Skip to main content
sharethis

บทวิเคราะห์ของผู้สื่อข่าวรัสเซียที่เผยแพร่ในอัลจาซีรา มองเหตุก่อการร้ายที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเทียบกับเหตุการณ์ที่ผ่านๆ มา โดยประเมินว่าถึงแม้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน จะพยายามแสดงออกในเชิงเป็นผู้นำที่ 'เข้มแข็ง' ลดการก่อการร้ายได้แม้ว่าต้องแลกด้วยเศรษฐกิจที่แย่และเสรีภาพประชาชนที่ลดลง ทว่าเหตุร้ายล่าสุดก็กำลังฉีกกระชากภาพลวงตาด้านความมั่นคงของปูตินอยู่หรือไม่

เมื่อวันที่ 3 เม.. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน วางดอกไม้ไว้อาลัยผู้เสียชีวิตเหตุระเบิดสถานีรถไฟใต้ดินเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย (ที่มา: kremlin.ru)

5 เม.ย. 2560 จากการสืบสวนของทางการรัสเซียเมื่อช่วงวันอังคารที่ผ่านมา (4 เม.ย.) ทำให้มีการตั้งข้อสันนิษฐานว่าเหตุระเบิดในสถานีรถไฟใต้ดินเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 3 เมษายนนั้นอาจจะเป็นการระเบิดพลีชีพของชาวเชื้อสายคีร์กีซสถานอายุ 22 ปี ชื่อ อัคบาร์ซอน ยาลิลอฟ โดยที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีแรงจูงใจอะไร โดยอาศัยหลักฐานได้มาจากการเก็บดีเอ็นเอจากอุปกรณ์ระเบิดชิ้นที่สองที่ยังไม่ทำงาน

เลโอนิด ราโกซิน นักข่าวอิสระในกรุงมอสโคว ประเทศรัสเซีย เขียนบทวิเคราะห์เกี่ยวกับเหตุการณ์ระเบิดที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 14 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บต้องเข้าโรงพยาบาล 49 ราย โดยระบุว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ก่อการร้ายที่รุนแรงที่สุดในรัสเซียเมื่อเทียบกับในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

ราโกซินระบุว่าในขณะที่ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียเน้นเรื่องความมั่นคงมากจนต้องให้ประชาชนยอมจ่ายด้วยเสรีภาพทางการเมืองที่น้อยลงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น้อยลง แต่ในปัจจุบันที่รัสเซียมีปัญหาเศรษฐกิจและการโจมตีที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กก็ชวนให้ประชาชนรัสเซียตั้งคำถามว่าปูตินจะทำตามสัญญาที่เขาให้ไว้ได้จริงหรือไม่

บทความของราโกซินในอัลจาซีราระบุว่าในช่วงที่มีความวุ่นวายต้นทศวรรษที่ 1990 ก่อนปูตินขึ้นมามีอำนาจ รัสเซียประสบปัญหาความยากจนอย่างหนัก มีอาชญากรรมเกิดขึ้นไปทั่วและมีความขัดแย้งกับกลุ่มติดอาวุธในเขตสหพันธ์คอเคซัสเหนือ พอถึงปลายยุคทศวรรษนั้นกลุ่มกบฏก็เริ่มเปลี่ยนยุทธวิธีมาเป็นการก่อการร้าย

ชามิล บาซาเยฟ ผู้นำกลุ่มติดอาวุธเชเชน (ที่มา: วิกิพีเดีย)

ในยุคสมัยดังกล่าวคนที่เริ่มเปลี่ยนวิธีการเป็นการก่อการร้ายคือชามิล บาซาเยฟ จากกลุ่มติดอาวุธเชเชน ผู้ซึ่งเคยทำการจี้เครื่องบินโดยสารรัสเซีย ต่อมาเขายอมปล่อยตัวประกันและยอมมอบตัวกับทางการตุรกี น่าประหลาดที่ต่อมาเขาได้รับอนุญาตให้กลับไปเชชเนียและต่อสู้กับรัฐบาลจอร์เจียในกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอับคาเซียที่สนับสนุนรัสเซีย เขาอยู่ข้างรัสเซียได้ไม่นานก็ก่อเหตุจับตัวประกันในโรงพยาบาลในเมืองบัดดิยอนนอฟสก์ เมื่อปี 2538 บีบให้ทางการรัสเซียต้องเริ่มหารือกับผู้นำเชเชนจนกระทั่งออกข้อตกลงสันติภาพได้เป็นการจบสงครามเชเชนในครั้งแรก แต่ในปีถัดจากนั้นก็มีเหตุระเบิดรถไฟใต้ดินกรุงมอสโกวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย

ราโกซินระบุว่าในทศวรรษที่ 1990 มีตัวเลขไม่ชัดเจนระหว่างปฏิบัติการของกลุ่มกบฏแบบกองโจรกับเหตุก่อการร้ายในเขตคอเคซัสเหนือแต่โดยรวมแล้วมักจะมีผู้เสียชีวิตจำนวนน้อยและมักจะมีการจับตัวประกันเรียกค่าไถ่ ในช่วงสงบศึกระหว่างสงครามเชเชนครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 นี้เองที่บาซาเยฟและสายสุดโต่งของกองกำลังปลดปล่อยเชชเนียได้รับอิทธิพลจากกลุ่มติดอาวุธในตะวันออกกลางจนมีการเปลี่ยนแปลงทางอุดมการณ์ กลุ่มที่ส่งอิทธิพลต่อพวกเขาคือกลุ่มเดียวกันที่ต่อมาเรียกตนเองว่าอัลกออิดะฮ์ บาซาเยฟก็เปลี่ยนอุดมการณ์ของตัวเองจากความต้องการเรียกร้องอิสรภาพให้เชชเนียกลายมาเป็นต้องการสร้างรัฐอิสลามในพื้นที่นั้นเขาได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นผู้บัญชาการกองกำลังเชเชน

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังส่งผลต่อความขัดแย้งกับทางการรัสเซียในช่วง ค.ศ. 1999 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจภายในที่ผู้นำรัสเซียในยุคนั้นอย่างบอริส เยลซิน แต่งตั้งให้ปูตินเป็นหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงที่จัดการกับเรื่องความขัดแย้งกับกลุ่มติดอาวุธในเขตสหพันธ์คอเคซัสเหนือ ในเวลาต่อมากองกำลังเชเชนก็บุกโจมตีดาเกสถานสองวันหลังจากนั้นเยลซินก็แต่งตั้งให้ปูตินเป็นนายกรัฐมนตรี และต่อมาก็ได้เป็นรักษาการประธานาธิบดีหลังเยลซินลาออกจากตำแหน่ง จนกระทั่งปูตินชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีหลังจากนั้น ในช่วงนั้นเองการก่อการร้ายในรัสเซียก็หนักข้อขึ้นถึงขั้นโจมตีในเขตอพาร์ทเมนต์ในเมืองใหญ่ๆ ที่มีผู้เสียชีวิตรวมเกือบ 300 ราย เป็นการส่งสัญญาณว่าไม่มีใครในรัสเซียที่ปลอดภัย

ราโกซินมองว่าการโจมตีในช่วงนั้นส่งผลทางจิตวิทยาต่อทั้งปูตินและสังคมรัสเซียเอง ทำให้ปูตินใช้โอกาสสร้างภาพเป็นผู้นำที่แข็งกร้าวที่ต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธในเชชเนียและไม่ยอมหารือกับบาซาเยฟ แต่ทว่าในหลายปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นกลับส่งผลให้เกิดการนองเลือดแบบที่ประชาชนทั่วไปได้รับผลไปด้วยไม่ว่าจะเป็นเหตุจับตัวประกันในโรงละครกรุงมอสโกวเมื่อปี ค.ศ. 2002 หรือในกรณีโรงเรียนเบสลานในปี ค.ศ. 2004 ซึ่งกองกำลังรัสเซียมักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในกรณีนี้ว่าปฏิบัติการอย่างไม่เป็นมืออาชีพ แต่ปูตินกลับยิ่งอ้างการสูญเสียเหล่านี้เพื่อยึดกุมอำนาจไว้ในมือตัวเองและสร้างภาพแสวงหาการสนับสนุนจากประชาชนรัสเซียส่วนใหญ่

ถึงแม้ว่าในเวลาต่อมาบาซาเยฟจะถูกสังหาร กบฏเชชเนียถูกปราบปรามเป็นจำนวนมาก แต่การก่อการร้ายก็ยังคงเกิดขึ้นในมอสโควปี ค.ศ. 2000-2001 หลังจากนั้นการก่อการร้ายในรัสเซียก็เริ่มลดน้อยลงและเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ถ้าหากปูตินรักษาสภาพเช่นนี้ต่อไได้เขาอาจจะถูกมองว่าเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จที่สุดในช่วง 20 ปี ทีผ่านมาก็เป็นได้ แต่ปูตินกลับพยายามเลือกจะรักษาอำนาจเอาไว้แม้ในช่วงยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำลงอย่างช่วงราคาน้ำมันตกต่ำในปี 2014 และการยึดแคว้นไครเมียของยูเครนก็ทำให้ประเทศถูกหมางเมินจากประชาคมโลก

ราโกซินตั้งข้อสังเกตอีกว่าเหตุโจมตีในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กซึ่งเป็นเมืองบ้านเกิดของปูตินเกิดขึ้นวันเดียวกับที่ปูตินเดินทางเยือน ซึ่งเหตุการณ์นี้ปูตินคงอาศัยทริกเก่าๆ มาใช้อ้างยึดกุมอำนาจแบบเดิมไว้ไม่ได้แล้ว สิ่งที่เขาทำได้คงมีเพียงการจัดการกับภาพลักษณ์ทางลบและภาวนาว่าจะไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นอีก

จากข้อมูลที่มีจนถึงวันที่ 5 เม.ย. พบว่ายังไม่มีกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มใดอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผู้ต้องสงสัยก่อเหตุคือยาลิลอฟเป็นคนเชื้อสายคีร์กีซสถานที่ปัจจุบันเป็นพลเมืองของรัสเซีย เขาอาศัยอยู่ในรัสเซียมาเป็นเวลา 6 ปีแล้ว เดอะการ์เดียนรายงานว่ามีชาวเอเชียกลางนับแสนคนอาศัยอยู่ในรัสเซียเช่นเดียวกับยาลิลอฟ พวกเขามักจะเป็นแรงงานที่ถูกใช้งานหนักมีสภาพการจ้างงานย่ำแย่ มีบางคนถกทำให้กลายเป็นพวกสุดโต่งหลังจากที่เดินทางเข้ารัสเซียแล้ว สาเหตุน่าจะมาจากการที่ชีวิตอยู่ในสภาพย่ำแย่และถูกเหยียดเชื้อชาติในชีวิตประจำวัน

 

เรียบเรียงจาก

St Petersburg bomb suspect identified as 22-year-old born in Kyrgyzstan, The Guardian, 04-04-2017

Russia: The ghost of a terrorised past, Leonid Ragozin, Aljazeera, 05-04-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net