Skip to main content
sharethis

เครือข่ายคนพิการ เข้าฟังการไต่สวนขอดำเนินคดีแบบกลุ่มกับ กทม. หลังสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและลิฟต์ขึ้นสถานีบีทีเอสไม่เสร็จตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด พร้อมพิจารณาเส้นทางต่อสูู้นับตั้งแต่ปี 2538 เพื่อให้ กทม. สร้างลิฟต์ทุกสถานีมาตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง BTS แต่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กระทั่งมีคำสั่งศาลปกครองในปี 2558 ก็ยังไม่มีความคืบหน้า

21 มี.ค.2560 เว็บไซต์ thisable.me รายงานว่า ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) และเครือข่ายคนพิการประเภทต่างๆ เช่น สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการ มูลนิธิพระมหาไถ่และหน่วยงานอื่นกว่าหนึ่งร้อยคน เข้าร่วมรับฟังการไต่สวนคดีขอยื่นฟ้องแบบกลุ่ม ณ ศาลแพ่ง ถนนรัชภิเษก กรณี กทม.และบีทีเอสไม่จัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ หลังจากก่อนหน้านี้ศาลพิจารณาเลื่อนการไต่สวนจากวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา

หากย้อนดูไทม์ไลน์ของรถไฟฟ้าบีทีเอส เริ่มเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2542 โดยเริ่มแรกมีเพียง 5 สถานีที่มีลิฟต์จากทั้งหมด 23 สถานี ได้แก่หมอชิต สยาม อโศก อ่อนนุชและช่องนนทรี นับตั้งแต่ตอนนั้นกลุ่มคนพิการได้เจรจากับ กทม.ให้มีการติดตั้งลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ให้ครบทุกสถานีตามกฎหมายกำหนดตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มก่อสร้าง แต่หลังเปิดบริการ กทม. และบีทีเอสกลับเพิกเฉยด้วยการไม่ปรับปรุงสถานีที่เหลือ จึงทำให้คนพิการรวมตัวกันยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางในปี 2552 แต่ศาลก็ยกฟ้อง เนื่องจากกฎหมายขณะนั้นไม่ได้ให้รายละเอียดของอาคาร สถานีและยานพาหนะที่เหมาะสมกับคนพิการ จึงนำมาสู่การยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และได้พิพากษาให้ กทม. ดำเนินการติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการให้ครบทุกสถานี เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2558 โดยกำหนดให้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี

อย่างไรก็ดี กระทั่งปัจจุบัน สิ่งอำนวยความสะดวกดังกล่าวก็ยังไม่แล้วเสร็จ

เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นไปอีก ไทม์ไลน์ของข้อมูลชุดนี้ ถูกแบ่งตามระยะเวลาตั้งแต่ปี 2534 ดังนี้

9 เม.ย. 2534 ผู้ว่าฯ กทม. และบีทีเอสทำสัญญาสัมปทานบีทีเอส (ช่วงนี้ยังไม่มีกฎหมายด้านคนพิการมาบังคับ)

20 พ.ย. 2534 ประกาศใช้ พ.ร.บ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 (กฎหมายคนพิการฉบับแรกของไทย)

4 ก.ค. 2538 บีทีเอสร่วมลงชื่อในสัญญาก่อสร้างแบบเหมารวมเบ็ดเสร็จ ส่งผลให้คนพิการรวมตัวและร้องเรียน กทม. เนื่องจากไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกในแบบก่อสร้าง กทม.จึงสนับสนุนงบ 45 ล้านบาทติดตั้งลิฟต์ 5 สถานี ระหว่างนั้นในปี 2542 กฎกระทรวงฉบับที่ 4 ซึ่งกำหนดลักษณะของอาคารสถานที่ ยานพาหนะหรือบริการสาธารณะอื่นใดต้องอำนวยความสะดวกแก่คนพิการก็ออกมา

5 ธ.ค. 2542 บีทีเอสเปิดให้บริการ

2543-ปัจจุบัน กลุ่มคนพิการเจรจากับ กทม. เพื่อหาข้อตกลงในการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกให้ครบทุกสถานี

2552 คนพิการยื่นฟ้องบีทีเอสต่อศาลปกครองกลาง กรณีบีทีเอสไม่จัดทำสิ่งอำนวยความสะดวก

22 ก.ย. 2552 ศาลปกครองกลางยกฟ้อง เนื่องจากกฎหมายขณะนั้นไม่มีรายละเอียดสิ่งอำนวยความสะดวก จึงไม่ถือเป็นการละเมิดกฎหมาย

21 ต.ค. 2552 คนพิการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด

30 ส.ค. 2556 กทม.ลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างลิฟต์กับบริษัท เอทีที คอลซัลแทนท์ จำกัด

31 ก.ค.2557 กทม.ลงนามจ้างเหมาก่อสร้างและติดตั้งลิฟต์กับบริษัทเสรีการโยธา จำกัด

18 ส.ค. 2557 กทม.แจ้งให้บริษัทเสรีการโยธา จำกัดและบริษัทเอทีที คอนซัลแทนท์ จำกัดเริ่มงานก่อสร้าง กำหนดเวลา 450 วัน มูลค่า 350 ล้านบาท

21 ม.ค. 2558 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ กทม. ทำลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกให้ครบทั้ง 23 สถานี ภายใน 1 ปี หรือภายในวันที่ 20 ม.ค.2559

11 พ.ย. 2558 ครบกำหนด 450 วันสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง แต่ยังไร้วี่แวเสร็จจึงขนายเวลาออกไป

20 ม.ค. 2559 ครบกำหนด 1 ปี ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดแต่ก็ยังก่อสร้างไม่เสร็จ

มี.ค. 2559 T4A เข้าร่วมเป็นคณะทำงานติดตามการก่อสร้างลิฟต์ร่วมกับ กทม.

20 ม.ค. 2560 คนพิการยื่นฟ้องงต่อศาลแพ่ง เรียกค่าเสียหายจาก กทม. เนื่องจากไม่สามารถติดตั้งลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกได้ตามกำหนดเวลา

21 มี.ค. 2560 รับฟังคำไต่สวนจากศาลแพ่งเพื่อพิจารณาการยื่นฟ้องแบบกลุ่มกับ กทม.

 

 

โดยเหตุผลที่ต้องฟ้องร้องเกิดจาก บีทีเอสจัดสิ่งอำนวยความสะดวกไม่ครบตามที่กำหนด และไม่ครบทุกสถานี, บีทีเอสไม่สามารถติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกได้ครบทุกสถานีภายใน 1 ปีตามศาลปกครองสูงสุดกำหนด, คนพิการเสียโอกาสในการดำเนินชีวิต และถึงแม้จะก่อสร้างเสร็จตามแผน จะมีเพียงลิฟต์จากถนนไปยังชั้นจำหน่ายตั๋วเพียง 1  ตัวต่อ 1 สถานีเท่านั้น จึงใช้งานจริงได้เพียงข้างเดียว

การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก นอกจากจะเป็นการทำตามกฎหมายคนพิการของประเทศไทยแล้ว ยังเป็นการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ หรือ ซีอาร์พีดี ที่กล่าวว่า การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นสิ่งที่ต้องเตรียมไว้ให้พร้อม เพื่อให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระและเข้าร่วมอย่างเต็มที่และเสมอภาคในสังคม หากไม่สามารถเข้าถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ระบบขนส่ง ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร รวมถึงเทคโนโลยีและระบบสื่อสาร และเครื่องอำนวยความสะดวกหรือบริการอื่นๆ ที่เปิดเป็นสาธารณะ คนพิการก็จะไม่ได้รับโอกาสที่เท่าเทียมในการมีส่วนร่วมทางสังคม

การไต่สวนในวันนี้ (21 มี.ค.2560) ประกอบไปด้วยคนพิการกว่า 50 คน และสื่อมวลชนจำนวนมาก โดยวันนี้เป็นพนักงานอัยการจะยื่นอำนาจชี้ขาด จากกรณีคนพิการยื่นฟ้องแบบกลุ่ม พร้อมกับโต้แย้งว่า คดีนี้นั้นเป็นคดีของศาลปกครอง จึงต้องหยุดก่อนตามสภาพ เพื่อรอคำวินิจฉัยจากศาลปกครอง หากมีคำวินิจฉัยตรงกับศาลแพ่ง ก็จะสามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่หากไม่ตรงกันก็จะต้องส่งต่อให้คณะกรรมการประธานศาลฎีกาเป็นผู้ชี้ขาดว่าสามารถดำเนินคดีแบบกลุ่มได้หรือไม่ หากไม่ ก็จำเป็นต้องดำเนินคดีแบบแพ่งทั่วไป อีกทั้งกระบวนการทั้งหมดนั้น ไม่ได้ไวและรวดเร็วอย่างที่เข้าใจ

ต่อจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการสืบพยาน ทั้งสิ้น 5 ปาก ได้แก่ สนธิพงศ์ มงคลสวัสดิ์ ทนายความฝ่ายโจทก์, วรกร ไหลหลั่ง ทนายความฝ่ายโจทก์, สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ โจทก์, มานิตย์ อินทร์พิมพ์ พยาน และสว่าง ศรีสม พยาน

อัยการถามค้านตามคำให้การที่โจทก์ได้ยื่นเอกสาร โดยมีใจความ เช่น ในการยื่นเอกสารสืบพยาน ไม่ได้ยื่นสำเนาบัตรประจำตัวคนพิการของคนพิการที่เข้าร่วมใช่หรือไม่, คนพิการสามารถขึ้นบีทีเอสได้แต่ไม่สะดวกใช่หรือไม่, เคยฟ้องที่ศาลปกครองสูงสุด และสามารถบังคับคดีที่ศาลปกครองสูงสุดได้ใช่หรือไม่ และที่ไม่ทำเพราะกระบวนการช้าใช่หรือไม่, เนื้อหาการฟ้องร้องเหมือนกับเมื่อครั้งฟ้องศาลปกครองสูงสุดใช่หรือไม่, คนพิการที่ร่วมฟ้องส่วนมากไม่ได้อยู่ใน กทม.ใช่หรือไม่, บนบีทีเอสมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกคนพิการใช่หรือไม่, ค่าเสียหาย 1,000 บาทต่อวันเป็นค่าเสียหายเฉลี่ย ซึ่งทุกคนไม่ได้เสียเท่ากันใช่หรือไม่ ฯลฯ

สนธิพงศ์ ทนายความกล่าวตอบว่า ตนเองเป็นทนายความให้กับกลุ่มคนพิการตั้งแต่ปี 2530 เขากล่าวว่า การฟ้องร้องเมื่อปี 2558 นั้นเป็นการฟ้องร้องเพื่อบังคับให้ กทม.จัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกแตะการฟ้องเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมาเป็นการฟ้องคดีลักษณะละเมิด สืบเนื่องจากที่ กทม.ไม่ทำตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด

เขาเพิ่มเติมว่า แม้ว่าคดีจะสามารถบังคับตามกระบวนการศาลปกครอง แต่ลักษณะของกฎหมายนั้นกลับไม่เอื้อ เพราะมีเพียงการแจ้งบังคับเพื่อสอบถามว่า การก่อสร้างนั้นไปถึงไหนแล้วเท่านั้น และเน้นย้ำว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐาน การไม่ทำถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ ไม่ว่าจะพิการแบบไหน อยู่จังหวัดอะไร สิทธิก็ยังคงเป็นสิทธิที่ควรจะได้รับ

ด้านสุภรธรรม โจทก์ อัยการได้ถามค้านใน 2-3 ประเด็น เช่น สามารถใช้บีทีเอสได้หรือเปล่า หรือการฟ้องร้องครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อนอย่างไร ซึ่งสุภรธรรมก็ได้ยืนยันว่า การฟ้องครั้งนี้เป็นการฟ้อง กทม.ที่ละเมิดคำสั่งศาลปกครอง และเน้นว่า แม้เขาจะสามารถใช้บีทีเอสได้ หามีคนช่วยเหลือในบางสถานี แต่ก็ไม่สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวก อีกทั้งถึงแม้จะมี รปภ.ในทุกสถานี แต่ก็ยังไม่ปลอดภัยเพราะ รปภ.ไม่ใช่ผู้ที่ถูกฝึกมาเพื่อดูแลคนพิการและตามหลักสากล  เจ้าหน้าที่ไม่สามารถแตะตัวคนพิการได้โดยพลการ

นอกจากนี้เขายืนยันว่า เคยยื่นและดำเนินการตามข้อบังคับคดีศาลอาญา และไม่เชื่อว่าจะบังคับได้

ในวันที่ 18 พ.ค.2560 หรืออีกประมาณ 2 เดือนข้างหน้า ศาลแพ่งนัดกลุ่มคนพิการอีกครั้งเพื่อฟังผลไต่สวนว่า 1. สามารถฟ้องร้องแบบกลุ่มได้หรือไม่และ 2 .ศาลไหนจะมีอำนาจในการวินิจฉัยคดี ระหว่างศาลปกครองและศาลแพ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net