สนช.ผ่าน ร่าง กม.เกษตรพันธะสัญญา และแก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

สนช. ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธะสัญญา หวังให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่มีมาตรฐาน พร้อมผ่าน ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฯ เป็นกฎหมาย หวังให้การบังคับคดีเร็วและมีประสิทธิภาพ

แฟ้มภาพ

24 มี.ค. 2560 รายงานข่าวระบุวา วันนี้ (24 มี.ค.60) การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธะสัญญา พ.ศ. .... มีทั้งหมด 46 มาตรา โดย เป็นการพิจารณาต่อจากวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อใน มาตรา 4 ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมในวรรคสามที่ระบุว่า ในกรณีเขตท้องที่ใดมีความจำเป็นต้องกำหนดให้การทำสัญญาการผลิตผลิตผล หรือ บริการทางการเกษตรประเภทใดต้องนำระบบเกษตรพันธสัญญาไปใช้กับบุคคลธรรมดา ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมตั้งแต่สองรายขึ้นไป ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งสมาชิก สนช. ประกอบด้วย นายกล้านรงค์ จันทิก  นายวันชัย ศารทูลทัต  และนายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสองรายขึ้นไปจะขัดกับร่างเดิมที่กำหนดไว้เป็นสิบรายหรือไม่และเกรงว่าจะซ้ำซ้อนกันในเรื่องของการตีความ ซึ่งสิ่งที่กรรมาธิการชี้แจงไม่ชัดเจนว่าจะเกิดประโยชน์และมีความจำเป็นอย่างไรในอนาคต

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. ตั้งข้อสังเกตในมาตรา 39/1 วรรคสองที่ระบุว่า ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบตามวรรคหนึ่ง หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ทางราชการต้องรับภาระจ่ายจริงในการขจัดมลพิษหรือฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งคำว่า “ขจัดมลพิษ” ครอบคลุมถึงเรื่องน้ำเสีย อากาศและอื่นๆ ที่จะก่อให้เกิดมลพิษด้วยหรือไม่

กรรมาธิการ ชี้แจงว่า ถ้าระบุว่าหนึ่งรายจะขัดต่อคำนิยามของกฎหมาย เพราะสิบรายขึ้นไปจะต้องเข้าระบบเกษตรพันธสัญญาอยู่แล้ว แต่กรณีที่ไม่ถึงสิบรายต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งการทำสัญญาไม่จำเป็นต้องทำพร้อมกันและในท้องที่เดียว แต่เป็นการนับทั่วประเทศโดยไม่นับเรื่องเวลา นอกจากนี้ การที่ระบุไว้เช่นนั้นส่วนหนึ่งเป็นไปตามแผนตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่สามารถรองรับเกษตรกรที่ไม่ถึงสิบรายเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญาในอนาคต ส่วนคำว่า “ขจัดมลพิษ” นั้น จะรวมถึงมลพิษทั้งหมดตามที่พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กำหนดทุกประการ อย่างไรก็ตามในที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. .... ด้วยคะแนน 190 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป 

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว  มีจำนวน 46 มาตรา กรรมาธิการฯ มีการแก้ไข 28 มาตรา โดยเหตุผลของกฎหมายนี้ เนื่องจากประเทศไทยส่วนใหญ่นั้น มีอาชีพเกษตรกรรม และที่ผ่านมามีความพยายามที่จะพัฒนาการภาคเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้น ร่างกฎหมายนี้จึงมีสาระสำคัญ เพื่อทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่มีมาตรฐานขณะที่ผู้ประกอบการจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและประเทศชาติจะมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมวิแพ่งฯ เป็นกฎหมาย

วันเดียวกัน สนช. ยังมีมติเห็นชอบประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... (ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง) ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว เป็นกฎหมายด้วยคะแนนเสียง 213 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 218 คน พร้อมเห็นด้วยกับข้อสังเกตของกรรมาธิการฯ

ภัทรศักดิ์ วรรณแสง รองประธาน กมธ.วิสามัญฯ คนที่หนึ่ง ได้กล่าวชี้แจงว่า ภายหลัง กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว มีการแก้ไขบางมาตรา อาทิ กำหนดให้ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน จากเดิม 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับกรณีทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่จะขายหรือจำหน่ายมีสภาพเป็นของสดของเสียได้ หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายจะเกิดส่วนแห่งค่าของทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายหรือจำหน่ายได้ทันทีโดยวิธีขายทอดตลาดหรือวิธีอื่นที่สมควร ทั้งนี้ กมธ.ได้ฝากข้อสังเกตข้อเสนอแนะให้หน่วยงานผู้บังคับใช้ร่างกฎหมายฉบับนี้เตรียมความพร้อมโดยการตรวจสอบกฎกระทรวง และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องว่ามีบทบัญญัติใดขัดหรือแย้งกับร่างกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ ซึ่งหากมีต้องเร่งดำเนินการแก้ไขบทบัญญัติและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกัน และเมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการบังคับคดีที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎหมายใหม่ให้บุคลากรในหน่วยงาน และสังคมได้รับทราบ เมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับ

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตราขึ้น เพื่อเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ใช้บังคับอยู่บางส่วนไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ทำให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นไปโดยล่าช้าไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนผู้มีอรรถคดี และเปิดโอกาสให้มีการประวิงคดี จึงควรแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายดังกล่าวให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

ที่มา : สำนักข่าวไทยและเว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท