Skip to main content
sharethis
'ประยุทธ์' ขออย่าขยายความ ย้ำไม่จำเป็นต้องใช้องค์กรต่างประเทศ หัวหน้าคณะคุยสันติสุขฯ ยันเดินหน้าต่อไป กำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน ด้าน BRN ย้ำต้องการเจรจาโดยตรงกับรัฐบาลไทย โดยมีประชาคมโลกร่วมสังเกตการณ์ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญชี้แถลงการณ์ช่วยเตือนว่าบีอาร์เอ็นยินดีเจรจาภายใต้เงื่อนไขที่ถูกต้อง

ร้านน้ำชา (แฟ้มภาพ ประชาไท) 

11 เม.ย. 2560 จากกรณีวานนี้ (10 เม.ย.60) ได้มีการเผยแพร่แถลงการณ์ระบุว่าเป็นของขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี หรือ BRN ที่ประกาศพร้อมเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพชายแดนใต้ แต่ตั้งเงื่อนไขว่าต้องมีคนกลางที่เชื่อถือได้ ต้องมีความยุติธรรม จะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และปฏิบัติหน้าที่อำนวยความสะดวกการเจรจาตามกรอบกระบวนการที่คู่ขัดแย้งเห็นชอบร่วมกัน และมีผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศเข้าร่วม รวมถึงต้องมีการออกแบบขั้นตอนการเจรจาร่วมกันก่อนที่จะเริ่มต้นเจรจาจริง นั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ประยุทธ์ ขออย่าขยายความ ย้ำไม่จำเป็นต้องใช้องค์กรต่างประเทศ

วันนี้ (11 เม.ย.60) เดลินิวส์ รายงานด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงกรณีกลุ่มบีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์ดังกล่าวด้วยว่า ขออย่าขยายความการเผยแพร่ข่าวของกลุ่มต่างๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพูดคุยสันติสุข ซึ่งไม่ว่าใครที่อยากจะออกมาพูดคุยต้องประสานมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวก เพราะรัฐบาลไม่สามารถพูดคุยกับคนที่มีรายชื่อในกลุ่มก่อความไม่สงบภายในประเทศได้ โดยกลุ่มดังกล่าวถือว่าเป็นกลุ่มเห็นต่างที่มีส่วนน้อยเท่านั้น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาของตัวเองได้ และไม่จำเป็นต้องใช้องค์กรต่างประเทศ ขอให้เชื่อถือรัฐบาลเพราะต้องทำให้สถานการณ์สงบโดยเร็ว ซึ่งจะต้องหาสาเหตุที่เกิดขึ้นทั้งเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเรื่องต่างๆ ทั้งนี้หากพิสูจน์ทราบว่าเป็นการกระทำผิดกฏหมายจนนำไปสู่การต่อสู้จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่มีการบาดเจ็บและล้มตาย แต่หากเป็นสาเหตุอื่นต้องดำเนินการสอบสวนต่อไป แม้ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ก็ไม่ละเว้น 

อักษรา ยันเดินหน้าต่อไป กำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน

มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สัมภาษณ์ถึง กรณีกลุ่มบีอาร์เอ็น ออกแถลงการณ์ดังกล่าวว่า ตนได้เห็นแถลงการณ์ดังกล่าวแล้วและยืนยันว่าเรายังคงเดินหน้าต่อไปในการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน ถือเป็นเรื่องภายในของกลุ่มมาราปาตานี ซึ่งก็คือ บีอาร์เอ็นเหมือนกัน ที่ต้องไปดำเนินการ ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรา

ต่อกรณีคำถามที่ว่า กลุ่ม BRN เรียกร้องมากับไทยว่าให้เปลี่ยนตัวคณะพูดคุยนั้น พล.อ.อักษรา กล่าวว่า กลุ่มบีอาร์เอ็น คงอึดอัด เพราะสื่อเสนอข่าวว่าเขาไม่เห็นด้วยกับการพูดคุย จะใช้ความรุนแรง และประกาศเอกราช ปี 2575 ซึ่งเขาก็แค่ยืนยันว่าเห็นด้วยกับแนวทางการพูดคุย ที่ผ่านมาสื่อไปพูดแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น เขาคงอึดอัด และออกแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวออกมา ส่วนเรื่องการขอเปลี่ยนตัวคณะพูดคุยฯและเปลี่ยนประเทศอำนวยความสะดวกนั้น เป็นประเด็นเก่า

“การพูดคุยเดินหน้ามาจนถึงขนาดนี้แล้ว ในส่วนของการขอให้เปลี่ยนตัวชุดคณะพูดคุยฯและเปลี่ยนประเทศอำนวยความสะดวกนั้น อาจจะเกิดความผิดพลาดก็ได้ ซึ่งตรงนี้เราก็ไม่รู้ และเราให้ทางมาราปาตานีไปจัดการ เพราะถือว่าเป็นกลุ่มบีอาร์เอ็นด้วยกัน ต้องไปดูว่าเป็นอย่างไร และไปดูว่าเป็นใคร ซึ่งมีพวกที่ตกขบวนการพูดคุยอยู่ เขาก็อยากเข้าร่วม เพราะกลุ่มบีอาร์เอ็นเห็นด้วยกับการพูดคุย และทุกพวก ทุกฝ่ายก็อยากมาเข้าร่วม และเขาอยากจะคุยกับรัฐบาลไทย” พล.อ.อักษรา กล่าว

พล.อ.อักษรา กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนออื่นๆก็เป็นของเก่าตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องภายในกลุ่มบีอาร์เอ็นเอง ขออย่าไปเต้นตามหรือเดือดร้อนแทนเขา และที่คุยกับอยู่ทุกวันนี้กับกลุ่มมาราปาตานี ไม่ได้มีข้อเสนอ หรือเงื่อนไขเหล่านี้ ถือเป็นความร่วมมือทั้งสองฝ่าย ซึ่งเราต้องมุ่งมั่นเดินหน้าไปตามนโยบายรัฐบาล ส่วนกลุ่มไหนที่ออกมาแถลง ใครเห็นด้วย เห็นต่าง ก็ต้องคุยกันต่อไป

BRN ต้องการเจรจาโดยตรงกับ รบ.ไทย มีประชาคมโลกสังเกตการณ์

ขณะที่ บีบีซีไทย รายงานบทสัมภาษณ์ ทางด้าน อับดุล การิม คาลิด ผู้แทนจาก BRN ซึ่งให้สัมภาษณ์กับ บีบีซีแผนกภาษาอินโดนีเซียว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นมีความประสงค์ที่จะเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลไทยโดยตรง และมีสักขีพยาน เป็นผู้แทนจากนานาประเทศร่วมสังเกตการณ์ เพราะที่ผ่านมาไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาสันติภาพที่รัฐบาล มาเลเซียเป็นผู้ประสานงานให้ทางการไทยได้เจรจากับกลุ่มมาราปาตานี ที่รวมผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มต่าง ๆ เข้าด้วย เนื่องจากบีอาร์เอ็น "ไม่เห็นด้วยกับข้อบังคับ และมองว่าการดำเนินการไม่มีความเท่าเทียม"

อับดุล การิม ยืนยันว่า เขาคือ "สมาชิก" ของ "แผนกข่าวสาร" ของ บีอาร์เอ็น ที่มีเป้าหมายในการปลดปล่อย อาณาจักรปาตานี จากการล่าอาณานิคมของสยาม เมื่อกว่าศตวรรษที่ผ่านมา พวกเขาเริ่มการต่อสู้จากกระบวนการ ทางการเมือง จนหมดหนทาง จึงต้องหันมาจับอาวุธ เขายอมรับว่าเหตุการณ์ความไม่สงบหลายครั้ง ทึ่คร่าชีวิตทหาร ตำรวจ และพลเรือน เป็นฝีมือของบีอาร์เอ็น

"เราเสียใจต่อความสูญเสียของพลเรือน แต่คุณต้องเข้าใจว่าปัตตานีตกอยู่ในภาวะสงคราม และในสงคราม เป็นเรื่องยาก มาก ที่จะป้องกันการเสียชีวิตของพลเรือน" อับดุล การิม ซึ่งให้สัมภาษณ์เป็นภาษามาลายู กล่าวด้วยน้ำเสียงปกติ ขณะที่สมาชิกอีกคนหนึ่งของ "แผนกข่าวสาร" ของบีอาร์เอ็น กล่าวเสริมว่าเหตุยิงถล่มจุดตรวจร่วม 3 ฝ่าย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชุมชนกลางตลาดกรงปินัง ม.7 บนถนนเส้นทางสาย 410 สายยะลา - เบตง ต.กรงปินัง อ.กรงปินัง จนเป็นเหตุให้ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 10 นาย เมื่อคืนวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมาเป็นฝีมือของบีอาร์เอ็น เช่นกัน

ผู้เชี่ยวชาญชี้แถลงการณ์ช่วยเตือน บีอาร์เอ็นยินดีเจรจาในเงื่อนไขที่ถูกต้อง

แมทธิว วีเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป ให้ความเห็นกับเอเอฟพีถึงท่าทีของกลุ่มบีอาร์เอ็นว่า “กลุ่มบีอาร์เอ็นมองว่ากระบวนการสันติภาพที่มีอยู่ในขณะนี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่รัฐบาลไทยและมาเลเซียผลักดันเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง” อย่างไรก็ดี แถลงการณ์นี้ของกลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นสิ่งช่วยเตือนทั้งสองฝ่ายว่าบีอาร์เอ็นยินดีที่จะเจรจาด้วยภายใต้เงื่อนไขที่ถูกต้องเหมาะสมเท่านั้น

“ไม่ใช่เป็นการปฏิเสธการเจรจา แม้ว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นจะปฏิเสธการเข้าร่วมในกระบวนการเจรจาที่มีอยู่ในขณะนี้ก็ตาม” วีเลอร์ กล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net