ผู้ประท้วงหลายหมื่นคนในฮังการี-ต้านกฎบีบมหาวิทยาลัยต่างชาติ

รัฐบาลพรรคฝ่ายขวาของฮังการีเพิ่งเสนอกฎหมายฉบับใหม่พุ่งเป้ามาที่มหาวิทยาลัย 28 แห่งที่ได้รับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลยูโรเปียน (CEU) ที่อาจถูกปิดเพราะกฎหมายฉบับใหม่ ทำให้เกิดการประท้วงจากเหล่านักศึกษาและบุคลากร พวกเขากล่าวหารัฐบาลฮังการีว่ากำลังวางแผนให้มหาวิทยาลัยของพวกเขาถูกปิด

ที่มาของภาพ: I stand with CEU

13 เม.ย. 2560 วอชิงตันโพสต์รายงานว่าเมื่อวันที่ 12 เม.ย. ที่ผ่านมามีผู้ประท้วงหลายหมื่นคนรวมตัวประท้วงกันทีกรุงบูดาเปสต์ เมืองหลวงของฮังการี เพื่อแสดงการต่อต้านนโยบายของรัฐบาลอนุรักษ์นิยมที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการและคุกคามกลุ่มภาคประชาสังคม

ผู้ชุมนุมเดินขบวนมารวมตัวกันที่จัตุรัสวีรบุรุษ สถานที่สำคัญในบูดาเปสต์ ผู้ชุมนุมบางส่วนยืนเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สกัดกั้นพวกเขาไม่ให้เข้าไปในสำนักงานของพรรคฟิเดสซ์ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของนายกรัฐมนตรีวิคเตอร์ ออร์บาน

และเกิดปะทะเล็กน้อย เมื่อมีผู้ชุมนุมพยายามผลักแนวกั้นของตำรวจ พอถึงช่วงกลางคืนผู้ชุมนุมหลายพันคนก็อยู่ที่รัฐสภาตะโกนคำขวัญต่อต้านรัฐบาล

ฟลอรา เฟเกเต นักศึกษาในฮังการีกล่าวว่าเธอเข้าร่วมการเดินขบวนเพราะไม่อยากให้รัฐบาลฮังการีนำวิธีการแบบเดียวกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียมาใช้กับฮังการี

การประท้วงนี้มีที่มาจากการที่รัฐบาลออร์บานพยายามแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่หลายคนมองว่าเป็นการกลั่นแกล้งมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลยูโรเปียน (CEU) ที่ก่อตั้งโดย จอร์จ โซรอส เศรษฐีชาวอเมริกันเชื้อสายฮังการี ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2534 โดยที่โซรอสมีวิสัยทัศน์ในการเปิดกว้างทางสังคม ตรงกันข้ามกับออร์บานที่มีแนวทางอนุรักษ์นิยม ต่อต้านผู้อพยพ และออร์บานมองว่ากลุ่มที่เปิดกว้างเหล่านี้กำลังทำให้ฮังการีเสียผลประโยชน์

ออร์บานและรัฐบาลพรรคฟีเดสซ์ต้องการแก้กฎหมายดังกล่าวเพื่อสร้างข้อจำกัดในการดำรงอยู่ของมหาวิทยาลัยแบบ CEU โดยจำกัดมหาวิทยาลัยที่จดทะเบียนจากต่างชาติและไม่มีมหาวิทยาลัยก่อตั้งอยู่ในประเทศตัวเอง โดยตั้งเงื่อนไขว่า หากมหาวิทยาลัยเหล่านี้จะดำเนินการต่อไปต้องได้รับการยินยอมตกลงกันด้วยการลงนามระหว่างผู้นำรัฐบาลของทั้งสองประเทศ โดยกรณีปัจจุบันก็คือต้องให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามกับ นายกรัฐมนตรีวิคเตอร์ ออร์บาน ของฮังการี

รวมถึงเงื่อนไขที่สองคือ ต้องมีการจัดตั้งวิทยาเขตและคณะต่างๆ ที่ประเทศต้นทาง ในกรณีของ CEU คือต้องตั้งมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 และมหาวิทยาลัยที่ไม่สามารถทำตามข้อตกลงได้จะต้องยกเลิกการดำเนินงานภายในปี 2564

ก่อนหน้าการประท้วงครั้งล่าสุดนี้เคยมีการประท้วงบนท้องถนนหลายครั้งแล้วในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อแสดงการสนับสนุน CEU มีชาวฮังการีหลายร้อยคนและนักวิชาการจากต่างประเทศในหลายมหาวิทยาลัยต่างก็แสดงออกสนับสนุน CEU ที่มีนักศึกษาอยู่มากกว่า 1,400 คน

ทางรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐบาลฮังการีสั่งระงับกฎหมายดังกล่าว ขณะที่โฆษกรัฐบาลฮังการีประกาศว่ากฎหมายไม่สามารถระงับได้แต่รัฐบาลจะมีการหารือเกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยบอกว่า "ถ้ามหาวิทยาลัยของโซรอสขับเคลื่อนด้วยเจตนาที่ดี ก็จะแก้ปัญหาได้"

อย่างไรก็ตามทางมหาวิทยาลัยก็ระบุว่าการพูดผ่านสื่อก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งแต่พวกเขายังไม่ได้รับการติดต่อโดยตรงจากทางการฮังการี และต้องการหารือกันโดยตรง

วอชิงตันโพสต์ระบุว่าพรรคฝ่ายค้านของฮังการีพยายามยื่นฟ้องอุทธรณ์การพิจารณากฎหมายนี้ในศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่พรรครัฐบาลฮังการีกำลังพยายามออกกฎหมายที่บีบให้องค์กรพัฒนาเอกชนที่รับทุนดำเนินงานจากนอกประเทศมากกว่า 7.2 ล้านฟอรินต์ (ราว 840,000 บาท) ต้องจดทะเบียนกับรัฐบาลไม่เช่นนั้นจะถูกสั่งปรับหรือถูกสั่งปิด

ขณะที่ สเตฟาเนีย คาปรองเซย์ กรรมการผู้จัดการของสหภาพเสรีภาพพลเมืองฮังการีกล่าวตอบโต้ในเรื่องนี้ว่ารัฐบาลฮังการีเริ่มอดกลั้นต่อความคิดที่แตกต่างได้น้อยลงเรื่อยๆ

เรียบเรียงจาก

Tens of thousands protest Hungary’s education, NGO policies, Washington Post, 12-04-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท