Skip to main content
sharethis

พล.อ.ประยุทธ์  ระบุนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงสู่โฉมใหม่ พัฒนาด้วยนวัตกรรม นำประเทศมีรายได้สูง ชี้ต้องปรับแก้ไขกฎระเบียบกติกาให้เหมาะสมกับการลงทุน ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก ยอมให้ความร่วมมือกับรัฐบาล เพื่อเดินหน้าอนาคตของประเทศ

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

6 เม.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วานนี้ (5 เม.ย.60) เวลา 14.00 น. ณ อาคารผู้โดยสาร (หลังใหม่) การท่าอากาศยานอู่ตะเภา จ.ระยอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่า EEC จะเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นประเทศไทยโฉมใหม่ พัฒนาด้วยนวัตกรรม เชื่อมต่อความเจริญจากภูมิภาคสู่ภูมิภาค สร้างอนาคตที่ดีให้แก่ประเทศ ส่วนเอกชนที่สนใจจะลงทุนในพื้นที่ ต่างแสดงความพอใจ และมีแนวโน้มตอบรับที่ดีกับนโยบายนี้ แต่รัฐบาลยังคงต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ลดความหวาดระแวงระหว่างรัฐกับเอกชน ปรับแก้ไขกฎระเบียบกติกา เพื่อให้เหมาะสมกับการลงทุน ทั้งยังต้องพัฒนาบุคลากรให้สอดรับกับการพัฒนาในยุคใหม่ ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ พร้อมยึดแนวทางการสร้างผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ให้เกิดขึ้นกับประชาชนโดยรวม โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบในบริเวณพื้นที่โดยรอบ EEC และ ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ยอมให้ความร่วมมือกับรัฐบาล เพื่อเดินหน้าอนาคตของประเทศ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ดีที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่รัฐบาลต่อ ๆ ไปจะต้องดำเนินการสานต่อตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

“รัฐบาลมีความเป็นห่วงเรื่องใช้จ่ายงบประมาณในอนาคต ที่จะต้องหารายได้เพิ่มเติม เพราะหากอนาคตมีรายได้เพียงพอ จะมีความสามารถในการดูแลสวัสดิการให้ประชาชนทุกกลุ่ม และให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งและการพัฒนาตัวเองของประชาชนให้ทันต่อเศรษฐกิจยุค 4.0 ประเทศไทยจึงต้องปรับกฎระเบียบกติกาให้เอื้อต่อการลงทุน สร้างมูลค่าเพิ่มให้ประเทศ ทั้งนี้ เมื่อทราบปัญหาและปัจจัยต่าง ๆ แล้ว สิ่งสำคัญคือการหาแนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยการแสวงหาความร่วมมือ การลงนามในบันทึกข้อตกลงและการผลักดันโครงการสำคัญต่าง ๆ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความร่วมมือจากประชาชน” พล.อ.ประยุทธ์

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า EEC ถือเป็นก้าวแรกการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยใหม่ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งในอนาคตอาจจะพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจในพื้นที่อื่น เพื่อเชื่อมโยงกับทุกพื้นที่อุตสาหกรรม นอกจากนี้ รัฐบาลยังผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 10 จังหวัดที่จะเชื่อมโยงกับ EEC และเชื่อมต่อไปยัง CLMV และประชาคมโลก ซึ่งจากการได้พบผู้บริหารภาคเอกชน ทุกคนมีความพึงพอใจในโครงการของรัฐบาล ประเด็นสำคัญคือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน สร้างผลประโยชน์ที่เท่าเทียมและเป็นธรรม สร้างผลประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่และประชาชนโดยรวม ขอประชาชนในพื้นที่อย่าตกใจและขอความร่วมมือ  

โดยก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน เวลา 09:15 น. ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเอกชนชั้นนำต่างชาติที่สนใจลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ห้องรับรอง ชั้น 2 อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ การท่าอากาศยานอู่ตะเภา

ทั้งนี้ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญการหารือดังนี้ 

นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่ได้พบกับคณะภาคเอกชนในวันนี้ พร้อมแสดงความขอบคุณในความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของประเทศไทย และขอบคุณในความร่วมมือที่มีให้กับประเทศไทยมาโดยตลอด 

โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้แนะนำคณะรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เข้าร่วมการหารือ อาทิ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น

นายกรัฐมนตรียืนยันว่ารัฐบาลมีเจตนารมย์อย่างมุ่งมั่น ที่จะทำให้พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเป็นการสร้างอนาคตของประเทศไทย  ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน โดยรัฐบาลได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน ทั้งทางด้านกฎหมาย และสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างไรก็ตามการพัฒนาต้องเป็นไปอย่างสมดุลกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 

นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกจะเป็นประโยชน์อย่างสูงกับประเทศไทย ภูมิภาค CLMV รวมถึงประชาชนในพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลจะดูแลประชาชนโดยรอบให้ได้รับประโยชน์สูงสุด มีการเติบโตอย่างเข้มแข็ง มีรายได้ที่เพียงพอ นอกจากนี้รัฐบาลยังได้จัดหาบุคลากร พัฒนาด้านการศึกษา การผลิตคน เพื่อให้รองรับการเติบโตของ EEC ในอนาคต 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าในวันนี้จะเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งจะมีการหารือถึงแผน EEC  การสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รถไฟรางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ  เขตนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและดิจิตัล  และการสร้างเมืองใหม่ ในจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นต้น

โอกาสนี้ภาคเอกชนได้แสดงความคิดเห็นและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก อาทิ BMW แสดงความขอบคุณรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในไทยมาโดยตลอด โดยเห็นว่า EEC จะเป็นประโยชน์ด้านการขนส่งสินค้าแก่บริษัทฯ และยืนยันความพร้อมในการทำงานร่วมกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิด  LAZADA กล่าวว่าบริษัทฯ ได้ดำเนินธุรกิจในไทยกว่า 5 ปี ในด้าน E-commerce โดยหวังให้รัฐบาลพัฒนาด้านบุคลากรเพื่อรองรับด้านดิจิทัลในอนาคต Toyota กล่าวว่าบริษัทฯ มีแผนการลงทุนในไทยอย่างเต็มที่ โดยมีพื้นที่การผลิตหลักอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา อย่างไรก็ดี ขอให้รัฐบาลดูแลเรื่องถนนหนทางที่ขาดแสงสว่าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

PPT GC กล่าวว่าพร้อมให้การสนับสนุน EEC อย่างเต็มที่ โดยเห็นว่าการพัฒนาด้านการศึกษา เทคโนโลยีระดับสูง นวัตกรรม และการให้ข้อมูลแก่นักลงทุนเป็นสิ่งที่สำคัญ Google และ Microsoft ได้แสดงความคิดเห็นด้านนวัตกรรม และความสำคัญของการพัฒนาบุคลากร การลงทุนด้านการศึกษา โดยเฉพาะในด้านดิจิทัล 
 

ที่มา : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล และสำนักข่าวไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net