สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 12-18 มี.ค. 2560

 
กรมการจัดหางานจับมือ BOI และ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง นำระบบ E-Service ให้บริการยื่นขอวีซ่าและใบอนุญาตทำงานช่างฝีมือผู้ชำนาญการต่างประเทศที่เข้ามาปฏิบัติงานในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
 
กระทรวงแรงงาน โดยนายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองดำเนินโครงการพัฒนาระบบนำร่องการจัดหาและพัฒนาระบบ Single Window ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน ซึ่งเมื่อวันก่อนได้มีการประชุมร่วมกับผู้อำนวยการศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เกี่ยวกับเทคนิคและหลักการของระบบ Single Window ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน ณ อาคารจตุรัสจามจุรี ชั้น 18 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
 
ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน เป็นการให้บริการยื่นคำร้องและพิจารณาคำร้องแบบ Online : Single Entry ผ่านระบบนำร่อง Single Window ซึ่งเป็นช่องทางบริการที่สะดวก รวดเร็วและทันสมัย เป็นการให้บริการแบบ E-Service ลดการมาติดต่อด้วยตนเองของผู้ใช้บริการ ลดการใช้เอกสารและไม่ขอข้อมูลที่ภาครัฐมีอยู่แล้ว เนื่องจากใช้ข้อมูลร่วมกัน เข้าใจง่ายและสอดคล้องกัน โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาที่ชัดเจนและเปิดเผยหลักเกณฑ์ให้ทราบอย่างทั่วถึง ทั้งยังดำเนินการโดยระบบอัตโนมัติในขั้นการพิจารณา
 
ระบบดังกล่าวนี้จะเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับการให้บริการของภาครัฐให้เกิดการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ลดการใช้เอกสารซ้ำซ้อน มุ่งสู่การเป็น SMART THAILAND ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อให้บริการแบบจุดเดียว ทันที และทั่วไทย โดยในปีงบประมาณ 2560 (เป็นเวลา 5 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559-กุมภาพันธ์ 2560) มีผู้มาใช้บริการศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน จำนวน 19,213 คน เฉลี่ย 3,843 คน/เดือน นายวรานนท์ กล่าว
 
ที่มา: กรมการจัดหางาน, 12/3/2560
 
กอช.แจงสมาชิก รับเงินสมทบจากรัฐทันทีในเดือนถัดไปที่ออมเงิน
 
กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช.แจงการจ่ายเงินสมทบให้สมาชิก กอช.เป็นไปตามกฎหมาย โดยจ่ายเข้าบัญชีสมาชิกทันทีภายในเดือนถัดไป หลังจากสมาชิกส่งเงินออมเข้ากองทุน แต่จะได้เท่าไหร่ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่ออมและอายุสมาชิก เตรียมแก้ไขกฎหมายเพิ่มเงินสมทบ
 
นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ชี้แจงถึงวิธีการจ่ายเงินสมทบแก่สมาชิก กอช. ว่า รัฐบาลได้จ่ายเงินสมทบ สำหรับแรงงานนอกระบบที่สมัครสมาชิกและมีการส่งเงินสะสมหรือเงินออมเข้ากองทุนซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย โดยการจ่ายเข้าบัญชี กอช. ของสมาชิกภายในเดือนถัดไปหลังจากที่สมาชิกส่งเงิน และที่ผ่านมาไม่เคยมีการค้างจ่ายสมทบ เป็นการที่รัฐมอบประโยชน์เป็นเงินออมแก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระทั้งหลายที่ไม่มีนายจ้างมาดูแลและเข้าไม่ถึงสวัสดิการบำนาญชราภาพรูปแบบอื่น ซึ่งเงินสมทบที่ได้จากรัฐบาลนี้จะอยู่ในบัญชีเงินออมของสมาชิกแต่ละคน ไปจนถึงวันที่สิ้นสุดสมาชิกภาพเมื่ออายุ 60 ปี จากนั้น กอช. จะเริ่มจ่ายเงินออมคืนให้สมาชิกเป็นรายเดือนพร้อมกับเงินสมทบและดอกผลจากการลงทุน
 
ทั้งนี้ อัตราเงินสมทบที่สมาชิก กอช. ได้รับจะมีอัตราไม่เท่ากันตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนี้
 
- สมาชิกอายุ 15-30 ปี รับเงินสมทบ 50% ของเงินออมที่ส่งแต่ละครั้ง แต่รวมทั้งปีรัฐสมทบให้ไม่เกิน 600 บาท
- สมาชิกอายุ 30 ปีขึ้นไปถึง 50 ปี รับเงินสมทบ 80% ของเงินออมทีส่งแต่ละครั้ง แต่รวมทั้งปีรัฐสมทบให้ไม่เกิน 960 บาท
- สมาชิกอายุ 50 ปีขึ้นไป รับเงินสมทบ 100% ของเงินออมสมาชิกแต่ละครั้ง แต่ไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี
 
"แต่เพื่อให้เงินออมเพื่อชีวิตยามชราภาพของสมาชิกมีการเติบโตเพิ่มจำนวนรวดเร็วมากขึ้น ให้สมาชิกมีโอกาสได้รับ ′บำนาญตลอดชีวิต′ ง่ายมากขึ้นด้วย กอช.จึงอยู่ระหว่างขั้นตอนกระบวนการแก้ไขกฎหมาย ขอรัฐบาลปรับขึ้นอัตราการจ่ายเงินสมทบ ซึ่งจะเป็นการผลักดันขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการออมภาคประชาชนเพื่อเตรียมความพร้อมก้าวสู่สังคมสูงวัยให้เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมได้ต่อไป" นายสมพร กล่าว
 
 
ก.แรงงาน สนับสนุน"ผู้ชาย"ลาเลี้ยงดูบุตร 90 วัน เหมือนสวีเดน ปัจจุบันได้ให้สิทธิพ่อลาได้ 15 วัน
 
นายสิงหเดช ชูอำนาจ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมงานแถลงข่าวเกี่ยวกับให้สิทธิการลาเลี้ยงดูบุตรของผู้ชายที่จัดขึ้นโดยสถานทูตสวีเดน และบริษัทอิเกีย ประเทศไทย ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครBangkok Art & Culture Centre(BACC) เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าประเทศสวีเดนได้ใช้กฎหมายการลาเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับค่าจ้าง ซึ่งเป็นสิทธิที่พ่อและแม่ควรจะได้รับ และเป็นนโยบายที่มีส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศ
 
"สวีเดนให้ผู้ชายมีสิทธิลาเลี้ยงดูบุตรรวม 90 วัน จากวันลาทั้งหมด 480 วัน (16 เดือน) แต่สำหรับประเทศไทยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับสตรีลาคลอดและให้สิทธิผู้เป็นพ่อสามารถลาหยุดเช่นกัน เพื่อเป็นการลดภาระในการเลี้ยงดูบุตร"นายสิงหเดช กล่าว
 
นายสิงหเดช กล่าวอีกว่า ขณะนี้สิ่งที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังดำเนินการเรื่องของสิทธิการลาคลอดและการลาเลี้ยงดูบุตรคือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับแม่ที่ทำงานอยู่ในทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถลาคลอดได้ 90 วัน รวมถึงจัดคู่มือการศึกษาเรียนรู้ในการดูแลสุขภาพให้กับแม่ด้วย แต่ยังไม่ให้สิทธิการลาช่วยเลี้ยงดูบุตรแก่พ่อที่ทำงานภาคเอกชน
 
"ขณะที่ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจของประเทศไทย ได้ให้สิทธิพ่อสามารถลาเลี้ยงดูบุตรได้ 15 วันแล้ว ซึ่งขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการผลักดันให้เกิดขึ้นในภาคเอกชนตามมาตรฐานสากล เช่นเดียวกับประเทศสวีเดนที่ให้สิทธิทั้งผู้ทำงานภาครัฐและเอกชนเท่าเทียมกัน ต่อไป" นายสิงหเดช กล่าว
 
 
ชี้สำนักงานประกันสังคมไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดตั้งโรงพยาบาล
 
นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงกรณีมีข้อเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมจัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม ซึ่งสำนักงานประกันสังคมได้ให้ทุนแก่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวสร.) ทำการวิจัยเรื่องรูปแบบการบริหารจัดการจัดตั้งโรงพยาบาลเพื่อผู้ประกันตน ผลการวิจัยสรุปได้ว่าสำนักงานประกันสังคมสามารถดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคมได้โดยต้องมีการแก้ไขกฎหมายและมีข้อเสนอแนะว่าการที่สำนักงานประกันสังคมบริหารโรงพยาบาลเองโดยตรงเป็นการเบี่ยงเบนในหลักการถ่วงดุลของผู้ซื้อบริการและให้บริการทางการแพทย์
 
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยตอบข้อหารือประเด็นดังกล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดตั้งโรงพยาบาล เนื่องจากการนำเงินกองทุนประกันสังคมไปใช้จ่ายเพื่อก่อสร้างอาคาร ซื้ออุปกรณ์การแพทย์ไม่ถือว่าเป็นการจ่ายประโยชน์ทดแทนและไม่ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของสำนักงานประกันสังคม แต่ทั้งนี้ หากรัฐบาลเห็นว่าการจัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคมเป็นนโยบายสำคัญและมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา สำนักงานประกันสังคมอาจเสนอเรื่องต่อกระทรวงแรงงานให้พิจารณาเสนอรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติหลักการในเรื่องดังกล่าวและแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติของกฎหมายต่อไป
 
ในปี 2560 สำนักงานประกันสังคมมีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมให้บริการในระบบประกันสังคมกระจายอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศโดยเป็นโรงพยาบาลของรัฐจำนวน 159 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 80 แห่ง รวมถึงสถานพยาบาลเครือข่ายที่เข้าร่วมให้บริการอีกจำนวน 3,823 แห่ง ให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนอย่างเต็มกำลังความสามารถ และจัดหายาเวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ เพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมมีการตรวจสอบโรงพยาบาลที่อยู่ในโครงการประกันสังคมทุก 6 เดือน เพื่อดูความพร้อมของโรงพยาบาลในด้านการบริการทางการแพทย์เป็นสำคัญ
 
สำนักงานประกันสังคมพร้อมปรับปรุงการให้บริการทางการแพทย์ตามความต้องการของผู้ประกันตนโดยอาจจะเป็นหุ้นส่วนของโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการเพื่อที่จะควบคุมมาตรฐานการให้บริการทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้ตัวแทนนายจ้าง และตัวแทนลูกจ้าง สามารถตรวจสอบมาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ และให้คำแนะนำแก่สำนักงานประกันสังคมปรับปรุงการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนมีความพึงพอใจมากขึ้น
 
 
ตม.อยุธยา ลุยกวาดล้างจับต่างด้าวทำงานผิดประเภท ได้ผู้ต้องหาจำนวนมาก
 
วานนี้ (14 มี.ค.) พ.ต.ต.วิโรจน์ ลี้กุล สว.ตม.ชพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยชุดสืบสวน ชตม.พระนครศรีอยุธยา จัดหางานจังหวัด และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ตรวจสอบบริษัท ลอสแคม จำกัด เลขที่ 169/3-14 หมู่ 5 ต.ลำไทร อ.วังน้อย ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับไม้พาเลท
 
ภายในโรงงานมีแรงงานจำนวนมากกำลังทำงาน มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า 29 คน กัมพูชา 37 คน กำลังทำงาน จากการตรวจสอบพบว่า แรงงานต่างด้าวทั้งหมดขึ้นบัญชีถูกต้องจาก จ.ปทุมธานี เป็นส่วนใหญ่ แต่เข้ามาทำงานใน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยทั้งหมดเป็นคนงานที่มาจากบริษัทที่รับเหมา 4 บริษัทจัดส่งคนงานมา ระหว่างการเข้าตรวจค้นไม่พบผู้จัดหาแรงงานทั้ง 4 บริษัท จึงได้ควบคุมแรงงานต่างด้าวทั้งหมดมาที่ ตม.พระนครศรีอยุธยา
 
พ.ต.ต.วิโรจน์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดต่อบริษัทที่จัดหางานให้แก่แรงงานต่างด้าวทั้งหมด เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาบริษัทในข้อหาให้คนต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงาน ทำงานนอกเหนือหรือลักษณะงานที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ตามมาตรา 27 ปรับตั้งแต่ 1,000-100,000บาท สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีบัตรประจำตัว (สีชมพู) เจ้าหน้าที่จะทำการผลักดันกลับสู่ประเทศ ส่วนที่มีบัตรแล้วแต่มีการเปลี่ยนนายจ้างก็จะให้ไปดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
 
 
แรงงานต่างด้าวเฮ! ครม.ยกเลิกค่าธรรมเนียมเเรงงานลาว กัมพูชา เมียนมา เดินทางไป-กลับบ้านช่วงสงกรานต์
 
เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2560 เวลา 15.30 น. พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการอนุมัติความเห็น เรื่อง การอนุมัติผ่อนผันให้แรงงานต่างชาติ ลาว กัมพูชา เมียนมา เดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อร่วมงานประเพณีสงกรานต์ โดยระหว่างวันที่ 5-30 เมษายน 2560 รวม 26 วัน
 
โดยครั้งนี้ก็ได้มอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ รีบไปดำเนินการ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยก็ให้ออกกฎกระทรวงเพื่อยกเว้นค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นทั้งหมดจากการเดินทางออกและกลับเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ให้กระทรวงแรงงานออกหนังสือรับรองให้แรงงานต่างด้าว เดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อไปร่วมงานใช้เป็นหลักฐานแสดงเจ้าหน้าที่จากการเดินทางให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติตำรวจตรวจคนเข้าเมืองยกเว้นค่าธรรมเนียมและรายงานผลการเดินทางให้กระทรวงแรงงานทราบ และให้หน่วยงานด้านความมั่นคงแจ้งข้อมูลการดำเนินการให้หน่วยงานทั้งหมดในสังกัดทราบ
 
พร้อมทั้งให้กระทรวงการต่างประเทศประสานกับประเทศเพื่อนบ้านต่างประเทศ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และให้กระทรวงสาธารณสุขติดตามและเฝ้าระวังโรคที่จะติดมาจากแรงงานต่างด้าวที่กลับมา ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการเพิ่มเติมให้ระมัดระวังเกี่ยวกับการเรียกผลประโยชน์จากแรงงานต่างด้าว
 
 
กรมส่งเสริมฯแจงคำสั่งชะลอจ้างไม่กระทบสิทธิพนักงานราชการ
 
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากกรณีมีกระแสข่าว กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ทำหนังสือแจ้งผู้อำนวขการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1-9 รวมทั้งหน่วยงาน ในสังกัด ให้ชะลอการจ้างพนักงานราชการเอาไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวนั้น กรมส่งเสริมการเกษตร ขอชี้แจงว่า การชะลอการจ้างพนักงานราชการดังกล่าว เนื่องจาก กรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพื่อเป็นค่าตอบแทนของพนักงานราชการตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 จากสำนักงบประมาณ เป็นจำนวนเงิน 458,957,500 บาท จากที่ได้ทำเรื่องขออนุมัติวงเงินใช้จ่ายจำนวน 462,257,265 บาท จำนวน 2,058 อัตรา ซึ่งถือว่ายังขาดกับอัตรากำลังในส่วนพนักงานราชการของกรมส่งเสริมการเกษตร 10 อัตรา เป็นเงิน 3 ล้านบาท ดังนั้นจึงทำให้ต้องมีคำสั่งให้ชะลอการจ้างดังกล่าวไปก่อนเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อให้เหมาะสมกับงบประมาณที่ได้รับ ซึ่งทั้ง 10 อัตรานี้ เป็นตำแหน่ง ที่มีการลาออกหรือว่างอยู่ จึงไม่กระทบกับสิทธิใดๆ หรือกระทบกับบุคคลใด ทั้งนี้การจะพิจารณาจ้างเพิ่มอีกหรือไม่นั้น จะต้องรอดูจากงบประมาณปี 2561 ว่าเพียงพอต่อการจ้างหรือไม่
 
 
เร่งทำแผนดูแล “แรงงานนอกระบบ” กว่า 21 ล้านคน รับการคุ้มครองทางสังคม
 
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ภายใต้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2560 - 2564 ว่า แรงงานนอกระบบถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องให้การดูแลแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปเนื่องจากมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเมื่อเปรียบเทียบจำนวนแรงงานนอกระบบกับแรงงานในระบบแล้ว แรงงานนอกระบบมีสัดส่วนที่มากกว่าแรงงานในระบบ และมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่ทำงาน โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า แรงงานนอกระบบในปี 2559 มีจำนวน 21.3 ล้านคน แยกเป็นภาคเกษตรกรรม 54.8% ภาคการค้าและภาคบริการ 34.0 % และภาคการผลิต 11.3%
 
“กระทรวงแรงงาน มีนโยบายในการส่งเสริมพัฒนาอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ ออกกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และสร้างหลักประกันทางสังคมให้แรงงานนอกระบบมาโดยตลอด มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานในภาคเกษตร กลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งแม้ว่าจะไม่สามารถทำให้ครอบคลุมกลุ่มแรงงานนอกระบบทุกกลุ่มได้ แต่หน่วยงานกำลังเร่งดำเนินการขยายความคุ้มครองให้มากขึ้น ในส่วนของกระทรวงแรงงาน อาทิ สำนักงานประกันสังคมกำลังพิจารณาว่า การดูแลแรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2 ล้านคนนั้น สามารถเพิ่มทางเลือกให้มีโอกาสได้เข้าถึงหลักประกันทางสังคมได้มากขึ้น กรมการจัดหางาน ได้บริการส่งเสริมเงินทุนแก่กลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน กลุ่มประกอบอาชีพอิสระและให้การแนะแนวอาชีพ ส่วนกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ให้การฝึกทักษะฝีมือแรงงานและการใช้เทคโนโลยีให้สามารถเท่าทันต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว” ปลัดแรงงาน กล่าว
 
รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบเพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยแผนปฏิบัติการนี้จะสามารถนำเสนอผ่านคณะกรรมการกลางและคณะกรรมการระดับชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการพิจารณาโดยจะนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณและการปฏิบัติในระดับพื้นที่ต่อไป
 
 
กสร. เร่งสอบเหตุไฟไหม้โรงงานหลอมยางรถยนต์ โคราชจนนเป็นเหตุให้ลูกจ้างบาดเจ็บสาหัส 1 ราย ย้ำนายจ้างต้องให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึงกรณีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานหลอมยางรถยนต์ที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 13 มี.ค.60 ที่ผ่านมาว่า จากการตรวจสอบพบว่าสถานที่เกิดเหตุเป็นบริษัท วี.เค.พี.เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 33 หมู่7บ้านดอนใหญ่ ตำบลพะงาด อำเภอขามสะแกแสง จังหวัดนครราชสีมา ประกอบกิจการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากยางรถยนต์เก่า เบื้องต้นได้รับรายงานว่าก่อนเกิดเหตุลูกจ้างชาย นำยางรถยนต์เก่าเข้าหลอมในเตาซึ่งยังไม่ทันได้เวลาที่กำหนดแต่เปิดฝาเตาหลอมก่อนทำให้ไฟพุ่งออกมาจนลุกลาม อย่างรุนแรง เป็นเหตุให้ลูกจ้างถูกไฟคลอกบาดเจ็บสาหัส 1 ราย และเพลิงไหม้ลุกลามภายในโรงงานที่มีทั้งถังน้ำมันและยางรถยนต์เก่าจำนวนมากส่งผลให้หลังคาอาคารของโรงงานทรุดตัวลง
 
อธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป พร้อมทั้งประสานสำนักงานประกันสังคมจังหวัดให้ความช่วยเหลือลูกจ้างแล้ว ทั้งนี้ ขอย้ำเตือนไปยังสถานประกอบกิจการอื่น ๆ ให้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการดูแลเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
 
 
เตรียมเฮ! ผู้กู้ กยศ.เปลี่ยนระดับการศึกษา ไม่อิง 2.00
 
จากการประชุมคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) เมื่อเร็ว ๆนี้ ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการตามที่คณะทำงานศึกษาข้อดี-ข้อเสียของการกำหนดผลคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.00 มาเป็นหลักเกณฑ์การคัดกรองผู้กู้ยืมและเกณฑ์การคัดกรองสถานศึกษา เสนอ คือให้ปรับหลักเกณฑ์การคัดกรองผู้กู้ยืมเงินกยศ. จากเดิมกำหนดว่าผู้ที่จะกู้ยืมกยศ.ทั้งรายเก่าและรายใหม่จะต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่น้อยกว่า 2.00 และเข้าโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะ เป็นผู้กู้รายใหม่และผู้กู้รายเก่าเปลี่ยนระดับการศึกษาไม่ต้องกำหนดผลการเรียน แต่ต้องมีคุณสมบัติสำเร็จการศึกษาในระดับม.3หรือ ม.6 เพื่อศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น และไม่ต้องกำหนดการเข้าร่วมโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะ
 
ทั้งนี้สำหรับผู้กู้ยืมรายเก่าเลื่อนชั้นปีนั้นผู้ขอกู้ยืมสามารถเลือกใช้คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรม.ปลายหรือจีพีเอเอ็กซ์ หรือใช้คะแนนเฉลี่ยสะสมประจำปีการศึกษาก่อนหน้าที่จะขอกู้ยืม แต่ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถสำเร็จการศึกษาตามเกณฑ์ที่หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแลสถานศึกษากำหนดและผู้กู้จะต้องแสดงหลักฐานการเข้าร่วมโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะ ต้องไม่น้อยกว่า 36 ชั่วโมง ในปีการศึกษาก่อนหน้าที่จะขอกู้ยืม ทั้งนี้ยกเว้นผู้กู้ยืมในระดับม.ปลายที่ต้องมีผลการเรียน 1.00 ก็ให้กู้ยืมกยศ.ได้ ซึ่งจากนี้ทางกองทุนฯก็จะต้องไปร่างประกาศดังกล่าว เพื่อใช้ในปีการศึกษา 2560
 
ส่วนกรณีผู้กู้ยืมรายเก่าที่ศึกษาในชั้นปีสุดท้ายตามภาคการศึกษาปกติ และมีคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 1.95 และมีหน่วยกิตคงเหลือตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรไม่เกิน 24 หน่วยกิตที่บัญชีจ่ายที่ 2 เคยเสนอจะขอให้มีสิทธิ์กู้ยืมกยศ.ด้วยนั้น ทางบอร์ด กยศ.ไม่เห็นชอบ เพราะเกรงว่านักศึกษาจะเรียนไม่จบ และจะทำให้เป็นหนี้กยศ.เพิ่มขึ้นอีก
 
 
เตือนคนหางานระวังถูกหลอกให้เสียเงินทำบัตรปลอมไปทำงานนวด งานโรงงาน และงานเกษตรที่ญี่ปุ่น โดยหลอกให้จ่ายเงินกว่า 60,000 บาท อ้างมีบัตรเดียวทำงานได้ทุกที่
 
กระทรวงแรงงาน โดย นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานได้รับแจ้งจากสำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่นว่ามีการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อผ่านทางเฟสบุ๊คที่ใช้ชื่อว่า “Elizabeth Mamasung” ชักชวนให้ไปทำงานที่ญี่ปุ่น โดยจะดำเนินการออกบัตรประจำตัวผู้พำนัก (ไซริวการ์ด) ปลอมเพื่อใช้ในการหางาน โดยแอบอ้างว่าเป็นบัตรทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถทำงานได้ทุกที่ หางานง่าย มีแต่คนอยากรับเข้าทำงาน ทำบัตรเสร็จสามารถเลือกงานได้เลย ซึ่งมีทั้งงานนวด งานสวน งานในโรงงาน และร้านอาหารไทย บัตรมีอายุ 1 ปี โดยหลอกให้โอนเงินก่อนจำนวน 15,000 บาท และเตรียมเงินไปจ่ายค่าบัตร อีก 45,000 บาท เมื่อเดินทางถึงประเทศญี่ปุ่น
 
กรมการจัดหางาน ขอแจ้งเตือนว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมามีแรงงานไทยหลายรายถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอกให้เสียเงินฟรีเพื่อไปทำงานที่ญี่ปุ่น แต่ไม่ได้ทำงานตามที่ต้องการ สุดท้ายถูกจับ ติดแบ็คลิสต์ ต้องมาร้องขอความช่วยเหลือกลับประเทศไทย โดยเป็นการหลอกลวงผ่านทางสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางที่เข้าถึงได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว ดังนั้นจึงอย่าหลงเชื่อ เดินทางเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมายที่ญี่ปุ่น ทั้งนี้ผู้ที่หลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 -10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยคนหางานสามารถสอบถามข้อมูลตำแหน่งงานหรือร้องทุกข์ แจ้งเบาะแสการหลอกลวงคนหางาน ได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน โทร. 02-245-6763 หรือโทรสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694
 
ที่มา: กรมการจัดหางาน, 16/3/2560
 
ปค.เปิดเกณฑ์เลื่อนเงินเดือน “นายอำเภอ-ปลัดจังหวัด” ปี 2560 ได้เพิ่มร้อยละ 2.90
 
(17 มี.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต อธิบดีกรมการปกครอง ได้ออกประกาศกรมการปกครองถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อชี้แจงแนวทางการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนข้าราชการและเลื่อนขั้นค่าจ้างลูกจ้างประจำในสังกัดกรมการปกครอง ครั้งที่ 1 (1 เมษายน 2560) เพื่อชี้แจงต่อข้าราชการในสังกัดกรมการปกครอง ทั้งนี้จะมีการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับต้นและระดับสูง ข้าราชการประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ ระดับชำนาญการพิเศษ ระดับชำนาญการ และทั่วไป ระดับอาวุโส ระดับชำนาญการ ระดับปฏิบัติงาน และข้าราชการในราชการบริหารส่วนภูมิภาค ผู้ดำรงตำแหน่งอำนวยการ ระดับต้นและระดับสูง รวมถึงข้าราชการที่มีเงินเดือนตั้งจ่ายอยู่ที่จังหวัด และลูกจ้างประจำ รวมถึงข้าราชการในสำนัก/กอง สังกัดกรมการปกครอง ตั้งแต่ระดับชำนาญการพิเศษลงมา
 
ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามแนวทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ ให้มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการ เพื่อให้การเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการสังกัดกรมการปกครอง ครั้งที่ ประจำปี 2560 (1 ต.ค. 2559 - 31 มี.ค. 2560) เป็นไปตามหลักเกณฑ์
 
มีรายงานว่า กลุ่มข้าราชการกรมการปกครอง ที่จะได้เลื่อนเงินเดือนประกอบด้วย 1. กลุ่มประเภทบริหาร ได้แก่ ผู้บริหารระดับต้น (รองอธิบดี) ให้อธิบดีกรมการปกครองเป็นผู้ประเมิน 2. กลุ่มดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการ ได้แก่ กลุ่มอำนวยการ ระดับสูงส่วนกลาง (ผู้ตรวจราชการกรม ผอ.สำนัก/กอง อธิการบดีวิทยาลัยกรมการปกครอง ปลัดจังหวัด ที่ช่วยราชการ หรือรักษาการ/กลุ่มอำนวยการระดับสูงในภูมิภาค (ปลัดจังหวัด นายอำเภอ ระดับสูง)/กลุ่มอำนวยการระดับต้นส่วนกลาง (ผอ.กอง)/กลุ่มอำนวยการ ระดับต้น ส่วนภูมิภาค (นายอำเภอระดับต้น)
 
3. กลุ่มดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการ ประเภทวิชาการและประเภททั่วไป ได้แก่ กลุ่มอำนวยการ ระดับสูงและระดับต้น (นายอำเภอ)/กลุ่มวิชาการ เชี่ยวชาญ ชำนาญการพิเศษ และชำนาญการ ที่เป็นหัวหน้าหน่วยที่รายงานตรงต่ออธิบดีกรมการปกครอง เช่น เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ด้านความมั่นคง ผอ.ศูนย์สารสนเทศ ฯลฯ)/กลุ่มประเภทวิชาการระดับอาวุโส ได้แก่ กลุ่มข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ในสำนัก/กอง/กลุ่มประเภทวิชาการที่มีอัตราตำแหน่งในสังกัด (กรม/จังหวัด/กระทรวง) แต่มาช่วยราชการกรมการปกครอง (ส่วนกลาง) เช่น ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการอธิบดี และเลขานุการรองอธิบดีกรมการปกครอง
“ทั้งนี้ ให้แบ่งวงเงินงบประมาณในการเลื่อนเงินเดือนร้อยละ 3.00 ของฐานอัตราเงินเดือนรวมของข้าราชการสังกัดกรมการปกครอง ณ วันที่ 1 มีนาคม 2560 ดังนี้ วงเงินร้อยละ 2.90 จัดสรรให้ข้าราชการในแต่ละกลุ่มโดยนำผลการประเมินมาประกอบเลื่อนเงินเดือน ส่วนระดับภูมิภาคที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ประเมินให้บริหารวงเงินการเลื่อนเงินเดือนไม่เกินร้อยละ 2.90 และจังหวัดอาจพิจารณาแยก/รวมวงเงินตามความเหมาะสม”
 
นอกจากนี้ กรมการปกครองยังกำหนดวงเงินที่ ร้อยละ 0.10 ไว้เพื่อบริหารวงเงินในภาพรวมของกรมการปกครอง โดยจะจัดสรรให้แก่ขาราชการในแต่ละกลุ่มด้วย อย่างไรก็ตามยังมีการเลื่อนเงินเดือนให้ข้าราชการในโควตาพิเศษ โดยจะรับเพิ่มเติมจากอัตราปกติ ไม่เกินร้อยละ 1.00/คน แต่ต้องเป็นข้าราชการที่ได้รับการประเมินในระดับดีเด่นหรือระดับดีมาก และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์และบังเกิดผลดีต่อราชการ
 
 
กรมการจัดหางาน ยกเลิกใบอนุญาตจัดหางานในประเทศ 6 แห่ง
 
กรมการจัดหางาน ยกเลิกใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานทำงานในประเทศ จำนวน 6 แห่งเนื่องจากขอยกเลิกใบอนุญาต ฯ หากผู้ใดมีเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับบริษัทจัดหางาน สำนักงานจัดหางานดังกล่าว ให้รีบแจ้งนายทะเบียนจัดหางานกลางภายใน 30 วัน
 
กระทรวงแรงงาน โดยนายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานยกเลิกใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานทำงานในประเทศของบริษัทจัดหางาน สำนักงานจัดหางานและ ห้างหุ้นส่วนจำกัดจัดหางาน จำนวน 6 แห่ง เนื่องจากขอยกเลิกใบอนุญาต ฯ ดังนี้
 
1. ห้างหุ้นส่วนจำกัดจัดหางาน วีซ่า คอมปานาร์ ใบอนุญาตเลขที่ น.1378/2556 สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 340 ถนนมหาราช เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2559 เป็นต้นไป
2. บริษัทจัดหางาน มิลเลี่ยน ดรีม (ไทยแลนด์) จำกัด ใบอนุญาตเลขที่ น.1336/2556 สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 121/42 ซอยวิภาวดีรังสิต 60 แยก 18 – 1 ถนนพหลโยธิน 49/1 เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2560 เป็นต้นไป
3. บริษัทจัดหางาน เดอะ ริชดารีญา แมเนจเม้น จำกัด ใบอนุญาตเลขที่ น.1470/2557 สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 5 ซอยจันทน์ 44 ถนนจันทน์ เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2560 เป็นต้นไป
4. บริษัทจัดหางาน ไอเดียล เทรดเดอร์ จำกัด ใบอนุญาตเลขที่ น.1430/2557 สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 5/88 โฮมอินทาวน์ ซอย 73 ถนนพหลโยธิน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2560 เป็นต้นไป
5. บริษัทจัดหางาน เอช.เอ็ม.พาวเวอร์ จำกัด ใบอนุญาตเลขที่ น.1376/2556 สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 121 ซอยเทียนทะเล 26 แยก 6 – 1 ถนนบางขุนเทียน – ชายทะเล เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2560 เป็นต้นไป
6. สำนักงานจัดหางาน สุเทพ บริการ ใบอนุญาตเลขที่ น.1392/2556 สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 2 ซอยพระยามนธาตุฯ แยก 35 – 7 เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2560 เป็นต้นไป
 
ทั้งนี้หากผู้ใดมีเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับการจัดหางานของบริษัทจัดหางาน สำนักงานจัดหางานและ ห้างหุ้นส่วนจำกัดจัดหางานดังกล่าวให้รีบแจ้งนายทะเบียนจัดหางานกลางทราบภายใน 30 วัน เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
 
นายวรานนท์ฯ กล่าวว่า หากคนหางานใดประสงค์จะทำงานขอให้ตรวจสอบข้อมูลของบริษัทจัดหางานหรือตำแหน่งงานให้รอบคอบก่อนตัดสินใจเพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงทำให้ต้องสูญเสียทรัพย์สิน โดยสามารถสอบถามข้อมูลหรือแจ้งเรื่องร้องทุกข์/แจ้งเบาะแสการหลอกลวงคนหางานได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด ทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน โทร. 02–248-6763 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694
 
ที่มา: กรมการจัดหางาน, 18/3/2560
 
จี้ สธ.เพิ่มอายุราชการทวีคูณให้พยาบาลที่ทุพพลภาพจากการทำงาน
 
ประธานชมรมผู้บริหารทางการพยาบาลแห่งประเทศไทยเผย พยาบาล รพ.ชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ยังนอนเป็นเจ้าหญิงนิทราหลังรถ Refer ผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุตั้งแต่ปี 2553 จี้กระทรวงสาธารณสุขตั้งกองทุนดูแลผู้บาดเจ็บจากการทำงาน ออกระเบียบนับอายุราชการแบบทวีคูณเพื่อให้ได้สิทธิบำนาญ และเพิ่มค่าเสี่ยงภัยให้พยาบาลที่ออกไปกับรถ Refer ผู้ป่วย
 
น.ส.ปิยนุช ประทีปทัศน์ หัวหน้าพยาบาล รพ.ชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และประธานชมรมผู้บริหารทางการพยาบาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยสถานการณ์ของ น.ส.อารีย์ แก้ววารีย์ พยาบาล รพ.ชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งทุพพลภาพจากกรณีรถพยาบาลประสบอุบัติเหตุขณะปฏิบัติหน้าที่ส่งต่อผู้ป่วย (Refer) ในปี 2553 ว่า ปัจจุบัน น.ส.อารีย์ ยังนอนเป็นเจ้าหญิงนิทราอยู่ในห้องพิเศษของโรงพยาบาลโดยใช้สิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการและใช้เงินสวัสดิการของโรงพยาบาลสำหรับค่าใช้จ่ายของใช้ส่วนตัว
 
อย่างไรก็ดี แม้ปัจจุบัน น.ส.อารีย์ จะได้รับการดูแลอย่างดี แต่ในภาพรวมแล้วทางกระทรวงสาธารณสุขควรมีมาตรการรองรับที่เป็นระบบมากกว่านี้
 
น.ส.ปิยนุช กล่าวว่า น.ส.อารีย์ ประสบอุบัติเหตุในวันที่ 17 พ.ค. 2553 ขณะเดินทางกลับจากการ Refer ผู้ป่วย พนักงานขับรถเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ส่วน น.ส.อารีย์ บาดเจ็บสาหัส กระดูกสะโพกหักและสมองถูกกระทบกระเทือนอย่างหนัก ในระยะแรกต้องเข้ารับการผ่าตัดสมองหลายครั้ง และเมื่ออาการทางสมองดีขึ้น ก็ถูกส่งตัวไปรักษาสะโพกที่ รพ.เลิดสิน จากนั้นก็กลับมารักษาตามอาการที่ รพ.ชุมพรฯ จนถึงปัจจุบัน
 
“ตอนนี้ก็รักษาไปตามอาการ เราจัดเวรให้มีผู้ช่วยพยาบาลคอยดูแลวันละ 3 เวร พยายามทำกายภาพบำบัด พยายามให้ยืน คือถึงแม้น้องเขาไม่รู้สึกตัวแต่ก็ไม่ได้ปราศจากการรับรู้โดยสิ้นเชิง ยังจำพี่ๆ ได้ ทุกครั้งที่ไปเยี่ยมเขาก็เหมือนจะร้องไห้ ก็แสดงว่ายังรับรู้ได้ แต่จะให้หายเหมือนเดิมคงไม่ได้ ได้แต่หวังแค่ให้เขานั่งได้ ทานอาหารทางปากเองได้” น.ส.ปิยะนุช กล่าว
 
น.ส.ปิยนุช กล่าวต่อไปว่า การประสบอุบัติเหตุของ น.ส.อารีย์ กระทบต่อฐานะของครอบครัวอย่างยิ่ง เนื่องจากบิดาเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่เกษียณแล้ว ไม่มีบำนาญ ส่วนมารดาก็เป็นแม่บ้าน ทั้งครอบครัวมี น.ส.อารีย์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการดูแลครอบครัว ทางโรงพยาบาลจึงให้การดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย โดยใช้เงินสวัสดิการของโรงพยาบาลมาจ่ายค่าของใช้ส่วนตัว อาทิ แป้ง สบู่ กระดาษชำระ ฯลฯ รวมประมาณเดือนละ 7,000 บาท และค่าตอบแทนผู้ช่วยพยาบาล ตลอดจนรับพี่สาวของผู้ป่วยเข้ามาทำงานในโรงพยาบาล เพื่อให้มีรายได้ดูแลครอบครัว
 
“ค่าใช้จ่ายในการดูแล พี่ขอผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลย ผู้อำนวยการเปลี่ยนมาแล้ว 3 คน ทุกครั้งพี่ก็เข้าไปคุย พาไปเยี่ยมน้อง แล้วก็ขออนุมัติให้ใช้เงินสวัสดิการสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ เพราะน้องประสบอุบัติเหตุจากการทำหน้าที่ จึงเป็นความรับผิดชอบของโรงพยาบาลที่ต้องดูแล และก็บอกพ่อเขาว่าไม่ต้องกังวล เดี๋ยวจะดูแลให้เอง ถ้าพี่ยังอยู่ก็จะช่วยดูแลให้ถึงที่สุด แต่ก็กังวลว่าถ้าพี่ตายไปแล้วน้องจะเป็นยังไง มันไม่มีระบบอะไรมารองรับชัดเจน” น.ส.ปิยนุช กล่าว
 
น.ส.ปิยนุช กล่าวว่า กรณีเช่นนี้เป็นการดูแลแบบ Case by case ซึ่งหากเกิดกรณีลักษณะนี้กับพยาบาลคนอื่นๆ แล้วโรงพยาบาลไม่มีศักยภาพดูแล พยาบาลคนนั้นก็จะลำบาก ดังนั้นควรมีมาตรการในเชิงระบบเพื่อดูแลปัญหาเหล่านี้ ซึ่งที่ผ่านมาวิชาชีพพยาบาลได้เสนอข้อเรียกร้องไปหลายอย่าง แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากกระทรวงสาธารณสุข ยื่นหนังสือไปก็เงียบ สุดท้ายมีมาตรการออกมาว่าห้ามขับรถเร็วและให้ติดกล้องวงจรปิด ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่หากจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นอย่างไรก็ต้องเกิด ต่อให้ขับช้าก็มีรถคันอื่นมาชนได้อยู่ดี
 
ดังนั้นส่วนตัวเห็นว่าควรทำใน 3 ประเด็นคือ 1.จัดให้มีกองทุนสำหรับดูแลพยาบาลที่ได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน ไม่เฉพาะอุบัติเหตุจากการ Refer ผู้ป่วย แต่รวมถึงการบาดเจ็บทุพพลภาพจากการปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ด้วย
 
2.มีระบบการปูนบำเหน็จ คล้ายๆ กับทหารที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยอาจเป็นการเพิ่มอายุราชการแบบทบทวีคูณ เพื่อให้ผู้ป่วยมีสิทธิได้รับเงินบำนาญได้ และ 3.เพิ่มค่าตอบแทนเมื่อต้องปฏิบัติหน้าที่ Refer ผู้ป่วย รวมทั้งมีค่าเสี่ยงภัยให้ด้วย
 
“เวลาทหารบาดเจ็บก็มีกองทุนทหารผ่านศึกช่วยดูแล มีระบบปูนบำเหน็จหลายชั้นยศ แต่น้องไม่ได้อะไรเลย ตอนประสบอุบัติเหตุน้องอายุราชการ 6 ปีและเขาจะให้สิ้นสุดการเป็นข้าราชการเพราะทำงานต่อไม่ได้แล้ว แต่เราไม่ยอม เราต่อสู้มากเลยเพื่อให้น้องคงไว้ซึ่งสิทธิ ตอนนี้ก็ขอต่ออายุออกไปเรื่อยๆ อย่างน้อยน่าจะมีการเพิ่มอายุราชการเพื่อให้พ่อแม่เขาได้เงินบำนาญ ลองคิดดูว่าพ่อแม่อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบส่งลูกเรียนพยาบาล หวังว่าแก่ตัวมาจะได้พึ่งพิง แต่พอเรียนจบแล้วลูกกลับมาเป็นแบบนี้และต้องอยู่แบบนี้ไปอีกนาน แล้วพ่อแม่จะอยู่อย่างไร เงินบำนาญมันไม่เยอะหรอก เดือนละ 3,000-4,000 บาท ก็น่าจะให้พ่อแม่เขาได้มีเงินใช้ จะแก้กฎหมายหรือออกระเบียบอะไรมาช่วยตรงนี้ได้ไหม รวมทั้งเพิ่มค่าตอบแทนและค่าเสี่ยงภัย เพราะทุกครั้งที่ล้อหมุนมันคือความเสี่ยงของพยาบาลทั้งนั้น ค่าตอบแทนพยาบาลที่ไป refer ก็น้อย ไม่มีระเบียบการจ่ายค่าตอบแทน บางที่จ่ายเป็น OT บางที่เหมาจ่าย ดังนั้นควรจะออกระเบียบให้ชัดเจนว่าระยะทางเท่าไหร่ได้ค่าตอบแทนเท่าไหร่และค่าเสี่ยงภัยก็ควรมากกว่าเงิน OT ด้วย” น.ส.ปิยนุช กล่าว
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท