พบประเทศตะวันออกกลางซื้อขายแม่บ้านผ่านทางออนไลน์

พบประเทศแถบตะวันออกกลางซื้อขายแม่บ้านผ่านเว็บตลาดออนไลน์-ไม่สนเรื่องค้ามนุษย์ เหตุที่คนทำงานถูกขายต่อเหมือนสินค้าได้เพราะรัฐบาลแต่ละประเทศไม่ยอมแก้กฎหมายผู้อุปถัมภ์แรงงาน ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์และกดขี่ข่มเหงคนทำงาน

เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2560 ที่ผ่านเว็บไซต์ StepFeed รายงานว่ามีกรณีประกาศขายคนทำงานแม่บ้านในประเทศเลบานอนในเว็บไซต์ตลาดออนไลน์อย่าง OLX โดยมีการโพสต์และวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ โพสต์ในเว็บไซต์ OLX ที่ประกาศขายแม่บ้านคนนี้ระบุคุณสมบัติของว่า "แม่บ้านสาวอายุ 20 ปีชาวเอธิโอเปีย มีประสบการณ์การทำงาน สามารถพูดภาษาอาหรับได้ดี และยังเหลือสัญญาอีกหนึ่งปีครึ่ง"

ต่อมาไม่นานนักโพสต์ถูกนำออกจากเว็บไซต์ OLX บลอกเกอร์รายหนึ่งได้วิจารณว่าการกระทำเช่นนี้เกิดจากการที่รัฐบาลในภูมิภาคตะวันออกกลางปฏิเสธที่จะยกเลิก ‘ระบบคาฟาลา' (Kafala) ซึ่งเป็นกฎหมายโบราณที่สนับสนุนการค้าแรงงานทาสและถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์และกดขี่ข่มเหงคนทำงาน

การประกาศขายแม่บ้านชาวฟิลิปปินส์ผ่านเว็บไซต์ OLX ที่ประเทศโอมาน (ที่มาภาพ: StepFeed)

จากการรายงานของ StepFeed ยังระบุว่าเลบานอนไม่ใช่ประเทศที่มีการประกาศขายคนทำงานแม่บ้านประเทศเดียวในแถบตะวันออกกลาง กรณีเช่นเดียวกันนี้ยังพบที่ประเทศโอมานที่มีการประกาศขายแม่บ้านชาวฟิลิปปินส์และแม่บ้านชาวอูกานดา ผ่านเว็บไซต์ OLX ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ระบบคาฟาลาที่บังคับใช้กับแรงงานต่างชาติที่มาขายแรงงานในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางนั้น เป็นระบบค้ำประกันโดยผู้อุปถัมป์ (ส่วนใหญ่คือนายจ้าง) ซึ่งแรงงานต่างชาติที่อยู่อาศัยและทำงานจะต้องได้รับใบอนุญาตให้อยู่อาศัย (residence permit) และใบอนุญาตให้ทำงาน (work permit) โดยใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างชาตินั้นจะต้องมีนายจ้างเป็นผู้อุปถัมภ์ท้องถิ่น (หรือ sponsor) เป็นผู้ดำเนินการขอให้ การเปลี่ยนงานจะต้องได้รับการอนุญาตจากนายจ้างเก่าซึ่งเป็นการเปิดช่องให้เกิดการค้ามนุษย์ รวมทั้งนายจ้างยังมีสิทธิยกเลิกสัญญาได้โดยไม่ต้องแจ้งเหตุผลได้อีกด้วย ระบบการจ้างงานแบบนี้เองที่ทำให้แรงงานต่างชาติในตะวันออกกลางแทบที่จะไม่มีอำนาจต่อรองกับนายจ้างเลย

 

กาตาร์ยกเลิก ‘ระบบคาฟาลา’ ได้เพราะนานาชาติกดดันหลังได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก

แต่ที่กาตาร์ เมื่อเดือน ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมารัฐมนตรีกระทรวงแรงงานได้แถลงยกเลิกระบบคาฟาลา ที่บังคับให้แรงงานต่างชาติทุกคนจะต้องมีผู้อุปถัมภ์ที่เป็นบุคคลหรือในรูปของบริษัท และทุกครั้งที่ต้องการเปลี่ยนงานหรือเดินทางออกนอกประเทศ จะต้องขออนุญาตจากผู้อุปถัมภ์ของตนก่อน โดยกาตาร์ได้เปลี่ยนมาใช้กฎหมายแรงงานฉบับใหม่ที่ทันสมัย การจ้างงานต้องเป็นไปตามสัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง มีการปกป้องสิทธิ์ของคนงานและเพิ่มความยืดหยุ่นเมื่อลูกจ้างต้องการเปลี่ยนงาน ทั้งนี้เป็นเพราะกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างประเทศได้วิจารณ์ระบุว่าระบบคาฟาลาดังกล่าวไม่ต่างจากระบบทาสสมัยใหม่ ซึ่งกาตาร์จำเป็นต้องจ้างแรงงานต่างชาติหลายแสนคนเพื่อมาสร้างสนามฟุตบอลและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2565

ประเทศในแถบตะวันออกกลางพึ่งมีเรื่องอื้อฉาวไปทั่วโลกเมื่อต้นเดือน เม.ย. 2560 ที่ผ่านมาหลังจากนายจ้างชาวคูเวตรายหนึ่งผู้หนึ่งซึ่งเห็นแม่บ้านของตนเองกำลังจะตกจากอาคารสูง ซึ่งแทนที่เธอจะให้การช่วยเหลือ แต่เธอกลับไปคว้ามือถือมาถ่ายคลิปวีดีโอแทน โชคดีที่แม่บ้านชาวเอธิโอเปียในคลิปวีดีโอนั้นรอดตาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท