ทันตแพทยสภาโวย ปลัด วท.ให้ข่าวเครื่องเอกซเรย์ฟันไม่จริง ยันต้องออกกฎกระทรวงยกเว้นเท่านั้น

“นายกทันตแพทยสภา” ระบุ วท.ให้ข้อมูลสื่อไม่ตรงข้อเท็จจริง ยืนยันที่ประชุมชี้ชัด กม.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ไม่รวมถึงเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ เหตุไม่เหมาะสม ยากในทางปฏิบัติ ซ้ำมีบทลงโทษรุนแรงเกินไป ย้ำทันตแพทยสภา-เครือข่ายองค์กรวิชาชีพทันตแพทย์คัดค้านแน่ หาก วท.ดึงดัน ชี้ กม.ขาดธรรมาภิบาล ตอนร่างไม่เคยเชิญทันตแพทย์ไปหารือให้ความเห็น
 
9 เม.ย. 2560 ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า จากกรณีที่ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนถึงผลการประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีกรณีการควบคุมเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมภายใต้ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา โดยสรุปว่าที่ประชุมเห็นด้วยที่จะให้ควบคุมเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมภายใต้ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันตินั้น ในฐานะนายกทันตแพทยสภาซึ่งได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมนี้ ร่วมกับคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ทั่วประเทศเห็นว่า การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริงของการประชุมในครั้งนี้
 
ทั้งนี้ข้อเท็จจริงจากการประชุมดังกล่าวคือที่ประชุมได้มีความเห็นว่า เครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมควรมีการควบคุมเพื่อใช้ให้เกิดความความปลอดภัย แต่ด้วย พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ มีเจตนารมณ์สำคัญที่มุ่งควบคุมสารกัมมันตรังสีและวัตถุนิวเคลียร์ ไม่เหมาะที่จะใช้ควบคุมเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ ทั้งยังไม่มีการการแบ่งระดับการควบคุมให้เหมาะสมกับปริมาณรังสี การกำหนดให้ใช้บทลงโทษเดียวกันที่รุนแรงคือ จำคุก 5 ปี ปรับ 500,000 บาท จึงที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะกับวิชาชีพทางการแพทย์ที่มุ่งดูแลผู้ป่วย รวมถึงการกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยรังสีประจำอยู่ตลอดเวลาทำการ ซึ่งในทางปฏิบัติทำได้ยากและทำให้เกิดอุปสรรคต่อการบริการผู้ป่วย
 
ทพ.ไพศาล กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นว่าผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพทางการแพทย์ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ เป็นต้น ควรใช้เครื่องเอกซเรย์ได้โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนเพื่อออกใบอนุญาต (License) เป็นเจ้าพนักงานความปลอดภัยด้านรังสี เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่มีความรู้และได้รับการฝึกปฏิบัติมาอย่างดีแล้ว แต่เพื่อเป็นการควบคุมการใช้เครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ ควรมอบให้สภาวิชาชีพทำหน้าที่กำกับดูแล ซึ่งแต่ละสภาวิชาชีพจะมีนักวิชาการที่ติดตามความก้าวหน้าการนำรังสีมาใช้ทางการแพทย์อยู่แล้ว
 
นอกจากนี้ในที่ประชุม ทันตแพทยสภา ผู้แทนจากเครือข่ายองค์กรวิชาชีพทันตแพทย์ และนักวิชาการ ยังได้เสนอให้ วท.ออกกฎหมายยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ ภายใต้ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ และให้เครื่องเอกซเรย์อยู่ภายใต้การควบคุมคุมความปลอดภัยโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เช่นเดิม ทั้งนี้เพื่อให้เครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ยังคงบริการรักษาต่อไปได้ ทันตแพทยสภาจะเข้ามาดูแลเรื่องมาตรฐานการใช้เครื่องเอกซเรย์นี้  และเมื่อมีการแก้ไข พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติให้เหมาะสมแล้ว จึงค่อยดำเนินการต่อไป
 
ทพ.ไพศาล กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอ วท.ที่ให้เครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมขึ้นทะเบียนกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่ตาม พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ทันตแพทย์ที่ใช้เครื่องเอกซเรย์ฟันยังคงต้องขอใบอนุญาตจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ที่มีอายุเพียง 3 ปีเท่านั้น ซึ่งผู้ที่ไม่ได้ขอใบอนุญาตจะไม่สามารถใช้เครื่องเอกซเรย์ได้ แม้ว่าจะเป็นเครื่องที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วก็ตาม ดังนั้นจึงควรยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ภายใต้กฎหมายนี้ 
 
“กฎหมายฉบับนี้ออกมาโดยขาดธรรมาภิบาล ไม่เคยเชิญทันตแพทย์เข้าไปมีส่วนร่วม จึงเป็นการออกกฎหมายที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดปัญหาอย่างมากกับวิชาชีพ หาก วท.ยังดึงดันที่จะบังคับใช้กฎหมายนี้กับเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรม ทันตแพทย์ทั่วประเทศไม่ยอมและจะออกมาประท้วงแน่นอน” นายกทันตแพทยสภา กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท