ศาลฎีกาพิพากษาคดี 'ปีนสภาต้าน กม.สนช. ปี 50' มีความผิด แต่สั่งรอกำหนดโทษ 2 ปี

ศาลฎีกาพิพากษาคดี 'จอน อึ๊งภากรณ์และพวก ปีนสภาต้าน กม.สนช. ปี 50' มีความผิด แต่สั่งรอกำหนดโทษ 2 ปี เหตุจำเลยมีความรู้ความสามารถ มีหน้าที่การงานที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติ และการกระทำดังกล่าวทำไปเพราะมีเจตนาที่ดี อีกทั้งจำเลยมีอายุมากแล้ว ด้านสุภิญญาประกาศยุติบทบาท กสทช.ชั่วคราว

15 มี.ค. 2560 ศาลอาญา รัชดาภิเษก นัดอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา ในคดีหมายเลขดำ  อ.4383/2553 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1092/2556  ซึ่งเป็นคดีความระหว่าง พนักงานอัยการโจทก์ กับ นายจอน อึ๊งภากรณ์ กับพวกรวม 10 คน ซึ่งเป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และร่วมกันทำให้ปรากฏด้วยวาจา อันมิใช่กระทำในความหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แสดงความคิดเห็นโดยปกติเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 116, 215, 362, 364, 365 เนื่องจากจำเลยร่วมกันปีนกำแพงรั้วรัฐสภาเพื่อค้านคัดการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปี 2550

โดยในวันนี้ศาลฎีกา อ่านคำพิพากษากลับ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยทั้ง 10 มีความผิดตามศาลชั้นต้นพิพากษา แต่ให้รอการกำหนดโทษไว้ 2 ปี เนื่องจากจำเลยมีความรู้ความสามารถ มีหน้าที่การงานที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติ และการกระทำดังกล่าวทำไปเพราะมีเจตนาที่ดี อีกทั้งจำเลยมีอายุมากแล้ว 

ทั้งนี้ การรอการกำหนดโทษ แตกต่างจากการรอลงอาญา โดยการรอลงอาญานั้นหมายถึง การที่ศาลตัดสินว่าผิด และกำหนดโทษแล้ว แต่ยังไม่ลงโทษ ส่วนการรอการกำหนดโทษคือ ศาลตัดสินว่ามีความผิด แต่ยังไม่กำหนดโทษ จำเลยจึงยังไม่ต้องโทษทางอาญา

ด้าน จอน อึ๊งภากรณ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังฟังคำพิพากษาศาลฎีกาว่า สิ่งที่ตนและพวกทำลงไปนั้น สืบเนื่องมาจากความต้องการเห็นความยุติธรรมในการออกกฎหมาย เพราะเห็นว่าการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติเมื่อปี 2550 มีความเร่งรีบเกินกว่าเหตุ และกฎหมายหลายฉบับที่ได้มีความพยายามผลักดันในเวลานั้นเป็นกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วควรเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณากฎหมายต่างๆ เพราะมีความผูกโยงกับประชาชนโดยตรง ผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งแตกต่างจาก สนช. ปี 2550 ที่มาจากการแต่งตั้ง ภายหลังจากการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อปี 2549

จอน กล่าวด้วยว่า การออกกฎหมาย หรือการพิจารณากฎหมายในสมัย สนช. ปี 2550 กับ สนช. ในสมัยปัจจุบัน มีความคล้ายคลึงกัน ในแง่ของความไม่ชอบธรรมเรื่องที่มาของผู้พิจารณากฎหมาย และกฎหมายหลายฉบับที่ผ่านการพิจารณานั้นก็กระทบต่อสิทธิ และเสรีภาพของประชาชนเช่นกัน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีแนวทางในการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในการพิจารณากฎหมายของ สนช. ในยุคนี้อย่างไร จอนตอบว่า ตนไม่สามารถที่จะกระทำแบบเดิมได้ เนื่องจากมีคดีดังกล่าวติดตัวอยู่ และเห็นว่าคนรุ่นตนนั้นเป็นคนรุ่นเก่าไปแล้ว ที่ผ่านมาก็มีคนรุ่นใหม่ที่ออกมาคัดค้านอย่างต่อเนื่อง ส่วนตนเองคิดว่าได้ทำเต็มที่ เท่าที่จะทำได้แล้ว

นอกจากนี้ เขาได้กล่าวขอบคุณทีมทนายความที่ได้คอยช่วยเหลือ โดยระบุว่า แม้ว่าจะไม่มีสิ่งตอบแทนอะไรมากมาย แต่ทีมทนายก็ยังคงทุ่มเทกับคดีนี้ และไม่ใช่เพียงการสนับสนุนในเรื่องของคดีความ แต่ยังเป็นการช่วยเหลือ และสนับสนุนในเรื่องการต่อสู้ของพวกตนเองด้วย

สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. หนึ่งในจำเลยของคดีนี้ แถลงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า จากคำพิพากษาของศาลฎีกา คดีชุมนุมปีนสภาค้าน สนช.วันนี้ แม้ศาลจะไม่ได้กำหนดโทษจำคุก แต่ก็พิพากษาว่าดิฉันกระทำความผิด จึงมีประเด็นทางกฎหมาย วันนี้ดิฉันจะทำบันทึกแจ้งเลขาธิการ กสทช.ถึงคำพิพากษาให้สำนักงานตีความกฎหมาย โดยตั้งแต่วันนี้จะยุติการปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน ถ้าการตีความออกมาว่าไม่ขัดคุณสมบัติ ก็ค่อยกลับมาปฏิบัติหน้าที่ต่อ แต่ถ้าขัดก็ถือว่าสิ้นสภาพการเป็น กสทช.ตามกฎหมายตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยระหว่างการยุติการปฏิบัติหน้าที่ ดิฉันและทีมก็ไม่รับค่าตอบแทนใดตั้งแต่วันนี้และจะทำเรื่องส่งคืนทรัพย์สินที่ถือครองในการทำงานคืนสำนักงานโดยเร็ว

"ส่วนตัวตีความว่าขัด พ.ร.บ.กสทช. เพราะศาลฎีกาพิพากษาว่าดิฉันทำความผิดฐานชุมนุมค้าน สนช. แม้ว่าจะยังไม่มีโทษจำคุก จึงตัดสินใจขอยุติการทำหน้าที่ ดิฉันน้อมรับคำพิพากษาสูงสุดของศาลฎีกาในวันนี้ แม้จะยืนยันว่าสิ่งที่ทำเป็นสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และขอบคุณทุกท่านที่ให้กำลังใจตลอดมา" 

"มีคนถามว่าทำไมไม่ลาออกเองเสียเลย จริงๆ การยุติปฏิบัติหน้าที่ก็มีผลไม่ต่างกัน คือไม่ได้ทำงานต่อแล้ว ไม่ได้เอกสิทธิ์ใดแล้ว ... แต่เราต้องการให้ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าพ้นตำแหน่ง กสทช. เพราะต้องคำพิพากษาศาลสูงสุดในคดีเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม" สุภิญญา ระบุ

ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 10 คนในคดีนี้ ประกอบด้วย

จำเลยที่ 1 จอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
จำเลยที่ 2 สาวิทย์ แก้วหวาน แกนนำสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อดีตแกนนำรุ่นที่สองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
จำเลยที่ 3 ศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อดีตแกนนำรุ่นที่สองของกลุ่มพันธมิตรฯ
จำเลยที่ 4 พิชิต ไชยมงคล อดีตกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่
จำเลยที่ 5 อนิรุทธ์ ขาวสนิท เกษตรกรนักเคลื่อนไหว
จำเลยที่ 6 นัสเซอร์ ยีหมะ อดีตหัวหน้าสำนักงานพรรคการเมืองใหม่
จำเลยที่ 7 อำนาจ พละมี รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
จำเลยที่ 8 ไพโรจน์ พลเพชร ปัจจุบันเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ขณะเกิดเหตุเป็นรองประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) อดีตเคยเป็นประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
จำเลยที่ 9 สารี อ๋องสมหวัง นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิเพื่อผู้บริโภค ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
จำเลยที่ 10 สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กสทช.

 

สำหรับคำพิพากษาในศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2556 ระบุว่า ให้จำคุกและปรับจำเลย แต่ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสิบเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและจำเลยทั้งสิบกระทำความผิดไปโดยมีเจตนาปกป้องผลประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นสำคัญ โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี จำเลยทั้ง 10 คนยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีว่าการเข้าไปในอาคารรัฐสภาและได้มีการปราศรัยต่อประชาชนนั้นเป็นการสื่อสารเพื่อให้เข้าใจวัตถุประสงค์ของการชุมนุมที่จะคัดค้านการพิจารณากฎหมายที่ไม่ชอบธรรมของ สนช. และการชุมนุมแสดงความคิดเห็นดังกล่าวได้รับการคุ้มครองตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

ต่อมาวันที่ 28 สิงหาคม 2557 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ เพราะเห็นว่าการกระทำของพวกจำเลยดังกล่าว แม้จะมีการปีนรั้วกระทั่งเข้าไปในอาคารรัฐสภาได้ แต่ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อจะคัดค้านการประชุมของ สนช.ที่จำเลยเห็นว่าเร่งรีบพิจารณาออกกฎหมาย ขณะที่การเข้าไปในอาคารดังกล่าว ก็ไม่ได้มีอาวุธหรือเข้าไปทำลายทรัพย์สิน ครอบครองส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารรัฐสภา และไม่ได้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานส่วนอื่นของรัฐสภาจนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ โดยเมื่อมีการยื่นหนังสือเสนอข้อเรียกร้องแล้วจำเลยและผู้ชุมนุมก็ได้ออกมาจากอาคารรัฐสภาโดยสงบ ซึ่งรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 ได้ให้การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพการชุมนุมเรียกร้องที่เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงขาดเจตนา ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลยตามความผิดมาตรา 215 วรรค 3 นั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วยพิพากษากลับให้ยกฟ้อง

 

ประมวลเหตุการณ์

12 ธ.ค.50
 
เวลา 7.00 น. ภาคประชาชนจากเครือข่ายต่างๆ อาทิ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) สภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย (สค.ปท.) เครือข่ายสลัม 4 ภาค สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย และเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครู สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และเครือข่ายพันธมิตรองค์กรประชาชน รวมทั้งนักศึกษาและประชาชนทั่วไปประมาณกว่า 1,000 คน ชุมนุมบริเวณหน้าอาคารสภา เพื่อปิดสภาไม่ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่อีกต่อไป
 
เวลาประมาณ 9.00 น. ผู้ชุมนุมนำรถเครื่องเสียงเคลื่อนขบวนไปขวางทางเข้าออกสภาทั้ง 3 ทาง ปิดสภาโดยประชาชนอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ดี แม้จะปิดประตูทางเข้าทั้ง 3 ทางได้สำเร็จ แต่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติยังสามารถเข้าสู่ภายในอาคารรัฐสภาได้ผ่านทางประตูพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติช้างต้น (ติดกับพระที่นั่งวิมานเมฆ) ซึ่งเป็นประตูที่ไม่ค่อยได้เปิดใช้ เว้นแต่มีกิจกรรมพิเศษ ทำให้สมาชิกสภานิติบัญญัติสามารถเปิดสภาพิจารณากฎหมายต่อไปได้ตามปกติ
 
 
ประชาชนประกาศปิด ‘สนช.’
 
หลังปิดประตูทางเข้าสภา 3 ทาง นายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า วันนี้มาปิดสภาโดยวิธีอารยะ ด้วยสันติวิธี เพื่อให้สภาทราบว่า ประชาชนจำนวนมากรับไม่ได้กับการทิ้งทวนผลักดันกฎหมาย เช่น การเอากฎหมาย 40-60 ฉบับมาพิจารณาให้เสร็จภายใน 1-2 วัน เพื่อเอาอำนาจข้าราชการมาปกครองแทนที่จะเสริมอำนาจประชาชน
 
นายจอน กล่าวด้วยว่า เสียใจที่ที่ผ่านมา สนช.ได้ผ่านกฎหมายละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่ทำให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกทำลาย ในขณะที่กฎหมายที่ร้ายที่สุดกำลังจ่ออยู่ในสภา คือ พ.ร.บ. ความมั่นคง (พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ...) ที่จะสถาปนาอำนาจทหารคู่รัฐบาลพลเรือนตลอดไป
 
นายจอน ยังกล่าวอีกว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ควรจะเปลี่ยนชื่อจาก สนช. เป็น สนด. คือ สภาหน้าด้าน การมาแสดงพลังวันนี้เพื่อให้เห็นว่า รับไม่ได้กับการออกกฎหมายละเมิดสิทธิประชาชน โดยเฉพาะในขณะที่กำลังจะมีการเลือกตั้งในไม่กี่วันนี้ พร้อมกับเรียกร้องให้สมาชิก สนช. ที่เห็นแก่ประชาชนลาออกจากตำแหน่งด้วย จากนั้นจึงอ่านคำประกาศปิดสภานิติบัญญัติแห่งชาติรักษาการ
 
ประกาศ ‘ปิดสภานิติบัญญัติรักษาการ หยุดการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน’
 
ด้วยปรากฏเป็นที่แน่ชัดว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้งของทหาร ที่ยึดอำนาจการปกครองมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ได้กระทำการออกกฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้ระบบราชการและเพื่อประโยชน์ให้นายทุน แต่กลับทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชนและชุมชน และกำลังจะนำพาสังคมไทยถอยหลังไปสู่ระบบอำมาตยาธิปไตย แทนที่การสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตย เช่น การผลักดันร่างกฎหมายการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร เพื่อให้ทหารมีอำนาจครอบงำรัฐและสังคม ร่างกฎหมายป่าชุมชนและร่างกฎหมายทรัพยากรน้ำ เพื่อเพิกถอนสิทธิชุมชน ร่างกฎหมายประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้หน่วยราชการผูกขาดเป็นเจ้าของคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ ร่างกฎหมายว่าด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสากิจ เพื่อแปรรูปรัฐวิสาหกิจประเภทสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตให้แก่กลุ่มทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ ร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ 6 มหาวิทยาลัย เพื่อแปรรูปมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เป็นการบริหารโดยอาศัยกลไกตลาดที่ปิดกั้นผู้ยากไร้ให้ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา และร่างกฎหมายประกอบกิจการขนส่ง เพื่อโอนกิจการขนส่งให้นายทุน
 
พวกเรา มีความเห็นว่าการออกกฎหมายหลายฉบับดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและระบอบประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง โดยที่สภานิติบัญญัติชุดนี้ไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนสำหรับผลที่บังเกิดขึ้นแต่ประการใด ภายหลังจากพ้นตำแหน่ง
 
พวกเราเชื่อว่า หากสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ยังคงทำหน้าที่ออกกฎหมายต่อไปก็จะเป็นการทำร้ายสังคมไทยจนยากต่อการแก้ไขเยียวยา ประกอบกับเวลาที่เหลืออยู่เพียง 13 วัน นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปก็จะมีการเลือกตั้ง เพื่อคืนอำนาจให้แก่ประชาชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้จึงไม่ควรทำหน้าที่อีกต่อไป
 
พวกเราในฐานะพลเมืองของประเทศไทย จึงขอใช้สิทธิประกาศ ‘ปิดสภานิติบัญญัติรักษาการ เพื่อหยุดการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน’
 
ประกาศ วันที่ 12 ธันวาคม 2550
 
ณ บริเวณหน้ารัฐสภา
 
 
‘สุรพล’ โต้พวกเกลียดตัวกินไข่
 
รศ.ดร.สุรพล นิตไกรพจน์ สมาชิก สนช.ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมว่า หากผู้ที่มาชุมนุมจะบอกว่าสภานี้ไม่มีความชอบธรรมเพราะมาจากคณะรัฐประหาร นั้นก็แสดงว่าไม่มีความชอบธรรมแต่ต้น แต่ขอถามว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น กฎหมายออกมาจากไหน สนช.ชุดนี้เป็นผู้ผ่านกฎหมายให้มีการเลือกตั้ง สังคมไทยต้องมีคนมาทำหน้าที่นิติบัญญัติ ไม่ใช่ไม่พอใจกฎหมายบางฉบับแล้วออกมาบอกว่า สนช.ไม่ชอบธรรม การพูดเช่นนี้เหมือนเกลียดตัวกินไข่ อย่างไรก็ตาม การประท้วงของภาคประชาชนในครั้งนี้ก็เป็นไปด้วยดี ไม่ได้มีความรุนแรงอะไร
 
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ที่ประชุม สนช.จะพิจารณากฎหมายฉบับต่างๆ น.ส.พจนีย์ ธนวราณิช รองประธานคนที่ 1 ซึ่งเป็นประธานการประชุมได้แจ้งแก่สมาชิกว่า รศ.สุริชัย หวันแก้ว ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิก สนช.แล้วตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.โดยประธานการประชุมไม่ได้แจ้งเหตุผลของ รศ.สุริชัย ต่อที่ประชุมแต่อย่างใด
 
ขณะที่ประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น กล่าวว่า ในกรณีการลาออกของ รศ.สุริชัย นั้นยังไม่เพียงพอ แต่ควรขอโทษต่อประชาชนที่ไปเป็นส่วนสร้างความชอบธรรมให้คณะรัฐประหาร เป็นน้ำมันหล่อลื่นให้กับเผด็จการ พร้อมกับเรียกร้องให้บริจาคเงินเดือนที่ได้รับในการดำรงตำแหน่ง สนช.เข้ากองทุนวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ เนื่องจากเป็นภาษีของประชาชน
 
 
ปีนรั้วสภา ไปบอก ‘สนช.’ ว่า ‘วันนี้ไม่มีประชุมสภา’
 
เวลาประมาณ 11.30 น. นายจอนและแกนนำเครือข่ายต่างๆ อาทิ สารี อ๋องสมหวัง (มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค), สุภิญญา กลางณรงค์ (เลขาธิการ คปส.), วสันต์ สิทธิเขตต์ (เครือข่ายศิลปิน), นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ (กลุ่มเพื่อนประชาชน), นายไพโรจน์ พลเพชร (ส.ส.ส.), นายสาวิตย์ แก้วหวาน (สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์) รวมทั้งผู้มาร่วมชุมนุมได้นำบันไดไม้ไผ่มาพาดรั้วเพื่อพยายามปีนข้ามเข้าไปในสภา
 
โดยชุดแรกที่ปีนข้ามไปได้ประมาณ 20 คนได้วิ่งตรงเข้าไปหน้าอาคารสภาอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่เฝ้าประตูจึงรีบวิ่งไล่ตามทำให้บริเวณรั้วไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแลมากนัก ผู้ชุมนุมชุดต่อๆ มาจึงปีนเข้าไปในสภาได้สำเร็จประมาณ 60 คน
 
แกนนำระบุว่าการปีนรั้วเข้าไปในสภาครั้งนี้ต้องการเข้าไปบอกแก่ สนช. ว่า ‘วันนี้ไม่มีประชุมสภา’
 
ขณะที่ภายในห้องประชุมในระหว่างที่มีการประชุม นางเตือนใจ ดีเทศน์ สนช.ได้ขอหารือถึงสถานการณ์การชุมนุมว่า ค่อนข้างรุนแรง จึงขอให้ปิดประชุมก่อนจนกว่าจะมีการเจรา ซึ่ง น.ส.พจนีย์ ธนวราณิช รองประธานคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานได้ตอบว่า ไม่ทราบว่า ใครเป็นคนไปเจรจา เรายังทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ระบุว่า สนช.ต้องทำหน้าที่เป็น ส.ส.และ ส.ว.และต้องประชุมไปจนกว่าจะมีการเปิดประชุมรัฐสภา
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการสอบถามความเห็นที่ประชุมว่าควรจะเปิดประชุมต่อไปหรือพักการประชุมไว้ก่อน ที่ประชุมก็ลงมติว่าให้เลื่อนการประชุมออกไป หลังจากที่ภายนอกผู้ประท้วงได้ปักหลักชุมนุมหน้าห้องประชุมแล้วกว่า 10 นาที
 
 
‘ครูหยุย’ รับประสานประธานสภา ยันอยู่มีประโยชน์กว่าลาออก
 
ในระหว่างการประท้วงด้านนอกห้องประชุม นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. ออกมาหารือกับแกนนำผู้ชุมนุมเพื่อทำความเข้าใจว่าไม่เห็นด้วยกับกฎหมายอะไร ซึ่งนายจอนได้ให้รายละเอียด ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมตะโกนเรียกร้องให้นายวัลลภลาออกจากตำแหน่งสมาชิก สนช.
 
นอกจากนี้ผู้ชุมนุมยังถามถึงองค์ประชุมว่าครบหรือไม่ นายวัลลภยืนยันว่าครบ มีผู้มาประชุม 140 กว่าคน และตนได้เสนอให้ประธานสภาเลื่อนการประชุมออกไปเพราะสถานการณ์ตึงเครียด นอกจากนี้ยังเสนอด้วยว่าไม่ควรพิจารณากฎหมายใหม่ที่เข้ามาเป็นวาระแรกจำนวน 15 ฉบับ แต่ให้พิจารณากฎหมายที่ยังค้างวาระ 2 และ 3 เท่านั้น
 
ส่วนเรื่องที่ภาคประชาชนเสนอให้ สนช. ลาออกนั้นเป็นคนละเรื่องกัน ถึงลาออกก็ไม่มีประโยชน์ แต่เห็นด้วยว่ากฎหมายหลายฉบับเป็นเรื่องใหญ่ที่ควรต้องถกเถียงกันกว้างขวาง ไม่ควรเร่งพิจารณา
 
นายวัลลภรับจะเป็นสะพานเชื่อมนำข้อเรียกร้องต่างๆ เข้าหารือกับประธานสภา
 
 
‘ครูแดง’ เสนอส่งตัวแทนเจรจา ‘จอน’ ยอมถ้าถอน ‘พ.ร.บ. ความมั่นคง’
 
นอกจากนี้ นางเตือนใจ ดีเทศน์ สนช. ได้ออกมาเยี่ยมผู้ชุมนุม และกล่าวว่า อยากให้มีการคุยกันระหว่างภาคประชาชนกับ สนช. เพราะเห็นว่าข้อเรียกร้องของภาคประชาชนมีเหตุผล สนช.เองก็พิจารณากฎหมายในช่วงใกล้เลือกตั้งมากเกินไป โดยมีกฎหมายบางฉบับที่ภาคประชาชนห่วงกังวลอย่างยิ่ง ดังนั้นจะเสนอสมาชิกเพื่อให้เกิดกระบวนการเจรจากับตัวแทนผู้ชุมนุม
 
เมื่อสื่อมวลชนถามถึงข้อเรียกร้องภาคประชาชนที่ต้องการให้สมาชิก สนช. ลาออกเพื่อแสดงสปิริต นางเตือนใจตอบว่า การลาออกไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะถึงลาออกองค์ประชุมก็ยังทำงานต่อไปได้ แต่ถ้ายังอยู่จะสามารถผลักดันกฎหมายดีๆ ที่เป็นประโยชน์ได้ เช่น พ.ร.บ.สัญชาติ หรือ พ.ร.บ.ทะเบียนราษฎร ซึ่งผ่านการพิจารณามาอย่างรอบครอบแล้ว
 
ขณะที่นายจอน อึ๊งภากรณ์ ตอบประเด็นข้อเสนอในการเจรจาว่า ไม่รู้จะเจรจาอะไรกับ สนช.เพราะเราเรียกร้องให้ สนช. ปิดหรือยุติบทบาท และที่สำคัญคือภาคประชาชนรู้ดีว่าที่ประชุม สนช.ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ก็เพราะต้องการผลัก พ.ร.บ.ความมั่นคงออกมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนรับไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการประกาศถอน พ.ร.บ. ความมั่นคงจากการพิจารณาอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะชน ก็จะยอมเจรจา
 
 
‘มีชัย’ แถลงยัน ‘สนช.’ ต้องทำหน้าที่ต่อตาม รธน.กำหนด
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน สนช. ที่อยู่ระหว่างการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลได้โทรศัพท์สอบถามเหตุการณ์ตลอดเวลา จากนั้นได้รีบเดินทางเข้ามาที่รัฐสภา พร้อมกับเรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น นางสุวิมล ภูมิสิงหราช เลขาธิการ สนช. ผู้อำนวยการอาคารสถานที่ของ สนช.และสภาผู้แทนราษฎร นายวิษณุ เครืองาม สนช. พล.ท.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 พล.ต.ท.วัชพล ประสารราชกิจ ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจกองปฏิบัติการพิเศษ 191 พ.ต.อ.ปรัชญ์ชัย ใจชาญสุขกิจ ผู้กำกับการ สน.ดุสิต เพื่อหาทางรับมือกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งการประชุมเป็นไปอย่างเคร่งเครียด โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง
 
ในที่ประชุมนายมีชัย เสนอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมออกจากบริเวณอาคารรัฐสภา เพื่อเปิดประชุมต่อในเวลา 13.30 น. แต่มีผู้ท้วงติงว่า อาจเกิดการกระทบกระทั่งจนบานปลายได้ ในที่สุดนายมีชัยได้ตัดสินใจเปิดแถลงข่าวต่อผู้สื่อข่าว ขอเลื่อนการประชุมไปโดยไม่มีกำหนด
 
ระหว่างการแถลงข่าว นายมีชัย ฤชุพันธุ์ กล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์วุ่นวายที่เกิดขึ้นในช่วงเช้าวันนี้ และยืนยันว่าในวันนี้จะไม่มีการประชุม สนช.ต่อไป ส่วนจะมีการประชุมอีกเมื่อใดนั้น ไม่สามารถระบุได้ โดยต้องพิจารณาไปตามภารกิจ
 
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการทำหน้าที่ของ สนช.ในการพิจารณากฎหมาย เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ สนช.ต้องทำหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีการเปิดประชุมสภาใหม่ และที่ผ่านมาไม่ได้มีการเร่งรัดการพิจารณากฎหมาย หรือตั้งเป้าในการพิจารณากฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งเป็นพิเศษ
 
ส่วนข้อเรียกร้องที่ให้ สนช.ลาออกนั้น เห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อการตั้งรัฐบาลใหม่ เพราะมีผลผูกพันหน้าที่เอาไว้ตามรัฐธรรมนูญ แต่เห็นว่าหากกฎหมายใดที่มีความไม่พอใจ ก็สามารถให้รัฐบาลใหม่ยกเลิกหรือแก้ไขได้
 
 
สำเร็จชั่วคราว ‘ปิดสภา’ 1 วัน
 
หลังจากเครือข่ายภาคประชาชนปักหลักชุมนุมกดดันต่อตลอดช่วงบ่าย จนนายมีชัยแถลงยืนยันการปิดการประชุมในวันนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมที่เข้าไปประท้วงประชิดห้องประชุมได้กลับออกมาด้านนอก
 
นายจอน อึ๊งภากรณ์ ขึ้นแถลงบนเวทีปราศรัยหน้าสภาว่า เราประสบความสำเร็จในเป้าหมายที่กดดันจน สนช.ไม่มีการประชุมในวันนี้ แต่ไม่ใช่ความสำเร็จในขั้นสุดท้าย คือ การปิด สนช.ถาวร อย่างไรก็ตาม ประชาชนได้เรียนรู้ว่าสามารถทำให้เขาปิดประชุมได้ด้วยความจริงใจของพวกเราที่รับไม่ได้กับกฎหมายอุบาทว์ และครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่สามารถบุกเข้าได้ถึงห้องประชุมสภา
 
นายจอน กล่าวด้วยว่าสำหรับข้อเรียกร้องให้สมาชิก สนช.ลาออกนั้นคือจุดที่จะบอกว่าใครอยู่ข้างประชาชน ใครอยู่ข้างเผด็จการ และอย่างน้อยการที่ รศ.สุริชัย หวันแก้ว ประกาศลาออก (11 ธ.ค.50) ก็เป็นการแสดงออกว่าอยู่ข้างประชาชน แต่ใครที่ไม่ลาออกแสดงว่ามีจิตใจเผด็จการ และเราจะสู้ต่อไป
 
ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เชิญนายจอนเข้าพบที่ทำเนียบในช่วงบ่ายวันพรุ่งนี้ (13 ธ.ค.56) เนื่องจากกังวลว่าการประท้วงอาจลุกลามเกิดความรุนแรง และอาจเป็นเงื่อนไขที่จะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 23 ธ.ค.นี้
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท