สิทธิมนุษยชนของคนไร้สัญชาติที่กำเนิดจากแรงงานต่างด้าว

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ปัจจุบันปัญหาเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในเมืองไทยมีทั้งการเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเห็นได้จากการกลับคืนถิ่นช่วงเทศกาลทุกปี ปีละหลายแสนคนตลอดมา หลายคนมีครอบครัวและให้กำเนิดบุตรระหว่างการทำงานในประเทศไทย ทว่าบุตรที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นคนชายขอบหรือผู้ด้อยโอกาสที่ไม่ได้รับการคุ้มครองรับรองตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเอกชน หรือกฎหมายมหาชน ซึ่งถือเป็นบุคคลไร้สัญชาติ หรือบางคนไร้สัญชาติ และไร้รัฐ เมื่อมองในแง่ของความเสมอภาคหรือความไม่เท่าเทียมกัน (the equality/inequality discourse) แล้ว “แรงงานต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติ” ยิ่งถูกตอกย้ำเรื่องความเป็นชายขอบหรือด้อยโอกาสมากขึ้นบนโลกใบนี้ขณะเดียวกันคนเหล่านี้ยังสร้างปัญหาให้กับสังคมไทยก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ในสังคมไทยอยู่เป็นประจำ

อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยก็ยังคงกลืนไม่เข้าและคายไม่ออกกับปัญหาเนื่องจากนโยบายการพัฒนาประเทศทดแทนการนำเข้าในภาคอุตสาหกรรม และนโยบายส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจำเป็นต้องใช้แรงานจำนวนมากในภาคอุตสาหกรรม กอปรกับประเทศไทยยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน จึงจำเป็นต้องอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรไทย และต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ รวมถึงการหาทางออกเรื่องสวัสดิการบุตรผู้ไร้สัญชาติที่เกิดจากแรงงานต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ด้วย 

1 ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

ในท่ามกลางกระแสสังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์ ระบบทุนนิยม รวมทั้งระบบเศรษฐกิจโลกในรูปของการบูรนาการทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (economic integration) เครือข่ายเชื่อมโยงทางสังคม (social networking) และระบบติดต่อด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (information technology) ที่ผลักดันให้มีการเปิดเสรีด้านการค้า ภายใต้สมมติฐานที่ว่า การเปิดเสรีจะทำให้เศรษฐกิจและการบริโภคขยายตัวและส่งผลให้ระดับความเป็นอยู่ของประชากรสูงขึ้นทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศยากจนหรือร่ำรวยต่างตกอยู่ในในกระบวนการเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์อย่างลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะประเทศยากจน ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนให้ทันต่อกระแสโลกาภิวัตน์ ในฐานะที่แรงงานเป็นปัจจัยสำคัญของกระบวนการผลิต จึงมีความพยายามที่จะผลักดันให้กลุ่มคนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม เข้าสู่กระบวนการผลิตมากขึ้น ผนวกกับความอ่อนแอทางสังคม ความด้อยโอกาส ทำให้ประชากรของโลกกลุ่มนี้ถูกลดทอนอำนาจ และกลายเป็นพลเมืองชายขอบของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับประเทศไทยแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 8 : ปีงบประมาณ พ.ศ.2540-2544เน้นการพัฒนาคนเป็นเป้าหมายหลัก และกระบวนการมีส่วนร่วมในการทำแผนพัฒนาฯ รัฐบาลจึงผลักดันให้ประชากรมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศมากยิ่งขึ้น การสร้างสมรรถนะทางด้านเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการพัฒนาคนนั้นการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมและการขาดแคลนแรงงาน เป็นผลทำให้แรงงานต่างด้าวเดินทางเข้ามาแสวงหาโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองในราชอาณาจักรไทยเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้นเห็นได้จาก ทุกๆ ปีที่ผ่านๆ มาในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีแรงงานต่างด้าว กลับภูมิลำเนาปีละหลายแสนราย โดยเฉพาะแรงงาน 3 สัญชาติ คือ ลาว กัมพูชา และเมียนมา และปีนี้รัฐบาลไทยได้อำนวยความสะดวกให้กับคนต่างด้าวเหล่านี้ ในหลายๆ ด้าน โดยแรงงานต่างด้าวที่ถือบัตรประจำตัวคนต่างด้าวซึ่งไม่มีสัญชาติไทย(บัตรสีชมพู) และด้านหลังระบุวันหมดอายุ1พ.ย.60หรือ31มี.ค.61และแรงงานต่างด้าวที่มีหนังสือเดินทางแรงงานหรือพาสปอร์ตแรงงาน ตามข้อตกลงMOU จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้า ออกราชอาณาจักร รวมทั้งการขยายระยะเวลากลับเข้ามาในราชอาณาจักรไทย

นอกจากแรงงานแล้ว บุตรที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี ซึ่งเป็นบุคคลไร้สัญชาติ ยังสามารถร่วมเดินทางกลับได้ด้วย[1]พร้อมนี้ นายกรัฐมนตรียัง กำชับให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม ตำรวจ ทหาร รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ดูแลอำนวยความสะดวกต่อการเดินทาง

ถึงแม้ว่ารัฐบาลไทยจะมีมติให้การช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้กับแรงงานข้ามชาติ แต่การลักลอบเดินทางเข้า ออกนอกราชอาณาจักรตามช่องทางธรรมชาติ อาทิแม่น้ำ ภูเขาป่าไม้ ตลอดแนวตะเข็บชายแดนก็ยังคงดำเนินไปเป็นปกติ   

 ปัญหาเกี่ยวกับผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย รัฐบาลไทยยังคงเห็นเป็นเรื่องธรรมดาของราชอาณาจักรไทย ยิ่งไปกว่านั้น คนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยแม้จะเข้ามาโดยชอบตาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 หรือลักลอบเข้ามาโดยผิดกฎหมายและภายหลังมักจะถูกปรับสถานภาพแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองให้เป็นแรงงานเข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย โดยการพิสูจน์สัญชาติตามข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานกับประเทศคู่ภาคีก็ตาม

แต่บุตรที่เกิดจากคนต่างด้าวเหล่านี้ในขณะที่บิดามารดาของเขาเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย กลายเป็นคนชายขอบหรือผู้ด้อยโอกาสที่จะได้รับการรับรองคุ้มครองตามกฎหมายทั้งตามกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน เนื่องจากเป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติใดในโลกไม่ว่าจะเป็นสัญชาติพ่อ-แม่ หรือ แม้แต่สัญชาติถิ่นที่เกิด คือ สัญชาติไทย ขณะเดียวกันคนด้อยโอกาสเหล่านี้ยังสร้างปัญหาทางให้กับสังคมไทยก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ในสังคมไทยไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการศึกษา ปัญหาทางธารณสุข ปัญหายาเสพติด และยังทำให้เกิดสภาวะคนที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาอยู่ในสังคมไทยเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่ปัญหาความมั่นคงของชาติ เพราะที่ผ่านมาเราจะเห็นตามสื่อต่างๆ ที่รายงานข่าวว่าบุคคลเหล่านี้ได้สร้างปัญหาด้านความสงบเรียบร้อยให้แก่บ้านเมือง ก่ออาชญากรรมต่างๆ และเกี่ยวข้องกับยาเสพติดอยู่เป็นประจำ

 อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยก็ยังคงกลืนไม่เข้าและคายไม่ออกกับปัญหาเนื่องจากนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า และนโยบายส่งเสริมการลงทุนจำเป็นต้องใช้แรงานจำนวนมากในภาคอุตสาหกรรม กอปรกับประเทศไทยยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน จึงจำเป็นต้องรับคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน และต้องแบกรับภาระบุตรผู้ไร้สัญชาติที่เกิดจากคนต่างด้าวเหล่านี้ด้วยบทความนี้จะวิเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาผลกระทบที่เกิดจากบุตรผู้ไร้สัญชาติของคนต่างด้าว และศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อเป็นแนวทางให้รัฐบาลไทยได้รับรู้และดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อให้สอดคล้องกับประชาคมโลกต่อไป

2 แนวคิดเกี่ยวกับคนไร้สัญชาติ

ความไร้สัญชาติ (statelessness) เป็นข้อความคิดทางกฎหมายซึ่งพรรณนาถึงการที่บุคคลไม่มีสัญชาติ (nationality) ใด ๆ เลย กล่าวคือ สภาวะซึ่งบุคคลไม่เป็นที่รับรองว่าเกี่ยวข้องกับรัฐชาติรัฐใด ๆ เลย บุคคลเช่นนี้เรียก คนไร้สัญชาติ (stateless person)โดยทั่วไปคนไร้สัญชาติ แบ่งเป็นสองลักษณะ คือ                           

1 ไร้สัญชาติโดยนิตินัย (de jure stateless) เป็นกรณีที่บุคคล "ไม่มีรัฐใดนับว่าเป็นผู้ถือสัญชาติโดยผลของกฎหมายแห่งรัฐนั้นเลย" (not considered as a national by any state under the operation of its law)           ผู้ไร้สัญชาติโดยนิตินัยอาจเป็นผู้ลี้ภัย (refugee) ด้วย แต่มิใช่ว่าผู้ขอที่ลี้ภัย (asylum) ทุกคนจะไร้สัญชาติโดยนิตินัย[2]

2 ไร้สัญชาติโดยพฤตินัย (de facto stateless) เป็นกรณีที่บุคคลไม่ได้อยู่ในรัฐที่ตนถือสัญชาติ และไม่อาจรับความคุ้มครองจากรัฐที่ตนกำลังอาศัยอยู่นั้น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเบียดเบียนของรัฐ หรือการขาดความสัมพันธ์ทางทูตระหว่างรัฐทั้งสองดังกล่าว[3]

 สำหรับประเทศไทยนั้น ตามพระราชบัญญัติ สัญชาติ พ ศ 2508 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ คนต่างด้าวหมายถึง บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ” โดยทั่วไป คนต่างด้าวที่เข้ามาพำนักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย จะมีทั้งเข้ามาโดยถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วย พระราชบัญญัติ คนเข้าเมือง และผู้ที่หลบหนีเข้ามาโดยผิดกฎหมาย ดังนั้นบุตรที่เกิดจากคนต่างด้าวขณะที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย จึงมีสถานะตามบิดา-มารดา      บุตรของต่างด้าวซึ่งเกิดในราชอาณาจักรไทย แต่ไม่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้ถือว่าผู้นั้นเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเช่นกัน เพียงแต่เด็กที่เกิดจาก บิดาและมารดา เป็นผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย (เช่น เป็นแรงงานข้ามชาติ หรือ ชนกลุ่มน้อย ที่มีมติคณะรัฐมนตรีผ่อนผันให้) เด็กก็จะมีสิทธิเช่นเดียวกับบิดาและมารดา คือ เป็นผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายเช่นเดียวกับบิดามารดา[4]

 ทั้งนี้บุคคลที่เกิดจากแรงงานข้ามชาติไม่เพียงแต่ ไม่ได้รับสัญชาติไทยและบางคนยังถือเป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติอีกด้วย
 

3 วิวัฒนาการคนไร้สัญชาติ

การเป็นคนไร้สัญชาตินั้นมีความเป็นมา ความเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงบังเกิดขึ้นมายาวนานหลายร้อยปีสำหรับประเทศไทยคงจะมองย้อนไปในอดีตขณะที่คนซึ่งอาศัยอยู่ในดินแดนขวานทองเริ่มอยู่ร่วมกันเป็นชนเผ่าแม้ยังไม่มีรัฐชาติ แต่การอยู่ร่วมกันนั้น เป็นการใช้ชีวิตร่วมกันภายใต้กฎแห่งจารีตประเพณี ความเชื่อ และความศรัทธาซึ่งกันและกัน[5] ในเวลานั้นผู้คนเริ่มกำหนด เชื้อชาติ ชาติพันธ์ หรือสัญชาติโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดามารดา และเผ่าพันธุ์เดียวกัน ในความหลากหลายของเผ่าพันธุ์และชาติพันธ์ รวมถึงความแตกต่าง ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งและเกิดสงครามระหว่างชนเผ่า หัวหน้าชนเผ่าใดมีกำลังมากกว่าชนเผ่าอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกำลังทหารหรือกำลังทรัพย์ ก็จะเป็นฝ่ายชนะสงคราม เมื่อเป็นผู้ชนะสงครามก็จะกวดต้อนประชาชนและทรัพย์สินของชนเผ่าที่แพ้สงครามนั้น โดยเชลยศึกจะนำไปเป็นทาสรับใช้และสู้รบเพื่อเสริมสร้างอำนาจ และบุตรที่เกิดจากเชลยศึกที่ถูกกวาดต้อนมา ก็ตกเป็นทาสตามบิดามารดา ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้ถึงการแบ่งเชื้อชาติ ชาติพันธ์ ของคนในสมัยนั้น

อีกกรณีหนึ่ง คือการสมัครใจย้ายถิ่น เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่ได้มีการจัดระเบียบการปกครองที่ชัดเจน การเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติปัญหาการขาดแคลนอาหารและทัพยากร ซึ่งเมื่อประชากรเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้อาหารและทรัพยากรต่างๆ ย่อมไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงอพยพย้ายถิ่นเข้าไปแย่งชิงอาหารและทรัพยากรของเจ้าของถิ่นอื่น หรือเข้าไปใช้อำนาจปกครองผู้ที่อาศัยอยู่ในถิ่นนั้น หรือเข้าไปอาศัยอยู่รวมกันจนกลมกลืนเป็นเผ่าพันธุ์หรือชาติพันธ์เดียวกัน [6]

จากระบบชนเผ่าพัฒนามาเป็นการปกครองแบบเมือง มีผู้ปกครองเมืองต่างๆ แต่ยังคงใช้ระบบการปกครองและการทำสงครามแบบชนเผ่า คือเมื่อรบชนะก็จะกวดต้อนพลเมืองและทรัพย์สิน และมีเมืองประเทศราชมาสวามิภักดิ์ ภายในเมืองเป็นก็จัดระบบเป็นสังคมศักดินา ที่มีการแบ่งชนชั้นเพื่อควบคุมกำลังคน ทำให้มีการกำหนดเชื้อชาติ ชาติพันธ์ กำหนดสิทธิหน้าที่และฐานะของแต่ละบุคคลผู้ที่เป็นชาติพันธ์หลักจะได้รับเลือกเป็นผู้ปกครอง ผู้ควบคุมกำลังคนสูงสุด คือ พระมหากษัตริย์ รองลงมาได้แก่ ขุนนาง (ข้าราชการ) และผู้ถูกควบคุมคือ สามัญชนหรือไพร่หรือทาสที่ถูกกวดต้อนเข้ามาในเมืองการกำหนดเผ่าพันธุ์ชาติพันธ์ หรือเชื้อชาติชัดเจนเช่นนี้ ทำให้ผู้คนในสมัยนั้นไม่สามารถกลมกลืนเป็นเผ่าพันธุ์หรือชาติพันธ์เดียวกันได้ ไพร่และทาส ผู้คนที่ถูกกวดต้อนมา กลายเป็นคนไร้บ้านเกิดไร้เมืองที่เป็นชาติพันธ์หรือเผ่าพันธุ์ของตนเอง ไม่มีความรู้สึกเกาะเกี่ยวกับผู้ปกครอง

สำหรับประเทศไทยนั้น บันทึกความเป็นไทย ปรากฎในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยที่ปกครองโดยพ่อขุนรามคำแหง แม้ว่าศิลาจารึกจะบันทึกถึงการปกครองที่เป็นแบบพ่อปกครองลูก หรือบันทึกเกี่ยวกับการค้าเสรีในสมัยนั้น รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองต่างๆ กับสุโขทัยก็ตาม แต่การแบ่งชนชั้นระหว่างประชาชน ความไม่เท่าเทียมกัน การเป็นทาส ยังมีอยู่ เนื่องจากสุโขทัยขณะนั้นรับอิทธิพลอารยะธรรมลุ่มแม่สินธุของอินเดียเข้ามา จะเห็นได้จากการที่ประชาชนในสุโขทัยนับถือและเลื่อมใสศรัทธา และรับการถ่ายทอดพิธีกรรมต่างๆ มาจากศาสนาพราหมณ์และพุทธ มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ ตามหลักของศาสนาพราหมณ์ดังนั้นในสมัยนั้นจึงมีการแบ่งเผ่าพันธุ์ แบ่งเชื้อชาติ แบ่งแยกความเป็นไทย และเป็นทาส ทำให้คนในเมืองอื่น หรือชาติพันธ์อื่นไม่สามารถกลมกลืนเป็นเผ่าพันธุ์หรือชาติพันธ์เดียวกันกับความเป็นไทยในกรุงสุโขทัยได้ ดังนั้นผู้คนที่ถูกกวดต้อนมา กลายเป็นคนไร้บ้านเกิดไร้เมืองย่อมต้องมีสถานะเป็นได้เพียงทาสหรือข้ารับใช้ บุคคลที่เป็นชาติพันธ์หลักในเมืองสุโขทัย

จนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 อยุธยาเป็นชาติมหาอำนาจแข็งแกร่งที่สุดในอุษาคเนย์ โดยเริ่มจากการพิชิตราชอาณาจักรและนครรัฐทางเหนือ อย่างสุโขทัย กำแพงเพชรและพิษณุโลก แม้ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา และในสมัยสมเด็จพระนเรศวรอยุธยาจะได้มีการปฏิรูปการปกครอง เพื่อให้อยุธยาในขณะนั้นมีเสถียรภาพในการปกครอง และการปกครองในส่วนภูมิภาคเป็นไปอย่างรัดกุมก็ตามแต่ประชาชนที่ถูกกวาดต้อนมาก็มีจำนวนไม่น้อย พลเมืองและประชาชน ยังมีความรู้สึกว่า ตนเองไม่ใช่เผ่าพันธุ์หรือชาติพันธ์ของอยุธยา จึงทำให้เกิดการต่อต้านและพยายามแยกตัวออกจากอยุธยาแม้ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรตุเกสได้เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีทางด้านการค้ากับอยุธยา ทำให้อยุธยาได้รับวิทยาการ สมัยใหม่ในด้านการสงครามจากโปรตุเกส เช่น การทำปืนใหญ่ การหล่อกระสุนดำและการสร้างป้อม แบบฝรั่ง นอกจากนั้นยังมีการจ้างทหารโปรตุเกสเข้ามาเป็นทหารอาสาในกองทัพอยุธยาด้วยอย่างไรก็ตามการมีอาวุธที่ทันสมัยทำให้อยุธยามีอำนาจทางด้านการทหารมากยิ่งขึ้น และได้แผ่ขยาย อำนาจยกกองทัพไปโจมตีทางด้านตะวันตกเช่น เมืองมะริด ตะนาวศรีในดินแดนมอญ และทิศใต้ได้เข้าโจมตีมะละกาในแหลมมลายู แม้อยุธยาจะรวบรวมเมืองเหล่านี้เข้ามาเป็นปึกแผ่น แต่ก็ด้วยอำนาจที่มีในขณะนั้น หาได้เกิดจากความศรัทธาในชาติพันธ์ของกลุ่มเผ่าพันธุ์ต่างๆไม่ ทำให้มีการต่อต้านและแยกตัวเป็นเอกราชอยู่เสมอ และทำให้อยุธยาล่มสลายในที่สุด เนื่องจากประชาชนภายใต้การปกครองมีทั้งชาติพันธ์เดิม และเชลยศึกผู้ที่ถูกกวาดต้อนเข้ามา นอกจากนี้บุตรที่เกิดจากเชลยศึกก็ยังจัดอยู่ในกลุ่มทาส ไม่มีความเป็นไทย ดังนั้นพวกเขาจึง ขาดความรู้สึกเกาะเกี่ยวกับบ้านเมืองและผู้ปกครอง ความไม่ยุติธรรม การแบ่งเชื้อชาติ ชาติพันธ์ทำให้คนในชาติรู้สึกว่าเขาต้องสู้เพียงเพื่อตัวเอง ไม่ได้สู้เพื่อชาติ

จนกระทั่งแนวคิดเรื่องรัฐสมัยใหม่แผ่อิทธิพลเข้ามา การพัฒนาในยุครัฐสมัยใหม่มีการเปลี่ยนแปลงจากภาคเกษตรกรรมเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก จึงมีการรวมตัวกันสร้างรัฐสมัยใหม่ที่มีองค์ประกอบครบทั้ง 4 ประการคือ

1.ประชาชน

2.ดินแดนที่แน่นอน

3.รัฐบาล

4.อำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชน [7]

รัฐสมัยใหม่มีแนวคิดที่ว่าประชาชนภายใต้อำนาจปกครองต้องมีลักษณะบางอย่างร่วมกันคือ สัญชาติ ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ ศาสนาใด จุดเกาะเกี่ยวกับรัฐคือสัญชาติ  รัฐสมัยใหม่ถือว่า บุคคลใดที่จะเป็นผู้ไร้สัญชาติได้ ก็ต่อเมื่อรัฐที่ตนถือสัญชาตินั้นสิ้นสุดลงหรือตกอยู่ในการถูกควบคุมโดยรัฐอื่น และไม่มีรัฐใหม่มาสืบทอดต่อ[8]

ในการปกครองแบบรัฐสมัยใหม่ ทำให้ประชาชนเปลี่ยนแนวความคิด ประชาชนมีความรู้สึกว่าเขาไม่ได้สู้เพียงเพื่อตัวเอง แต่สู้เพื่อรัฐชาติของพวกเขา ณ จุดนี้เองทำให้คนในชาติ ไม่ว่าเผ่าพันธุ์หรือชาติพันธ์ใดมีความเกาะเกี่ยวกับรัฐชาติและผู้ปกครองของตนเอง ด้วยการเป็นคนสัญชาติของรัฐนั้น ๆ ทำให้เกิดความรักชาติ รักดินแดน หวงแหนอำนาจอธิปไตยและสำนึกในความเป็นความพลเมืองของรัฐชาตินั้นๆ

สำหรับรัฐไทยในอดีตการกำหนดสัญชาติตกอยู่ภายใต้หลักการที่ยอมรับกันในฐานะกฎหมายจารีตประเพณี เราพบคำว่า "สัญชาติไทย" เป็นครั้งแรกใน พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๔๕๖ ซึ่งประกาศใช้โดยในหลวงรัชกาลที่ ๖ ตั้งแต่วันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๖กฎหมายจารีตประเพณีไทย ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๖ เรียกว่า “มูลนิติธรรมประเพณี” ในเรื่องความเป็นคนไทย เราพบว่า ความเป็นคนสัญชาติไทยเกิดขึ้นใน ๓ สถานการณ์ กล่าวคือ (๑) คนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา (๒) คนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา และ (๓) คนสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ[9]

แม้จะมีรัฐชาติ และกำหนดสัญชาติของรัฐนั้นๆ แต่การเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศยังคงพบปัญหาคนไร้สัญชาติและไร้รัฐที่ไม่สามารถเป็นพลเมืองของรัฐใด ซึ่งต้องอาศัยอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนระหว่างประเทศอีกจำนวนมาก  แม้ประชาคมระหว่างประเทศ ได้มีการใส่ใจแก้ไขเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยเริ่มใน ค.ศ.1954 เมื่อสหรัฐอเมริกาตกลงรับอนุสัญญาเกี่ยวกับสถานะของคนไร้สัญชาติ (Convention relating to the Status of Stateless Persons) ซึ่งวางกรอบการคุ้มครองคนไร้สัญชาติ เจ็ดปีให้หลัง คือ ค.ศ.1961 จึงมีการทำอนุสัญญาว่าด้วยการลดความไร้สัญชาติ (Convention on the Reduction of Statelessness) ซึ่งประกอบด้วยข้อบทที่มุ่งหมายป้องกันและบรรเทาความไร้สัญชาติ ต่อมา ประชาคมระหว่างประเทศและระหว่างภูมิภาคได้ทำสนธิสัญญาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอีกหลายฉบับเพื่อวางมาตรการพิเศษเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลไร้สัญชาติ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กกำหนดให้รัฐที่ผูกพันตนตามอนุสัญญานี้ต้องรับรองว่า เด็กทุกคนจะมีสัญชาติ เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก

4 การเพิ่มขึ้นของประชากรไร้สัญชาติ ไร้รัฐ

วันนี้จำนวนคนไร้รัฐและคนไร้สัญชาติยังมีจำนวนมากแม้ว่าประเทศไทยจะได้ยอมรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๐ ซึ่งยอมรับในข้อ ๑๕ ว่า “ (๑) บุคคลมีสิทธิในการถือสัญชาติ (๒) การถอนสัญชาติโดยพลการ หรือการปฏิเสธสิทธิที่จะเปลี่ยนสัญชาติของบุคคลใดนั้นจะกระทำมิได้ 

ประเทศไทยในวันนี้จะเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิทางแพ่ง ค.ศ.๑๙๖๖ ซึ่งข้อ ๑๔(๓) ยอมรับว่า “เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับสัญชาติ” ก็ตามหรือแม้กระทั่ง นโยบายเกี่ยวกับการขจัดความไร้สัญชาติให้มีผลในทางปฏิบัติก็ตาม ปัจจุบัน ปัญหาสิทธิมนุษยชนประการหนึ่งที่ยังคงร้ายแรงอยู่มากในสังคมไทย ก็คือ “ปัญหาความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของบุคคลธรรมดาในประเทศไทย” ในแต่ละนโยบาย กระบวนการทำงานเพื่อให้สัญชาติไทยหรือสถานะคนต่างด้าวที่ชอบด้วยกฎหมายมักจะมีลักษณะยุ่งยากและซับซ้อน จึงเป็นไปอย่างช้ามาก และบางนโยบายไม่มีการนำไปปฏิบัติเลยก็มี และในหลายสถานการณ์มักจะเกิดปรากฏการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ความร้ายแรงและขนาดของปัญหาดังกล่าวในประเทศไทย ก่อให้เกิดความสนใจจากทุกภาคส่วนที่จะพร้อมเข้าแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นก็ตาม ท่ามกลางความพยายามที่ดำเนินมาอย่างไม่ขาดสายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าปัญหาที่คั่งค้างก็ยังไม่หมดไป ในขณะที่ปัญหาใหม่ก็ได้ก่อตัวเพิ่มมากขึ้น และในหลายๆปัญหา กอปรกับแรงงานข้ามต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ เป็นผู้ด้อยโอกาสที่ขาดคุณภาพ ไม่ใส่ใจการวางแผนครอบครัว และไม่ได้รับคำแนะนำในเรื่องการวางแผนครอบครัว จึงเป็นผลทำให้จำนวนประชากรคนไร้สัญชาติ และคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

5 นโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติส่งผลกระทบต่อปัญหาคนไร้สัญชาติ

ตั้งแต่ปี 2547 รัฐบาลไทยได้มีนโยบายที่จะบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ โดยให้แรงงานต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทยทั้งหมด ไม่ว่าจะเคยขออนุญาตทำงานหรือไม่ รวมทั้งครอบครัวและผู้ติดตาม ขึ้นทะเบียนรายงานตัวต่อกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะได้รับเลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยรหัส 00 และสามารถยื่นขอใบอนุญาตทำงานจากกระทรวงแรงงานได้ซึ่งเป็นผลทำให้แรงงานข้ามชาติยกครอบครัวย้ายถิ่นที่อยู่เข้ามาพักอาศัยในประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายและยังสามารถให้กำเนิดบุตรภายในราชอาณาจักรไทยได้อีกด้วย[10] ดังนั้นเมื่อรัฐบาลอนุญาตให้รวมทั้งครอบครัวและผู้ติดตาม ขึ้นทะเบียนรายงานตัวต่อกระทรวงมหาดไทย อย่างถูกกฎหมายทำให้คนต่างด้าวเหล่านี้ ดำเนินชีวิตอยู่ในประเทศไทยได้อย่างเสรี ภายในระยะเวลาที่อนุญาตให้อยู่ในประเทศ และสามารถต่อไปอนุญาตทุกครั้งที่ครบกำหนดโดยไม่รู้ชะตากรรมของตนเองและบุตรที่ดำเนินชีวิตแบบไร้สัญชาติ ซึ่งบางคนถือกำเนิดในประเทศไทยและเติบโตขึ้นมาโดยไม่ทราบว่าตนเองเป็นบุคคลไร้สัญชาติและไร้รัฐ

ยิ่งไปกว่านั้น นโยบายของรัฐบาลไทยแสดงออกถึงแนวคิดเรื่องพวกเรา-พวกเขา (the us/others discourse) ซึ่งทำให้“แรงงานต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติ” ถูกกีดกันออกจากสังคมส่วนใหญ่ของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น เริ่มต้นตั้งแต่ระดับนโยบาย การออกกฎหมายพระราชบัญญัติ ระเบียบต่างๆ จนถึงในระดับปฏิบัติที่ส่งผลให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน ไม่ได้รับการปฏิบัติในมาตรฐานเดียวกับแรงงานอื่นทั่วไป ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน ไม่มีโอกาสเข้าถึงสวัสดิการแรงงานภายใต้ระบบการประกันสังคมและไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิแรงงานจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน อย่างเต็มที่ รวมทั้งมีความไม่เหมาะสมของสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ที่อยู่อาศัย ค่าจ้าง ค่าตอบแทน การดูแลสุขภาพ ความรุนแรงและการทารุณกรรมในที่ทำงาน และการถูกลดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ นโยบายที่แฝงด้วยแนวคิดเรื่องพวกเรา-พวกเขา ทำให้บุตรที่เกิดจากแรงงานเหล่านี้ไม่ได้รับการรับรองคุ้มครองกลายเป็นบุคคลไร้สัญชาติ หรือบางคนไร้รัฐไร้สัญชาติ เนื่องจากถูกปฏิเสธจากประเทศต้นทางมาก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อมองในแง่ของความเสมอภาคหรือความไม่เท่าเทียม (the equality/inequality discourse) แล้ว “แรงงานต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติ” จึงยิ่งถูกตอกย้ำเรื่องความเป็นชายขอบผู้ด้อยโอกาสมากขึ้น

6 สถานการณ์คนไร้รัฐและคนไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

แม้ว่าประชาคมระหว่างประเทศและระหว่างภูมิภาคได้ทำสนธิสัญญาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอีกหลายฉบับเพื่อวางมาตรการพิเศษเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลไร้สัญชาติ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กกำหนดให้รัฐที่ผูกพันตนตามอนุสัญญานี้ต้องรับรองว่า เด็กทุกคนจะมีสัญชาติ เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กภายใต้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ.1948 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติได้รับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Right: UDHR) โดยสมัชชาแห่งสหประชาชาติ ถือเป็นการกำหนดมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ร่วมกับประเทศต่าง ๆ ให้การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติสิทธิมนุษยชน (Human Right) ซึ่งหมายถึง สิทธิที่มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรอง ทั้งความคิดและการกระทำที่ไม่มีการล่วงละเมิดได้ โดยได้รับการ คุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และสนธิสัญญาระหว่างประเทศ[11]     เป็นที่น่าสังเกตว่า อันที่จริงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยคือการคุ้มครองเฉพาะคนไทยแท้ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น พระราชบัญญัติ ระเบียบต่างๆรวมถึงนโยบายบุตรซึ่งเกิดจากแรงงานต่างด้าวขณะพักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย ไม่ได้รับสัญชาติไทย นโยบายของรัฐบาลไทยหากพิจารณาสถานะทางการทะเบียนของชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ และแรงงานต่างด้าว ร่วมกับประเด็น ‘เด็กไร้สัญชาติ’ก็จะพบว่ามีความเชื่อมโยงกัน เนื่องจากปัจจุบันบุคคลกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกนับรวมว่าเป็น ‘คนชาติ’ (nationals) โดยกฎหมายของรัฐใดๆเลย แม้รัฐไทย ส่งผลให้เด็กที่เกิดจากคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับสิทธิการเป็นพลเมือง และไม่ได้รับการรับรองคุ้มครองทางกฎหมาย เด็กกลุ่มนี้จึงถูกผลักให้เป็น “คนชายขอบผู้ด้อยโอกาส”อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้ว่ารัฐไทยได้พยายามที่จะดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยชนด้วยการให้บุคคลไร้สัญชาติมีหมายเลขประจำตัว 13 หลักก็ตาม แต่หลักสิทธิมนุษยชนที่รัฐไทยหยิบยื่นให้เป็นเพียงภาพลวงตา กฎหมายบางฉบับยิ่งเพิ่มความเป็นชายขอบผู้ด้อยโอกาส ให้ประชากรกลุ่มนี้ เมื่อประเทศไทยไม่ได้ให้สัญชาติไทยกับลูกแรงงานที่เกิดในไทย ขณะเดียวกันแรงงานข้ามชาติจำนวนมากก็ไม่ได้รับรองสิทธิการเป็นพลเมืองของประเทศต้นทาง เช่น เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ชาวไทใหญ่จะกลายเป็นเด็กไร้สัญชาติ เพราะเด็กที่เกิดในประเทศไทยรัฐบาลพม่าไม่รับรองสิทธิการเป็นพลเมืองของประเทศและเมื่อผนวกกับอคติทางชาติพันธุ์ การไม่ยอมรับในชาติพันธ์ยิ่งทำให้เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กชายขอบผู้ด้อยโอกาสที่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ไร้อนาคต ไม่ได้รับการรับรองคุ้มครองตามกฎหมายและมีโอกาสถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานรวมทั้งการขาดอิสระในการดำเนินชีวิตอย่างคนปกติทั่วไป จากข้อมูลการสำรวจเด็กและเยาวชน เด็กที่เกิดจากแรงงานข้ามชาติที่หลบหนีเข้ามาทำงานในประเทศไทย และไม่ได้แจ้งเกิดในประเทศใด ยังมีจำนวนมากซึ่งหมายความว่า เด็กกลุ่มนี้อาจกลายเป็น ‘เด็กไร้สัญชาติ ไร้รัฐ’ เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กไม่ได้ถูกบันทึก เมื่อไม่มีรัฐใดเลยที่ให้การรับรองคุ้มครองแก่บุคคลนี้ในฐานะคนชาติ และสุดท้ายพวกเขาก็ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เข้าสู่ขบวนการค้ายาเสพติด หรือกลายเป็นอาชญากรในที่สุด

7 บทสรุป

จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ของประเทศไทย: ปีงบประมาณ พ.ศ.2540-2544 ซึ่งเน้นการพัฒนาคน และกระบวนการมีส่วนร่วมในการทำแผนพัฒนาฯเป็นเป้าหมายหลัก รัฐบาลจึงผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ การสร้างสมรรถนะทางด้านเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนคุณภาพของประชาชนนั้นทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เป็นผลทำให้แรงงานต่างด้าวเดินทางเข้ามาแสวงหาโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองในราชอาณาจักรไทย นโยบายผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติเข้ามาพักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย (เช่น เป็นแรงงานข้ามชาติ หรือ ชนกลุ่มน้อย ที่มีมติคณะรัฐมนตรีผ่อนผันให้)เมื่อให้กำเนิดบุตรในราชอาณาจักรไทย เด็กก็จะมีสิทธิเช่นเดียวกับบิดาและมารดา คือ เป็นผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายเช่นเดียวกับบิดามารดา[12]  ทั้งนี้บุคคลที่เกิดจากแรงงานข้ามชาติไม่เพียงแต่ ไม่ได้รับสัญชาติไทยและแรงงานข้าวชาติบางคนถูกปฏิเสธจากรัฐต้นทางได้ลักลอบหลบหนีเข้ามาทำให้บุตรที่ถือกำเนิดในประเทศไทยมีสถานะเป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติอีกด้วย

ในฐานะที่อยู่ภายใต้โลกใบเดียวกันนี้ ธรรมนูญยูเนสโก ได้กำหนดแนวคิดไว้อย่างชัดเจนว่า สันติภาพจะต้องวางรากฐานอยู่บนความร่วมมือทางภูมิปัญญา และจิตสำนึกของมนุษยชาติ และมองว่าทุกสิ่งในโลกดำเนินไปเหมือนการทำงานของเครื่องจักร ทุกสิ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันไปหมดและเน้นย้ำให้ทั่วโลกเคารพในความยุติธรรม กฎหมาย สิทธิ และเสรีภาพ ที่มนุษย์พึงมี โดยไม่ถือเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา ตามกฎบัตรแห่งสหประชาชาติ

ปัจจุบันเป็นการปกครองแบบรัฐชาติสมัยใหม่ที่ประกอบด้วยประชาชน ดินแดนที่แน่นอนรวมถึงการมีรัฐบาลในการบริหารประเทศและอำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชน สัญชาติเป็นสิ่งสำคัญซึ่งเป็นหลักประกันที่ทำให้บุคคลมีสิทธิมนุษยชน ทั้งสิทธิตามกฎหมายเอกชน กฎหมายมหาชนของรัฐนั้น ๆ และมีส่วนร่วมในสังคมอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้บุคคลมีสิทธิในทางการเมือง มีสิทธิเสรีภาพในการดำรงชีวิต สามารถขอหนังสือเดินทางและเดินทางเข้าออกนอกประเทศและไม่ถูกจำกัดสิทธิในการเดินทางเข้าออก  โดยทั่วไปการแก้ปัญหาประเด็นบุคคลไร้สัญชาติอาจมีลักษณะข้ามชาติโดยเกี่ยวพันกับรัฐหลายรัฐตามอนุสัญญา รัฐบาลไทยได้ยอมรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๐ และ เป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิทางแพ่ง [13]ในฐานะประเทศสมาชิกควรที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดในอนุสัญญาอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เด็กจะตกอยู่ในสถานะไร้สัญชาติ

แม้ว่ากฎหมายระหว่างประเทศจะมีผลบังคับใช้ได้ในประเทศไทยนั้นจำเป็นต้องดำเนินการบัญญัติให้เป็นกฎหมายภายในโดยกระบวนการนิติบัญญัติเสียก่อนก็ตาม แต่ในฐานะที่รัฐบาลมีอำนาจในการบริหารจัดการ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องผลักดัน และให้ความสำคัญเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเด็กไร้สัญชาติ  ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เกิดผลกระทบกับประเทศและก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้นรัฐบาลจะต้องดำเนินการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา รัฐบาลต้องทำหน้าที่ประสานการทำงานให้กับหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ และเน้นย้ำความร่วมมืออย่างบูรนาการให้เป็นรูปธรรม ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอันได้แก่ บุคคลไร้สัญชาติเอง,หน่วยงานต่างๆของรัฐ, หน่วยงานอิสระต่างๆของภาคพลเมือง, นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของสหประชาชาติรวมถึง UNHCR,UNICEF,OHCHR, UNFPA,UNDP หน่วยงานระหว่างประเทศอื่นๆ กำหนดกรอบทำงานที่สามารถใช้ได้กับหน่วยงานทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและการลดสภาวะการไร้สัญชาติ หรือการให้ความคุ้มครองบุคคลไร้สัญชาติ  รวมทั้งเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนปฏิบัติตามข้อกำหนดในอนุสัญญาอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของคนไร้สัญชาติ

ทั้งนี้รัฐบาลควรทำความเข้าใจกับประชาชนไทยให้ตระหนักในความยุติธรรม คุณธรรม จริยธรรม และกฎหมาย สิทธิ และเสรีภาพ ที่มนุษย์พึงมี โดยไม่ถือเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนาสำหรับประชาชนคนไทยซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก เนื่องจาก ประชาชนชาวไทยต่างก็นับถือศาสนา ไม่ว่าจะศาสนาใดๆ ก็ตามต่างก็มุ่งสอนให้คนไทยเป็นคนดี มีศีลธรรม คุณธรรม และเราก็มักจะได้ยินคนไทยกล่าวถึงคำว่า คุณธรรม จริยธรรมอยู่เสมอๆ คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศนับถือศาสนาพุทธ คุณธรรมแบบพุทธที่มีลักษณะที่ยืดหยุ่น   

ส่วนวิธีการแก้ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของมนุษย์นั้น เราต้องเข้าใจพื้นฐานทั่วไปของมนุษย์ ซึ่งอับราฮัม มาสโลว์ ได้เสนอทฤษฎีทางจิตวิทยาที่เรียกว่าลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (อังกฤษ: Maslow's hierarchy of needs)แบ่งออกเป็น 5 ชั้นคร่าวๆของความต้องการต่างๆ คือ ความสมบูรณ์ของชีวิต (self-actualization), ความเคารพนับถือ (esteem), มิตรภาพและความรัก (friendship and love), ความมั่นคงปลอดภัย (security), และความต้องการทางกายภาพ ถ้าความเคารพนับถือ, มิตรภาพและรัก หรือ ความมั่นคงปลอดภัย ขาดพร่องไป แม้ร่างกายจะไม่ได้แสดงอาการใดๆออกมาแต่บุคคลนั้นๆรู้สึกกระวนกระวายและเกร็งเครียด  ซิกมันด์ฟรอยส์มีทรรศนะว่า ในคำถามที่ว่า การแสดงพฤติกรรมของมนุษย์เขา มีจุดมุ่งหมายหรือมีความตั้งใจอะไรในชีวิต อะไรคือสิ่งที่ต้องการและปรารถนาจะบรรลุถึงคำตอบก็คือ มนุษย์แสวงหาความสุข เขาต้องการได้รับความสุข และรักษามันไว้ ในการแสวงหานั้นสิ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้บุคคลกระทำพฤติกรรมต่างๆ นั่นคือแรงจูงใจ (Motivation) คือ สิ่งซึ่งควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ อันเกิดจากความต้องการ (Needs) พลังกดดัน (Drives) หรือ ความปรารถนา (Desires) ที่จะพยายามดิ้นรนเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ซึ่งแรงจูงใจนี้อาจเกิดจากสิ่งเร้าภายในหรือภายนอกและมีทั้งแรงจูงใจในด้านลบและด้านบวก จะเห็นได้ว่า การที่แรงงานต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติเดินทางเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรไทย เพื่อสนองความต้องการตามทฤษฏีของมาสโลว์ เมื่อแรงงานเหล่านี้ได้รับความเสมอภาคความเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชนพวกเขาก็จะมีความสุขและรักษามันไว้ตามทรรศนะของ ซิกมันด์ฟรอยส์ ส่วนแนวคิดนักปรัชญาชาวอังกฤษ มิลส์เห็นว่ามนุษย์กับสัตว์มีความสุขบางอย่างที่มีได้เหมือนกันเช่น การกิน การนอน การสืบพันธุ์ ความพอใจของสัตว์ไม่อาจสนองความสุขของมนุษย์ได้ แต่เนื่องจากมนุษย์มีสมรรถนะที่มีระดับสูงกว่า มนุษย์มีการรับรู้ความสุขบางอย่างที่สัตว์มีไม่ได้ แต่ถ้าหากพวกเขารู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม ยุติธรรม หรือถูกลดทอนศักดิ์ศรี ถูกเอารัดเอาเปรียบ และเกิดแรงจูงใจในด้านลบ ซึ่งตามทฤษฏีแรงจูงใจ (Motivation) คือสิ่งซึ่งควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ อันเกิดจากความต้องการ (Needs) พลังกดดัน (Drives) หรือ ความปรารถนา (Desires) ที่มนุษย์พยายามดิ้นรนเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ซึ่งอาจจะเกิดมาตามธรรมชาติหรือจากการเรียนรู้ก็ได้ เมื่อแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ได้รับแรงจูงใจในด้านลบ พวกเขาก็จะตกเป็นเหยื่อของผู้แสวงหาผลประโยชน์เช่นนักค้ามนุษย์ นักค้ายาเสพติด หรือผู้มีอิทธิพลที่สร้างเสริมอำนาจ และเป็นอาชญากรในที่สุด 

 ทั้งนี้ถ้ารัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการและตามหลักจริยธรรม คุณธรรมโดยคำนึงถึงความยุติธรรม ความชอบธรรม โทมัส ฮอบส์(Thomas Hobbes)  เสนอแนวคิด ในเรื่องความต้องการธรรมชาติมนุษย์โดยต้องมองเข้าถึงความต้องการของปัจเจกบุคคลและประนีประนอมกับการนำมาใช้ในการวิเคราะห์ ถึงเรื่องที่สังคมหรือผู้อื่นพึงได้รับโดยไม่ให้กระทบกระทั่งกับสมาชิกของสังคมเพื่อให้เป็นแนวคิดที่เป็นเรื่องที่ช่วยคลี่คลายปัญหาได้จริง ซึ่งธรรมชาติของมนุษย์นั้นต้องพยายามประนีประนอม ในการประนีประนอมนั้นต้อง ใช้มโนธรรมในการพิจารณา ซึงหมายถึงสำนึกที่มนุษย์ทุกคนมีโดยธรรมชาติ เป็นเสียงในจิตใจมนุษย์ที่คอยเตือนมนุษย์ ที่ทำให้มนุษย์ตัดสินอะไรได้ว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิดอย่างไร บัทเลอร์ นักจริยศาสตร์ชาวอังกฤษกล่าวว่า “ในตัวคนเรามีสิ่งที่เหนือกว่าความรู้สึกธรรมดาคือ มโนธรรมที่เป็นตัวชี้ขาดเกณฑ์ที่อยู่ในใจเราและตัดสินหลักแห่งการกระทำมโนธรรมจะตัดสินตัวของมันเอาเองและการกระทำของมนุษย์นั้นมันประกาศลงไปโดยไม่มีคำแนะนำใดๆ  มโนธรรมนั้นจะแสดงอำนาจของมันออกมาเพื่อให้ได้ความเห็นชอบหรือจะประณามผู้กระทำนั้น ตามแต่กรณีของผลการกระทำ”     

อีกหลักการหนึ่งของของชาวประโยชน์นิยม ถือว่า หลักการที่จะนำมาตัดสินการกระทำอันใดอันหนึ่งว่าถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควรนั้น อยู่ที่ผลที่จะได้รับคือประโยชน์สุขที่มากกว่า แต่ประโยชน์สุขในที่นี้มิได้หมายถึงประโยชน์สุขของผู้กระทำ แต่หมายถึงประโยชน์สุขของมหาชน สิ่งที่ควรทำคือ สิ่งที่ก่อประโยชน์ สุขมากที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุด หลักการนี้เรียกว่า “หลักมหาสุข” ความถูกต้องของการกระทำขึ้นอยู่กับ แนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความสุข ความดีคือความสุข แต่สิ่งที่ให้ความสุขแก่มหาชนคือสิ่งที่ดีที่สุด ประโยชน์นิยมถือเอาผลที่เกิดจากการกระทำว่าสำคัญกว่าเจตนาที่จูงใจให้การกระทำ ความสุขที่มากที่สุดจะเป็นตัวสุดท้ายที่จะตัดสินว่าเราทำถูกหรือทำผิด แต่มิใช่มองผลคือความสุขมากที่สุดสำหรับตัวเอง ประโยชน์นิยมไม่ได้สอนให้คนเห็นแก่ตัว ไม่ได้สอนว่าสิ่งที่ฉันควรทำคือสิ่งที่ให้ผลประโยชน์แก่ฉันมากที่สุด แต่สอนว่าสิ่งที่ควรทำคือสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์สุขมากที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุด ในการตัดสินใจกระทำสิ่งใดลงไป เรามองผลประโยชน์ที่จะได้รับอันเป็นความสุขส่วนรวม จะทำอะไรก็อย่าลืมตนเอง ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญแก่ผู้อื่น

 

 

เชิงอรรถ

 

[1]http://www.thairath.co.th/content/898320

[2] The 1954 Convention relating to the Status of Stateless Persons is of critical ... Article 1

[3] The Concept of Stateless Persons under International Law Summary Conclusions

[4] พระราชบัญญัติ สัญชาติ พ ศ 2508

[5]สังคมวิวรรธน์๑(Social revolution1) อ.แนบสินทอง

[6]ทฤษฏีการย้ายถิ่น http://research.mol.go.th/2013/rsdat/data/doc/NDLKUe2/003NDLKUe2.pdf

[7]กำเนิดรัฐชาติ https://www.slideshare.net/rringabell/ss-41389286

[8]สหภาพโซเวียตและยูโกสลาเวียล่มสลาย http://www.ipu.org/pdf/publications/nationality_en.pdf

[9]http://www.archanwell.org/office/download.php?id=483&file=451.pdf&fol=1

[10]http://www2.ipsr.mahidol.ac.th/ConferenceVIII/Download/Article_Files/2-MarginalisedPopulations-Kanchana.pdf

[11]สิทธิมนุษยชนไร้พรมแดน รองศาสตราจารย์ จรัญ โฆษณานันท์

[12] พระราชบัญญัติ สัญชาติ พ ศ 2508

[13] http://www.deepsouthwatch.org/sites/default/files/iccpr_th.pdf

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ธนวัฒน์ มุ่งพาลชล เป็นนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยชนชาติส่วนกลาง สาธารณรัฐประชาชนจีน (Minzu University of China) 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท