แรงงานผู้รอดชีวิตจากการสร้างทางรถไฟสายมรณะฉลองวันเกิดครบ 100 ปี

เอลลัน คันเนียน ชาวมาเลเซียเชื้อสายทมิฬ ผู้รอดชีวิตจากการก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ ฉลองวันเกิดอายุครบ 100 ปี พร้อมญาติมิตร โดยเขาเป็นหนึ่งในบรรดาแรงงานชาวเอเชีย 300,000 รายที่ญี่ปุ่นเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟเชื่อมไทย-พม่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรและแรงงานชาวเอเชียเสียชีวิตจำนวนมาก เนื่องจากสภาพที่ทารุณและเลวร้ายระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟ

เอลลัน คันเนียน (นั่งกลาง) แรงงานสร้างทางรถไฟสายมรณะผู้รอดชีวิต พร้อมด้วยญาติมิตรในงานฉลองวันเกิดอายุครบ 100 ปี (ที่มาของภาพ: DRIG)

ที่รัฐสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย "เอลลัน คันเนียน" (Ellan Kannian) ผู้รอดชีวิตจากการก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะเชื่อมไทย-พม่า ได้จัดงานฉลองวันเกิดครบรอบ 100 ปี พร้อมกับญาติมิตรและผู้สนใจเรื่องราวของเขาเมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา ทั้งนี้จากการเปิดเผยของ พ.จันทราเสคารัน กลุ่มศึกษาทางรถไฟสายมรณะ (Death Railway Interest Group-DRIG) ประเทศมาเลเซีย

ในจดหมายข่าวของกลุ่มศึกษาทางรถไฟสายมรณะ (DRIG) เปิดเผยว่าเอลลัน เป็นผู้รอดชีวิตจากการสร้างทางรถไฟสายมรณะ ผู้มีภูมิลำเนาอยู่ที่ Kenny Estate กัวลาสลังงอร์ รัฐสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้มีอายุครบ 100 ปีมาตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม 2560

เอลลันเป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายทมิฬ เกิดเมื่อ 26 มีนาคม 2460 ที่เชนไน ประเทศอินเดีย ก่อนที่จะย้ายมาเป็นแรงงานสวนยางในบริติชมลายา เขาเป็นหนึ่งในบรรดาแรงงานชาวเอเชีย 300,000 ราย ที่ญี่ปุ่นเรียกแรงงานจากเอเชียรวมๆ กันว่า "โรมูฉะ" (Romusha) หรือ "แรงงาน" ที่เดินทางมาสร้างทางรถไฟสายมรณะ หรือทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างชุมทางหนองปลาดุก จ.ราชบุรี ผ่าน จ.กาญจนบุรี ไปเชื่อมกับสถานีตันบูซายัตในประเทศพม่าช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

โดยลูกชายของเอลลันคือ วสุเทวัน (Vasuthevan) อายุ 65 ปี เปิดเผยว่า ทางครอบครัวได้เชิญเพื่อนบ้าน เพื่อน ญาติ และผู้สนใจ มาร่วมฉลองวันเกิดของบิดาของเขาในเช้าวันที่ 8 เมษายน 2560 ที่บ้านพักบนถนนราชาอับดุลลาห์ ตำบลเจอรัม กัวลาสลังงอร์ รัฐสลังงอร์ โดยปัจจุบันภรรยาของเอลลันเสียชีวิตแล้ว ส่วนลูกๆ 3 คน จากทั้งหมด 8 คน ก็เสียชีวิตแล้วเช่นกัน

จากข้อมูลของวสุเทวันเปิดเผยอีกด้วยว่า มักมีครอบครัวของชาวมาเลเซียคนอื่นๆ มาสอบถามว่าบิดาทราบข่าวคราวของผู้ที่ไปสร้างเส้นทางรถไฟสายมรณะและไม่ได้กลับมาหรือไม่

สำหรับเอลลัน ถูกเกณฑ์ไปสร้างทางรถไฟสายมาเลเซีย โดยกองทัพญี่ปุ่นที่เข้ามายึดครองบริติชมลายา และด้วยความร่วมมือจากเสมียนในนิคมสวนยาง ทั้งนี้ เอลลันเดินทางมาสร้างทางรถไฟพร้อมกับพี่ชายของเขา พนนัน (Ponnan) น้องเขย รามาซามี (Ramasamy) และอดีตคนงานอื่นๆ โดยเอลลันเป็นผู้ที่รอดชีวิตมาจากการก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ และได้รับการบันทึกเรื่องราวเอาไว้โดยกลุ่มศึกษาทางรถไฟสายมรณะ (DRIG) ประเทศมาเลเซีย

เอลลันพร้อมด้วยแรงงานหลายร้อยคนจากบริติชมลายา หรือมาเลเซีย เดินทางด้วยรถไฟมายังประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เอลลันขาดการติดต่อกับ พนนัน และรามาซามี โดยเอลลันต้องเดินไปทำงานในพื้นที่อื่นห่างไกลอย่าง "สถานีนิเกะ" ซึ่งปัจจุบันอยู่ในฝั่ง อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ห่างจากด่านเจดีย์สามองค์ ชายแดนไทย-พม่า ไปราว 22 กม. ทั้งนี้แรงงานชาวเอเชียจำนวนมากไม่อาจเดินเท้าไปถึงไซต์งานก่อสร้าง และเสียชีวิตอยู่ตามแนวรางรถไฟ

เมื่อเอลลันเดินเท้ากินเวลาถึงวันที่ 5 เขารู้สึกว่าเขาเห็นคนหน้าตาคล้ายๆ เขานอนอยู่ตามทาง และเมื่อมองไปใกล้ๆ ก็พบว่าเป็นพนนัน พี่ชายของเขา ซึ่งยังคงหายใจอยู่ แต่ไม่ทันจะช่วยเหลืออะไรเขาก็ถูกทหารญี่ปุ่นทุบตีจากด้านหลังและตะโกนให้เขาเดินต่อไป ทำให้เขาต้องทิ้งพนนันไว้ที่นั่น อย่างไรก็ตามก่อนเดินต่อไปเขาได้เอาผ้าที่ติดตัวเขามาคลุมร่างกายของพนนันก่อนที่จะต้องจากกัน

และเมื่อเดินต่อไปอีกหลายวัน เขาก็เห็นอีแร้งมารอตามต้นไม้ ซึ่งอีแร้งพวกนี้มาอาศัยกินซากศพของแรงงานที่มาเสียชีวิตอยู่ก่อนหน้านี้ และเรื่องนี้ก็กลายเป็นเรื่องปกติ และเมื่อเขาเดินไปเรื่อยๆ เอลลันก็มองเห็นภาพหลอนมากมาย เพราะเอลลันครุ่นคิดถึงชะตากรรมของทั้งพี่ชายและน้องเขย ซึ่งเขาไม่เคยพบเห็นอีก และอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นพวกเขา

ทั้งนี้เอลลัน เป็นหนึ่งในผู้ที่โชคดีรอดชีวิตจากการก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ และมีชีวิตยืนยาวที่จะบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยกลุ่มศึกษาทางรถไฟสายมรณะ (DRIG) ประเทศมาเลเซีย มีโอกาสสัมภาษณ์และสอบถามบรรดาผู้ที่รอดชีวิตจากการก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะเหล่านั้น

 

แรงงานชาวเอเชียผู้ก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ
และอนุสรณ์สถานเพื่อการรำลึก

สถูปใหญ่บรรจุกระดูกของแรงงานชาวเอเชียที่เสียชีวิตในช่วงก่อสร้างทางรถไฟ ที่สุสานของวัดถาวรวราราม อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับสุสานดอนรัก ที่เป็นที่ฝังศพเชลยสัมพันธมิตร (ที่มา: ประชาไท/แฟ้มภาพ/เมษายน 2557)

อนุสรณ์สถานที่ฝ่ายญี่ปุ่นสร้างไว้ใกล้กับสะพานข้ามแม่น้ำแคว เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 โดยรอบอนุสรณ์สถานมีข้อความจารึกเป็นภาษาต่างๆ ที่เป็นภาษาของแรงงานชาวเอเชียทั้งภาษาจีน ภาษาเวียดนาม ภาษาทมิฬ และภาษามลายู เป็นต้น (ที่มา: ประชาไท/แฟ้มภาพ/มีนาคม 2558)

 

สำหรับทางรถไฟไทย-พม่า ก่อสร้างในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2485 ถึง ตุลาคม พ.ศ. 2486 เปิดใช้งานเดือนธันวาคม พ.ศ. 2486 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 การก่อสร้างเริ่มต้นจากสถานีชุมทางหนองปลาดุก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ผ่านกาญจนบุรีข้ามแม่น้ำแควใหญ่ โดยสะพานข้ามแม่น้ำแคว ไปทางทิศตะวันตกจนถึงด่านเจดีย์สามองค์ เพื่อให้ถึงปลายทางที่เมืองตันบูซายัด รัฐมอญ ประเทศพม่า โดยระยะทางมีความยาวจากสถานีชุมทางหนองปลาดุกถึงสถานีตันบูซายัดรวม 415 กิโลเมตร เป็นรางขนาด 1 เมตร อยู่ในเขตประเทศไทยประมาณ 303.95 กิโลเมตร และอยู่ในเขตพม่า 111.05 กิโลเมตร มีสถานีจำนวน 37 สถานี

อนึ่งการสร้างสะพานและทางรถไฟสายนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก มีการใช้แรงงานเชลยศึกสัมพันธมิตร 61,811 ราย และแรงงานเอเชียที่เกณฑ์มา รวมทั้งผู้ที่มาเพราะถูกโฆษณาว่าเป็นงานได้รับค่าตอบแทนที่ดี ทั้งนี้มีแรงงานชาวจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า อินเดีย รวมทั้งแรงงานในไทย โดยบางช่วงมีแรงงานเอเชียทำงานมากกว่า 300,000 ราย โดยญี่ปุ่นเรียกแรงงานจากเอเชียรวมๆ กันว่า "โรมูฉะ" (Romusha) หรือ "แรงงาน" เมื่อแปลเป็นไทย

ทั้งนี้ในช่วงการก่อสร้างมีการทารุณเชลย ความโหดร้ายของสงคราม โรคภัย และการขาดแคลนอาหาร ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ในจำนวนนี้เป็นเชลยศึกสัมพันธมิตร 12,621 คน และในบรรดาแรงงานเอเชีย 300,000 รายมีบางข้อมูลที่ประเมินว่าอาจมีสถิติเสียชีวิตในช่วงที่ก่อสร้างทางรถไฟสูงถึงร้อยละ 50

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเจ้าหน้าที่ทหารชาวญี่ปุ่นถูกดำเนินคดีในข้อหาอาชญากรสงคราม 111 ราย เนื่องจากการปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อเชลยศึกในช่วงที่มีการก่อสร้างทางรถไฟ โดยในจำนวนนี้มีทหารญี่ปุ่น 32 รายที่ถูกตัดสินประหารชีวิต

ขณะที่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เส้นทางรถไฟถูกรื้อจากชายแดนด้านด่านเจดีย์สามองค์มาถึงสถานีน้ำตก อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ส่วนของพม่ามีการรื้อจนถึงสถานีตันบูซายัด เส้นทางในไทยส่วนหนึ่งปัจจุบันจมอยู่ใต้เขื่อนวชิราลงกรณ์ ปัจจุบันมีการเปิดการเดินรถช่วงสถานีชุมทางหนองปลาดุกจนถึงสถานีน้ำตก โดยเป็นส่วนหนึ่งของขบวนรถไฟสายธนบุรี-น้ำตก และชุมทางหนองปลาดุก-น้ำตก

ในส่วนของสุสานทหารสัมพันธมิตรที่เสียชีวิตในช่วงก่อสร้างทางรถไฟไทย-พม่า มีการสร้างสุสานไว้ที่ จ.กาญจบุรี 2 แห่ง คือที่สุสานดอนรัก และสุสานช่องไก่ และมีการสร้างสุสานที่ตันบูซายัด ฝั่งพม่า 1 แห่ง

นอกจากนี้บริเวณสุสานของวัดถาวรวราราม ซึ่งเป็นวัดอันนัมนิกาย หรือวัดญวน โดยในสุสานมีสถูปใหญ่เป็นที่บรรจุกระดูกของแรงงานผู้เสียชีวิตในช่วงของการก่อสร้างทางรถไฟ โดยเป็นการรวบรวมซากกระดูกของผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นแรงงานเอเชีย เมื่อ พ.ศ. 2491 โดยรวบรวมได้กว่า 4,500 ราย โดยชุมชนรอบวัดถาวรวรารามมีการจัดทำบุญอุทิศส่วนกุศลเป็นประจำทุกปีในช่วงใกล้เคียงกับเทศกาลเชงเม้ง

ในส่วนของญี่ปุ่นมีอนุสรณ์สถานที่ก่อสร้างไว้ใกล้กับสะพานข้ามแม่น้ำแคว จุดที่มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลดังกล่าว โดยในป้ายจารึกหน้าอนุสรณ์สถานดังกล่าวระบุว่า "สร้างโดยกองทัพญี่ปุ่นใกล้กับสะพานข้ามแม่น้ำแคว โดยในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อไว้อาลัยให้ดวงวิญญาณทหารสัมพันธมิตรและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้เสียชีวิตในการก่อสร้างทางรถไฟไทย-พม่า" ในป้ายระบุด้วยว่าในเดือนมีนาคมของทุกๆ ปี จะมีชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย มาร่วมชุมนุมกันเพื่อประกอบพิธีรำลึกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท