‘กฎหมายรับรองเพศ’ เพศของเรา...ทำไมต้องให้รัฐรับรอง?

พม.ศึกษาร่างกฎหมายรับรองเพศ หวังให้คนหลากหลายทางเพศได้รับการคุ้มครองสิทธิ ตั้งคณะกรรมการวินิจฉัย ด้านนักวิชาการระบุควรมีกฎหมายรับรองสิทธิมากกว่ารับรองเพศ ตั้งคำถามกฎหมายนี้จะช่วยให้คนหลากหลายทางเพศเข้าถึงสิทธิต่างๆ อย่างครอบคลุมหรือไม่ ชี้ประเด็นซ้ำว่า จำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิชุดหนึ่งมารับรองการที่บุคคลคนหนึ่งอยากจะมีเพศไหน

ปัจจุบัน กลุ่มคนหลากหลายทางเพศกล้าที่จะเปิดเผยตัวตนมากขึ้น ขณะที่ผู้คนในสังคมก็เรียนรู้ที่จะยอมรับ เข้าใจ และอดทนต่อความแตกต่างหลากหลายมากขึ้นเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้แปลว่าการยอมรับหรืออดทนวิ่งไปในทิศทางเดียวกันกับสิทธิและโอกาส

กลุ่มคนหลากหลายทางเพศในสังคมไทยยังคงถูกเลือกปฏิบัติ ถูกกีดกัน และเข้าไม่ถึงสิทธิหลายประการ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม และนักวิชาการที่ติดตามประเด็นนี้ต่างพยายามเคลื่อนไหวผลักดันกฎหมายเพื่อรองรับสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนากฎหมายเพื่อคุ้มครองสวัสดิภพาสตรีและบุคคลในครอบครัวขึ้นจากงบประมาณประจำปี 2559 ร่างกฎหมายฉบับหนึ่งที่กำลังก่อรูปจากโครงการนี้คือ ร่าง พ.ร.บ.กฎหมายว่าด้วยการรับรองเพศ พ.ศ.... ในแง่นี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า พม. มีความก้าวหน้าไม่น้อยต่อประเด็นความหลากหลายทางเพศ

แต่เนื้อหาภายในร่างกฎหมายที่ปรากฏสู่สาธารณชนกลับสร้างข้อถกเถียงและความคิดเห็นขึ้นในกลุ่มที่เคลื่อนไหวประเด็นนี้ จึงมีการจัดเสวนา ‘การเสวนา (ร่าง) พ.ร.บ.การรับรองเพศ พ.ศ....’ ขึ้น เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 ที่โรงแรมเอเชีย

ไตรรัตน์ ฟ้าปกาสิต นิติกรชำนาญการ กลุ่มกฎหมายสำนักงานเลขานุการ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ อธิบายว่า วัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือการศึกษาสภาพปัญหาของกลุ่มเพศทางเลือก โดยจะให้ความสำคัญกับ 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่แปลงเพศแล้ว กลุ่มที่ต้องการแปลงแต่ไม่มีเงิน และกลุ่มที่ไม่ต้องการแปลงเพศ โดยทำการศึกษาจากกฎหมายในต่างประเทศและทำการเปรียบเทียบเพื่อจัดทำร่างกฎหมายรับรองเพศที่สอดคล้องเหมาะสมกับสังคมไทย โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มและกลุ่มข้าราชการที่เกี่ยวกับทะเบียนราษฎร์

จากงานศึกษาพบว่า สังคมไทยยังมีทัศนคติทางลบจากเหตุผลความเชื่อทางศาสนา การศึกษา การสาธารณสุข การสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ การจ้างงาน การมีที่อยู่อาศัย การก่อตั้งครอบครัว โดยไทยยังมีการแบ่งแยกกีดกันและจำกัดสิทธิประโยชน์ต่อประชาชนกลุ่มเพศทางเลือก ทว่า จากผลการสำรวจข้อมูลภาคสนาม พบว่า ผู้ให้ข้อมูลร้อยละ 81.2 เห็นว่าควรให้การคุ้มครองผู้ที่ได้รับการผ่าตัดแปลงเพศแล้ว

เนื้อหาสาระของร่างกฎหมาย ไตรรัตน์ อธิบายว่า ต้องการให้เป็นกฎหมายที่สร้างดุลยภาพในการรับรองและคุ้มครองสิทธิประชาชนกลุ่มเพศทางเลือกและเป็นสิทธิเฉพาะตัว ตั้งคณะกรรมการระดับชาติเป็นกลไกกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนตระหนักและทำความเข้าใจเรื่องความแตกต่างระหว่างเพศ มีคณะบุคคลทำหน้าที่กึ่งตุลาการในการวินิจฉัยชี้ขาด การรับรองเพศ โดยที่คำวินิจฉัยมีสภาพบังคับชัดเจน สร้างหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับรองเพศใน 3 กลุ่มข้างต้น รับรองสิทธิแก่ผู้แปลงเพศแล้วให้มีสิทธิหน้าที่ความรับผิดชอบเหมือนเพศนั้นโดยกำเนิด และมีกองทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมและเป็นประโยชน์ในการดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับการรับรองเพศ

พิจารณาในเบื้องต้นร่างกฎหมายดังกล่าวน่าจะส่งผลดีต่อคนหลากหลายทางเพศที่จะได้รับการรับรองสิทธิ แต่เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียด กลับมีหลายประการที่คนทำงานด้านนี้แสดงความวิตก ตั้งแต่ประเด็นรากฐานที่สุดที่ว่า

เหตุใดการที่ใครคนหนึ่งจะนิยามเพศของตนจึงต้องมีผู้อื่น ซึ่งในที่นี้คือรัฐ มารับรองด้วย

พริษฐ์ ชมชื่น นักกิจกรรมอิสระ เพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ แสดงทัศนะว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังคงอยู่ในกรอบของเพศชาย-หญิง ขณะที่เพศมีความหลากหลายไปมากกว่าแค่ชาย-หญิง หรือแค่การแปลงหรือไม่แปลงเพศ มีคนที่ยินดีจะนิยามตนเองว่าไม่มีเพศ เป็นเพศกลางๆ หรือคนหลากหลายทางเพศอื่นๆ ที่ไม่ต้องการแปลงเพศ พริษฐ์ตั้งคำถามว่า คนกลุ่มนี้จะมีพื้นที่อยู่ตรงไหนในกฎหมายนี้

นอกจากนี้ ในร่างกฎหมายระบุว่า ผู้ที่จะยื่นคำร้องให้มีการรับรองเพศได้เงื่อนไขหนึ่งคือต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์ ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวของพริษฐ์เอง กล่าวว่า บุคคลหลากหลายทางเพศนั้นจะรู้ตัวเองตั้งแต่วัยเด็ก การที่กฎหมายเขียนลักษณะนี้ ทำให้เขากังวลว่าจะส่งผลต่อเด็กและเยาวชนที่อาจจะถูกครอบครัวบังคับให้แสดงออกทางเพศที่ตัวเด็กไม่ต้องการ ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรงในภายหลังได้

จำเป็นหรือไม่ที่จะมีผู้ทรงคุณวุฒิชุดหนึ่งมารับรองการที่บุคคลคนหนึ่งอยากจะเป็นเพศไหน

ด้าน สุชาดา ทวีสิทธิ์ นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มต้นว่าคงไม่มีใครในที่นี้คัดค้านว่าปัจจุบันสังคมไทยต้องมีการบัญญัติกฎหมายรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของคนหลากหลายทางเพศ แต่เธอก็ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า

“แต่กระบวนการออกกฎหมายอาจต้องพิจารณากันพอสมควร ตนเองก็มีปัญหากับชื่อกฎหมายนี้เหมือนกัน คือชอบที่จะมีกฎหมายรับรองสิทธิมากกว่าที่จะมีกฎหมายรับรองเพศ เพราะอย่างหลังอาจจะมีการตีความที่ค่อนข้างคับแคบ”

ร่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ ตอบโจทย์ปัญหาที่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศเผชิญอยู่หรือไม่ หากยัง จะสามารถใช้กฎหมายนี้ได้หรือไม่ โดยการผลักดันอนุบัญญัติในการรับรองสิทธิของคนหลากหลายทางเพศ ซึ่งสุชาดามีความเห็นว่า เรื่องการรับรองเพศควรเข้าไปอยู่ใน พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 ซึ่งจะง่ายกว่าการผลักดันกฎหมายใหม่

“ที่จะต้องคำนึงถึงคือประโยชน์จากการออกกฎหมายฉบับนี้มีครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน ครอบคลุมเฉพาะคนที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้วสามารถมีข้อมูลทางทะเบียนราษฎรสอดคล้องกับเพศที่เปลี่ยนไปแล้วแค่นั้นหรือ หรือได้เงินฟรีที่จะไปผ่าตัดแปลงเพศแค่นั้นหรือ ดิฉันคิดว่าคงไม่ใช่ ถ้าจำเป็นต้องออกเป็นกฎหมาย มันควรครอบคลุมไปถึงสิทธิทุกด้านที่กว้างขวางและลุ่มลึกพอสมควร แล้วเราไม่ต้องผลักดันผลักดันกฎหมายคู่ชีวิตอีก เป็นต้น มันควรสร้างผลสะเทือนไปถึงจุดนั้น”

อีกประเด็นที่สุชาดาตั้งข้อสังเกตต่อร่างกฎหมายฉบับนี้คือ ร่างกฎหมายควรคำนึงถึงการจำแนกคนตามระบบเพศใหญ่ 3 ระบบ คือระบบเพศทางสรีระ ระบบตามเพศภาวะหรือเพศสภาพที่คนสามารถแสดงตัวตนของตัวเองผ่านการแต่งกาย การทำหน้าที่ทางสังคมที่ไม่ตายตัว และระบบเพศวิถีซึ่งเกี่ยวข้องกับรสนิยม พฤติกรรมทางเพศ แต่ดูเหมืนอว่าร่างกฎหมายยังคงให้ความสำคัญกับการกำหนดระบบเพศที่ใช้เครื่องเพศเป็นตัวกำหนดเท่านั้น

สุชาดา เห็นว่า หากจะออกกฎหมายฉบับนี้มาบังคับใช้จะต้องไปให้พ้น 3 เรื่องหลัก หนึ่ง-ต้องไม่มองกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศในฐานะคนป่วยหรือเป็นโรค เพราะยังมีการระบุให้มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านแพทยศาสตร์และนักจิตวิทยา เธอตั้งคำถามว่าผู้ทรงคุณวุฒิสองคนนี้จำเป็นหรือไม่ หากมุมมองของผู้ออกกฎหมายไปพ้นจากการมองบุคคลหลากหลายทางเพศว่าเป็นผู้ป่วย

สอง-มีกฎหมายบรองเพศแล้วจะทำให้บุคคลเหล่านี้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้หรือไม่ ซึ่งเนื้อหาร่างกฎหมายยังไม่มีความชัดเจนที่จะตอบโจทย์ข้อนี้

สาม-จำเป็นหรือไม่ที่จะมีผู้ทรงคุณวุฒิชุดหนึ่งมารับรองการที่บุคคลคนหนึ่งอยากจะเป็นเพศไหน และต้องก้าวให้พ้นเรื่องเพศที่ใช้เครื่องเพศกับฮอร์โมนเป็นตัวกำหนด

“ดิฉันคิดว่าจะเป็นปัญหามากในเรื่องสิทธิการที่จะได้รับเงินกองทุนในการผ่าตัดแปลงเพศมาปนกับสิทธิด้านอื่นๆ ดิฉันคิดว่ามันผูกติดเกินไปแล้วจะสร้างปัญหาและการละเมิดสิทธิซ้ำซ้อนตามมากับบุคคลที่ไม่เข้าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้”

ขณะที่พระชาย วรธัมโม นักบวชในพุทธศาสนาที่สนใจประเด็นความหลากหลายทางเพศ ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า การถูกบังคับให้เป็นเพศใดเป็นเพศหนึ่งถือเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง แม้ว่ากฎหมายนี้อาจช่วยได้ แต่ก็ยังมีคนที่มีอวัยวะเพศไม่ชัดเจน ไม่เป็นทั้งชายและหญิง แต่ถูกแพทย์ระบุตั้งแต่เด็กให้มีเพศใดเพศหนึ่ง จนทำให้เกิดปัญหาเมื่อโตขึ้น ซึ่งร่างกฎหมายไม่ได้ระบุถึงคนกลุ่มนี้

“ไม่ควรมีกฎหมายที่บังคับให้คนเป็นเพศใดเพศหนึ่ง แต่ควรมีกฎหมายที่เปิดพื้นที่ให้คนเป็นเพศอะไรก็ได้ เพราะพอไปนิยามว่าเป็นชาย-หญิง จะทำให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อน เพราะก็มีคนที่ไม่อยากเป็นชายหรือหญิงอยู่เหมือนกัน”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท