคลนั้น หากเมื่อทางหน่วยงานระดับสูงได้รับเรื่องร้องเรียนและหน่วยงานรัฐได้ทำการสอบสวนโดยพลันโดยปราศจากความลำเอียงหากหลักฐานปรากฎไม่ว่าผลการตรวจสอบจะเป็นเช่นใดสิทธิของประชาชนก็จะได้รับความคุ้มครองและประชาชนจะเชื่อมันต่อกระบวนการยุติธรรม

ลำดับเหตุการณ์คดีสามนักสิทธิมนุษยชนถูกฟ้องร้อง

10 กุมภาพันธ์ 2559 มีการออกรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2557-2558 ณ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต

3 พฤษภาคม 2559 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จึงมอบอำนาจให้กองอำนาจการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับนายสมชาย หอมลออ, น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ, นางสาวอัญชนา หีมมิน๊ะห์ ในข้อหา “ในความผิดฐาน ร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550”

11 พฤษภาคม 2559 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคที่ 4 ส่วนหน้า โดย พันโทเศรษฐสิทธิ์ แก้วคูเมือง ได้มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองปัตตานี ให้ดำเนินการกับ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนักสิทธิมนุษยชนทั้งสาม ในความผิดฐาน “ร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550”

13-15 มิถุนายน 2559 พนักงานสอบสวน สภ.เมืองปัตตานี ได้ส่งหมายเรียกถึงนักสิทธิมนุษยชนทั้งสามตามถิ่นที่อยู่ ขอให้ไปแสดงตนต่อพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาทางอาญา

26 กรกฎาคม 2559 พันตำรวจโท วิญญู เทียมราช รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.เมืองปัตตานี พนักงานสอบสวน ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้นักสิทธิมนุษยชนทั้งสามทราบ ในความผิดฐาน “ร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550” นักสิทธิมนุษยชนทั้งสามให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและขอให้การเพิ่มเติมในภายหลัง

27 พฤศจิกายน 2559 นักสิทธิมนุษยชนทั้งสามเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อให้การเพิ่มเติมในประเด็นที่ได้ให้การปฏิเสธไว้แล้ว และขอให้พนักงานสอบสวนสอบพยานฝ่ายตนเพิ่มเติมจำนวนหนึ่งโดยได้ยื่นหนังสือไว้ พนักงานสอบสวนอนุญาต

12 มกราคม 2560 ทนายความของนักสิทธิมนุษยชนทั้งสามได้พาพยานจำนวน 3 คน เข้าให้การกับพนักงานสอบสวน และ เนื่องจากมีพยานอื่นอีกหลายคนที่ได้ขอให้พนักงานสอบสวนสอบเพิ่มจึงได้ขอให้พนักงานสอบสวนสอบพยานฝ่ายผู้ต้องหาเเพิ่ม พนักงานสอบสวนอนุญาตด้วยวาจา

2 กุมภาพันธ์ 2560 ทนายความของสามนักสิทธิมนุษยชนทั้งสาม ได้รับหนังสือจาก พันตำรวจเอกสาธิต กาญจนาภูวดล ผู้กำกับการ สภ.เมืองปัตตานีว่า ตามที่ทนายความได้ขอให้พนักงานสอบสวนสอบพยานเพิ่มเติมนั้น ได้ปรึกษากับผู้บังคับบัญชาแล้วไม่สามารถอนุญาตได้ขอให้ทนายความนำนักสิทธิมนุษยชนทั้งสามเข้าพบเพื่อส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 แต่ในวันดังกล่าวผู้ต้องหาติดภารกิจ ทนายความและพนักงานสอบสวนจึงกำหนดวันเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.ปัตตานี เพื่อส่งตัวสามนักสิทธิให้พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ในวันที่ เวลา 13.00 นาฬิกา ของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท