Skip to main content
sharethis
สนช. ลงมติวาระ 3 ท่วมท้น 202 เสียง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ..... เตรียมประกาศใช้เป็นกฎหมาย หลังลากยาวถก 2 วัน เข้มห้ามขายแก่เด็กไม่ถึง 20 ปี ฝ่าฝืนมีทั้งโทษจำ-ปรับ ห้ามแบ่งขายโทษปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท
 
 
 
เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่าในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ..... ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วในวาระ 2 และ 3 ต่อเนื่องจากเมื่อวันที่ 2 มี.ค. ทั้งนี้ หลังใช้เวลาพิจารณารวม 7 ชั่วโมง 45 นาที ที่ประชุมมีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 202 ต่อ 0 งดออกเสียง 8 เสียง เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
 
ทั้งนี้ การประชุมในวันแรกเป็นการพิจารณาเกี่ยวกับคำนิยาม สัดส่วน คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบระดับจังหวัด โดยช่วงหนึ่งในการพิจารณารายมาตรา มาตรา 4 ว่าด้วยคำนิยามคำว่า “โรคเสพติดผลิตภัณฑ์ยาสูบ” สมาชิก สนช.หลายรายได้อภิปรายคัดค้านและให้ตัดออกทั้งหมด เพราะเป็นการดูถูกและหมิ่นเกียรติผู้สูบบุหรี่ โดยนายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ ก็เสนอให้ตัดคำว่า “โรค” ทิ้ง เหลือเพียงคำว่า “เสพติดผลิตภัณฑ์ยาสูบ” ซึ่งในที่สุดที่ประชุมลงมติเห็นชอบกับคำเสนอของนายวัลลภ
 
นอกจากนี้ เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ก็มีสมาชิกอภิปรายคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการตัดลักษณะต้องห้ามของ กมธ. ที่ระบุว่า “เป็นผู้เสพติดผลิตภัณฑ์ยาสูบ” เป็นกรรมการผู้ทรงวุฒิ โดย สนช.ต่างอภิปรายทำนองเดียวกันว่า รู้สึกกระอักกระอ่วนใจ อยากให้คงข้อห้ามดังกล่าวไว้ รวมทั้งบัญญัติใช้กับทั้งคณะกรรมการ ไม่ใช่บังคับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพียงอย่างเดียว โดยเปรียบเทียบว่า พ่อสอนลูกว่าห้ามสูบบุหรี่ แต่ตัวพ่อเองยังสูบบุหรี่อยู่ เป็นสิ่งไม่เหมาะสม ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ในฐานะประธาน กมธ. ชี้แจงว่า กมธ.ได้ทบทวนแล้วเห็นว่า หากห้ามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและปลัดกระทรวงต่างๆ ไม่ให้สูบบุหรี่ ก็จะกลายเป็นปัญหา เพราะก็ไม่ทราบว่า รมต.และปลัดกระทรวงสูบบุหรี่หรือไม่ ซึ่งสุดท้ายที่ประชุมใหญ่ลงมติเห็นชอบให้คงตามที่ กมธ.แก้ไข ด้วยคะแนน 209 ต่อ 14 เสียง
 
สำหรับการพิจารณาในวันที่ 3 มี.ค.นั้น เป็นการพิจารณาในหมวดควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ หมวดการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พนักงานเจ้าหน้าที่ บทกำหนดโทษ ตั้งแต่มาตรา 38 ถึงมาตรา 79 ซึ่งที่ประชุม สนช.เห็นด้วยตามที่ กมธ.แก้ไข
 
จากนั้น นพ.เจตน์ได้กล่าวต่อที่ประชุมในตอนท้ายว่า กฎหมายฉบับนี้ใช้มาตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหานักสูบหน้าใหม่ได้ จึงต้องปรับปรุงเพื่อให้กฎหมายมีความสมบูรณ์ โดยกฎหมายที่ออกไปนี้ น่าจะป้องกันเยาวชนเป็นนักสูบหน้าใหม่ที่มีปีหนึ่งมีจำนวนถึง 2 แสนคนลดลงได้
 
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบมีทั้งสิ้น 79 มาตรา โดยสาระสำคัญที่น่าสนใจ อาทิ มาตรา 6 ตั้งคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ 23 คน โดยมี รมว.สาธารณสุขเป็นประธาน มาตรา 7, กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ การตั้งคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัด ตามมาตรา 16 และ 21
 
ส่วนสาระสำคัญของ พ.ร.บ.นี้ อยู่ที่มาตรา 26 กำหนดไม่ให้ขายหรือให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หากฝ่าฝืน ตามมาตรา 53 กำหนดระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังมีมาตรา 39 ที่กำหนดไม่ให้ผู้ใดผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพื่อขายในราชอาณาจักรประเภทบุหรี่ซิกาแรตที่มีขนาดบรรจุต่ำกว่า 20 มวนต่อซอง หรือต่อภาชนะบรรจุบุหรี่ซิกาแรต ซึ่งตามมาตรา 65 ระบุบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 300,000 บาท และห้ามไม่ให้มีการแบ่งขายผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรต โดยมาตรา 65 ระบุว่าผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net