Skip to main content
sharethis

นักนิติศาสตร์ระบุ ศาลทหารทำให้ทหารมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ทำผิด แต่ไม่ต้องขึ้นศาลยุติธรรมเหมือนพลเรือน ด้านทนายบอกศาลทหารไม่มีความเป็นกลางและอิสระ ขัดกับระบบยุติธรรมปกติ เสนอยกเลิกศาลทหาร เพราะการมีอยู่ของศาลทหารไทยขัดกับหลักความยุติธรรม หากทหารทำผิดต้องขึ้นศาลยุติธรรมเช่นเดียวกับพลเรือน

สมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อไทยลงนามในสนธิสัญญาบาวริ่ง เท่ากับยอมให้คนของอังกฤษได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขต หมายความว่าหากคนอังกฤษทำผิดในเขตแดนของสยามก็ไม่ต้องขึ้นศาลของสยาม แต่ขึ้นศาลของอังกฤษแทน ที่มีข้อตกลงเช่นนี้เพราะอังกฤษเห็นว่ากฎหมายไทย ณ เวลานั้นยังคงป่าเถื่อน นำไปสู่กระบวนการปรับปรุงกฎหมายไทยในเวลาต่อมาเพื่อยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

ล่วงเลยมาร้อยกว่าปี ระบบกฎหมายไทยไปไกลกว่าอดีตมากแล้ว แต่นัยเชิงเปรียบเทียบของสิ่งที่ดำรงอยู่ สังคมไทยยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่เหมือนจะมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตโดยปริยาย เพราะมีศาลและกระบวนการพิจารณากันเองในแบบของตนต่างจากประชาชนทั่วไป

‘ทหาร’ เสมือนจะมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ยามที่ทำผิดกฎหมายอาญาก็มีศาลของตนเอง มีตุลาการของตนเอง ซึ่งที่ผ่านมาสังคมก็มักตั้งคำถามถึงความเป็นกลางในการพิจารณาคดี มิพักต้องกล่าวถึงกับจับพลเรือนขึ้นศาลทหารในช่วงที่ทหารปกครองประเทศ

คำบอกเล่าของเยาวลักษณ์ อนุพันธ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เล่าให้ประชาไทฟังว่า

“เราไปเป็นทนายความช่วยเหลือพลเรือนที่ขึ้นสู่ศาลทหาร โดยหลักการศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดีของพลเรือน เพราะศาลทหารไม่มีความเป็นอิสระและความเป็นกลาง เนื่องจากสังกัดกระทรวงกลาโหม เมื่อมีการประกาศให้ศาลทหารพิจารณาคดีของพลเรือน เรารู้แล้วว่าศาลทหารถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการจัดการผู้ที่ต่อต้านทหารอย่างชัดเจน เราประเมินว่า คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) คงจะต้องอยู่ยาว เพราะ คสช. เซ็ตระบบยุติธรรมของตัวเอง

“เราเป็นพลเรือน พอถูกขึ้นศาลทหารจะมีบรรยากาศความหวาดกลัว ในต่างจังหวัด ศาลทหารอยู่ในค่ายทหาร บรรยากาศเป็นแบบทหาร เจ้าหน้าที่ใส่ชุดทหารหมดในบรรยากาศที่ทหารปกครองประเทศ กระบวนการยุติธรรมก็ไม่เป็นมิตรกับประชาชนแล้ว”

การจับพลเรือนขึ้นศาลทหารถือว่าผิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศทุกข้อและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

(อ่าน ‘รีรันเพื่อความทันสมัย: รู้ลึกเรื่องศาลทหาร’ http://prachatai.com/journal/2015/06/60015 เพื่อรู้จักศาลทหารมากยิ่งขึ้น)

คำถามถอนรากถอนโคนต่อเรื่องนี้ก็คือ ศาลทหารยังจำเป็นต้องมีอยู่หรือไม่?

เหตุผลของกองทัพ

เหตุผลหลักของฝ่ายกองทัพของการคงศาลทหารไว้ก็คือ การรักษาหลักเอกภาพในการบังคับบัญชา โดยอ้างว่าระบบการพิจารณาในศาลทหารตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร จะทำให้ทหารระดับผู้บังคับบัญชาสามารถควบคุมวินัยหรือพฤติกรรมของทหารที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของตนได้ เนื่องจากทั้งอำนาจในการจับกุม ควบคุมตัวทหารที่ทำผิดเพื่อนำมาฟ้องคดีต่อศาลทหารเป็นอำนาจของทหาร ไม่ใช่ตำรวจ ทหารจึงสามารถส่งตัวแทนที่ก็ไม่จำเป็นต้องรู้กฎหมายเข้าไปร่วมในกระบวนการพิจารณาคดีกับผู้พิพากษาศาลทหารได้ อีกทั้งยังมีอำนาจในการอุทธรณ์ด้วย ขณะที่ศาลยุติธรรมทั่วไป คู่ความเท่านั้นที่สามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาได้ 

“เหตุผลนอกเหนือจากนี้คือความเคร่งครัด รวดเร็ว และเด็ดขาดในการลงโทษ คือทหารมักจะอ้างว่าโทษที่ศาลยุติธรรมพิจารณาในคดีทั่วไปในสายตาของพวกเขาอาจไม่เคร่งครัดพอ การพิจารณาก็ล่าช้าหรือบางทีโทษที่กำหนดก็อาจเบาไปไม่เหมาะสมกับความผิด หากขึ้นศาลทหารแล้ว ทหารที่ทำผิดจริงๆ จะต้องโดนโทษหนัก การพิจารณาคดีทำได้รวดเร็ว และการบังคับโทษก็เป็นไปโดยเคร่งครัด ซึ่งย่อมเป็นประโยชน์ในการสร้างระเบียบวินัยให้เกิดขึ้นในหมู่ทหารด้วยกันเอง” สาวตรี สุขศรี จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบาย

อีกเหตุผลหนึ่งคือในบางพื้นที่ศาลพลเรือนไม่มีอำนาจครอบคลุมถึง ซึ่งสำหรับเหตุผลนี้ สาวตรี กล่าวว่าเป็นข้ออ้างที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์สงคราม กล่าวคือเวลาที่กองทัพยกทัพไปทำศึกสงครามในประเทศอื่น หากมีทหารทำผิดภายในขอบเขตพื้นที่ที่อยู่ในเขตอำนาจของหน่วยทหารนั้นๆ ซึ่งแน่นอนว่าศาลพลเรือนหรือศาลยุติธรรมย่อมไม่มีเขตอำนาจไปถึงได้ เพราะการกระทำความผิดเกิดขึ้นในประเทศอื่น

“ศาลทหารแบบหลังนี้จึงเป็นศาลทหารที่ตั้งขึ้นเฉพาะกิจเมื่อเกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้น เพื่อให้ทำหน้าที่พิจารณาความผิดและโทษของทหารที่อยู่ในหน่วยนั้นเท่านั้น ของไทยก็มีเรื่องนี้อยู่ใน พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร เรียกว่า ศาลอาญาศึก”   

แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกประเทศมีศาลทหาร ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ศาลทหารในหลายๆ ประเทศถูกยกเลิก เช่น สวีเดน เดนมาร์ก หรือออสเตรีย แต่ในอีกหลายประเทศก็ยังคงมี เช่น อเมริกา อังกฤษ เยอรมนี หรือสวิสเซอร์แลนด์ และเกือบทุกประเทศในตะวันออกกลาง

“ถึงบอกว่าถ้าศาลทหารยังมีเขตอำนาจหน้าที่แบบนี้ ก็เหมือนกับทหารมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต คือพอทำผิดแล้ว ก็ได้สิทธิพิเศษ ไม่ต้องขึ้นศาลปกติทั่วไป แต่ไปขึ้นศาลของประเทศตัวเอง ซึ่งในที่นี้ก็คือขึ้นศาลทหาร"

“ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าประเทศในโลกที่ยังมีศาลทหารอยู่มีมากหรือน้อย ที่ถูกคือเราต้องเข้าไปดูในรายละเอียดด้วยว่า ศาลทหารที่ยังมีกันอยู่ในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดานานาอารยประเทศมีอำนาจหน้าที่อย่างไรต่างหาก หรือกล่าวอีกอย่างก็คือฟังก์ชั่นของศาลทหารคืออะไรกันแน่ หรือการมีอยู่นั้นมันได้ไปสร้างอภิสิทธิ์ให้กับคนบางพวก ไปลดทอนความเสมอภาคเท่าเทียมต่อหน้ากฎหมายของประชาชน หรือมีช่องที่เปิดโอกาสให้ศาลทหารทำงานล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของพลเรือนในประเทศนั้นหรือไม่ เพราะถ้าไม่ การมีอยู่ของศาลทหาร ก็ไม่เป็นปัญหา

“แต่ถ้าการทำงานของศาลทหารไปขัดกับหลักการสากล ขัดกับหลักประชาธิปไตย หรือคุกคามสิทธิมนุษยชน การมีอยู่ของศาลทหารก็นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ และก็นำไปสู่คำถามหรือการต้องมาขบคิดกันว่า ควรยกเลิกไปเสียเลย หรือหากจะยังคงไว้ ต้องจำกัดอำนาจหน้าที่ของศาลทหารไว้ในขอบเขตแค่ไหน”

ศาลทหารเท่ากับทหารมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

อำนาจของศาลทหารไทยคือพิจารณาพิพากษาคดีที่มีบุคคลที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารเป็นจำเลยในความผิดตามกฎหมายทหารหรือกฎหมายอื่นๆ ในทางอาญา ไม่ว่าจะมีทหารเป็นโจทก์ หรือไม่ก็ตาม กับสั่งลงโทษบุคคลใดๆ (ทั้งพลเรือนหรือทหาร) ในฐานละเมิดอำนาจศาลทหารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร คดีที่ไม่อยู่อำนาจศาลทหารมีเพียง 4 ประเภทคือคดีที่ทหารกับพลเรือนกระทำผิดด้วยกัน, คดีที่เกี่ยวกันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน บางครั้งเรียกว่า คดีปะปน, คดีที่ต้องดำเนินในศาลเยาวชนและครอบครัว  และคดีที่ศาลทหารเห็นเองว่าไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร จึงเท่ากับว่าถ้าตัวทหารคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มทหารเป็นผู้กระทำความผิดคดีอาญาประเภทอื่นๆ ที่ไม่เข้าข่าย 4 ประเภทนี้ ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีที่ทหารเหล่านั้นเป็นจำเลยทั้งสิ้น ซึ่งหมายรวมถึงความผิดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง อย่างคดีวิสามัญฆาตกรรม การบังคับบุคคลให้สูญหาย การซ้อมทรมาน ไม่ว่าเหยื่อของการกระทำจะเป็นทหารด้วยกันหรือพลเรือนก็ตาม

สาวตรี อธิบายว่า ใครคือบุคคลที่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร? โดยสถานการณ์ทั่วไปก็คือทหารระดับต่างๆ นักเรียนทหาร จนถึงพลเรือนที่สังกัดราชการทหาร แต่แทนที่ประเภทคดีที่อยู่ในเขตอำนาจการพิจารณาของศาลทหารจะเป็นเฉพาะคดีที่มีลักษณะทางทหารเท่านั้น เช่น ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ผิดระเบียบวินัยทหาร หรือความผิดที่เกิดจากหรือเกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในราชการทหาร ศาลทหารกลับมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาตามกฎหมายอื่นด้วย

“มันก็หมายความว่า หากมีทหารสักคนหนึ่งไปกระทำผิดอาญา เช่น ฆ่าใครสักคน ซึ่งอาจเป็นทหารด้วยกันหรือพลเรือนก็ได้ ด้วยเหตุผลส่วนตัวล้วนๆ ไม่ได้เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการทหารเลย แทนที่ทหารคนนี้จะถูกฟ้องและพิจารณาคดีในศาลยุติธรรมหรือศาลพลเรือนทั่วไป เขากลับได้รับการพิจารณาคดีโดยศาลทหาร” 

คำถามคือพลเรือนที่เป็นคู่กรณีจะสามารถมั่นใจได้หรือไม่ว่า ด้วยกลไกของศาลทหาร คุณสมบัติผู้พิพากษาศาลทหาร ลักษณะกระบวนพิจารณาในศาลทหาร ทหารด้วยกันเป็นผู้จับกุมกันเอง องค์คณะในการพิจารณาคดีมีคนหนึ่งเป็นทหารผู้บังคับบัญชาของทหารที่กระทำผิด สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหายได้ มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ ไม่มีการใช้อำนาจหรืออิทธิพลมาแทรกแซงกระบวนการพิจารณา และยิ่งถ้าเป็นผู้ทำผิดเป็นนายทหารระดับสูงด้วยแล้ว ความมั่นใจในกระบวนการพิจารณาของคู่กรณีจะลดต่ำลงแค่ไหน

“ที่พูดแบบนี้ไม่ได้จะโจมตีแต่ศาลทหารว่าเป็นองค์กรที่ไม่มีความยุติธรรมหรือถูกตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยพวกพ้อง แต่ต้องการจะสื่อว่าปัญหาที่กระบวนการยุติธรรมสามารถถูกความมีอภิสิทธิ์หรืออิทธิพลของจำเลยแทรกแซงได้ มันเป็นปัญหาของทุกๆ ที่ ไม่ว่าจะในสังคมทหารหรือสังคมพลเรือน หรือแม้แต่ในสังคมของบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมด้วยกันเอง ดังนั้น จึงต้องมีระบบถ่วงดุลตรวจสอบโดยองค์กรภายนอกหรือมีกระบวนพิจารณาที่เปิดกว้างเพียงพอให้มีการตรวจสอบโดยประชาชนทั่วไป อย่างน้อยก็ให้เหมือนกับการพิจารณาโดยศาลยุติธรรมหรือศาลพลเรือนทั่วไป” 

“ถึงบอกว่าถ้าศาลทหารยังมีเขตอำนาจหน้าที่แบบนี้ ก็เหมือนกับทหารมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต คือพอทำผิดแล้ว ก็ได้สิทธิพิเศษ ไม่ต้องขึ้นศาลปกติทั่วไป แต่ไปขึ้นศาลของประเทศตัวเอง ซึ่งในที่นี้ก็คือขึ้นศาลทหาร ไม่ต้องขึ้นศาลปกติทั่วไป ซึ่งสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนี้เป็นปัญหาแน่ๆ”

ยกเลิกศาลทหาร ใช้กระบวนการยุติธรรมปกติ

อย่างไรก็ตาม ต้องวงเล็บไว้ตรงนี้ว่า เพียงแค่การมีอยู่ของศาลทหาร ไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นการไม่สอดคล้องกับหลักความยุติธรรมอย่างเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมาย เพราะการะสอดคล้องหรือไม่ ขึ้นอยู่กับอำนาจหน้าที่ของศาลทหารนั้นๆ ศาลทหารในบางประเทศก็ไม่ได้ทำให้หลักความยุติธรรมถูกทำลาย หรือเสียหาย

"อำนาจตุลาการก็ต้องตรวจสอบ ควบคุมการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประกันความยุติธรรมของประชาชน เมื่อพูดถึงหลักแล้ว ดิฉันก็คิดว่าศาลทหารไม่เป็นอิสระและไม่เป็นกลาง ศาลทหารจึงไม่ควรจะมี"

“แต่ถ้าเจาะจงว่า การมีอยู่ของศาลทหารในประเทศไทยไม่สอดคล้องกับหลักความยุติธรรมหรือไม่ โดยส่วนตัวฟันธงเลยว่า การมีอยู่ของศาลทหารที่มีอำนาจหน้าที่แบบที่เป็นอยู่นี้ ไม่สอดคล้องกับหลักความยุติธรรมอย่างแน่นอน ทั้งขัดกับหลักความเสมอภาพต่อหน้ากฎหมาย เป็นระบบที่ง่ายต่อการถูกอิทธิพลแทรกแซงจนทำให้เสียความยุติธรรม ขาดระบบถ่วงดุลตรวจสอบการทำงานจากองค์กรภายนอก ยังไม่พูดถึงปัญหาเรื่อง  คุณสมบัติหรือความรู้ความสามารถด้านกฎหมายของผู้พิพากษาศาลทหาร ความเป็นกลางขององค์คณะที่พิจารณาคดี หลักประกันสิทธิและความเท่าเทียมในการต่อสู้คดีของคู่ความ โดยเฉพาะข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างทหารกับพลเรือน” สาวตรี กล่าว

สำหรับประเทศไทย สาวตรีเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องมีศาลทหาร สามารถยกเลิกได้ แล้วใช้กระบวนการปกติทั่วไปแทน หากทางกองทัพยืนยันว่าต้องมีศาลทหาร เธอเห็นว่าควรมีได้แค่ศาลอาญาศึก และต้องมีอำนาจหน้าที่หรือเขตอำนาจเฉพาะพื้นที่ เฉพาะกรณี หรือในช่วงสงครามเท่านั้น

เช่นเดียวกับเยาวลักษณ์ที่เห็นว่า ศาลทหารไม่จำเป็น

“ทหารอ้างว่าเป็นคนที่ใช้อำนาจตุลาการ ทีนี้ อำนาจตุลาการเป็นหนึ่งในสามหลักของระบบนิติรัฐ ฉะนั้น อำนาจตุลาการก็ต้องตรวจสอบ ควบคุมการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประกันความยุติธรรมของประชาชน เมื่อพูดถึงหลักแล้ว ดิฉันก็คิดว่าศาลทหารไม่เป็นอิสระและไม่เป็นกลาง ศาลทหารจึงไม่ควรจะมี แต่ส่วนที่จะพิจารณาวินัยทหารก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเป็นการพิจารณาคดี ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือพลเรือนไม่ควรถูกพิจารณาคดีโดยศาลทหาร เพราะศาลทหารไม่ได้เป็นอิสระและเป็นกลางตามระบบนิติรัฐแบ่งแยกอำนาจ เมื่อทหารถูกฝึกมาเรื่องการรับคำสั่ง แนวคิดของศาลทหารจึงไม่ใช่แนวคิดของศาลยุติธรรมปกติ”

ส่วนกรณีที่กองทัพต้องการมีหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่พิจารณาลงโทษทหารนอกแถวที่กระทำผิดระเบียบวินัย สาวตรีเสนอว่า กองทัพสามารถตั้งองค์กรตรวจสอบเฉพาะขึ้นภายในได้ เหมือนกับคณะกรรมการตุลาการของผู้พิพากษา สภาทนายความ หรือแพทยสภา เป็นต้น โดยไม่จำเป็นต้องมีศาลทหารอย่างในปัจจุบัน

ส่วนกองทัพจะยินยอมยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของตนหรือไม่? เชื่อว่าคำตอบคงมีอยู่ในใจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net