เสนอใช้ Negative Income Tax และ Micro Finance แทนแจกเงินให้คนจน

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เสวนา ‘แจกเงินคนจน...สวัสดิการหรือประชานิยม’ นักวิชาการเสนอใช้ Negative Income Tax และ Micro Finance แทนการแจกเงินให้คนจน 
 
26 ก.พ. 2560 กลุ่มนักศึกษาวิชาสัมมนาเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะEco499 ร่วมกับ ศูนย์วิจัยนโยบายและประชาคมอาเซียน คณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ได้จัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง แจกเงินคนจน...สวัสดิการหรือประชานิยม ในช่วงเช้าของวันที่ 26 ก.พ.พ.ศ. 2560 อาคารรัตนคุณากร มหาวิทยาลัยรังสิต โดยมีเนื้อหาสรุปการสัมมนาทางวิชาการดังนี้ 
 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นว่าการแจกเงินจะเป็น “ประชานิยม” หรือ “ระบบสวัสดิการ” ก็ได้ หากพัฒนาระบบการแจกเงินเป็น Negative Income Tax ให้กับผู้มีรายได้น้อย คือ ระบบสวัสดิการเงินโอนสำหรับผู้มีรายได้น้อย ไม่ใช่ “ประชานิยม” ตามความหมายที่สี่ หากแจกเงินเป็นครั้งคราวเมื่อประชาชนเดือดร้อนหรือประสบภัย ถือเป็น มาตรการแบบสังคมสงเคราะห์ ไม่ใช่ระบบสวัสดิการ เป็น “ประชานิยม” หรือไม่ดูที่เจตนาเป้าหมายว่า หวังได้รับความนิยมโดยไม่สนใจความมีวินัยทางการคลังและหลักการการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ดีหรือไม่ เราต้องทำความเข้าใจ คำว่า “ประชานิยม” “ระบบสวัสดิการ” และ ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจน กันก่อน การแจกเงินคนจน นั้น รัฐบาลควรมีการเก็บข้อมูล ติดตามการใช้จ่ายและประเมินผลว่า ประชาชนเอาเงินไปใช้จ่ายทำอะไรบ้างและเกิดผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร และ เงินที่ได้แจกไปถึงกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ ไม่ใช่เกิด Adverse selection คือ คนไม่จนจริงได้รับเงินช่วยเหลือ 
 
ดร.อนุสรณ์ กล่าวถึงคำนิยามของ ประชานิยม ว่าคำนิยามที่หนึ่ง “ประชานิยม” หมายถึง การให้ความสำคัญหรือให้คุณค่าแก่ประชาชน ในยุคกรีกและโรมันโบราณมีการถกเถียงกันมากว่า ประชาชนคนธรรมดาสามัญ รวมไปถึง คนชั้นล่างมีความสำคัญต่อประเทศหรือรัฐหรือไม่และมากน้อยแค่ไหน และคนเหล่านี้ควรมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ระดับไหนและควรมีสิทธิเท่าชนชั้นสูงหรือไม่ ฝ่ายที่สนับสนุนแนวคิดแบบประชาธิปไตยเห็นด้วยกับการที่ประชาชนต้องปกครองตัวเอง และไม่มีความจำเป็นต้องเอาอภิชนมาปกครองอย่างเช่น พระราชาผู้เป็นปราชญ์ (Philosopher King) ตามแนวคิดของอริสโตเติล หรือ เพลโต 
 
คำนิยามที่สอง “ประชานิยม” หมายถึง แนวทางในการพัฒนา เป็นแนวทางการพัฒนาที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองในประเทศแถบตะวันออกซึ่งเน้นไปที่การพัฒนาชนบทและภาคเกษตรกรรม ให้ความสำคัญกับเกษตรกรอิสระ เกษตรกรขนาดเล็กขนาดกลางและระบบสหกรณ์ แนวความคิดประชานิยมแบบนี้เป็นแนวคิดที่ต่อสู้กับแนวคิดที่เน้นหนักพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และการพัฒนาเมือง 
 
คำนิยามที่สาม “ประชานิยม” หมายถึง ประชานิยมในประเทศตะวันตก เช่น รัสเซีย และ สหรัฐอเมริกา ประชานิยมในศตวรรษที่ 19 เกิดขึ้นในรัสเซีย ประชานิยมในยุคนั้น หมายถึง ขบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมที่เห็นว่าประชาชน คือ ส่วนสำคัญที่สุดประกอบไปด้วย ชาวนาเกษตรกร ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนั่นเองประชานิยมที่ใช้คำว่า Populism ในภาษาอังกฤษแท้ๆที่ไม่ใช่การแปลมาจากภาษาอื่น ปรากฏครั้งแรกในปลายศตวรรษที่ 19 เป็นคำที่ใช้เรียกขานพรรคการเมืองและขบวนการเคลื่อนไหวของเกษตรกรในแถบ Midwest ตอนกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา มีการก่อตั้งพรรคประชาชน (People Party) ขึ้นในปี ค.ศ. 1892 และเรียกคนของพรรคนี้หรือคนนิยมพรรคนี้ว่า Populists หรือ พวกประชานิยม พวกนี้มีนโยบายมุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกรและเชื่อว่า เกษตรกรที่เป็น “อิสรชน” จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง พวกประชานิยมนี้มองว่า การเมืองถูกครอบงำโดยพรรคของกลุ่มทุนไม่ว่าจะเป็นพรรคแดโมแครตหรือพรรคริพับริกัน ประชาชนจึงควรมีทางเลือกที่สาม พรรคที่ให้ความสำคัญกับภาคชนบทและเกษตรกร 
 
คำนิยามที่สี่ “ประชานิยม” หมายถึง ประชานิยมในประเทศละตินอเมริกา ประชานิยมแบบละตินอเมริกานั้น ไม่ใช่ขบวนการปฏิรูป หรือ ขบวนการเปลี่ยนแปลงอะไรเป็นเพียงขบวนการทางการเมืองตามปรกติ ที่ใช้มาตรการหรือนโยบายเพื่อหาเสียงหาคะแนนนิยมชิงชัยในการเลือกตั้งเป็นสำคัญ นอกจากนี้ก็ไม่ได้เป็นแนวทางที่ยึดถืออุดมการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองลักษณะใดลักษณะหนึ่ง มุ่งสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างผู้นำกับประชาชนระดับล่าง คนยากคนจนและกรรมการในเมือง ประชานิยมแบบนี้รัฐมีบทบาทสูงในการแทรกแซงและชี้นำเศรษฐกิจและจัดสรรงบประมาณและสวัสดิการให้กับชนชั้นล่างอย่างชัดเจน
 
ดร. อนุสรณ์เสนอให้มีการใช้ ภาษีเงินได้ทางลบ หรือ Negative Income Tax และ Micro Financeเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาประชาชนผู้มีรายได้น้อยหรือคนยากจนแทนการแจกเงิน Microfinance นั้นต้องการให้คนยากจนเข้าถึงสินเชื่อและบริการทางการเงินในระบบได้ การที่รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบอย่าง พิโกไฟแนนซ์ เป็นเรื่องดี ส่วนแนวคิดเรื่อง Negative Income Tax (NIT) ได้รับการกล่าวขานกันอย่างมากในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2505 ซึ่ง Milton Friedman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2519 Freidman เสนอให้ใช้ NIT เพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความยากจน ขณะเดียวกันก็ไม่บิดเบือนกลไกการทำงานของระบบตลาดเสรี มาตรการ NIT ไปประยุกต์ มักจะประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1.หลักประกันรายได้ขั้นต่ำ (Minimum Income Guarantee) หมายถึง การกำหนดว่าจะให้มีการประกันรายได้ขั้นต่ำค่าครองชีพของประชาชนว่าควรอยู่ในระดับใด โดยจะเป็นเส้นเดียวกับเส้นความยากจนหรือไม่ก็ได้ 
 
2.จุดเงินได้สมมาตร (Break – even Point of Income) หมายถึง จุดที่ภาษีทางบวกและทางลบมีค่าเท่ากัน นั่นคือ - ผู้มีเงินได้เกินจุดสมมาตรจะต้องมีหน้าที่เสียภาษี (ภาษีทางบวก) - ผู้ที่มีเงินได้ต่ำกว่าจุดสมมาตรจะได้รับเงินจัดสรรจากรัฐบาล (ภาษีทางลบ) - ผู้ที่มีเงินได้ ณ จุดสมมาตรจะไม่มีหน้าที่ชำระภาษีทางบวกและไม่ได้รับเงินจัดสรรจากภาษีทางลบจากรัฐบาล ทั้งนี้ รัฐบาลอาจกำหนดให้จุดเงินได้สมมาตรมีค่าเท่ากับหลักประกันขั้นต่ำ ซึ่ง Milton Friedman เสนอให้หลักประกันรายได้ขั้นต่ำแก่คนจนเท่ากับจำนวนเงินที่กฎหมายอนุญาตให้ยกเว้นและลดหย่อนภาษีที่ผู้มีรายได้น้อยไม่ได้ใช้ และให้จำนวนนั้นเป็นจุดสมมาตรด้วย ในขณะที่ Robert J.Lampman เสนอให้ใช้เส้นความยากจนเพื่อประกันรายได้ขั้นต่ำและเป็นจุดสมมาตร 
 
และ 3.อัตราภาษีเงินได้ทางลบ (Negative Tax Rate) คือ หากเงินได้สุทธิของผู้มีหน้าที่เสียภาษีติดลบ เพราะเงินได้ที่แท้จริงน้อยกว่าหลักประกันรายได้ขั้นต่ำ ก็ให้นำเงินได้สุทธิคูณกับอัตราภาษีทางลบก็จะเท่ากับเงินโอนที่จะได้รับการจัดสรรจากรัฐ
 
โดยข้อดีและข้อเสีย ของ Negative Income Tax (NIT) ข้อดีได้แก่ 1.สามารถนำไปจัดสวัสดิการให้ครอบคลุมถึงทุกครัวเรือนและบุคคลได้อย่างตรงเป้าหมาย (Well Targeted) 2.ช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานให้แก่คนยากจนที่ได้รับสวัสดิการจากรัฐ 3.การมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือขึ้นอยู่กับรายได้และขนาดของครอบครัว 4.สามารถทดแทน (ตามแนวคิด Freidman) หรือเพิ่มเติม (ตามแนวคิด Lampman) การให้สวัสดิการสังคมอื่น ๆจากรัฐ 5.สามารถนำไปปฏิบัติได้ง่าย มีต้นทุนการบริหารจัดการต่ำ และ 6.การใช้สูตรคำนวณที่ชัดเจน ช่วยหลีกเลี่ยงการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐ ส่วนข้อเสียได้แก่ 1.การช่วยเหลือด้วยเงินสดอาจทำให้ผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือนำไปใช้ในสิ่งไม่จำเป็น และ 2.ประชาชนที่จ่ายเงินภาษีอาจรู้สึกไม่พอใจที่จะต้องจ่ายเงินให้กับคนจน
 
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เห็นด้วยกับ การโอนเงินให้ผู้มีรายได้น้อย หรือ Negative Income Tax และการดำเนินนโยบายบางอย่างของรัฐบาลที่ผ่านๆมาก็ไม่ได้เป็นนโยบายประชานิยมแบบละตินอเมริกาทั้งหมด นโยบายบางอย่างควรจะเรียกว่า นโยบายนิยมประชาชนมากกว่า และเสนอให้มีการจัดตั้งสถาบันการเงินของคนงานขึ้นมา ประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมาก การใช้ประชารัฐโดยเอาทุนขนาดใหญ่ผูกขาดมาขับเคลื่อนจะแก้ปัญหาไม่ได้ 
 
ดร.โชคชัย สุทธาเวศ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า รัฐบาลควรกระจายมั่งคั่งให้กับประชาชนผ่านนโยบายแนวสังคมประชาธิปไตย เห็นด้วยกับ ภาษีรายได้ทางลบ Negative Income Tax จะช่วยแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบได้ หากแจกเงินต้องดูด้วยว่า จะเกิด Negative Externalities ปัญหา Adverse Selection อย่างไร รวมทั้ง Moral Hazard ตอนนี้ กลุ่มแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ได้นำเอาแนวคิด Workfare มาแทนคำว่า Welfare ของแนวคิดแบบรัฐสวัสดิการ ในสมัยรัฐบาลเลือกตั้งบางรัฐบาลไม่สามารถใช้นโยบายแจกเงินได้เพราะจะถูกกล่าวว่าเป็น “ประชานิยม” สร้างความเสียหายวินัยการเงินการคลัง จึงไปใช้นโยบายช่วยเหลือทางด้านค่าใช้จ่ายและจัดสวัสดิการแทนที่จะแจกเงินเหมือน รัฐบาล คสช. (แจกเงินให้ชาวนา ช้อปช่วยชาติหรือห้าง) หรือ รัฐบาลประชาธิปัตย์ (กรณีเช็คช่วยชาติ) รัฐบาลไทยรักไทย (พลังประชาชน/เพื่อไทย) จึงใช้นโยบายรถไฟฟรี รถเมล์ฟรี น้ำประปาไฟฟ้าฟรี หรือ แทรกแซงราคาสินค้าเกษตร ช่วยเหลือคนยากจนแทน 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท