Skip to main content
sharethis

อนุกรรมการด้านสิทธิสตรี กสม. จัดงานเชิดชูหญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เนื่องในวันสตรีสากล 8 มี.ค. ชี้นักสิทธิหญิงถูกข่มขู่ คุกคาม ฟ้องร้องดำเนินคดีมากขึ้น อังคณาแนะรัฐควรออกมาตรการคุ้มครอง-จริงใจในการแก้ปัญหา

6 มี.ค.2560 คณะอนุกรรมการด้านสิทธิสตรี ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแหงชาติ (กสม.) จัดงานเชิดชูเกียรติหญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในโอกาสวันสตรีสากล ประจำปี 2560 เพื่อรณรงค์ให้สังคมไทยตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของผู้หญิงที่มีส่วนสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างการเปลี่ยนแปลงและยกระดับสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย

โดยงานในครั้งนี้ มีผู้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ “ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” จำนวน 8 คน ได้แก่ ภิกษุณีธัมมนันทา, กลุ่มสตรีเครือข่ายคนรักษ์เมืองเทพา จังหวังสงขลา, กลุ่มรักษ์บ้างแหง จังหวัดลำปาง, พนา เจริญสุข, มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทย, คะติมะ หลีจ๊ะ, ณัฐพร อาจหาญและเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จังหวัดกระบี่


อังคณา นีละไพจิตร

อังคณา นีละไพจิตรกล่าวเปิดงานโดยเล่าถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยว่า ปัจจุบันทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเมื่อเดือน ธ.ค. ปี2541 สหประชาชาติได้ให้การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยการปกป้องนักสิทธิมนุษยชน (UN Declaration on Human Rights Defenders) ซึ่งรับรองการทำหน้าที่ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ดี  ยังพบว่า  การทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทำให้เกิดอันตรายต่อตัวพวกเขาเอง มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจำนนวนมากที่ถูกข่มขู่ คุกคาม ทำร้ายและถูกฟ้องร้องดำเนินคดี จนทำให้เกิดความหวาดกลัว และหลายครั้งก่อให้เกิดอันตรายจนถึงแก่ชีวิต

“แม้แนวคิดเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศจะได้รับการยอมรับมากขึ้นในโลกปัจจุบัน ท้าทายทัศนคติดั้งเดิมของสังคม แต่พื้นที่ของผู้หญิงในการกำหนดนโยบายหรือในการต่อสู้ยังพบน้อยมาก แม้แต่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็พบว่า มีผู้ชายถึงร้อยละ 95 ซึ่งส่งผลให้การออกกฎหมายต่างๆ ขาดการมีส่วนร่วมของผู้หญิง อย่างไรก็ตาม แม้พื้นที่สาธารณะของผู้หญิงจะถูกจำกัด แต่ความจริงที่ว่า ในทุกการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ประชาธิปไตยและการปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้หญิงคือผู้ที่เข้มแข็งและมีบทบาทอยู่ในแถวหน้ามาโดยตลอด เพื่อร่วมต่อต้านความไม่เป็นธรรมของผู้หญิง นอกจากปกป้องคนในครอบครัวแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นความมีส่วนร่วมในการสร้างธรรมอภิบาล และสถาปนาความยุติธรรมให้เกิดขึ้นสังคม

“แต่ในขณะที่ผู้หญิงพยายามทำทุกอย่างเพื่อได้มาซึ่งความเป็นประชาธิปไตย ความเป็นธรรม และปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้หญิงกลับต้องเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติซ้ำซ้อนของสังคมและวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีความพยายามลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เสียงของผู้หญิงนั้นไม่ถูกได้ยิน หรือรับฟังเมื่อเทียบกับผู้ชาย

“ผู้หญิงหลายคนเมื่อมีโอกาสก้าวเข้าสู่บทบาทของผู้นำ ก็มักถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือใส่ร้ายด้วยเรื่องส่วนตัวเพื่อให้ขาดความชอบธรรม ในขณะที่ผู้ชายไม่พบการเลือกปฏิบัติด้วยอคติเช่นนี้

“แม้จะมีผู้หญิงที่ออกมายืนแถวหน้าเพื่อทวงถามความยุติธรรม และปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่ในขณะเดียวกันผู้หญืงก็มีวิถีชีวิตของความเป็นผู้หญิง ผู้หญิงบางคนต่อสู้ในขณะที่ตั้งครรภ์ ให้นมบุตร ดูแลลูกที่ยังเล็ก รวมถึงพ่อแม่วัยชรา การเรียกร้องความเป็นธรรมของผู้หญิงจึงมีความซับซ้อนมากกว่าผู้ชาย ในขณะที่ผู้หญิงหลายคนปกป้องสิทธิ และความยุติธรรมให้ผู้อื่น พวกเธอหลายคนก็เผชิญกับความรุนแรงในครอบครัว หรือความรุนแรงทางเพศ ด้วยการถูกคุกคามทางเพศทั้งจากคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงานหรือกลุ่มอิทธิพลที่ต่อต้านการเคลื่อนไหวของพวกเธอ

“ปัจจุบันแม้การสังหารและการบังคับบุคคลสูญหายในหมู่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะลดลง แต่รูปแบบการคุกคามใหม่อย่างการฟ้องร้องดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิทำให้การต่อสู้นั้นมีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะพวกเธอต้องคอยหาเงินทุนประกันตัวเอง เพื่อจ้างทนายความ หรือแม้แต่การเดินทางไปศาลแต่ละครั้ง ก็ต้องใช้เงิน นั่นทำให้พวกเธอต้องขาดงาน ขาดรายได้ในขณะที่ต่างมีภาระต้องดูแลครอบครัวควบคู่ไปด้วย” อังคณากล่าว

อังคณากล่าวว่า ปัจจุบันพบว่ามีผู้หญิงออกมาทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนมากขึ้นและดูเหมือนว่าจะมากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงมักยืนแถวหน้าในทุกการเรียกร้องความยุติธรรม ปกป้องสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร เด็กรุ่นใหม่เริ่มหันมาสนใจปัญหาในชุมชนของตนเองและร่วมมือกับกลุ่มแม่ๆ เพื่อพิทักษ์รักษาบ้านเกิดของตน แม้ถูกคุกคาม ฟ้องร้อง ดำเนินคดี แต่ก็ไม่ทำให้พวกเธอลดละความหวังและความตั้งใจในการปกป้องสิทธิมนุษยชน และบ่อยครั้งคนที่ออกมาต่อสู้มักถูกมองว่า เป็นกลุ่มคนที่ขัดขวางและต่อต้านการทำงานของกลุ่มอิทธิพล

“ในฐานะคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ดิฉันได้มีโอกาสพบนักสู้มือเปล่าเหล่านี้มากมายในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ดิฉันขอบคุณผู้หญิงทุกคนที่ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างกล้าหาญ ท่ามกลางการถูกข่มขู่ คุกคาม ผู้หญิงสามัญที่ไม่เคยสิ้นหวัง ไม้ท้อแท้และมีความพยามเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าแก่คนรุ่นต่อไป ผู้หญิงที่อาจไม่มีใครรู้จักหรืออาจจะถูกตีตราว่าเป็นคนไม่ดี เป็นผู้ต้องหา เป็นนักโทษจากการต่อต้านรัฐ ขัดคำสั่งเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ดิฉันเชื่อว่าสิ่งที่พวกเธอทำ ได้พิสูจน์ให้สังคมเห็นคุณูประการที่ยิ่งใหญ่ สร้างแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ให้แก่คนรุ่นต่อๆ ไป เราทุกคนควรระลึกถึงและควรขอบคุณพวกเธอ

“ในโอกาสนี้ ดิฉันขอส่งสารไปยังรัฐบาล ให้รีบเร่งดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้อง คุ้มครองนักสิทธิมนุษยชนทุกคน โดยเฉพาะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง รัฐต้องไม่ให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพื่อให้พวกเขาหยุดพูด หรือหยุดการเคลื่อนไหวในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิ พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคน มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อตัวเองและชุมชน ในกรณีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารและดำเนินคดี รัฐต้องให้ความสำคัญในการสอบสวน ต้องเข้าร่วมการสังเกตการณ์คดี และพยายามทุกวิถีทางให้มีการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย” อังคณาทิ้งท้าย

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวถึงความเป็นมาของวันสตรีสากล โดยเมื่อวันที่ 8 มี.ค.2400 หรือกว่า 160 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ผู้หญิงโรงงานทอผ้าในประเทศสหรัฐอเมริกาถูกใช้แรงงานอย่างหนัก วันละ 16-17 ชั่วโมงโดยไม่มีหลักประกันใดๆ นานวันเข้า จนถึงวันหนึ่งที่การถูกละเมิดสิทธิ การถูกกดขี่ข่มเหงถึงจุดแตกหัก พวกเธอประท้วงเพื่อขอความเป็นธรรม ขอสิทธิความเป็นมนุษย์ว่าพวกเธอเป็นคนไม่ใช่เครื่องจักร เเต่ในที่สุด ก็มีคนลอบเผาโรงงานจนทำให้แรงงานหญิง 119 คนนั้นเสียชีวิตในกองเพลิง

ต่อมา เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2450 กลุ่มผู้หญิงทอผ้าก็ได้ลุกขึ้นมาประท้วงอีกครั้ง โดยยื่นสองข้อเสนอแก่รัฐ คือให้รัฐบาลคุ้มครองสวัสดิภาพการทำงานของพวกเขา และเสนอให้รัฐนั้นยุติการใช้แรงงานเด็ก

หลังจากนั้นการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงก็เริ่มก่อรูปขึ้นเรื่อยๆ มีการประกาศรับรองการทำงาน โดยกำหนดให้มีการใช้แรงงานตามหลัก 888 คือทำงาน 8 ชั่วโมง ทำกิจกรรมที่ชอบ 8 ชั่วโมงและพักผ่อน 8 ชั่วโมง จนกระทั่งประกาศเป็นวันสตรีสากลในที่สุด

ทิชากล่าวว่า กว่า 100 ปีที่ผ่านมา การต่อสู้ที่เกิดขึ้นก็ยังไม่หายไป ยังคงมีการต่อสู้และยิ่งซับซ้อนมากขึ้น คำว่าสิทธิมนุษยชนจึงสามารถลื่นไหลไปได้เรื่อยๆ การที่ผู้หญิงปรากฎตัวในที่สาธารณะจึงนับเป็นตัวอย่างของพลวัตรในสังคมที่ท้าทาย ทุกวันนี้ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมีส่วนอย่างมากในการร่วมปกป้องสิทธิที่ดิน เหมือง ป่าไม่ แม่น้ำ ฯลฯ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นกลไกหรือมีผลประโยชน์ของชุมชนและแผ่นดิน

ต่อจากนั้น มีเวทีอภิปราย “ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน: การขับเคลื่อนเพื่อความยุติธรรมในสังคม” โดยร่วมอภิปรายโดยผู้ที่ได้รับรางวัล ซึ่งมีนัยนา สุภาพึ่ง อนุกรรมการด้านสิทธิสตรีนำอภิปราย

ภิกษุณีธัมมนันทา กล่าวในเวทีอภิปรายว่า พระพุทธเจ้าเคยประกาศชัดเจนว่า ผู้หญิงมีความสามารถในกานบรรลุธรรมได้เช่นเดียวกับผู้ชาย ซึ่งการบวชเป็นภิกษุณีของผู้หญิงนั้นนอกจากจะท้ายระบบวรรณะแล้ว ยังท้าทายเรื่องศักยภาพของความเป็นมนุษย์ โดยในช่วงบวชแรกๆ นั้นโดนโจมตีอย่างมาก แต่ก็สามารถผ่านมาได้เพราะยึดหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา จากกรณีนี้จึงทำให้เธอเห็นว่า ผู้หญิง ความรุนแรง ความทุกข์ยากของคน และความไม่ยุติธรรมนั้นเป็นรูปธรรมที่เห็นชัดที่สุด จึงต้องต่อสู้กับเรื่องเหล่านี้ควบคู่กับการรักษาความสงบภายในจิตใจ

คะติมะ หลีจ๊ะ หญิงชนเผ่าลีซูกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ตอนตนเองเด็กๆ ก็พบเจอกับการเลือกปฏิบัติและการถูกละเมิดสิทธิอยู่บ่อยๆ แต่ก็เพิกเฉยและไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหา จนกระทั่งเมื่อพ่อของเธอโดนยิงจากสาเหตุความขัดแย้งเรื่องที่ดินและอคติทางชาติพันธุ์ โดยเผ่าลีซออาศัยในชุมชนสันป่าเหือง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มาอย่างยาวนาน แต่กลับถูกบอกว่า เผ่าของเธอนั้นบุกรุกพื้นที่ของรัฐ เธอจึงต้องลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ครอบครัว และชุมชนของเธอ

แวววรินทร์ บัวเงิน ตัวแทนกลุ่มรักษ์บ้านแหง จ.ลำปาง กล่าวว่า ปัจจุบันในชุมชนมีความขัดแย้งกรณีคัดค้านสัมปทานเหมืองแร่ ถ่านหินลิกไนต์พื้นที่กว่า 1,500 ไร่ ชาวบ้านถูกฟ้องในหลายคดี และเป็นโจทก์ยื่นฟ้องหลายคดี การต่อสู้นี้ยาวนานกว่า 7 ปีแล้ว รวมทั้งคนทำงานก็ล้วนถูกเจ้าหน้าที่ทหารข่มขู่ คุมคาม และการขู่ฆ่า ด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบทั้งการถูกสะกดรอยติดตามตัว การคุกคามโดยเจ้าหน้าที่ทหาร และการขู่จะอุ้มหายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ด้านตัวแทนชาวบ้าน อ.คลองเหนือ จ.กระบี่ เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินมักมีผู้หญิงเป็นแนวหน้า เพื่อคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยเธอกล่าวว่าพื้นที่นี้เป็นที่พักพิงของสัตว์อนุรักษ์หลายสายพันธุ์ รวมไปถึงเป็นพื้นที่นี้ เป็นพื้นที่ที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของชาวบ้าน

ณัฐพร อาจหาญ หญิงนักปกป้องสิทธิพลเมืองและการเมืองจากอีสาน ที่ต่อสู้เพื่อคัดค้านการทำโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ส่งผลกระทบให้เกิดสารพิษ โดยเธอกล่าวว่า การต่อสู้เรื่องดังกล่าวจะต้องมีจังหวะท้าทายใหม่ๆ ที่ขยับออกไปจากเรื่องที่เฉพาะกลุ่มมากๆ เช่น การขยับไปพูดถึงเรื่องการเมือง เพื่อให้สังคมเห็นและตระหนักถึงเรื่องความเท่าเทียมมากขึ้น

รอกีเย๊าะ สะมะแอก กลุ่มสตรีเครือข่ายคนรักษ์เมืองเทพา จ.สงขลา กล่าวว่ากลุ่มของตนนำเสนองานวิจัยของนักวิชาการท้องถิ่นทันทีหลังรู้ว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินจะทำให้เกิดมลพิษ แต่กลับพบว่า บริษัทเอกชนได้เข้ามาสร้างท่าเทียบเรือและตอกเสาเข็มแล้ว จนทำให้ชาวบ้านไม่สามารถทำประมงได้ และไม่มีการชดเชยเยียวยาใดๆ

ตัวแทนจากมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ทางเครือข่ายมีเป้าหมายสนับสนุนให้กะเทยในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยดำเนินงานเก็บข้อมูลและผลิตชุดข้อมูลความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกะเทย รวมทั้งรณรงค์สร้างความเข้าใจในตัวตน และสิทธิของกะเทยและสร้างการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมอื่นๆ ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net