Skip to main content
sharethis

หลังรัฐโยนหินถามทางเสนอโครงการที่อยู่อาศัยแรงงานต่างด้าว 11 จังหวัดที่แรงงานต่างด้าวหนาแน่นเกิน 50,000 คน เตรียมนำพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรมสร้างโครงการต้นแบบ คนไทยหวั่นสร้าง ‘วิลลา’ ให้แรงงานต่างด้าวอยู่ ล่าสุดรัฐถอย หงายการ์ด ‘ยังเป็นแค่ไอเดีย’ พบในต่างประเทศที่เห็นความสำคัญของแรงงานต่างด้าวก็มีโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้แรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะ

เสนอสร้างที่พักแรงานต่างด้าวในพื้นที่ 11 จังหวัด ที่แรงงานต่างด้าวหนาแน่นเกิน 50,000 คน

สืบเนื่องจากเมื่อเดือน ม.ค. 2560 ที่ผ่านมา จากผลร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) ที่ประชุมได้มอบหมายให้ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ไปศึกษาเรื่องการดูแลที่อยู่อาศัยของแรงงานต่างด้าวในลักษณะการจัดโซนนิ่งให้ถูกสุขลักษณะและได้มาตรฐาน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการศึกษาให้แล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค. ทั้งในเรื่องกฎหมาย การลงทุน และความร่วมมือการก่อสร้างโดยพื้นที่เป้าหมายในพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าวหนาแน่นเกินกว่า 50,000 คน ใน 11 จังหวัดนำร่อง คือ จ.ชลบุรี จ.นครราชสีมา จ.สมุทรสงคราม จ.ปทุมธานี จ.สุราษฎร์ธานี จ.เชียงใหม่ จ.สงขลา จ.สมุทรปราการ จ.นนทบุรี จ.ระยอง และ จ.ตาก ทั้งนี้อาจจะต้องมีการศึกษารูปแบบของการเคหะแห่งชาติด้วยเนื่องจากที่ผ่านมามีการดำเนินการไปแล้วใน จ.สมุทรสาคร และ จ.ระนอง

นำพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรม ที่ จ.ระนอง มาทำเป็นที่อยู่อาศัยให้แรงงานต่างด้าว

ต่อมาในปลายเดือน ก.พ. 2560 นายประยูร รัตนเสนีย์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชน[1] ถึงการจัดระเบียบที่พักแรงงานต่างด้าวว่า เป็นนโยบายของรัฐบาล โดยมอบให้กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพในการจัดระเบียบที่พักแรงงานต่างด้าว ในจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่จำนวนมาก เช่น จ.สมุทรสาคร จ.ระนอง ซึ่งปกติสภาพที่อยู่จะไม่ค่อยดี มีผลทางสุขลักษณะ และก่อให้เกิดปัญหาโรคภัยไข้เจ็บจึงให้จังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่จำนวนมากได้จัดระเบียบ โดยมี จ.สมุทรสาคร และ จ.ระนอง นำร่องในการจัดระเบียบที่พัก โดย จ.สมุทรสาครนำบ้านเคหะมาใช้จัดระเบียบเพราะยังมีจำนวนมากที่จำหน่ายไม่ออก ซึ่งการเคหะจะให้เอกชนเข้าไปบริหาร และนำแรงงานต่างด้าวจากโรงงานเข้ามาอยู่ จะเป็นแนวทางที่เป็นระเบียบเรียบร้อย แต่อาจจะยังไม่เพียงพอสำหรับแรงงานต่างด้าวที่มีจำนวนมาก จ.สมุทรสาคร จึงให้พื้นที่ชุมชนที่แรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่ ได้จัดระเบียบให้ถูกสุขลักษณะโดยร่วมมือกับโรงงานที่เป็นนายจ้างมาช่วยกับคนในพื้นที่ เป็นต้น ขณะที่ จ.ระนอง จะนำพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรมมาทำเป็นที่อยู่อาศัยให้แรงงานต่างด้าว ซึ่งจะต้องขออนุญาตจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ก่อนจะให้เอกชนมาร่วมดำเนินการโดยที่รัฐไม่ต้องลงทุน แต่บางแห่งเอกชนได้สร้างที่อยู่อาศัยให้เป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ไม่ได้มีปัญหาด้านความมั่นคงเพราะทุกอย่างมีการลงทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนกระทรวงมหาดไทยได้ดูแลแรงงานต่างด้าวในเชิงพื้นที่โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดคอยตรวจตรา และทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ มีระบบทะเบียนของกรมการปกครองบันทึกข้อมูลไว้ อย่างไรก็ตามยังเชื่อมั่นว่าแรงงานต่างด้าวจะไม่กระทบกับแรงงานไทยเพราะเรามีการจำกัดการทำอาชีพของแรงงานต่างด้าวไว้อยู่ ส่วนแรงงานไทยจะหายไปหรือไม่นั้น มองว่าไม่เป็นปัญหาเพราะแรงงานไทย ส่วนใหญ่จะไม่นิยมทำงานทางด้านประมง แต่แรงงานไทยมักจะทำอาชีพด้านบริการมากกว่า จึงไม่น่ามีปัญหา

ด้านนายจตุพจน์ ปิยัมปุตระ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เปิดเผยต่อสื่อมวลชน[2] ว่าเรื่องนี้เป็นนโยบายของการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ไม่ให้มีการความกระจัดกระจาย เพราะที่ผ่านมามีความยากลำบากและเกิดปัญหาในหลายด้าน อาทิ เรื่องสุขอนามัยการสาธารณสุข การดูแลควบคุมและป้องกันโรค เรื่องความมั่นคง การต่อหนังสือเดินทางซึ่งจะทำให้สะดวกและดูแล เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งสิ่งที่ตามมาที่จะเกิดผลดีต่อประเทศคือการเป็นอยู่ที่ได้มาตรฐานซึ่งเป็นไปตามหลักการระหว่างประเทศ หรือ ILO แล้วตลาดการส่งออกของประเทศก็จะกว้างมากขึ้น โดยนโยบายที่ได้มอบลงมานั้นในขณะนี้ทางจังหวัดได้มีคณะกรรมการในการทำงานและมองไปที่พื้นที่ป่าชายเลนที่เสื่อมสภาพอย่างถาวร ซึ่งไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาได้แล้ว 2 พื้นที่ เพื่อนำมาใช้เป็นพื้นที่ในการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ขณะนี้ทางจังหวัดรอส่วนกลางพิจารณาในเรื่องนี้ ซึ่งการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวจะช่วยจัดการ และแก้ปัญหาเรื่องสาธารณสุขเรื่องความมั่นคง และในทุกด้านที่ประชาชนได้รับผลกระทบโดยทางจังหวัดมีความพร้อมในการทำงาน ซึ่งขณะนี้ได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อรองรับในเรื่องนี้ไว้แล้วโดยมองว่าประเทศไม่ได้เสียหายอะไร      

กระแสสังคมต้านกลัวแรงงานต่างด้าวได้อยู่ดีเหมือนอยู่ ‘วิลลา’ รัฐบาลถอยระบุยังเป็นแค่ไอเดีย

หลังจากที่มีข่าวนี้เผยแพร่ไปได้มีเสียงต้านจากภาคส่วน โดยหนึ่งในความกังวลนั้นก็คือการนำงบประมาณของประเทศไปสร้าง ‘วิลลา’ ให้แรงงานต่างด้าวอยู่อาศัยนั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2560 พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าว[3] ว่ารัฐจะจัดหาที่ดินติดทะเลเพื่อเป็นที่พักอาศัยของแรงงานต่างด้าวว่าเรื่องดังกล่าวยังเป็นเพียงแนวคิด ไม่ใช่ข้อยุติเพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมที่ดิน จะต้องหารือร่วมกันถึงความเป็นไปได้ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน นายจ้าง ลูกจ้าง เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่สมเหตุสมผล

“ขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากในประเทศไทย รัฐบาลจึงต้องจัดระเบียบให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงผลประโยชน์หรือผลที่จะกระทบต่อคนไทยก่อนเป็นลำดับแรก ไม่อยากให้มองว่าเป็นการดูแลคนอื่นมากกว่าคนไทย แต่ควรมองอย่างเป็นระบบและเปิดใจกว้าง เพราะอาชีพบางอย่างไม่มีคนไทยอยากทำแล้วจึงต้องอาศัยแรงงานต่างด้าว โดยรัฐต้องทำงานหลายมิติและจัดสวัสดิการดูแลแรงงานกลุ่มนี้ตามหลักสิทธิมนุษยชนด้วย”

ทั้งนี้ที่ผ่านมาแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ ลาว พม่า กัมพูชา อยู่อาศัยเป็นชุมชนกระจัดกระจายไปในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ จ.ระนอง และ จ.สมุทรสาคร อันเป็นความสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติด โรคติดต่อ ขยะ ที่พักอาศัยไม่ได้มาตรฐาน ฯลฯ จึงเป็นที่มาของแนวคิดสร้างความเป็นระเบียบและป้องกันปัญหาทุกเรื่องในกลุ่มแรงงานต่างด้าวซึ่งมีจำนวนกว่า 50,000 คน ใน 13 จังหวัด โดยให้แต่ละจังหวัดไปพิจารณาจัดเขตพื้นที่ส่งเสริมที่พักอาศัยแรงงานต่างด้าว (Zoning) เพื่อให้สถานประกอบการและนายจ้าง นำแรงงานต่างด้าวเข้าพักอาศัย ควบคุมดูแล และบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ท่านนายกฯ เน้นย้ำว่า การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับปัญหาอื่น ๆ เช่น การค้ามนุษย์ การทำประมงผิดกฎหมาย และปัญหาสังคม ซึ่งจำเป็นต้องทำอย่างครบวงจร ทั้งการปราบปรามผู้กระทำผิด และการสงเคราะห์ตามหลักสากลหรือพันธะสัญญาระหว่างประเทศ โดยอยากให้พี่น้องประชาชนหรือผู้ที่เห็นต่างเข้าใจเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรัฐบาล วิพากษ์วิจารณ์บนพื้นฐานของเหตุผล เอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ใช้ความรู้สึกตัดสินเพียงอย่างเดียว”

ตัวอย่างโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยแรงงานต่างด้าวในต่างประเทศ

แบบจำลอง 'เมืองแรงงาน' ของกาตาร์ ที่ในเมืองแห่งนี้นอกจากจะมีที่พักอาศัยแล้วยังจะมีร้านค้า โรงภาพยนตร์ และสนามกีฬาอีกด้วย กาตาร์มีแผนการสร้างเมืองแรงงาน 7 แห่งทั่วประเทศ เพื่อรองรับแรงงานเกือบ 260,000 คน ที่มาภาพ: Omar Chatriwala (CC2.0)

ตัวอย่างสาธารณูปโภคและห้องพักในเมืองแรงงานของกาตาร์ ที่มาภาพ: dohanews.co [1] [2] [3]

การพัฒนาสิทธิมนุษยชนรวมทั้งความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตให้กับแรงงานต่างด้าวถือว่าเป็นวาระสำคัญของประเทศต่าง ๆ ในโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานต่างด้าวถือเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศปลายทางที่พวกเขาทำงานอยู่ อย่างในกาตาร์ ประเทศที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากต่อการปฏิบัติต่อแรงงานต่างด้าวในประเทศในเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ ในการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2565 ที่จะต้องใช้แรงงานข้ามชาติจำนวนมหาศาลในการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในประเทศ

ก่อนจะมีการพัฒนาโครงการเมืองแรงงาน ที่พักอาศัยของแรงงานต่างด้าวในกาตาร์ก็ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เอื้อต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงาน ที่มาภาพ: dohanews.co Al Jazeera transcend.org

ทั้งนี้ในปี 2556 องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ได้ออกมาระบุว่าแรงงานต่างชาติในกาตาร์อยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัยทั้งการทำงานและสภาพความเป็นอยู่ และในปี 2557 สื่อมวลชนต่างประเทศก็ได้นำเสนอข่าวเรื่องอัตราค่าเช่าที่พักอาศัยที่เพิ่มขึ้นในกาตาร์ รวมทั้งปฏิบัติการณ์ 'ไล่ที่' บังคับให้คนยากจนและแรงงานต่างชาติให้ย้ายที่พักอาศัย เพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้สร้างความยากลำบากในการดำรงชีวิตของแรงงานข้ามชาติจาก เนปาล, บังกลาเทศ, อินเดีย, ศรีลังกาและปากีสถาน หลายคนต้องอาศัยอยู่ตามข้างถนน รัฐบาลกาตาร์เองก็พยายามแก้ไขข้อวิจารณ์วิจารณ์เหล่านั้น เมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา ได้เปิดตัว ‘เมืองแรงงาน’ ที่ใช้งบประมาณในการสร้างถึง 825 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเมืองแรงงานแห่งนี้มีบ้านพักของแรงงานเกือบ 70,000 คน โดยห้องพักแต่ละห้องในเมืองแรงงานใหม่จะมีแรงงานพักอาศัยไม่เกิน 4 คน และจะมีการตรวจเช็ครายวัน เพื่อรับประกันว่าจะไม่มีการละเมิดกฎจำนวนผู้เข้าพัก รวมทั้งยังมีร้านค้า โรงภาพยนตร์ และสนามกีฬาอีกด้วย โดยเมืองแรงงานแห่งนี้ เป็น 1 ใน 7 ของแผนการสร้างเมืองแรงงานทั่วประเทศกาตาร์ เพื่อรองรับแรงงานเกือบ 260,000 คน

นอกจากนี้หลายประเทศในตะวันออกกลางยังมีโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะ ซึ่งมีทั้งแบบคุณภาพดีและแบบด้อยคุณภาพปะปนกันไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net