เสรี สุวรรณภานนท์ ระบุรายงานอนุฯปรองดอง สปท. สมบูรณ์สุดนำไปปฏิบัติได้ เตรียมเสนอ ป.ย.ป.

ประธาน สปท. เผย รายงานของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษารวบรวมความเห็น วิเคราะห์ประเด็นแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทางการเมือง สมบูรณ์สุด และนำไปปฎิบัติได้ เตรียมเสนอให้ ป.ย.ป. พิจารณา

28 ก.พ. 2560 เสรี สุวรรณภานนท์ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ด้านการเมือง เปิดเผยว่า ได้อ่านรายงานของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษารวบรวมความเห็น วิเคราะห์ประเด็นแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทางการเมืองแล้ว เห็นว่าเป็นรายงานที่ครอบคลุมปัญหาความขัดแย้งในอดีต และข้อเสนอการแก้ปัญหาน่าจะมีผลในทางปฏิบัติได้  โดยยังคงให้ยึดหลักการของกฎหมายและการพิสูจน์ความถูกต้อง ซึ่งผู้ที่กระทำความผิดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

“แต่มีโอกาสได้รับการให้อภัยกลับคืนสู่สังคม โดยอาจจะมีกฎหมายพิเศษมารองรับ ซึ่งไม่น่าจะกระทบต่อความเห็นทางการเมือง ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ จะพิจารณาปรับแก้เพื่อให้สมบูรณ์และเสนอต่อที่ประชุมวิป สปท. ในวันพฤหัสบดีที่ 2 มี.ค. นี้ ว่าจะตัดสินใจนำรายงานนี้ส่งตรงไปที่ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง  (ป.ย.ป.)  หรือส่งให้สปท.พิจารณาในที่ประชุมใหญ่ก่อนส่งให้รัฐบาลรับไปดำเนินการต่อ” เสรี กล่าว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 ก.พ. พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษา รวบรวมความคิดเห็น วิเคราะห์ และสังเคราะห์ประเด็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง ในคณะกมธ. ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งมี สังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธาน เปิดเผยว่า ทางอนุกรรมมาธิการฯ จะนัดประชุมเพื่อสรุปร่างรายงานฯ เรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทางการเมือง ในวันที่ 27 ก.พ. หลังจากช่วงที่ผ่านมา ได้รับฟังความเห็นของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทำรายงานและข้อเสนอต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดอง รวมถึงได้รับความเห็นเป็นเอกสารจากกลุ่มการเมือง และเอกสารความเห็นส่วนตัวของอนุกมธ.ฯ แล้ว เบื้องต้นจะนำข้อเสนอทั้งหมดหารือเพื่อวางกรอบและแนวทางขับเคลื่อนไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งและเสริมสร้างความปรองดอง โดยความเห็นของตนในรายงานจะประกอบด้วย 4 ส่วน คือ

1.สาเหตุของความขัดแย้งและการค้นหาความจริงของเหตุการณ์

2.การอำนวยความยุติธรรม ซึ่งจากการรับฟังความเห็นพบข้อเสนอในหลายระดับ เช่น ชะลอการลงโทษ, การอภัยโทษ, การนิรโทษกรรม, การออกนโยบายหรือมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นต้น ดังนั้นการเขียนเอกสารรายงานข้อเสนอต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจน​ อาทิ จะให้อภัยเรื่องใด, กลุ่มของนักโทษการเมือง หรือแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมก่อนได้รับอำนวยความยุติธรรมต้องพิจารณามูลเหตุจูงใจ ซึ่งขณะนี้ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สถาบันพระปกเกล้าทำวิจัยเพื่อแยกแยะรายละเอียด หากทำแล้วเสร็จทางอนุ กมธ.ฯ จะนำมาพิจารณาประกอบด้วย

3.การเยียวยากลุ่มต่างๆ อย่างครอบคลุม ทั้งผู้เสียชีวิต, ผู้ได้รับบาดเจ็บ, ผู้พิการ, ผู้ที่ทรัพย์สินเสียหาย, ผู้ที่ถูกจับกุมโดยไม่ได้กระทำผิด เบื้องต้นการเยียวยาดังกล่าวต้องทำทั้งในรูปแบบของการเยียวยาเป็นตัวเงินและไม่ใช่เงิน

4.เนื้อหาต่อข้อเสนอการป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดในอนาคตนั้น มีข้อเสนอ อาทิ เปิดพื้นที่ให้ฝ่ายการเมืองหารือหรือประชุมร่วมกัน ,สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกัน, เมื่อเกิดข้อขัดแย้งจะดูแลอย่างไร เบื้องต้นมีแนวทางที่จะใช้กรรมการคนกลางดูแล ทั้งนี้ต้องออกแบบของกรรมการ เช่น การได้มาซึ่งกรรมการ, คุณสมบัติให้เป็นที่ยอมรับ นอกจากนั้นต้องกำหนดหน้าที่เพื่อเป็นกลไกกลางเตือนคู่ขัดแย้ง และประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

“กรรมการกลางนั้น คิดว่าจะมีกฎหมายรองรับ เพื่อให้ได้รับการรับรอง แต่หน้าที่ของกรรมการจะไม่ใช่ออกคำสั่งให้ผู้ใด หยุด หรือ ห้ามกระทำ แต่จะมีหน้าที่เตือนและบอกถึงความเสี่ยงว่าหากกระทำรูปแบบนั้นจะมีความอันตราย มีความรุนแรง มีผู้บาดเจ็บได้ นอกจากนั้นในการแจ้งเตือนนั้น กฎหมายอาจออกแบบให้บุคคลที่ไม่ยอมฟังและทำไปโดยเกิดความเสียหายต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย ซึ่งคนที่ได้รับผลกระทบสามารถนำคำแจ้งเตือนไปฟ้องร้องเอาผิดต่อศาลได้ ทั้งนี้การสรุปรายงานฉบับนี้ ทางอนุฯ เตรียมเร่งพิจารณา และคาดว่าจะส่งให้กมธ.การเมืองของสปท.ได้ไม่เกินสัปดาห์ที่สองของเดือนมีนาคมนี้ เพื่อให้ทันกรอบการทำงานของรัฐบาลเรื่องปรองดองต่อไป” พล.อ.เอกชัย กล่าว
 

เรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย , เนชั่นออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท