Skip to main content
sharethis

วิษณุแจงรัฐบาลต้องเร่งร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ –ปฏิรูปประเทศภายใน 4 เดือน ยันคำสั่งตาม ม.44 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ 'มีชัย' ชี้ คำสั่ง ตาม ม.44 ฉบับใดเกินขอบเขต รธน.ก็ต้องทบทวน 'ประธาน สนช.' ยัน ไม่ตีตกร่าง กม.ลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ 'อภิสิทธิ์' เชื่อคสช.ผ่อนคลายคำสั่งหลังมี กม.พรรคการเมือง

7 เม.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยถึงการดำเนินการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่า ได้แบ่งระยะเวลาการดำเนินการออกเป็น  4 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ขึ้นอยู่กับกฎหมายแต่ละฉบับ ทั้งนี้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ต้องร่างให้เสร็จและเร่งประกาศใช้ คือ ร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ  และ ร่าง พ.ร.บ.ปฎิรูปประเทศ ซึ่งจะต้องร่างให้เสร็จภายใน 4 เดือน หรือกฎหมายบางประเภทต้องยกร่างให้เสร็จและเสนอ สนช.ตามขั้นตอน

วิษณุ กล่าวด้วยว่า ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงก็คือ การทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญอย่างบริการประชาชน การต่อต้านการทุจริต และการออกกฎหมายที่จะต้องมีขั้นตอนมากขึ้น และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนตามมาตรา 77 ซึ่งต้องมีการซักซ้อมทำความเข้าใจกัน

วิษณุ กล่าวว่า ในส่วนของรัฐบาลจะทำงานเหมือนเดิม แต่ต้องเพิ่มความระมัดระวังอย่างในการเสนอกฎหมายของแต่ละกระทรวงต้องเปิดรับฟังความเห็นของประชาชน เช่นเดียวกับ รัฐสภาที่จะมีแบบแผนการประชุมปรับเปลี่ยนข้อบังคับการประชุม สนช. ด้วย และรัฐบาลก็ต้องปรับเรื่องการนำเสนอกฎหมายที่จะต้องสอดรับยุทธศาสตร์ชาติและการปฎิรูปประเทศ เพราะสิ่งที่รัฐบาลจะทำคือการเดินหน้าปฎิรูปประเทศและจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ยันคำสั่งตาม ม.44 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ 

ส่วนคำสั่งมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้น  วิษณุ กล่าวยืนยันว่า คำสั่งดังกล่าวยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะประกาศใช้แล้วก็ตาม เพราะในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ระบุให้คำสั่งมาตรา 44 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ แต่หากรัฐบาลใหม่ ต้องการจะปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกคำสั่งมาตรา44 ให้ออกเป็นพ.ร.บ.ยกเลิกได้

มีชัย ชี้ ม.5 เป็นการแก้ไขกลับมาเหมือน รธน.50 แต่เปิดกว้างขึ้น

แฟ้มภาพ

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ว่าด้วยกรณีใดในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติไว้ ให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองว่า เป็นการแก้ไขกลับมาเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เพียงแต่ช่องทางการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเปิดกว้างมากขึ้นให้ทุกองค์กรสามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ จากที่ผ่านมาจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ก็ต่อเมื่อมีปัญหาระหว่างองค์กรเท่านั้น ส่วนประเด็นที่หาข้อยุติไม่ได้ เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติทางกฎหมายรับรองไว้ ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเบื้องต้น  ส่วนข้อสงสัยเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด และถือว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่สุดและเป็นผลผูกพันทุกองค์กร ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตมักมีหลายฝ่ายไม่เชื่อมั่นในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า เป็นความเข้าใจผิดของคนบางกลุ่มเท่านั้น เพราะคำวินิจฉัยมีผลผูกพันทุกองค์กร

ชี้ คำสั่ง ตาม ม.44 ฉบับใดเกินขอบเขต รธน.ก็ต้องทบทวน

มีชัย ยังกล่าวถึงการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของ คสช. ว่า ยังสามารถใช้ได้ตามหลักการที่เคยใช้ แต่ต้องระมัดระวังมากขึ้นไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเชื่อว่าไม่ถึงขั้นใช้มาตรา 44 แก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ออกไปก่อนหน้านี้ รัฐธรรมนูญรับรองไว้แล้วว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่หากมีฉบับใดที่เกินขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนดก็จะต้องนำกลับมาทบทวน ซึ่ง คสช.ระมัดระวังอยู่แล้ว

ประธาน สนช. ยัน ไม่ตีตกร่าง กม.ลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ 

พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึง การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่า ในวันที่ 18เมษายน นี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะส่งร่างกฎหมายลูกว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองมาให้ สนช. พิจารณาตามกรอบเวลา 60วัน ทั้งนี้ยอมรับว่า มีบางประเด็นที่ยังมีความเห็นต่าง อาทิ การยกเลิก กกต.จังหวัด และการให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งทางคณะกรรมการศึกษาร่างกฎหมายของ สนช. ได้มีการประสานพูดคุยกับ กรธ. เป็นระยะ และยืนยันว่า สนช. จะไม่ตีตกร่างกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 4ฉบับ ตามที่หลายฝ่ายกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อโรดแมปเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน ได้ย้ำถึงความจำเป็นในการให้ สนช. เก็บตัวพิจารณากฎหมายลูกเพื่อให้คณะกรรมการเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกันภายใต้เงื่อนเวลาที่มีอยู่จำกัด

ประธาน สนช. ยังกล่าวถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ และร่างพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ว่า สนช. จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 120วัน ซึ่งคาดว่ารัฐบาลส่งให้ สนช. แล้ว โดยจะมีการนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม วิปสนช. ระหว่างวันที่ 18-19เมษายน นี้ และเบื้องต้นคาดว่าน่าจะนำเข้าที่ประชุม สนช. ในวันที่ 20 - 21เมษายน นี้ อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับความพร้อมของรัฐบาลด้วย พร้อมยืนยันว่า ร่างกฎหมายทั้ง 2ฉบับ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ดังนั้นจึงไม่สามารถพิจารณาทั้ง 3วาระรวดได้

อภิสิทธิ์ เชื่อคสช.ผ่อนคลายคำสั่งหลังมี กม.พรรคการเมือง

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงทิศทางการเมืองไทยหลังมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า ในที่สุดประเทศก็ต้องเดินกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย มีความชัดเจนของตารางเวลามากขึ้น ทุกฝ่ายมีหน้าที่ช่วยกันทำให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย และเรียนรู้จากปัญหาในอดีตเพื่อให้กลับเข้าสู่ประชาธิปไตยได้อย่างยั่งยืน ส่วนที่ในรัฐธรรมนูญตัดเรื่ององค์กรแก้วิกฤติชาติ ในมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ ปี 60 ออก  ส่วนตัวมองว่าไม่ได้เป็นปัญหา เพราะการเขียนไว้กว้าง ๆ แบบนี้ก็มีความยืดหยุ่นของฝ่ายต่าง ๆ ที่เข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาได้

เมื่อถามถึงกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังยืนยันไม่ยกเลิกคำสั่ง หรือประกาศของคสช. ที่เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมทางการเมือง อภิสิทธิ์ กล่าวว่า เข้าใจได้ว่าการผ่อนคลายน่าจะเกิดขึ้นหลังมีกฎหมายลูกที่ว่าด้วยพรรคการเมืองออกมาบังคับใช้  ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นพรรคการเมืองจะต้องทำอะไรหลายอย่างก็ให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่ที่จะออกมา 

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย และเว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net