วงถกปัญหาที่อยู่อาศัย 'สลัมสี่ภาค' ชี้ ม.44 -นโยบายพัฒนาของรัฐ ซ้ำเติมคนจนเมือง

นักวิชาการผังเมืองชี้รัฐไทยอ่อนเรื่องระบบการเวนคืนที่ดิน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยแนะคนจนเมืองรวมตัวสร้างเครือข่าย ประภาส ระบุต้องสร้างอำนาจต่อรอง-พื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมือง

28 ก.พ. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เวลาประมาณ 09.30 น. ที่อาคารจามจุรี 10 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมการบริหารจัดการเปลี่ยนแปลงสังคม (UNESCO -MOST แห่งประเทศไทย) และเครือข่าย ร่วมจัดประชุมวิชาการหัวข้อ UNBAN INCLUSION: ความรู้กับนโยบายเพื่ออนาคตที่อยู่อาศัยและเมืองที่ยั่งยืน โดยวงประชุมได้นำเสนอปัญหาและแลกเปลี่ยนแนวทางแก้ไข ด้านภาคประชาสังคมระบุปัญหาคนในชุมชนแออัดที่มีปัญหาด้านที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เนื่องจากนโยบายพัฒนาเมืองจากรัฐนั้นไม่มีประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม พร้อมตั้งคำถามกลุ่มคนใดในสังคมที่ได้รับผลประโยชน์แท้จริงจากการพัฒนาเมือง

ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองเพิ่มหลังรัฐจัดระเบียบคนนอกระบบ

นพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า สำหรับปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองมีการแก้ไขมานาน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบและเลือกทานอาหารราคาถูกจากพ่อค้าแม่ค้าตามชุมชนแออัด คนจนเมืองล้วนแล้วแต่ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีซึ่งจะต้องมีหน่วยงานรัฐเข้ามาสนับสนุน การแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยที่ผ่านมาโดยเครือข่ายสลัมสี่ภาคได้ผลักดันนโยบาย เช่น โครงการบ้านมั่นคงที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน ซึ่งภาครัฐได้รับรองวาระการพัฒนาเมืองว่า จะจัดสรรที่อยู่อาศัยให้เพียงพอสำหรับทุกคน และในระดับสากล UNESCO ได้ให้ความสำคัญเรื่องที่อยู่อาศัยและการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศไทยก็มีนโยบายการพัฒนาที่อยู่อาศัยระบุไว้ในแผนยุทธศาสตร์วาระ 20 ปี เช่นกัน

นพพรรณ กล่าวอีกว่า สถานการณ์คนจนเมืองในปัจจุบัน เริ่มมีปัญหาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นหลังรัฐได้เข้ามาจัดระเบียบคนนอกระบบ จากกรณีชุมชนแออัดคลองเตยและชุมชนริมทางรถไฟ การท่าเรือประกาศนำเอาพื้นที่ไปพัฒนา แต่นโยบายการพัฒนาไม่มีการจัดการที่อยู่อาศัยให้คนชุมชน และถ้าคนในชุมชนไม่มีพื้นที่ทำมาหากินแล้ว ในอนาคตคนจนเมืองและคนเร่ร่อนจะมากขึ้น

ชี้ ม.44 -นโยบายพัฒนาเมืองของรัฐ สร้างปัญหาที่อยู่อาศัยกับคนจน

นุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่า นโยบายพัฒนาเมืองของรัฐบาลและการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 44 นั้นสร้างปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับคนจนในชุมชนริมคลองที่เป็นคลองเล็กคลองน้อย คำถามคือรัฐจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความมั่นคงทางที่อยู่อาศัย ซึ่งชาวบ้านเคยผลักดันเรื่องโฉนดชุมชนแต่พวกเรายังขาดความรู้ความคิดจึงทำได้แค่รวมตัวกันและนำเสนอปัญหา อยากรู้ว่าแผนพัฒนาแห่งชาติในระยะเวลา 20 ปีนั้นมีคนจนเมืองอยู่ในการพัฒนาหรือไม่

นุชนารถ กล่าวต่อว่า ตนเองนั้นเคยอยู่ในสลัมและถูกไล่ ตอนนั้นเขานำพื้นที่ไปขายให้กับนายทุน จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ตนเองลุกขึ้นมาต่อสู้ประเด็นที่อยู่อาศัยให้กับคนอื่นด้วย ปัญหานี้ไม่ได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาประเทศ รัฐแก้ไขโดยให้คนในชุมชนอยู่นอกเมืองทำให้ค่าเดินทางไปทำงานสูงขึ้น โครงการบ้านมั่นคงที่พวกเราคิดนั้นถูกต้องแต่รัฐไม่นำไปใช้ กลับประกาศเรื่องจัดการคลองและตั้งงบประมาณแก้ไขเยียวยาที่ประชาชนไม่เต็มใจ คนจนเมืองถูกผลักออกจากการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัยและภาวะการอยู่อย่างแออัดนั้นส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านสุขภาวะของคนในชุมชนอีกด้วย

ชีวิตในคนจนเมือง เสี่ยงปัญหาสุขภาพ

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงประเด็นสุขภาวะว่า การใช้ชีวิตในเมืองส่งผลให้เกิดปัญหาทางสุขภาพ คนจนเมือง คนยากจนและผู้สูงอายุมีแนวโน้มเป็นกลุ่มเสี่ยงมากกว่า ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ทำงานด้านปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสังคม ส่งเสริมสุขภาวะทางจิตใจและสุขภาพให้ดีขึ้น ทั้งกลุ่มคนไร้บ้านและคนจนเมือง เราเป็นหน่วยงานที่ให้ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ

แนะคนจนเมืองรวมตัวสร้างเครือข่าย

ศยามล สายยศ เจ้าหน้าที่แผนงานอาวุโส สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ทางสถาบันฯมีการรับมือและเปลี่ยนแปลงของเมืองโดยนำทฤษฎีมาปฏิบัติมากขึ้น เริ่มจากการแลกเปลี่ยนวิธีคิดของคนในท้องถิ่นก่อน เรากำหนดให้คนจนเมืองอยู่ในกลุ่มเปราะบาง มีตัวชี้วัดระบุชัดว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นขึ้นหรือลง และพยายามอธิบายว่าความเปราะบางนั้นสำคัญ กรณีศึกษางานต่างประเทศด้านทุนทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับคนจนเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญทำให้เกิดทรัพยากร มีการรวมตัวขึ้นมาผลักดันนโยบายรัฐให้มีการสนับสนุนชุมชนและสร้างเครือข่ายชุมชน ไม่ใช่แค่คนชุมชนอยู่กับกลุ่มตนเองแต่ต้องสร้างสัมพันธ์กับเครือข่าย สร้างโมเดลให้คนจนเมืองและสร้างศักยภาพที่รองรับปัญหาภัยพิบัติอีกด้วย

ชี้รัฐไทยอ่อนเรื่องระบบการเวนคืนที่ดิน

สักรินทร์ แซ่ภู่ อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวถึงประเด็นการไล่ที่ว่า รัฐไทยมีข้ออ่อนเรื่องระบบการเวนคืนที่ดิน ระบบเวนคืนที่ดินที่ผ่านมาไม่สามารถตอบโจทย์ที่แท้จริงได้ ในมิติทางสังคมเกิดปัญหาทางชนชั้นและปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านที่ดิน ไม่มีการจัดการจากรัฐส่วนกลางและท้องถิ่น ทั้งนี้ยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างรัฐต่อรัฐ การพัฒนาที่ดินในท้องถิ่นได้จากที่ดินส่วนที่เหลือโดยมีรัฐส่วนกลางจัดสรร พอเงื่อนไขของกลไกไปต่อไม่ได้ การกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษก็ตามมา เช่น กรณีผังเมืองบึงกาฬที่คนในท้องถิ่นไม่ได้มีส่วนร่วมด้านการวางแผน

สักรินทร์ กล่าวต่อว่า มาตรา 44 ทำให้มีความพิเศษ ด้านสิทธิการอยู่อาศัยของคนในพื้นที่เปลี่ยนไป โจทย์ใหญ่คือการจัดการเชิงพื้นที่ สิทธิการวางแผนด้านที่ดิน ผังเมืองกลายเป็นอาชญากร พิสูจน์การจัดการว่าไม่มีความคิด คนที่ทำไม่รู้จักพื้นที่ คนที่มีที่ดินติดอยู่ในผังที่เป็นคนจนและชาวบ้านธรรมดากลับไม่มีสิทธิ์ น่าจะมีการวางแผนผังเมืองที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สุขภาวะและคุณภาพชีวิตมากกว่านี้ ไม่ใช่กันคนจนเมืองออกจากนโยบายการพัฒนา

ต้องสร้างอำนาจต่อรอง-พื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมือง

ประภาส ปิ่นตบแต่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ กล่าวว่า สภาพปัญหาคนจนเมืองเรื่องสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัยจากกรณีการไล่ที่ การพัฒนาเมืองทำให้ซับซ้อนมากขึ้น เกิดปัญหาการไม่ได้อยู่ในพื้นที่เดิม ส่วนการแก้ไขปัญหาของรัฐมีนโยบายมากมายที่ออกด้วยความหวังดี แต่ต้องมีการติดตาม เช่น เป้าหมายการพัฒนายั่งยืน การติดตามสิ่งที่ดำเนินการอยู่นั้นจะเป็นประโยชน์ เนื่องจากนโยบายการแก้ปัญหามีความสลับซับซ้อน การพัฒนาเมืองไปในทิศทางไหนคล้ายกับการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชน รัฐบาลจากระบอบที่มียุทธศาสตร์ใหม่สำคัญมากที่ประชาชนต้องติดตาม

ประภาส กล่าวสรุปว่า สำหรับปัญหาคนจนเมือง สิ่งที่ได้มาคืออำนาจต่อรอง แต่กลไกอีกด้านคือหน่วยงานที่ทำวิจัยกับเมืองต้องมีอำนาจการตัดสินใจ สิ่งที่ต้องพูดถึงคือปัญหาคนจนเมือง ความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดีขึ้นเพื่อนำไปสู่การสร้างอำนาจต่อรอง เราต้องเห็นภาพว่า สังคมที่ผ่านมามีมิติของพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น พรบ.ชุมนุมในวันที่อยู่อาศัย และโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เมืองที่ยั่งยืนต้องมีพื้นที่ให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม ปัญหาสิ่งแวดล้อม น้ำ และการจัดสรรทรัพยากรระหว่างเมืองกับชนบท ต้องคิดถึงทั้งเมืองกับชนบทเพื่อการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ความจริงของชุมชนสลัมหรือชุมชนแออัด คิดว่าปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมากด้านสถานะทางสังคมและพื้นที่ทางการเมือง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท