ชำแหละคดี ‘ยู่ยี่’ : พ.ร.บ.ยาเสพติดใหม่ที่มาช้า-เสียงเพื่อนร่วมห้องขัง “พี่ยี่นั่งเหม่อทุกวัน”

สรุปเรื่องราวในคดีของยู่ยี่ ทั้งปากคำของสามีที่บอกเล่าความไม่ชอบมาพากลของหลักฐานในคดี กระบวนการในศาล เรื่องเล่าจากเพื่อน(เคย)ร่วมคุก ทำความเข้าใจกฎหมายยาเสพติดใหม่ ตอบคำถามว่ารื้อฟื้นคดีได้หรือไม่ รวมถึงระเบียบราชทัณฑ์ใหม่ที่เพิ่งออกปีกลาย ซึ่งทำให้เธอ (โทษสูง) ต้องอยู่ในคุกอีกนานกว่าจะมีสิทธิได้รับอภัยโทษเช่นนักโทษคนอื่น

เมื่อวานนี้ (15 มี.ค.) คดีของนางแบบนักแสดงสาว “ยู่ยี่” ชัชชญา เกวสต้า รามอส หรือที่หลายๆ คนเคยรู้จักในชื่อของ ยู่ยี่ อลิสา อินทุสมิต สั่นสะเทือนความรู้สึกผู้คนพอสมควรกับโทษ 15 ปี สื่อหลายสำนักพากันพาดหัวข่าว

ไม่รับฎีกา! ยู่ยี่ นางแบบดังไม่รอด! คุก 15 ปี 3 เดือนคดีซุกโคเคน
ย้อนกราฟชีวิต ยู่ยี่ อลิสา จากรุ่งเรืองพลิกติดคุกเพราะยาเสพติด
"ยู่ยี่" ชีวิตพลิก เพราะยาเสพติด
ศาลฎีกาสั่งจำคุก ยู่ยี่ นางแบบดัง 15 ปี คดีซุกโคเคนเข้าประเทศ
ย้อนยุคทอง “ยู่ยี่” เซ็กซี่สตาร์ คว้าไมค์ร้องเพลง...แต่ชีวิตดาวดังต้องพังเพราะยาเสพติด

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ

1.กรณีของยู่ยี่ ไม่ใช่เพียงเรื่องของนางแบบดาราที่เดินทางผิด แต่เป็นประเด็นเชิงโครงสร้างของบทลงโทษในกฎหมายที่หนักมากในข้อหาเกี่ยวกับยาเสพติด ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ต้องเผชิญชะตากรรมเช่นนี้ เรื่องบทลงโทษในกฎหมายยาเสพติดเป็นเรื่องที่กำลังถกเถียงกันอย่างมากแม้แต่ในแวดวงตุลาการเองว่าโทษนั้นเหมาะสมหรือไม่ การตีความนั้นมีความยืดหยุ่นมุ่งค้นหาเจตนาของผู้กระทำผิดเพียงใด ข่าวคราวของเธอจึงเป็นกรณีตัวอย่างที่ควรสนใจไม่น้อยไปกว่าประวัติวาบหวิวของเธอ

2.รายละเอียดข้อเท็จจริงของ “ขนโคเคน (เข้าประเทศ)”  “ซุกโคกเคน” นั้นเป็นเช่นไรแน่

3.ชีวิตในเรือนจำของยู่ยี่เป็นอย่างไร

4. เกี่ยวพันกับข้อ 1 นั่นคือ ยู่ยี่จะได้ประโยชน์อะไรจากพ.ร.บ.ยาเสพติดฉบับใหม่ที่เพิ่งบังคับใช้เมื่อม.ค.2560 ที่ผ่อนปรนเรื่องยาเสพติดมากขึ้นหรือไม่ เธอมีทางรื้อฟื้นคดีหรือเปล่า เธอจะได้รับพระราชทานอภัยโทษในวาระโอกาสต่างๆ เหมือนนักโทษอื่นๆ หรือไม่ อย่างไร

“ซุกโคเคน” “ขนโคเคนเข้าประเทศ”

หากใครไม่อ่านแค่เพียงพาดหัวข่าว หรือเพียงดูในรายละเอียดของคดีสักนิด จะพบว่า โคเคนตามฟ้องนั้นมีน้ำหนัก 251 มิลลิกรัม หรือเทียบง่ายๆ คือ ยาพาราครึ่งเม็ดบดละเอียด

หากต้องการทราบรายละเอียดที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม เราอาจต้องย้อนไปดูข่าวเก่า Cuesta Ramos สามีของยู่ยี่เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ตีพิมพ์เมื่อ 21 มิถุนายน 2558 (Wild cats, Cocaine and claims of a police set-up สัมภาษณ์โดย Nanchanok Wongsamuth) ว่ามีข้อสงสัยในคดีหลายประการ

 1.มีคนโทรศัพท์แจ้งเขาก่อนเครื่องบินยู่ยี่จะลงจอดที่สนามบิน 20 นาที เธอกำลังเดินทางกลับจากเวียดนามมาลงที่สนามบินดอนเมือง โดยปลายสายบอกว่า “มาที่สนามบินด่วน ยู่ยี่มียาเสพติด” (เหตุเกิด 10 พ.ย.2555)

2.เมื่อรามอสมาถึงสนามบิน 10 นาทีหลังเครื่องบินลงจอดเขาขอดูยาเสพติดของกลาง แต่ตำรวจปฏิเสธและบอกว่า นำยาไปตรวจสอบแล้ว

3.หมายจับที่นักข่าวบางกอกโพสต์เห็นระบุว่า ยู่ยี่ครอบครองโคเคน 5 มิลลิกรัม (0.005 กรัม) ราคาประมาณ 12 บาท แต่ยู่ยี่โดนฟ้องว่า “นำเข้า” ยาจำนวน 251 มิลลิกรัม  (0.251 กรัม)

4.ตำรวจเบิกความว่าเขาวิ่งเข้าไปในห้องน้ำหญิงหลังได้ยินเสียงกรีดร้องและพบยู่ยี่ในนั้น ตำรวจขอค้นกระเป๋าของเธอ และพบโคเคนในกล่องชอคโกแลตยี่ห้อหนึ่ง

5. ตำรวจระบุว่า ยู่ยี่ปฏิเสธที่จะพบทนายความ และไม่ยอมให้ตรวจปัสสาวะ เธอสารภาพในเบื้องต้นว่าโคเคนเป็นของเธอ ซึ่งเหลือมาจากทริปที่เวียดนาม ต่อมาในศาล เธอให้การว่าเพราะตำรวจและเจ้าหน้าที่สนามบินบอกเธอว่า จำนวนมันเล็กน้อยมากหากรับสารภาพเสียก็จะปล่อยไป

6.ในคำให้การของยู่ยี่ในชั้นศาล เธอบอกว่าตอนนั้นรู้สึกไม่ค่อยดีและเข้าห้องน้ำไปอาเจียน เธอบอกว่ามีคนแปลกหน้าแนะนำให้เธอกินชอคโกแลต และให้กล่องชอคโกแลตนั้น

7.ตอนที่เธอเซ็นรับสารภาพที่สนามบิน เธอถูกใส่กุญแจมือ และถูกนำตัวไปสน.ดอนเมืองเพื่อขัง 2 วัน รามอสจ่ายเงิน 10,000 บาทเพื่อประกันตัว และได้โทรศัพท์คืนหลังถูกยึดเพราะอัดเสียงส่วนหนึ่งของการจับกุม เมมโมรี่การ์ดหายไป

8. การพิจารณาคดีเดือนพฤษภาคม 2557 ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง มีพยานโจทก์ 4 คน รามอส ถูกวางเป็นพยานจำเลยที่จะให้การในวันถัดมา แต่ก็ถูกยกเลิก ปล่อยให้ยู่ยี่เป็นพยานให้ตนเองเพียงคนเดียว

9. ในเอกสารของศาล น้ำหนักของโคเคนเปลี่ยนจาก 5 มิลลิกรัมเป็น 251 มิลลิกรัม ตำรวจอ้างว่า ที่สนามบินตำรวจไม่มีเครื่องมือในการตวงวัดน้ำหนักยาตอนจับกุม จึงไม่ทราบน้ำหนักที่แน่ชัด ต่อมามีการส่งตรวจที่สำนักยาและวัตถุเสพติด ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 หนึ่งเดือนหลังจากนั้นผลดังกล่าวถูกส่งมาให้สน.ดอนเมือง คดีของยู่ยี่ถูกปรับจาก "ครอบครอง" เป็น "นำเข้า" (ซึ่งโทษสูงขึ้นมากและจะกล่าวถึงเรื่องกฎหมายในตอนท้าย)

10.วันที่ 15 มิถุนายน 2557 ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกเธอ 15 ปี ปรับ 1.5 ล้าน

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า โจทก์มีเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุมเบิกความว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 11.00 น.เศษ ระหว่างพยานปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ท่าอากาศยานดอนเมืองได้รับแจ้งว่าได้ยินเสียงหญิงสาวส่งเสียงดังมากจากห้องโถงบริเวณข้างห้องน้ำ พยานกับเจ้าหน้าที่อีก 4-5 คนจึงได้เข้าไปตรวจสอบพบจำเลยสะพายกระเป๋าอยู่ยืนส่งเสียง จากนั้นจึงได้ขอตรวจค้นกระเป๋าสะพายดังกล่าว เมื่อจำเลยเปิดกระเป๋าก็พบของใช้ส่วนตัวและหลอดบรรจุช็อกโกแลตยี่ห้อหนึ่ง เมื่อเปิดออกก็พบผงสีขาวในซองพลาสติกและเม็ดยาหลากสีปะปนกับเม็ดช็อกโกแลต เมื่อนำไปตรวจสอบพบเป็นสารเสพติดโคคาอีน และพยานดังกล่าวได้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ได้รู้จักกับจำเลยมาก่อน จึงเชื่อว่าได้เบิกความตามจริง ขณะที่บันทึกการจับกุมระบุว่าจำเลยให้การรับว่าในวันเกิดเหตุได้เดินทางกลับมาจากเวียดนามโดยยาเสพติดดังกล่าวเป็นยาเสพติดที่เหลือจากการเสพในประเทศเวียดนามเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2555 ซึ่งตามบันทึกจับกุมดังกล่าวก็เกิดขึ้นภายในวันเดียว จึงเชื่อว่ายากที่จะมีการปรุงแต่งรายละเอียดเพื่อให้จำเลยต้องรับโทษ
       
ส่วนที่จำเลยอ้างว่าได้รับหลอดช็อกโกแลตมาจากผู้โดยสารอื่นบนเครื่องบิน เห็นว่าเมื่อปรากฏว่าภายในหลอดมีสารเสพติดที่แพ็กและซุกซ่อนอยู่เป็นอย่างดี เป็นเรื่องยากที่บุคคลแปลกหน้าซึ่งจำเลยไม่รู้จักจะมอบให้ และที่อ้างว่าเมื่อถูกจับกุม จำเลยได้รับแจ้งว่าจะมีเพียงโทษปรับเท่านั้นก็พบว่า ตามบันทึกจับกุมจำเลยก็ได้ลงรายมือชื่อโดยไม่มีการโต้แย้งใดๆ ข้อกล่าวอ้างของจำเลยจึงเลื่อนลอย พยานโจทก์จึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยนำโคคาอีนเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งมีไว้ในครอบครองโดยไมได้รับอนุญาต
       
จึงพิพากษาจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ มาตรา 16, 17, 68 และ 69 ซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานนำเข้ายาเสพติดมาในราชอาณาจักรโดยไมได้รับอนุญาตที่เป็นบทหนักสุด จำคุก 20 ปี และปรับ 2 ล้านบาท แต่คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา เห็นความลดโทษให้ 1 ใน 4 คงจำคุกจำเลยเป็นเวลา 15 ปี และปรับ 1.5 ล้านบาท โดยให้นำโทษจำคุก 3 เดือนในคดีลักลอบมีสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตของศาลจังหวัดมีนบุรีมานับรวมด้วย รวมจำคุกจำเลยทั้งสิ้น 15 ปี 3 เดือน และปรับ 1.5 ล้านบาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 ให้กักขังแทนค่าปรับ (
อ่านที่นี่)
      

11. รามอสระบุว่า ยู่ยี่มีประวัติเคยใช้ยามาก่อนก็จริง แต่จากการอยู่กินกับเธอมา 14 ปี ยืนยันว่าเธอเลิกมันอย่างเด็ดขาด และเป็นแม่ผู้ดูแลลูกเล็กๆ 3 คน (คนหนึ่งเสียชีวิต) แต่ด้วยประวัติที่เธอเคยใช้ยาเสพติดนั่นทำให้ใครๆ หรือสังคมต่างก็เชื่อได้อย่างง่ายดายว่าเธอกระทำผิดจริง

12. ข้อสันนิษฐานของรามอสตอนให้สัมภาษณ์เป็นการกล่าวหาที่รุนแรงว่า เรื่องนี้เป็นการจัดฉาก เขาให้เหตุผลว่าคดีนี้เกิดขึ้นหลังจากพวกเขาเข้าไปช่วยเหลือเสือดาวเมื่อไม่กี่เดือนก่อนนำส่งสวนสัตว์ดุสิต (ทั้งสองคนเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือสัตว์ป่ากับองค์กร Thai Animal Guardians Association (AGA) มาตั้งแต่ปี 2545) จริงๆ มันต้องถูกส่งไปยุโรปให้กับผู้มีอำนาจบางคน ราคาของมันเกือบครึ่งล้าน จากนั้นมีตำรวจนอกเครื่องแบบมาเรียกร้องให้เขาจ่ายเงิน 400,000 บาทเป็นค่าชดเชยความเสียหายที่เสือดาวไม่ถูกส่งไปยุโรป 2 ครั้งแต่เขาปฏิเสธ

13.หลังยู่ยี่อยู่ในคุกได้อาทิตย์หนึ่ง ทนายความของเธอขอลาออก ให้เหตุผลว่ากลัวและไม่ต้องการจะมีปัญหามากกว่านี้ ทนายความคนที่สองที่เขาจ้างก็ขอลาออก ด้วยเหตุผลว่าคดีนี้ "ซับซ้อนมาก"

14.ระหว่างต่อสู้คดี ยู่ยี่ ได้รับการประกันตัว แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อ 12 มิ.ย.2557 เธอถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เธอยื่นประกันตัวหลายครั้งระหว่างอุทธรณ์ฎีกาแต่ศาลปฏิเสธ กระทั่งถึงวันที่ศาลฎีกาพิพากษาไม่รับฎีกาของเธอในวันที่ 15 มี.ค.2560 ที่ผ่านมาอันมีผลให้คดีเป็นที่สิ้นสุด รวมระยะเวลาที่เธออยู่ในเรือนจำจนคดีถึงที่สุดคือ 2 ปี 9 เดือน

15. สามีของยู่ยี่ทำการรณรงค์ในต่างประเทศอย่างหนักหน่วง โดย #freeyuyee เป็นป้ายบันทึก (hashtag) บนหน้าทวิตเตอร์อันหนึ่งที่แพร่หลายกว้างขวาง  มีดารา นักร้อง นักกีฬา ชื่อดังร่วมรณรงค์ เช่น ชากิร่า นักร้องหญิงเลือดโคลัมเบีย เลฮานโด แซ้งซ์ นักร้องชื่อดังของสเปน ราฟาเอล นาดาล นักเทนนิสชั้นนำของโลก เชื้อสายสเปน ไลโอเนล เมสซี ดาวฟุตบอลของอาร์เจ็นติน่า ใน Chang.org ก็มีล่ารายชื่อเพื่อให้ทบทวนการพิจารณาคดีของยู่ยี่จำนวนมาก (ปัจจุบัน16 มี.ค.มีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 527,000 รายชื่อ)

16. "ชีวิตทั้งหมดของพวกเราแตกออกเป็นเสี่ยงโดยสิ้นเชิง พวกเราใช้ชีวิตด้วยกันมา 14 ปี และกำลังพยายามจะซื้อบ้านเพื่อดูแลครอบครัว แต่หลังจากทำงานหนัก ในที่สุดทุกอย่างก็ถูกทำลายเพราะระบบที่ corrupt" คำให้สัมภาษณ์ของรามอสกับบางกอกโพสต์เมื่อปี 2558 ส่วนเมื่อวานนี้ (15 มี.ค.) รามอสโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

The Supreme Court has rejected the case of yuyee. The sentence is firm for 15 years and 3 MONTHS!! The life of my children and theirs a wreck. There is no justice in this fucking world!!!

เรื่องของนักโทษหญิงยู่ยี่

สามีของเธอเคยให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2558 ว่า เขาพยายามจะไปเยี่ยมเธอทุกอาทิตย์ และบรรยายสภาพของเธอว่า she looks like shit. She is stressed to the point of 'I'm gonna kill myself'

ยู่ยี่ถูกคุมขังตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 ต่อมาเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน กอล์ฟ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง นักแสดงละครเวทีที่ถูกฟ้องในคดี 112 ถูกจับกุมและนำไปคุมขังที่เดียวกับยู่ยี่ กอล์ฟเจอยู่ยี่นับแต่นั้นเรื่อยมาจนกระทั่งกอล์ฟได้ออกจากเรือนจำเมื่อ 27 สิงหาคม 2559

เธอเล่าให้ฟังว่า

“ตอนนั้นกอล์ฟเข้าไปอยู่ในห้อง 1/6 แกอยู่ห้องนั้นอยู่แล้ว อยู่มาก่อนซักพัก แกไม่ค่อยพูด แต่หลังๆ ได้คุยกันเพราะถูกย้ายไปนอนใกล้แก แล้วหัวมันชนกัน เราคุยกันมาเรื่อยๆ ทำงานอยู่อาคารเพชรเหมือนกัน พี่ยี่มีหน้าที่ตักน้ำร้อนตอนเช้าแจกคนอื่นๆ”

“เท่าที่รู้จักกับพี่ยู่ยี่ แกตัดสินใจสู้คดีเพราะแกเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตัวเอง แกไม่ใช่คนเสพยา ที่แกผอมเพราะแกติดเหล้า แกชอบกินเหล้า แกว่าแกไม่ได้เล่นยา สิ่งที่พี่ยี่เป็นห่วงมากที่สุดคือ ลูกๆ 2 คนว่าจะอยู่ยังไง แกรักครอบครัวมาก ห่วงลูกมาก แกเล่าให้ฟังว่าคดีนี้มันมีเรื่องลึกลับซับซ้อนมากมาย มากกว่ากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมจะเข้าไปถึง”

“ทุกๆ วันแกจะนั่งเหม่อ รอฟังเสียงเยี่ยมญาติ แฟนแกมาเยี่ยมประจำ บางทีก็มีเพื่อนดารามาเยี่ยม บางทีก็มีลูกๆ มาเยี่ยมด้วย แกดีใจมากๆ ทุกครั้งที่ลูกมา แกพยายามจะเข้มแข็งแต่เราก็รู้ว่าแกบอบช้ำมาก มีคนเขียนโปสการ์ดมาบ้าง แกอ่านก็จะยิ้ม แต่สิ่งที่แกอยากได้ไม่ใช่จดหมายไง แกอยากได้อิสรภาพของตัวเองคืน”

“บางทีเราไม่ชอบที่ผู้ต้องขังคนอื่นมาเรียกว่า อียู่ยี่อย่างนั้น อียู่ยี่อย่างนี้ เพราะเราไม่รู้สึกว่าคนพวกนั้นดีกว่าพี่ยี่ขนาดจะไปจิกหัวเรียก อี ได้ แต่มันก็ห้ามไม่ได้”

“ตอนกลางคืนพี่ยี่จะนั่งสมาธิทุกคืน แกไม่ค่อยดูทีวี มีแต่ฟังเพลงบ้าง แกเป็นคนจิตใจดีนะ เป็นผู้หญิงอบอุ่น”

“แกป่วยเป็นโรคกระเพาะอักเสบ มีเลือดออกมาตอนถ่าย แล้วก็มีปัญหาเรื่องความเครียด บางครั้งนอนไม่ได้หลายคืนต้องขอยานอนหลับมากิน แกเป็นมากจนตอนนี้ได้ข่าวว่าต้องไปอยู่โรงพยาบาลของเรือนจำ มันก็ดีสำหรับทางกายภาพที่อยู่ที่นั่น แต่ที่นั่นไม่มีเพื่อน สภาพจิตใจอาจแย่ลงไปอีก”

“แกเข้าไปใหม่ๆ จะชอบซื้อของแจกคนไม่มีญาติ หลังๆ แกไม่แจกคนไทย แต่แจกคนต่างชาติ เพราะคนไทยได้แล้วจะขออีกเรื่อยๆ แต่คนเขมรนั้นเขาไม่เอาเยอะ แจกได้หลายคน แกเลยซื้อของแจกคนเขมร คนลาว คนพม่าที่เข้าไปติดคุก ไม่มีญาติ”

“บางทีแกก็โกรธ กลับมาจากเยี่ยมญาติแล้วก็กรี๊ด กรี๊ดอั้นๆ ให้พวกเราฟัง เวลามีเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ แกร้องไห้หนักแต่ก็พยายามสะกดกั้นอารมณ์ แกไม่อยากร้องไห้ให้ลูกเห็น”

พ.ร.บ.ยาเสพติดใหม่ที่มาช้าเกินไปสำหรับยู่ยี่

เดือนมกราคมที่ผ่านมา พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ได้รับการปรับปรุงใหม่และบังคับใช้ ประเด็นสำคัญอย่างมาก คือ การเติมคำว่า “ให้สันนิษฐานว่า” ลงไปในบทบัญญัติความผิด

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่ากฎหมายยาเสพติดเกิดและถูกบังคับใช้ในยุคที่รัฐต้องการปราบยาเสพติด ในช่วงประกาศสงครามกับยาเสพติด มีการเพิ่มโทษให้รุนแรงถึงขั้นติดคุกตลอดชีวิต จำคุกตลอดชีวิต โดยเฉพาะกับ “ยาบ้า” ซึ่งอยู่ในลิสต์ยาเสพติดประเภท 1

โคเคน ซึ่งอยู่ในยาเสพติดประเภท 2 หรือร้ายแรงรองลงมาก็โทษสูงตามๆ กันไปด้วย (ยาเสพติดถูกแบ่งเป็น 5 ประเภทตามกฎหมายและมีโทษลดหลั่นกันไป อ่านที่นี่)

แนวคิดในการปรับลดโทษนั้นมีมาพักใหญ่ในหมู่ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม สาเหตุสำคัญนอกเหนือจากสหรัฐอเมริกาหรืออีกหลายๆ ประเทศเริ่มปรับเปลี่ยนทิศทางจัดการกับยาเสพติดหลังจาก “เด็ดขาด” “รุนแรง” แล้วไม่เป็นผล ก็ยังมีเหตุผลสำคัญ เป็นปัญหาด่วนมากถึงมากที่สุดของไทยเอง นั่นคือ นักโทษล้นคุก ส่งผลให้คุณภาพชีวิตนักโทษตกต่ำ แออัดหนัก เหตุก็เพราะ 70-80% ของนักโทษก็มาจากคดียาเสพติด โดยเฉพาะ “ยาบ้า” และล้วนเป็นรายย่อยทั้งสิ้น (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

แล้วพ.ร.บ.ใหม่ปรับอะไร สิ่งที่ชัดเจนและสำคัญยิ่งคือ การเพิ่มคำว่า “สันนิษฐาน” ลงไป เพราะกฎหมายเดิมนั้นนอกจากจะโทษหนักมากแล้วยังปิดตายการตีความโดยสิ้นเชิง กำหนดเพียงว่า ปริมาณเกินเท่าใดถือว่า “จำหน่าย” แล้วก็จะกำหนดโทษสูงมากสำหรับผู้จำหน่าย ปริมาณที่เป็นเกณฑ์ตั้งต้นนั้นก็ค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ยังกำหนดโทษสูงมากสำหรับ “การนำเข้ามาในราชอาณาจักร” ด้วย ทำให้คนจำนวนไม่น้อยติดตารางยาวนาน มีตัวอย่างมากมายที่มียาบ้า 1-2 เม็ดแต่ข้ามมาจากประเทศเพื่อนบ้านก็โดนคุกตลอดชีวิต รับสารภาพลดเหลือ 25 ปี

การกำหนดตายตัวเป็นการไม่เปิดโอกาสให้จำเลยได้พิสูจน์เจตนา การเติมคำว่า “สันนิษฐาน” จึงหวังเอื้อให้ตำรวจต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมอย่างมาก และศาลสามารถพิจารณาดูเจตนาที่แท้จริงของจำเลยได้ ส่งผลต่อโทษที่จะลดลง ตัวบทลงโทษเองก็พยายามปรับลดลงเช่นกัน แต่เป็นการลดเฉพาะยาเสพติดประเภท 1   หรือมุ่งเน้นยาบ้าเท่านั้น (อ่านรายละเอียดที่นี่)

กฎหมายใหม่ที่ออกมานี้ กำหนดให้มีผลย้อนหลังด้วย สำหรับคดีที่ศาลชั้นต้นยังไม่พิพากษา ยังต่อสู้คดีกันอยู่ สามารถยื่นเรื่องให้ใช้กฎหมายใหม่นี้ได้ แต่คดีของยู่ยี่ผ่านขั้นตอนนั้นมาแล้ว

นอกจากนี้ในส่วนที่พิพากษาไปแล้วและเจ้าตัวกำลังติดคุกอยู่ ผู้กระทำความผิดเอง ผู้อภิบาล หรืออัยการอาจทำเรื่องขอให้ศาลพิจารณากำหนดโทษใหม่ตามกฎหมายใหม่ก็ได้ หากติดคุกมาแล้วระยะหนึ่งสมควรแก่เหตุศาลอาจสั่งปล่อยเลยก็ได้ แต่นั่นก็จำกัดเฉพาะยาเสพติดประเภท 1 (มุ่งเป้ายาบ้า) ที่มีการปรับลดโทษในกฎหมายใหม่ ดังนั้น โคเคน ซึ่งอยู่ในยาเสพติดประเภท 2 ก็ไม่เข้าข่ายดังกล่าว

ทั้งนี้ หลังบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่ มีนักโทษในเรือนจำเข้าข่ายใช้กฎหมายใหม่เบื้องต้น 165 คน (อ่านที่นี่)

แล้วโทษตามกฎหมาย พ.ร.บ.ยาเสพติดของยู่ยี่คืออะไร

เนื่องจากยู่ยี่ถูกจับกุมที่สนามบิน บินมาจากประเทศอื่นเข้ามาในประเทศไทย มันจึงเป็น “การนำเข้า” ซึ่งโทษสูงมาก คือ “จำคุก 20 ปีจนถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2 ล้านถึง 5 ล้านบาท”  สิ่งที่ศาลลงโทษยู่ยี่คือขั้นต่ำสุดแล้ว นั่นคือ จำคุก 20 ปี ปรับ 2 ล้าน ก่อนจะลดโทษให้ 1 ใน 4 เพราะให้การเป็นประโยชน์

หากไม่ได้ถูกจับที่สนามบินเป็นเพียงการครอบครองเฉยๆ ในปริมาณตามฟ้องคือ 251 มิลลิกรัม โทษตามกฎหมายระบุว่าถ้าครอบครองไม่เกิน 100 กรัม จะมีโทษจำคุก 3-20 ปี และปรับ 60,000-400,000 บาท

ขอรื้อฟื้นคดีได้ไหม

พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2526 เพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ต้องรับโทษเพราะความผิดพลาดจากกระบวนการยุติธรรม โดยเปิดช่องให้จำเลยที่ต้องรับโทษในคดีอาญาสามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้รื้อฟื้นคดีที่ถึงที่สุดไปแล้ว กลับขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้อีกครั้ง

เหตุในการรื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณาใหม่ ได้แก่

1 มีคำพิพากษาว่าพยานสำคัญที่เคยเบิกความในการตัดสินคดีแรก เป็นพยานเท็จ
2 มีคำพิพากษาว่าหลักฐานสำคัญที่ใช้ในการตัดสินคดีแรก เป็นหลักฐานเท็จ
3 มีพยานหลักฐานที่เพิ่งปรากฏขึ้นใหม่ ซึ่งอาจพิสูจน์ได้ว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิด

ดูจากหลักเกณฑ์แล้วแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการรื้อฟื้นคดีของเธอ และแน่นอน แม้พ.ร.บ.นี้จะมีการใช้มานานมากแล้วแต่แทบไม่มีคดีที่สามารถรื้อฟื้นได้

ยู่ยี่จะมีสิทธิรับส่วนลดโทษจากการอภัยโทษเมื่อไร

“ไม่เป็นไร เดี๋ยวได้อภัยโทษไม่กี่ครั้งก็ได้ออก” นี่เป็นคำปลอบใจที่ practical มากที่ผู้ต้องขังโทษสูงจะได้ยินบ่อยๆ

ปรากฏการณ์จริงก็เป็นเช่นนั้น เพราะการพระราชทานอภัยโทษทั่วไปในวโรกาสสำคัญๆ เป็นความหวังเดียวที่พวกเขาจะได้ออกจากคุกเร็วกว่ากำหนด

ปกติแล้วนักโทษที่คดีถึงที่สุดจะได้รับสถานะเป็นนักโทษชั้นกลาง และการเลื่อนชั้นมักจะมีเป็นรอบๆ ทุก 6 เดือน หากไม่มีเหตุทะเลาะวิวาท ทำผิดกฎเรือนจำ หรือช่วยงานเจ้าหน้าที่ ย่อมได้รับการเลื่อนชั้นไปเป็นนักโทษชั้นเยี่ยมได้ไม่ยาก

ชั้นของนักโทษแบ่งเป็น ชั้นเลวมาก ชั้นเลว ชั้นกลาง ชั้นดี ชั้นดีมาก ชั้นเยี่ยม ซึ่งนักโทษชั้นกลางขึ้นไปเท่านั้นที่จะได้รับอานิสงส์จากการอภัยโทษ สัดส่วนของการลดโทษก็จะลดหลั่นกันลงไปตามชั้น นอกจากนี้นักโทษยาเสพติดแม้เข้าเกณฑ์ได้รับการลดโทษก็จะได้รับการลดโทษน้อยกว่านักโทษทั่วไปในชั้นเดียวกันอีกด้วย

เรื่องตลกร้ายก็คือ กรมราชทัณฑ์เพิ่งออกระเบียบการเลื่อนชั้นนักโทษใหม่ เมื่อเดือนกันยายน 2559 กำหนดให้นักโทษเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากได้รับโทษจำคุกสูง 10 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี จะต้องอยู่ในเรือนจำก่อนเป็นเวลา 3 ปีครึ่งนับตั้งแต่วันที่คดีถึงที่สุด จึงจะได้รับการเลื่อนชั้น

แปลว่า ยู่ยี่ ต้องเจอกับระเบียบใหม่ที่ต้องอยู่ในเรือนจำอีก 3 ปีครึ่งเป็นอย่างต่ำ จึงจะได้เลื่อนชั้นและได้รับการลดหย่อนโทษหากมีการพระราชทานอภัยโทษ แน่นอนว่าระหว่างนั้น หากมีการอภัยโทษเกิดขึ้น เธอย่อมไม่มีสิทธิได้รับการลดหย่อนใดด้วย

ส่วนหากจะเข้าข่ายขอ “พักโทษ” ได้ ก็ต้องติดมาแล้ว 2 ใน 3 ของโทษ

สิ่งที่น่าสนใจคือ การคำนวณการติดคุกจากผู้เชี่ยวชาญอย่าง “ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์” โดยเขาระบุว่า หากยู่ยี่รับสารภาพเสียตั้งแต่ต้นในปี 2557 โทษจะลดลงครึ่งหนึ่ง มีสถานะเป็นนักโทษเด็ดขาดเร็ว และได้รับส่วนลดโทษจากการอภัยโทษทั่วไป 3 ครั้งในช่วงที่ผ่านมา (เพราะระเบียบใหม่ของเรือนจำยังไม่ออก) และคิดสะระตะแล้ว ปัจจุบันเธอย่อม “ขอพักโทษ” ได้ออกมาอยู่นอกคุกแล้วในวันนี้ แต่เป็นเพราะเธอต่อสู้คดี การณ์จึงกลับเป็นเช่นนี้ (อ่านที่นี่)

นี่คือ ความยับเยินของยู่ยี่ และคนที่ต้องโทษในลักษณะเดียวกันกับเธออีกมากมาย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท