ดูหนังดัตช์ท่ามกลางกระแส “มุสลิมหัวรุนแรง” และ “วิกฤตผู้ลี้ภัย” ในเนเธอร์แลนด์ 2

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ภาษาดัตช์และการปรับตัวของผู้ลี้ภัย

Miss Keat’s children กำกับโดย Peter Lataster และ Petra Lataster-Czisch สร้างความรื่นรมย์มากกว่าจนถึงขั้นหัวเราะออกมาได้บ้าง ด้วยความใสซื่อและตรงไปตรงมาของเด็กๆที่เป็นตัวนำของเรื่อง ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนประถม Het Palet ในเมือง North Brabant Hapert ทางตอนใต้ของเนเธอร์แลนด์ ผู้กำกับทั้งสองใช้แนวทางภาพยนตร์แบบสังเกตการณ์ (observational cinema) ใช้มุมกล้องในระดับสายตาเด็ก เพราะต้องการให้เด็กเป็นตัวเดินเรื่อง โดยที่ไม่มีเสียงบรรยายประกอบ หนังเสนอประเด็นไม่ซับซ้อน เป็นเรื่องเกี่ยวกับปรับตัวในโรงเรียนและการเรียนภาษาดัตช์และคณิตศาสตร์ของเด็กๆผู้ลี้ภัยในห้องเรียนของครู Keat ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญที่ทำให้สารคดีได้เสนอมุมความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนตัวเล็กๆเหล่านี้ เพราะครู Keat ใช้ความละเอียดอ่อน ความเข้าใจ ความเอาใจใส่ และความอดทนในการสื่อสารกับเด็กที่มีประสบการณ์หรือได้รับผลกระทบจากสงครามมาก่อน บางคนปรับตัวได้ดี บางคนสนุกกับการได้มาเรียนสิ่งใหม่ๆ แต่บางคนอาจต้องใช้เวลาเพื่อลืมเรื่องเลวร้ายจากสงครามที่ประสบมาและยังฝังใจพวกเขาอยู่


ที่มาภาพ:
http://www.kempenkind.nl/nieuws/56/IDFA-nominatie-voor-film-Het-Palet

นอกเหนือจากประเด็นข้างต้นที่ผู้เขียนเรียนรู้จากสารคดีแล้ว สิ่งที่แทรกอยู่ในหนังซึ่งอาจเป็นมุมเล็กๆที่สะท้อนให้เห็นในบริบทใหญ่ของนโยบายผู้ลี้ภัยของเนเธอร์แลนด์คือการเรียนภาษาดัตช์ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายหลอมรวมผู้ลี้ภัยเข้ากับสังคมดัตช์ตามกฎหมายบูรณาการพลเมือง Integration Act หรือ Wet Inburgering ในภาษาดัตช์) ที่มีผลตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา รัฐบาลดัตช์เริ่มแนวคิดการเรียนภาษาดัตช์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคม “เริ่มต้นด้วยภาษา” (It begins with language หรือ Het begint met taal ในภาษาดัตช์) ตั้งแต่ทศวรรษท1980 จนถึงกลางทศวรรษที่ 1990 รัฐบาลดัตช์ริเริ่มและดำเนินโครงการศึกษาด้านภาษาและวัฒนธรรมในชนกลุ่มน้อย ที่ยังขึ้นอยู่กับความสมัครใจมากกว่าบังคับ ในปลายทศวรรษที่ 1990 เป็นช่วงที่ประเทศก้าวสู่การแข่งขันทางเศรษฐกิจและต้องการจัดระบบแรงงานตามประเทศแหล่งกำเนิดให้ชัดเจนมากขึ้น ทำให้ในปี 1998 รัฐบาลออกกฎหมายกำหนดให้มีการจดทะเบียนสำหรับผู้ที่อพยพมาจากประเทศในข้อตกลงเชงเกน (Schengen areas) และพำนักอาศัยในเนเธอร์แลนด์ไม่นานนักหรือมาใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายชัดเจนในการใช้กฎหมายนี้กับผู้อพยพที่มาจากประเทศตุรกี โมร็อกโก หมู่เกาะแอนทิลลีส และสุรินัม คนกลุ่มนี้ต้องเข้ารายงานตัวกับเทศบาลเมือง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและบันทึกประวัติ ข้อมูลความเป็นมา และความสามารถด้านภาษาดัตช์ เพื่อเป็นหลักประกันในการรับสวัสดิการและความช่วยเหลือของรัฐในขณะเดียวกัน จากนั้นคนกลุ่มนี้ต้องเข้าฝึกภาษาและทักษะด้านสังคมต่างๆเป็นเวลา 600 ชั่วโมงภายใน 1 ปีหลังจากเดินทางเข้ามาในประเทศ

ช่วงทศวรรษถัดมา ปี 2003 รัฐออกมาตรการที่ชัดเจนขึ้น กำหนดให้การเรียนภาษาดัตช์ระดับเบื้องต้นเป็นส่วนหนึ่งในการขอโอนสัญชาติ (Naturalization) เพื่อสอดรับกับแนวคิด “หนึ่งชาติ หนึ่งภาษา” (One nation, one language) กระทั่งในปี 2006 รัฐสภาดัตช์ประกาศให้มีการสอบบูรณาการพลเมือง โดยเริ่มต้นจากการเรียนภาษาดัตช์และทักษะทางสังคม สำหรับผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และชาวต่างชาติที่แต่งงานกับชาวดัตช์  ควบคู่ไปกับนโยบายด้านการให้สัญชาติ รัฐบาลพยายามสร้าง “ความเป็นดัตช์” หรือ “ชาตินิยมแบบดัตช์” (Dutch nationalism) ให้เข้มแข็งขึ้นในด้านอื่นๆด้วย เช่น ในปี 2007 รัฐมีแนวคิดปลูกฝังและสืบสานความเป็นดัตช์โดยการสร้างพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติแห่งใหม่ที่เมืองอารห์เนม (Arnhem) ตามแนวคิด “บ้านประวัติศาสตร์” (Haus der Geschichte) ของเยอรมนีที่สร้างในเมืองบอนน์ (Bonn) และ ไลพ์ซิก (Leipzig) และในปี 2008 รัฐบาลดัตช์ริเริ่มหลักสูตรประวัติศาสตร์ของชาติในโรงเรียนประถม เป็นต้น

สำหรับผู้ลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามในประเทศซีเรียและอื่นๆ เมื่อได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัยและหากต้องการพำนักอาศัยในระยะยาวในเนเธอร์แลนด์ พวกเขาต้องปรับตัวในการเรียนภาษาดัตช์เช่นเดียวกัน ในหนัง Miss Keat’s children ในโรงเรียนประถมที่หนังเรื่องนี้ไปสังเกตการณ์ ในหลายฉาก ครู Keat พยายามให้นักเรียนผู้ลี้ภัยใช้ภาษาดัตช์ในการสื่อสาร และกระตุ้นให้เด็กๆเข้าไปสื่อสารและสมาคมกับเด็กดัตช์ในโรงเรียนด้วย แม้ว่าเด็กๆยังแอบพูดภาษาอารบิกอยู่ก็ตาม การปรับตัวของเด็กๆในเรื่องคือจุดเริ่มต้นของการหลอมรวมเข้ากับสังคมดัตช์ตามที่นโยบายของรัฐบาลได้วางไว้ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลเองก็เผชิญกับปัญหาท้าท้ายมากขึ้นในแง่ของการจัดการและงบประมาณในการชั้นเรียนภาษาดัตช์ เช่นในช่วงปีกว่าที่ผ่านมา ผู้ลี้ภัยบางส่วน (โดยเฉพาะผู้ใหญ่) แสดงความไม่พอใจต่อการเรียนการสอนภาษาดัตช์ที่รัฐบาลจัดการ บางคนบ่นว่าได้เข้าเรียนภาษาเพียง 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับการปรับตัว และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเรียนเองผ่านโปรแกรมการกู้ยืมที่จัดการโดยหน่วยงานของกระทรวงการศึกษา เช่นเดียวกับเทศบาลเมืองหลายแห่งที่เห็นว่ารัฐบาลกลางยังให้การสนับสนุนในเรื่องที่พักอาศัยและกระบวนการปรับตัวให้เข้ากับสังคมดัตช์ไม่เพียงพอต่อความจำเป็นและความต้องการของผู้ลี้ภัย ซึ่งประเด็นนี้เชื่อมโยงกับเนื้อหาของสารคดี Stranger in paradise ที่จะกล่าวในส่วนต่อไป

วิกฤตผู้ลี้ภัยกับความถูกต้องทางการเมือง

Stranger in paradise โดยผู้กำกับ Guido Hendrikx ที่ทำสารคดีขนาดยาวเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ทำให้คนดูต้องทิ้งทฤษฎีที่ว่าสารคดีต้องผลิตมาจากสถานการณ์จริงหรือบุคคลที่มีอยู่จริง แต่บางส่วนในหนังเป็นการจัดฉากให้นักแสดงชายชาวดัตช์รับบทเจ้าหน้าที่พิจารณาการให้สถานะผู้พักพิงแสดงกับผู้ลี้ภัยจริงๆ การสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษในหนังของเจ้าหน้าที่และผู้ลี้ภัยเกิดขึ้นที่เกาะ Lampedusa ของอิตาลี บริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่ผู้อพยพจากทวีปแอฟริกาส่วนใหญ่ใช้เป็นประตูก่อนการเหยียบแผ่นดินทวีปยุโรป ผู้กำกับสร้างสถานการณ์ห้องเรียนที่มีผู้ลี้ภัยจากประเทศต่างๆ ราว 15 คน ในสารคดีจึงเป็นบทที่เขียนขึ้นมาในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่สอนบทเรียนให้กับผู้ลี้ภัย ขณะที่ผู้ลี้ภัยเองทราบเพียงว่าพวกเขามาทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ปฏิกิริยาและการตอบโต้จึงเป็นสถานการณ์ที่ตัวผู้แสดงต้องรับมือและเล่นไปกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า (improvisation) มุมมองของผู้กำกับหนังจึงพยายามสะท้อนถึงความไม่แน่ใจของคนจากประเทศยุโรปตะวันตกที่เคยเป็นมหาอำนาจ และมีความเจริญทางวัตถุมากกว่า ว่ามีทัศนะอย่างไรต่อการรับผู้ลี้ภัยที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

สถานการณ์ถูกจัดขึ้นเป็น 3 ฉาก ฉากแรกเจ้าหน้าพิจารณารับผู้ลี้ภัยแสดงทัศนะให้เห็นว่าการที่ต้องรับผู้ลี้ภัยเข้ามานั้น ประเทศยุโรปที่เข้าร่วมรับโควต้าผู้ลี้ภัยอย่างเนเธอร์แลนด์ต้องเสียงบประมาณในการดำเนินการและให้ความช่วยเหลือต่อผู้ลี้ภัยเป็นจำนวนเท่าไร ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่สวนกระแส “ต้อนรับผู้ลี้ภัย” (Refugees Welcome) อย่างสิ้นเชิง เขาในฐานะคนยุโรปไม่ได้ต้องการต้อนรับผู้ลี้ภัย แม้ว่าผู้ลี้ภัยต้องการให้คนยุโรปช่วยเหลือก็ตาม ในตอนหนึ่งของฉากนี้ เจ้าหน้าที่อธิบายว่าคนลี้ภัยควรจะไปสร้างรัฐสวัสดิการในประเทศของตนเอง ไม่ใช่การมาพึ่งพิงจากประเทศในยุโรป ส่วนฉากที่สองนั้นให้ภาพตรงกันข้ามกับฉากแรก สร้างความหวังของทั้งสองฝ่ายคือสังคมยุโรปและผู้ลี้ภัย เจ้าหน้าที่รัฐต้อนรับผู้ลี้ภัยอย่างยินดี เพราะเชื่อว่าทั้งสองได้พึ่งพิงกัน และอาจสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข้งในสังคมที่เกื้อกูลกัน และฉากที่ 3 คือการอธิบายถึงสถานการณ์ที่เนเธอร์แลนด์จะรับผู้ลี้ภัยเข้ามาพำนักในประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงหลักการที่ไม่คงเส้นคงวานักของการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ และการตัดสินใจที่อยู่บนหลักฐานที่ค่อนข้างอ่อนในหลายกรณี จนทำให้หลายคนที่ต้องการลี้ภัยถูกปฏิเสธได้รับสถานะผู้ลี้ภัย


ที่มาภาพ: http://www.zeppers.nl/en/film/stranger-paradise

หลังจากดูหนังจบ ผู้เขียนเริ่มสนใจหลักการให้สถานะผู้ลี้ภัยของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ จึงหาข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์อธิบายว่าบุคคลใดก็ตามที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในเนเธอร์แลนด์ ต้องเป็นบุคคลที่ตกอยู่ในอันตรายหากเดินทางกลับไปยังประเทศบ้านเกิดของตนเอง ในขณะที่หลายประเทศในยุโรปอาจสร้างเงื่อนไขของการตกเป็นอันตรายต่างกันออกไป เนเธอร์แลนด์เองมีรายชื่อประเทศที่ถือว่ามีความปลอดภัยไว้ด้วย นั่นหมายความว่าบุคคลที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศในรายชื่อที่ระบุว่าปลอดภัยไม่สามารถขอสถานะผู้ลี้ภัยได้ และรายชื่อประเทศมีการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมอยู่ตลอด และเงื่อนไงอีกประการซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมดัตช์ที่ปรากฏอยู่ในสารคดีด้วยคือ ผู้ลี้ภัยคนหนึ่งบอกว่าต้องการไปอยู่ยุโรปเพราะต้องการหาโอกาสและงานทำ เจ้าหน้าที่ถามผู้ลี้ภัยคนนั้นว่าเป็นผู้มีรสนิยมรักร่วมเพศ (homosexual) หรือไม่ ผู้ลี้ภัยคนนั้นปฏิเสธ จากนั้นเจ้าหน้าที่ถามคำถามเดียวกันนั้นกับทุกคนในห้องและไม่มีใครยกมือ เขาอธิบายต่อว่าเนเธอร์แลนด์จะให้สถานะผู้ลี้ภัยกับคนรักร่วมเพศในกรณีที่ในสังคมหรือประเทศที่เขาอยู่นั้นเป็นอันตรายต่อคนรักร่วมเพศ

สารคดีเรื่องนี้เสนอให้เห็นว่า นอกเหนือจากอันตรายจากสงครามการเมือง ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ความเชื่อ ศาสนาแล้ว สถานการณ์อันตรายอื่นๆถูกนำมาเป็นประเด็นในการพิจารณาให้สถานะผู้ลี้ภัยผ่านการสัมภาษณ์อย่างเข้มข้นระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ที่ต้องการขอสถานะผู้ลี้ภัย เช่น ผู้ลี้ภัยคนหนึ่งมีปัญหากับเพื่อนบ้านและได้รับการข่มขู่เอาชีวิตได้รับการปฏิเสธ หรือคนที่ต้องการมาสร้างความฝันของการเป็นศิลปินที่เนเธอร์แลนด์ และพยายามอย่างเต็มที่ แต่เหตุผลนี้ก็ไม่เป็นแรงฝันที่แข็งแรงพอพาเขาไปใช้ชีวิตอยู่ในยุโรปได้ ขณะที่บางกรณี เช่นหญิงสาวชาวซีเรียที่ไม่มีเอกสารใดๆในการบ่งชี้เลยว่าเธอมีสัญชาติซีเรียนจริงๆกลับได้รับสถานะผู้ลี้ภัยได้ไม่ยากเย็นนัก เพราะการพิจารณาผนวกเข้ากับสถานการณ์สงครามกลางเมืองคุกรุ่นในซีเรียที่ยังไม่สงบ ทำให้เห็นว่าขั้นตอนการสัมภาษณ์และการพิจารณานั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ค่อนข้างมาก และอาจจะไม่ได้มีความเสมอต้นเสมอปลาย สุดท้ายเหลือเพียงไม่ถึง 5 คน จากผู้ขอลี้ภัยทั้งหมด 15 คนที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในเนเธอร์แลนด์

ฉากที่ 3 ของสารคดีเรื่องนี้เป็นบทสรุปของทางแยกระหว่างความฝัน ความต้องการความช่วยเหลือ และสถานที่ป้องกันภัยของผู้ลี้ภัยที่ต้องการมายุโรป และความจริงที่อาจไม่สวยงามอย่างสวรรค์เหมือนในชื่อเรื่องตามที่ผู้กำกับ Guido Hendrikx ต้องการจะบอก เขาให้สัมภาษณ์ว่าต้องการเสนอเนื้อหาของหนังในประเด็นการรับผู้ลี้ภัยที่ถูกกวาดปิดไว้ใต้พรมออกมาพูดอย่างตรงไปตรงมา เหมือนกับสังคมดัตช์ที่ความตรงไปตรงมาเป็นคุณลักษณะที่ทุกคนต่างยอมรับ และไม่ได้ถูกมองว่าเป็นอาญากรรมทางความคิด ผู้เขียนเห็นประเด็นที่สะท้อนในหนังด้วยว่า “ความถูกต้องทางการเมือง” (political correctness) เกี่ยวกับประเด็นผู้ลี้ภัยนั้นกำลังถูกเขย่า ระหว่างความช่วยเหลือที่คนยุโรปเองต้องการมอบให้และเห็นว่าเป็นการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมตามหลักการความถูกต้องทางการเมือง กับภาระและปัญหาอื่นๆที่ต้องแบกรับตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณ การจัดการด้านต่างๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อการร้ายที่ตามมาหลังจากการรับผู้ลี้ภัยจำนวนมากโดยไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองอย่างมีประสิทธิภาพ

สื่อดัตช์รายงานผลวิจัยของศูนย์วิจัยและเอกสาร (Wetenschappelijk Onderzoek- en Documentatiecentrum -WODC) กระทรวงความมั่นคงและยุติธรรมของเนเธอร์แลนด์ว่า หากเทียบเนเธอร์แลนด์กับเยอรมนี เบลเยียม และสวีเดน เนเธอร์แลนด์ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีหลักการและกระบวนการที่ซับซ้อนและไม่ได้ให้สิทธิในการพำนักอาศัยระยะยาวแก่ผู้ลี้ภัยได้ง่ายนัก และมีแนวโน้มที่จะรับผู้ลี้ภัยจากซีเรียมากกว่า ต่างจากประเทศยุโรปอื่นๆที่รับผู้ขอสถานะลี้ภัยจากประเทศอื่นๆด้วย บนเวบไซต์ของรัฐบาลดัตช์รายงานว่า ตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนปี 2015 เป็นต้นมา จำนวนผู้ลี้ภัยในเนเธอร์แลนด์เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากระบบรักษาปลอดภัยตามแนวชายแดนไม่มีประสิทธิภาพ และสงครามในซีเรียที่ยังดำเนินอยู่ ขณะนี้ (จากตัวเลขที่ปรากฏในหน้าเว็บไซต์) เนเธอร์แลนด์รับผู้ลี้ภัยประมาณ 7,000 คนจากจำนวน 120,000 คนที่เป็นอัตราที่ผู้ลี้ภัยทั้งหมดที่ประเทศยุโรปในโครงการตกลงรับ รวมกับจำนวนก่อนหน้านี้เนเธอร์แลนด์รับผู้ลี้ภัย 2,000 คนที่เข้ามาทางประเทศกรีซและอิตาลี

ที่กล่าวมาคือเนื้อหาและบริบทของสถานการณ์ที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากการดูหนังและสารคดีทั้ง 3 เรื่อง หากดูหนังที่กล่าวมาตามแนวทางการหาต้นตอในอดีตถึงการมีอยูของปัจจุบัน หนังเรื่อง Layla M. อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ว่าทำไมการรับผู้ลี้ภัยของประเทศในยุโรปตะวันตกทั้งหลายจึงถูกตั้งคำถามไปจนถึงปฏิกริยาต่อต้าน เนื่องด้วยความกลัวกระแสและขบวนการมุสลิมหัวรุนแรง ที่บางรายมีประวัติอาชญากรรมและมีส่วนเกี่ยวข้องกับก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในอดีตและปัจจุบัน ส่งผลให้มีการควบคุมและจับตาของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้น และนำไปสู่การออกระเบียบหรือกฎหมายที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกที่งัดข้อกับเหตุผลของรัฐในการรักษาความปลอดภัยของผู้คนและความมั่นคงของรัฐ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างความกลัวมุสลิมหัวรุนแรงกับความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมกับผู้ลี้ภัยจากประเทศมุสลิมที่ซ้อนทับกันอยู่บนทางสองแพร่ง

อ้างอิง

บทความวิชาการ

Bjornson, Marnie. 2007. “Speaking of Citizenship: Language Ideologies in Dutch Citizenship Regimes”,

Focaal—European Journal of Anthropology, 49: 65–80.

Doppen, Frans H. 2010. “Citizenship Education and the Dutch National Identity Debate”, Education, 
Citizenship and Social Justice, 5 (2): 131–143.

Doppen, Frans H. 2010. “Citizenship Education and the Dutch National Identity Debate”, Education,
Citizenship and Social Justice, 5 (2): 131–143.

Suvarierol, Semin and Katherine (Kate) Kirkb. 2015. “Dutch Civic Integration Courses as Neoliberal
Citizenship Rituals”, Citizenship Studies, 19 (3-4): 248-266

Van Houdt, Friso, Semin Suvarierol and Willem Schinkel. 2011. “Neoliberal Communitarian Citizenship:

Current Trends towards ‘Earned Citizenship’ in the United Kingdom, France and the Netherlands”, International Sociology 26(3): 408–432.

เอกสารอิเล็กทรอนิกส์

“18 oktober: IDFA opent met Stranger in Paradise van Guido Hendrikx in Carré” ที่
https://www.idfa.nl/nl/artikel/29434/18-oktober-idfa-opent-met-stranger-in-paradise-van-guido-hendrikx-in-carr%C3%A9

“2016 IDFA Interview: Guido Hendrikx (Director- Stranger In Paradise)” ที่
http://indienyc.com/2016-idfa-interview-guido-hendrikx-director-stranger-paradise/

“Asylum policy” ที่ https://www.government.nl/topics/asylum-policy

“Councils don’t think government is doing enough to help them integrate refugees” ที่
http://www.dutchnews.nl/news/archives/2016/10/councils-dont-think-government-is-doing-enough-to-help-them-integrate-refugees/

“Dutch cabinet approves partial ban on Islamic veil in public areas” ที่
https://www.theguardian.com/world/2015/may/22/netherlands-islamic-veil-niqab-ban-proposal-dutch-cabinet

“Dutch parliament approves partial burqa ban in public places” ที่
http://www.independent.co.uk/news/world/europe/dutch-burqa-veil-ban-holland-votes-for-partial-restrictions-some-public-places-a7445656.html

“Dutch refugee policy is one of the toughest in Europe.” ที่
http://www.dutchnews.nl/news/archives/2016/02/84503-2/

“Ik geloof niet dat wij filmmakers nou zoveel om vluchtelingen geven” ที่
http://www.volkskrant.nl/film/-ik-geloof-niet-dat-wij-filmmakers-nou-zoveel-om-vluchtelingen-geven~a4412838/

“Layla M.” ที่ http://www.topkapifilms.nl/our-films/layla-m/

“Miss Kiet's Children” ที่
https://www.idfa.nl/nl/tags/project.aspx?id=1bc47d89-05ec-4e0e-a295-85c6d14ac39e

“Population; key figures”, CBS ที่
http://statline.cbs.nl/statweb/publication/?vw=t&dm=slen&pa=37296eng&d1=a&d2=0,10,20,30,40,50,60,%28l-1%29,l&hd=160114-1555&la=en&hdr=g1&stb=t

“Refugees give bad marks to poor quality integration courses” ที่
http://www.dutchnews.nl/news/archives/2016/09/refugees-give-bad-marks-to-poor-quality-integration-courses/

“The Dutch History Canon: A Never-ending Debate?!” ที่ http://histoforum.net/history/historycanon2.htm

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท