Skip to main content
sharethis

สมัชชาแม่น้ำแถลงข่าวค้านโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่โปร่งใสและจะทำลายเจ้าพระยาอย่างไม่สามารถฟื้นคืน เตรียมเดินหน้าตรวจสอบถึงที่สุด ด้านสมาคมสถาปนิกสยามฯ และสมาคมวิศวกรฯ แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย ศศิน หวั่นทำชุมชนริมน้ำอยู่ไม่ได้ สุดท้ายเข้าทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เข้าครองพื้นที่

19 มีนาคม 2560 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวกับประชาชาติธุรกิจว่า จะทำการเปิดประมูลโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 4 สัญญาในเดือนเมษายนนี้ งบประมาณ 8,400 ล้าน ทั้งที่ผู้ได้รับผลกระทบและผู้ที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนยังแทบไม่ได้รับข้อมูลจากภาครัฐแต่อย่างใด

โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นโครงการที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ริเริ่มขึ้นเองเมื่อปี 2557 ท่ามกลางความคลางแคลงจากหลายภาคส่วนว่า อยู่ๆ เหตุใด คสช. จึงต้องการผลักดันโครงการนี้อย่างเร่งด่วน ทั้งที่ขณะนี้โครงการยังไม่ผ่านการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอด้วยซ้ำ ไม่เพียงเท่านั้น ข้อมูลจากกลุ่มสมัชชาแม่น้ำและภาคีเครือข่าย ยังเผยให้เห็นผลกระทบต่อวิถีชีวิต ภูมินิเวศ ทัศนียภาพ และอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ช่วยชะลอความเร็วของโครงการนี้

5 เมษายน 2560 สมัชชาแม่น้ำและภาคีเครือข่ายจึงได้ออกแถลงการณ์ 12 ข้อ ดังนี้

1.โครงการไม่เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดโครงการต่อสาธารณชนอย่างรอบด้านเพียงพอ ทั้งๆ ที่โครงการส่งผลกระทบมหาศาลต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและคุณภาพชีวิต แต่โครงการกลับเดินหน้าประมูลการก่อสร้าง เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน ในข้อมูลข่าวสารและสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนตามที่คุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญมาตราที่ 4

2.การดำเนินโครงการที่ผ่านมากลับไม่พบว่าได้มีการให้ข้อมูลโครงการที่เพียงพอ และไม่ได้มีการปฏิบัติตามความเห็นหรือข้อท้วงติงจากสมาคมวิชาชีพด้านสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ผังเมือง และวิศวกรรม ซึ่งเป็นวิชาชีพหลักที่มีส่วนช่วยตรวจสอบโครงการให้เป็นไปตามหลักวิชา

3.TOR มีปัญหาในการกำหนดรูปแบบของการพัฒนาที่ชี้ชัดว่าเป็นทางเลียบแม่น้ำ อีกทั้งยังให้ทำการศึกษาและการทำแบบก่อสร้างในสัญญาฉบับเดียว จึงขาดการศึกษาทางเลือกของการพัฒนาที่หลากหลายและเหมาะสมกับพื้นที่  อีกทั้งเป็น TOR ที่ให้เวลาทำการศึกษาที่รวบรัดเพียง 7 เดือน

4.ไม่พบการจัดทำ ‘แผนแม่บท’ ของการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครในระยะ 57 กม. ที่ครบถ้วนรอบด้านตามที่กำหนดไว้ใน TOR ‘แผนแม่บท’ ที่ปรากฏ ขาดการบูรณาการนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแม่น้ำและขาดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

5.ไม่พบผลการศึกษาที่ครบถ้วนด้านต่างๆ อันเป็นสาระสำคัญตามที่กำหนดไว้ใน TOR เช่น การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study), การศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลการศึกษาด้านชลศาสตร์ อันเป็นผลกระทบโดยตรงจากโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา กลับพบว่าใช้เวลาการศึกษาที่รวบรัดในเวลาไม่กี่เดือน ผิดหลักการที่ต้องศึกษาการไหลของน้ำอย่างน้อย 1 ปี

6.ผลการศึกษาที่ด่วนสรุป เห็นชอบให้การทำ ‘ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา’ เป็นคำตอบหลักของการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยขาดการศึกษาและการรับฟังความเห็นที่รอบด้านเพียงพอ โดยมีลักษณะเป็นทางคอนกรีตขนาดใหญ่ กว้าง 10 เมตร สร้างคร่อมไปในแม่น้ำ 2 ฝั่ง ยาวข้างละ 7 กม. รวมเป็น 14 กม. จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าในระยะที่ 1 และจะดำเนินการจนครบ 57 กม. ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งทางเลียบดังกล่าวเป็นการทำลายแม่น้ำเจ้าพระยาในทุกมิติ ที่ไม่สามารถนำกลับคืนมาได้ ทำลายคุณค่าทางภูมิทัศน์ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต การเดินเรือน การท่องเที่ยว และระบบนิเวศ

7.โครงการยังไม่ผ่านการพิจารณาจากหลายหน่วยงาน ทั้งจากคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า คณะกรรมการนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (EIA) กรมศิลปากร และกรมเจ้าท่า แต่กรุงเทพมหานครกลับเดินหน้าประกาศประมูลโครงการ

8.กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนถือว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีความรวบรัดเพียง 3 ครั้ง ในระยะเวลา 7 เดือน เมื่อเทียบกับขนาดพื้นที่โครงการตลอดลำน้ำ 57 กม. อีกทั้งไม่ครอบคลุมจำนวนประชากรที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ ที่สำคัญ ผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ข้อ 11 และข้อ 12 ที่กำหนดให้รัฐต้องให้ข้อมูลก่อนและหลังกระบวนการรับฟังอย่างทั่วถึงและเพียงพอ

9.รัฐกำลังจะสร้างโครงสร้างทางเดินขนาดใหญ่ลงในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งขัดกับมตีคณะรัฐมนตรี 1 สิงหาคม 2543 ที่กำหนดให้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ และขัดกับกฎหมายผังเมือง อันส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ของแหล่งน้ำร่วมกันของประชาชน ชุมชน และผู้ประกอบการและการขนส่งทางน้ำ

10.การรับจ้างออกแบบโครงการนี้โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและมหาวิทยาลัยขอนแก่น ขาดความชอบธรรม เนื่องจากเป็นการกระทำการฝ่าฝืน มาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.สถาปนิก พ.ศ.2543 และ พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2542 เพราะมหาวิทยาลัยรับจ้างทำงานที่เข้าข่ายเป็นงานวิชาชีพควบคุม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม/วิศวกรรมควบคุมจากสภาวิชาชีพทั้งสอง

11.หากรัฐเดินหน้าประมูลการก่อสร้างโดยใช้ผลการศึกษาที่ไม่สมบูรณ์ ไม่รอบด้าน และสุ่มเสี่ยงต่อการขัดกับกฎหมายดังที่เป็นอยู่ ซึ่งอาจนำไปสู่การก่อสร้างที่ทำไม่ได้จริง มีผลกระทบจากการก่อสร้างที่สร้างความเสียหายในพื้นที่และเกิดการต่อต้านในสังคม ซึ่งอาจนำไปสู่การยุติโครงการ ส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากภาครัฐ ทั้งจากผู้รับเหมา ชุมชน ผู้ประกอบการเดินเรือและธุรกิจในท้ายที่สุด

12.โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยายังไม่เปิดเผยข้อมูลของการใช้งบประมาณอย่างโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็น 14,000 ล้าน หรือ 8,000 ล้านบาท ก็เป็นเงินภาษีของประชาชนที่จำเป็นจะต้องถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่าและเหมาะสมต่อการพัฒนาประเทศชาติ ไม่สมควรนำมาใช้กับโครงการที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำลายแม่น้ำเจ้าพระยาดังที่เป็นอยู่

ภายในงานแถลงข่าว อัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และไกร ตั้งสง่า สมาชิกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย ยังได้กล่าวในทิศทางเดียวกันว่าไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้และต้องการให้รัฐบาลทบทวน

ขณะที่จุลจักร จักรพงษ์ หรือฮิวโก้ ตั้งคำถามจากวงแถลงข่าว 3 ข้อไปยังรัฐบาลว่า หนึ่ง-ทำไมโครงการนี้จึงต้องรีบเร่งผลักดัน ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน สอง-ทำไมรายละเอียดของโครงการจึงต้องเป็นความลับ  ต้องปิดบัง และสาม-ข้อเสียของการไม่สร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาคืออะไร

ด้านศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแลนด์มาร์คโดยตัวมันเองอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างทางเลียบแม่น้ำ พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า การสร้างทางเลียบแม่น้ำขนาดใหญ่ตลอดสองฝั่งจะทำให้ชุมชนริมน้ำได้รับผลกระทบ เข้าไม่ถึงแม่น้ำ อยู่ในสภาพแวดล้อมปิด ซึ่งอาจทำให้กลายเป็นชุมชนแออัดในอนาคต และหากในที่สุดเมื่อชุมชนอยู่ไม่ได้ก็จะเข้าทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการพื้นที่ริมน้ำสำหรับก่อสร้างอาคารสูง

ทั้งนี้ทางสมัชชาแม่น้ำและภาคีเครือข่ายจะยื่นเรื่องให้สภาสถาปนิก สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และศาลปกครอง ตรวจสอบโครงการนี้ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net