Skip to main content
sharethis

ตร.เผยดำเนินคดีต่อวัดพระธรรมกาย 40 คดี และออกหมายจับไปแล้ว 20 คดี 'พระปลัดเสกสรรค์' โดน 3 ข้อหา ศาลให้ประกัน วงเงิน 2 แสน สั่งห้ามเข้าพื้นที่ควบคุม ม.44 ธรรมกาย ขอห้ามสึกพระหากคดีไม่ถึงที่สุด แนะตั้งศาลสงฆ์พิจารณา 'พระไพศาล' ย้ำข่าวลวง กรณีจะถูกตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย 'ดีเอสไอ' ลั่นต้องจบในสัปดาห์นี้ เตรียมที่คุมตัว‘ธัมมชโย’ไว้แล้ว

8 มี.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า  ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบการตรวจค้นวัดพระธรรมกาย ว่าวันนี้พระปลัดเสกสรรค์ อัตตทโม พระลูกวัดในเครือข่ายวัดพระธรรมกาย เดินทางมาพบพนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 5/2560 และพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหายุยง ปลุกปั่น มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 รวมถึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รวมทั้งสิ้น 3 ข้อหา

พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า จนถึงขณะนี้ตำรวจได้มีการดำเนินคดีต่อวัดพระธรรมกายจำนวน 340 คดี และออกหมายจับไปแล้ว 20 คดี ส่วนการทำงานของตำรวจขณะนี้ขึ้นอยู่กับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เป็นผู้ร้องขอ เนื่องจากตำรวจเป็นหน่วยงานสบับสนุนกำลังเท่านั้น ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตามมาตรา 44 ขณะที่ด้านการข่าวนั้นตำรวจยังคงเฝ้าระวังมือที่ 3 ที่อาจเตรียมก่อเหตุสร้างสถานการณ์บริเวณรอบวัดพระธรรมกาย โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้กำชับเรื่องนี้มาโดยตลอด ส่วนการขุดคูน้ำรอบอาคารบุญรักษา และตรวจพบถังน้ำมันนั้น คิดว่าไม่เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด 

ให้ประกัน พระปลัดเสกสรรค์ วงเงิน2แสน สั่งห้ามเข้าพื้นที่ควบคุม ม.44

สำหรับ พระปลัดเสกสรรค์ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน  จากนั้นถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวมาที่ศาลจังหวัดธัญบุรี โดยได้ออกจากห้องควบคุมคดีของศาลจังหวัดธัญบุรี ต่อมาศาลจังหวัดธัญบุรีให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เป็นจำนวนเงิน 2 แสนบาท โดยมีเงื่อนไขห้ามเข้าพื้นที่ควบคุม วัดพระธรรมกาย ประกาศใช้ ม.44 และห้ามให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเชิงยุงยงปลุกปั่น 

ธรรมกาย ขอห้ามสึกพระหากคดีไม่ถึงที่สุด แนะตั้งศาลสงฆ์พิจารณา

ขณะที่วัดพระธรรมกายออกแถลงการณ์ วันที่ 21 ของการที่วัดพระธรรมกาย ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเรียกร้อง 1. ห้ามสึกพระโดยที่คดียังไม่ได้พิพากษาจนถึงที่สุด 2. ระบบพิจารณาคดีที่ใช้กับพระภิกษุควรเป็นระบบไต่สวน ซึ่งให้อำนาจศาลในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมในคดี นอกเหนือไปจากที่คู่ความเสนอต่อศาลได้ เพื่อให้พระภิกษุได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดี  3. คดีของพระภิกษุ ให้ตั้งศาลสงฆ์ มีคณะพิจารณาไต่สวนเฉพาะ มีผู้แทนคณะสงฆ์เข้าร่วมพิจารณาด้วย โดยยึดหลักพระวินัยร่วมกับกฎหมายทางโลก ถ้าหลักฐานไม่พอก็จบกันไป ถ้าหลักฐานพอก็ดำเนินคดีไปตามกระบวนการยุติธรรม 4. การพิจารณาไต่สวนให้ทำในวัดที่เหมาะสม ไม่เสียสมณสารูป และ 5. คดีใหญ่ที่เป็นที่สนใจ ให้เชิญองค์กรพุทธทั่วโลกร่วมสังเกตการณ์ด้วย เพราะพระภิกษุทั้งโลกก็ใช้พระวินัยของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน

สำหรับรายละเอียดของแถลงการณ์มีดังนี้

แถลงการณ์วัดพระธรรมกาย
วันที่ 8 มีนาคม 2560 วันที่ 21 ของการที่วัดพระธรรมกาย ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและรัฐใช้งบประมาณไปแล้วไม่ต่ำกว่า 60 – 100 ล้านบาท "ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธจริงหรือ ทำไมใช้กฎหมายแกล้งฆ่าพระ"

การบวชคือ การเกิดใหม่ในธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อายุพรรษาจะเริ่มนับตั้งแต่วันบวช ผู้มีอายุ 80 ปีแล้วเพิ่งบวช ก็ต้องเคารพกราบไหว้พระหนุ่มอายุ 20 ปี ที่บวชก่อนแม้เพียงวันเดียว

กฎหมายของไทยในปัจจุบัน มีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อพระภิกษุ กล่าวคือ พระภิกษุเมื่อตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา หากพนักงานสอบสวนเห็นว่าต้องควบคุมตัวไว้ หรือศาลไม่ให้ประกันตัว ก็ต้องสึก ขาดจากความเป็นพระทันที ทั้งที่คดียังไม่ได้พิพากษา คิดเอาง่ายๆว่า "ถ้าไม่ผิดก็บวชใหม่ได้"

เปรียบเทียบกับคดีของคนทั่วไป หากผู้ต้องหาถูกควบคุมตัว แล้วมีกฎหมายระบุว่า ให้ประหารชีวิตก่อนเลย โดยให้เหตุผลว่า "ถ้าคดีพิพากษาแล้วไม่ผิด ก็ไปเกิดใหม่ได้" ทุกคนย่อมเห็นตรงกันว่าเป็นกฎหมายที่อยุติธรรมอย่างยิ่ง

เคยมีพระภิกษุที่ถูกจับสึกเพราะพนักงานสอบสวนไม่ให้ประกันตัวหลายราย อาทิ เจ้าคุณอุดม วัดเทพศิรินทร์ ในคดีเครื่องราชฯ เป็นข่าวครึกโครม แต่สุดท้ายศาลฎีกาพิพากษาว่าท่านไม่มีความผิด ใครจะรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น และท่านก็ต้องตายไปด้วยความช้ำใจต่อความอยุติธรรมที่ตนได้รับ

ยิ่งกฎหมายเมืองไทยเป็นระบบกล่าวหา คือเจ้าหน้าที่ตั้งข้อหาไปก่อน แล้วให้จำเลยไปแก้คดีที่ศาล ยิ่งอันตรายมาก เพราะพระภิกษุสามารถถูกแกล้งจับสึกได้ตลอดเวลา

ดังตัวอย่างวัดพระธรรมกายถูกแจ้งความดำเนินคดีถึง 300 กว่าคดีในเวลาเพียงหนึ่งเดือน และมีคดีจำนวนมาก ที่มีความสุ่มเสี่ยงว่าจะไม่ได้รับการประกันตัว ตั้งธงว่าจะขอศาลฝากขัง ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติ ทั้งที่บางคดีถูกตั้งข้อหาโดยยังไม่มีความผิดชัดเจน และคดีลักษณะเดียวกันนี้ หากเป็นผู้ต้องหารายอื่นก็จะได้รับการประกันตัวไป พระก็ต้องเสี่ยงกับการถูกจับสึก ตั้งแต่ศาลยังไม่พิพากษาหลายร้อยครั้ง พลาดแม้เพียงครั้งเดียว ก็ต้องตายไปจากความเป็นพระทันที

อิสลามยังเรียกร้องให้ออกกฏหมายชารีอะห์ สำหรับชาวอิสลาม
ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะต้องยกเลิกกฎหมายมักง่าย เป็นเครื่องทำลายพระพุทธศาสนา ฆ่าพระภิกษุจากพระธรรมวินัย ดังนี้
1. ห้ามสึกพระโดยที่คดียังไม่ได้พิพากษาจนถึงที่สุด
2. ระบบพิจารณาคดีที่ใช้กับพระภิกษุควรเป็นระบบไต่สวน ซึ่งให้อำนาจศาลในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมในคดี นอกเหนือไปจากที่คู่ความเสนอต่อศาลได้ เพื่อให้พระภิกษุได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดี 
3. คดีของพระภิกษุ ให้ตั้งศาลสงฆ์ มีคณะพิจารณาไต่สวนเฉพาะ มีผู้แทนคณะสงฆ์เข้าร่วมพิจารณาด้วย โดยยึดหลักพระวินัยร่วมกับกฎหมายทางโลก ถ้าหลักฐานไม่พอก็จบกันไป ถ้าหลักฐานพอก็ดำเนินคดีไปตามกระบวนการยุติธรรม
4. การพิจารณาไต่สวนให้ทำในวัดที่เหมาะสม ไม่เสียสมณสารูป
5. คดีใหญ่ที่เป็นที่สนใจ ให้เชิญองค์กรพุทธทั่วโลกร่วมสังเกตการณ์ด้วย เพราะพระภิกษุทั้งโลกก็ใช้พระวินัยของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน

"หยุดฆ่าพระภิกษุจากสมณเพศ หยุดระบบกล่าวหาต่อพระภิกษุ"

'ดีเอสไอ' ลั่นต้องจบในสัปดาห์นี้ เตรียมที่คุมตัว‘ธัมมชโย’ไว้แล้ว

วันเดียวกัน ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (บก.ตชด.ภ.1) พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักษ์ศักดิ์สกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะโฆษก ดีเอสไอ กล่าวว่า กรณีเจ้าหน้าที่จะมีการเข้าตรวจค้นอาคารบุญรักษา วัดพระธรรมกายกายอีกหรือไม่ อยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นการตัดสินใจร่วมกัน ซึ่งคาดว่าภายในสัปดาห์นี้หรือ 5 วันนับจากวันนี้ กรณีวัดพระธรรมกายจะต้องจบ โดยจะมีการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เนื่องจากเรื่องนี้ยืดเยื้อมานานแล้ว ทำให้ทางวัดมีโอกาสบิดเบือนว่าการเข้าจับกุมตัวพระธัมมชโย เป็นการทำลายศาสนา ส่งผลให้สังคมเข้าใจผิด

พ.ต.อ.ทรงศักดิ์  กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีวันที่ 10 มี.ค.นี้ ทางรัฐบาลโดยวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และ ออมสิน ชีวะพกฤษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เตรียมหารือร่วมกับ พศ. และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เพื่อหาข้อยุติของวัดพระธรรมกาย ส่วนจะมีการสึกพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาตามหมายจับ กลางอากาศหรือไม่นั้น ก็จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ โดยยอมรับว่าในที่ประชุมก็ได้มีการเสนอแนวคิดนี้ไปยังผู้บังคับบัญชาด้วย ขณะเดียวกันดีเอสไอได้เตรียมพร้อมในการจัดสถานที่รองรับ หากมีการควบคุมตัวพระธัมมชโยไปสอบสวน แต่ไม่ขอเปิดเผยในรายละเอียดว่าเป็นที่ใด

พระไพศาล ย้ำข่าวลวง กรณีจะถูกตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย 

ขณะที่วันเดียวกัน รายงานข่าวระบุด้วยว่า เนชั่น ทีวี ได้โทรศัพท์ไปสอบถามเรื่องนี้กับทางวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ กับพระสุทธิศาสตร์ พระผู้ประสานงานวัดป่าสุคะโต กรณีมีกระแสข่าวว่า พระไพศาล วิสาโล จะได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย โดย ทางพระผู้ประสานงานวัดป่าสุคะโตบอกว่า "พระอาจารย์ (พระไพศาล วิสาโล) บอกว่าเพิ่งทราบข่าวเรื่องนี้ เช้าวันนี้เอง ทางพระอาจารย์ไม่เคยได้รับการติดต่อ และไม่ทราบเรื่องนี้เลย หรือถ้ามีการเสนอมา พระอาจารย์ (พระไพศาล วิสาโล) ก็บอกว่าไม่รับ เข้าใจว่าเป็นการปล่อยข่าว และเป็นข่าวลวง" 

ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊ก ของผู้ใช้ชื่อว่า Paskorn Jumlongrach ได้โพสต์ข้อความ โดยระบุว่า "เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ถึงกรณีทีมีข่าวว่าจะไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายว่า "เป็นข่าวลวงหรือข่าวกุที่อาตมาไม่ทราบเรื่องด้วย ที่ผ่านมาก็ไม่มีใครติดต่อมา ถึงเสนอมาอาตมาก็ไม่รับ"

 

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ เว็บไซต์เรื่องเล่าเช้านี้ เพจ สำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ และข่าวสดออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net