นักวิชาการชี้ศาลปกครองไม่รับฟ้องเพิกถอนคำสั่งหัวหน้าคสช.เว้นผังเมือง ขัดนิติรัฐ

นักวิชาการด้านกฎหมายถกประเด็นศาลปกครองไม่รับฟ้องเพิกถอนคำสั่ง หัวหน้า คสช. เรื่องยกเว้นการบังคับใช้ผังเมือง ระบุอำนาจที่ศาลไม่อาจตรวจสอบละเมิดสิทธิเสรีภาพขัดต่อรัฐธรรมนูญ เปิดช่องให้เกิดกิจการที่เสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน

28 ก.พ. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) จัดเสวนาธารณะที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หัวข้อ “คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คำสั่ง คสช.) ที่ 4/2559 ม.44…อำนาจที่ศาลไม่(อาจ)ตรวจสอบ: กรณีศึกษาคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่องยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองฯ” โดยมีนักวิชาการร่วมเสวนาแสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เปิดทางให้มีกิจการที่เสี่ยงเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในพื้นที่ และเป็นกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

โดยเมื่อปีที่แล้ว เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัด ร่วมกับ EnLAW ได้ยื่นฟ้องหัวหน้า คสช. ต่อศาลปกครองสูงสุด เรื่องขอให้ตรวจสอบทบทวนและเพิกถอนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 ดังกล่าว ด้วยเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและไม่เคารพต่อเจตจำนงของประชาชนที่แสดงออกผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในการวางและจัดทำผังเมือง เป็นการเปิดทางให้มีการดำเนินโครงการที่มีความเสี่ยงก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในพื้นที่ไม่เหมาะสมได้ แต่ต่อมา 4 พ.ย. 59 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา โดยให้เหตุผลว่าคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 4/2559 ออกโดยอาศัยอำนาจตาม ม.44 แห่งรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่บัญญัติให้ถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด ศาลปกครองสูงสุดจึงไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาเพื่อควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายได้อีก ส่งผลให้ EnLAW จัดเสวนาธารณะนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตอนหนึ่งของวงเสวนา จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าวว่า ศาลมีหน้าที่พิทักษ์เสรีภาพของประชาชนและคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ในระบบนิติรัฐหากมีกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่อนุญาตให้มีการบัญญัติ เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช.นี้ ตามหลักนิติรัฐแล้วจะไม่ได้รับอนุญาตให้บัญญัติเป็นกฎหมาย เนื่องจากละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถ้าคำสั่งนี้บังคับใช้ในพื้นที่ใดไม่ว่าจะส่วนกลางหรือท้องถิ่น ศาลปกครองต้องเป็นผู้ดูแลการบังคับใช้เพื่อไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

จันทจิรา กล่าวต่อว่า กลไกของระบบนิติรัฐประกอบด้วย ศาลที่คุ้มครองสิทธิของประชาชน และศาลที่ปกป้องประชาชนด้วยความรู้ทางกฎหมาย ศาลแค่อ่านกฎหมายให้เข้าใจเพียงเท่านี้ก็จะเป็นการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน สิ่งที่ช่วยได้คือคำพิพากษาของศาลที่รัฐบาลทำตาม ในต่างประเทศศาลจะคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม หลักที่ป้องกันไว้ก่อนมีความสำคัญมากและรัฐต้องพิสูจน์ให้แน่ใจว่าไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ส่วนคำสั่ง หัวหน้านี้ มีเงื่อนไขทางอำนาจ ซึ่งจะใช้ได้ต่อเมื่อมีการปฏิรูป เช่นการสร้างผังเมืองเมื่อปี 2518 เป็นไปโดยไม่มีระบบ การพัฒนาต้องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ทำสิ่งที่ไม่ดีให้ดีขึ้น ดังนั้นกรณีคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 หากมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ศาลจะต้องเพิกถอนและตรวจสอบการใช้อำนาจนี้ ที่มาที่ไปการบังคับใช้คำสั่ง หัวหน้า คสช. นี้ มีความชอบด้วยกฎหมายหรือยัง ศาลพร้อมที่จะก้าวหน้าไปกับสังคมแล้วหรือไม่

สมชาย ปรีชาศิลปะกุล  หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ม. 44 เป็นมาตราเดียวที่เสียวไปทั้งประเทศ  ที่เคยสั่งให้ทนายเป็นผู้ต้องหาได้ ประเทศไทยมีปัญหาการทำรัฐประหารไม่ใช่แค่ด้วยรถถังและปืนแต่ยังมีกลไกอื่นๆ ที่สนับสนุน ศาลหรือตุลาการมีบทบาทสำคัญ หากอธิบายด้านวิชาการและสังคม ความเชื่อที่ว่าศาลอยู่บนหลักวิชาการนั้นพังทลายไปหมดแล้ว จากการศึกษางานต่างประเทศพบว่า ประเทศประชาธิปไตยใหม่ในระบบอำนาจนิยม คำถามคือศาลทำอะไรบ้าง ทำประเด็น สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษชน หรือประชาธิปไตย ศาลได้ขยายอำนาจโดดเข้าไปเกี่ยวข้องกับภิวัฒน์ต่างๆ จากงานต่างชาติพบว่า บทบาทของศาลไม่ว่าที่เกาหลี ฟิลิปปินส์และประเทศอื่นจะมีการขยายประเด็นสิทธิมนุษยชนให้กว้างขวางขึ้น

สมชาย กล่าวถึงกรณีประเทศไทยต่อว่า มีศาลที่โดดเข้ามาเล่นการเมืองและเลือกข้าง มีการยึดอำนาจและคอรัปชั่น ศาลทำการสนธิกับการรัฐประหาร เช่นกันกับประเทศที่มีการรัฐประหารบ่อยครั้ง เช่น ละตินอเมริกา ชิลี อาเจนตินา บราซิล และประเทศอื่น คำถามต่อมาศาลถูกใช้ในระบอบอำนาจนิยมและทำหน้าที่ควบคุมสังคมอย่างไร ศาลสร้างความชอบธรรมให้คำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 ศาลรับรองความชอบธรรมให้รัฐบาลและสร้างความสมดุลโดยปรับให้อยู่ในแถวเดียวกัน สร้างความมั่นใจให้มิติเศรษฐกิจในรัฐบาลทหาร ไม่ใช่แค่ทำให้สังคมสงบและเศรษฐกิจ บทเรียนของไทยจำนวนมากพบว่า แยกไม่ออกระหว่างการรัฐประหารกับอำนาจทางเศรษฐกิจ มีความเกี่ยวข้องกันทำให้ศาลตัดสินยุ่งยากขึ้น เช่น การใช้ม.44 ตัดสินคดีจำนำข้าว นำม.44 กลายเป็นปัญหาทางการเมือง โยนให้ศาลตัดสินโดยอ้างวิชาความเป็นธรรม ศาลถูกใช้ในคำสั่งม.44 ดังนี้ 1. ศาลจำกัดอำนาจตัวเอง ศาลปอดแหกพอยึดอำนาจเสร็จศาลถอย 2.ระบบอำนาจนิยมทำให้ศาลสร้างอำนาจขึ้นมาเอง ระบบอำนาจนิยมตั้งศาลพิเศษ โดยในช่วงแรกใช้ศาลทหารเยอะมาก เดาได้ว่าตอนแรก คสช. ไม่แน่ใจศาลว่าจะไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่

สมชาย เสนอต่อว่า การสลายเครือข่ายอำนาจของการบังคับใช้คำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 จะสามารถปกป้องประชาชนและสร้างเครือข่ายที่เป็นประชาธิปไตยขึ้นได้ และข้อเสนอต่อระบบกระบวนการยุติธรรมไทยในหนึ่งระบบที่มีสามมาตรฐาน ในระบบปกติของคำสั่ง คสช. หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ มีการบังคับใช้ ม.44 อย่างกว้างขวางซึ่งอยู่ที่ไหนก็โดนได้ เครือข่ายอำนาจรัฐและผู้สนับสนุนการใช้กฎหมายเป็นไปอย่างเอื้ออาทร และการออกคำสั่งนี้ คิดว่า เราไม่ควรให้จุดตกต่ำไปมากกว่านี้ จุดที่การคุ้มครองสิทธิประชาชนมีปัญหา การยกเว้นผังเมืองฯ จากคำสั่ง ม. 44 สังคมได้รับผลกระทบ เราจะทำอย่างไรให้กับเข้าสู้ระบบที่เท่าเทียมกัน ยิ่งไทยตอนนี้ติดหล่มอำนาจนิยม เราจะปฏิเสธอำนาจ คสช. ไม่ให้มีอำนาจต่อไปอย่างไร คำถามสำคัญคือศาลมีไว้ทำไมในหลักนิติรัฐ มีบทเรียนของศาลในระบบอำนาจนิยมจากข้อสังเกตต่อกระบวนการใช้กฎหมาย

 

สำหรับคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท (กิจการด้านพลังงานและการจัดการขยะ) นั้นออกโดยอาศัยอำนาจตาม ม.44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 โดยเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 59 เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัด ร่วมกับ EnLAW ได้ยื่นฟ้องหัวหน้า คสช. ต่อศาลปกครองสูงสุด เรื่องขอให้ตรวจสอบทบทวนและเพิกถอนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 ดังกล่าว ด้วยเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและไม่เคารพต่อเจตจำนงของประชาชนที่แสดงออกผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในการวางและจัดทำผังเมือง เป็นการเปิดทางให้มีการดำเนินโครงการที่มีความเสี่ยงก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในพื้นที่ไม่เหมาะสมได้ ซึ่งขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายผังเมืองในการกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับความเหมาะสมและศักยภาพของพื้นที่ และในการทำหน้าที่เป็นมาตรการกลไกคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนด้วย คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2559 จึงมิได้เป็นไปเพื่อการปฏิรูปประเทศและการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะดังที่รัฐกล่าวอ้างในการออกคำสั่งและมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขในการออกคำสั่งตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด และแม้คำสั่งดังกล่าวจะออกโดยอาศัยอำนาจตาม ม. 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ซึ่งบัญญัติให้การออกประกาศคำสั่งหรือการใช้อำนาจใดๆตาม ม.44 ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่เครือข่ายภาคประชาชนและมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมเห็นว่า “อำนาจรัฐที่ละเมิดสิทธิประชาชนต้องถูกควบคุมและตรวจสอบได้เสมอ”ตามหลักนิติรัฐและการถ่วงดุลตรวจสอบการใช้อำนาจ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2559 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา โดยให้เหตุผลว่าคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 4/2559 ออกโดยอาศัยอำนาจตาม ม.44 แห่งรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่บัญญัติให้ถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด ศาลปกครองสูงสุดจึงไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาเพื่อควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายได้อีก

ด้าน EnLAW เห็นว่า แนวทางการตีความตามคำสั่งไม่รับฟ้องของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ทำให้การใช้อำนาจของรัฐตาม ม.44 ดังกล่าวซึ่งปัจจุบันมีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. เป็นจำนวนมาก อยู่เหนือกลไกการควบคุมตรวจสอบทั้งหมด แม้ว่าการใช้อำนาจดังกล่าวจะเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายก็ตาม อันเป็นการขัดต่อหลักการถ่วงดุลตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างร้ายแรง และทำให้ประชาชนไม่อาจมีหลักประกันคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่มั่นคงชัดเจน ดังเช่นกรณีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 ที่ศาลปกครองสูงสุดไม่รับฟ้องไว้พิจารณา นอกจากนี้โดยผลของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ผ่านประชามติ หากมีการประกาศใช้แล้วตาม ม.256 กำหนดให้ คสช. สามารถใช้อำนาจออกคำสั่งตาม ม.44 เพิ่มเติมได้ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเข้าปฏิบัติหน้าที่ และม. 279 ให้ประกาศคำสั่ง และการกระทำของ คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งส่งผลให้ประกาศ คำสั่ง คสช. ต่าง ๆ รวมถึงม. 44 จำนวนมากที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมีผลใช้บังคับต่อไป จนกว่าจะถูกยกเลิกเพิกถอนโดยการออกเป็นพระราชบัญญัติหรือมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะมีความยุ่งยากซับซ้อนในการทบทวนแก้ไขเป็นรายฉบับต่อไปในอนาคต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท