ไผ่ ดาวดิน ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนจากประเทศเกาหลีใต้

ไผ่ ดาวดิน ผู้ต้องหาคดี 112 จากการแชร์รายงานข่าวพระราชประวัติ ร.10 ได้รับรางวัลนักปกป้องสิทธิจากเกาหลีใต้พร้อมเงิน 50,000 ดอลลาร์ ผู้ที่เคยได้รับรางวัลนี้มาแล้วได้แก่ นางอองซาน ซูจี จากประเทศพม่า นายสมบัด สมพอน ทนายสิทธิผู้ถูกบังคับให้สูญหายชาวลาว กลุ่มรณรงค์การเลือกตั้งที่สะอาดและยุติธรรม หรือ ‘Bersih’ ประเทศมาเลเซีย และนางอังคณา นีละไพจิตร 

14 เมษายน 2560 เวลา 11.10 น. ประชาไทได้รับแจ้งจาก สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล ว่า ทางสถาบันได้รับอีเมล์แจ้งว่า นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นักศึกษา ม.ขอนแก่น นักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน (Gwang Ju Prize for Human Rights) ประจำปี 2560 จากมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)

อีเมล์ดังกล่าวได้ส่งถึง ไผ่ ดาวดิน และสถาบันสิทธิฯ ซึ่งเป็นองค์กรที่เสนอชื่อให้ ไผ่ เข้ารับรางวัลดังกล่าวโดยเนื้อหาส่วนหนึ่งได้ระบุว่า

“ คณะกรรมการคัดสรรรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2017 ขอชื่นชมความกล้าหาญและจิตใจรักความเป็นธรรมของคุณที่เคลื่อนไหวต่อสู้กับเผด็จการและการละเมิดสิทธิมนุษยชน เราเล็งเห็นด้วยว่าการต่อสู้ของคุณช่วยปลุกเร้าประชาชน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ให้หันมาสนใจสภาพการณ์ทางการเมืองและความสำคัญของการแก้ไขปัญหา รวมทั้งได้สร้างคุณูปการต่อการเรียกร้องระบอบประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประเทศไทย”

ในจดหมายได้เชิญให้ไผ่เดินทางไปรับรางวัลในวันที่  18 พฤษภาคม 2560 ที่เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ โดยได้ระบุว่าหาก ไผ่ ไม่สามารถเดินทางไปรับรางวัล ให้ตัวแทนของไผ่ เป็นผู้ไปรับรางวัลแทน นอกจากการรับเกียรติบัตรแล้วทางมูลนิธิยังจะได้มอบเงินให้กับผู้ได้รับรางวัล 50,000 ยูเอสดอลลาร์ 

มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) เจ้าของรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ก่อตั้งขึ้นโดยเหยื่อของการปราบปรามการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ (เมื่อปี 2523)  มูลนิธิได้ทำงานรวบรวมและบันทึกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ปราบปรามสังหารประชาชนที่เมืองกวางจู เพื่อเป็นการสืบสานเจตนารมย์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และสนับสนุนและเผยแพร่การเรียกร้องประชาธิปไตยและการทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนในเอเชีย ซึ่งรางวัลที่ ไผ่ และนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงอีกหลายคนได้รับเป็นหนึ่งในกิจกรรมของมูลนิธิ 

สำหรับผู้ที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างที่เคยได้รับรางวัลมาแล้วได้แก่ นางอองซาน ซูจี อดีตผู้เรียกร้องประชาธิปไตย เลขาธิการพรรค NLD และ รมว.ต่างประเทศพม่า นายสมบัด สมพอน (2015) ทนายความนักสิทธิมนุษยชน ประเทศลาวที่ถูกบังคับให้หายสาบสูญ และกลุ่มรณรงค์การเลือกตั้งที่สะอาดและยุติธรรม หรือ ‘Bersih’ ประเทศมาเลเซีย

สำหรับผู้ได้รับรางวัลชาวไทยคนแรกได้แก่ นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของนาย สมชาย นีละไพจิตร ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่ถูบังคับให้สาบสูญ โดยรางวัลดังกล่าวได้รับเมื่อปี 2549 (2006)  และในปัจจุบันนี้นางอังคณา ได้รับการสรรหาให้เป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

0000

เนื้อหาในจดหมาย

 

เรียน คุณจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) มีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะแจ้งให้คุณทราบว่า คุณคือผู้ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2017 ขอแสดงความยินดีด้วย

คณะกรรมการคัดสรรรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2017 ขอชื่นชมความกล้าหาญและจิตใจรักความเป็นธรรมของคุณที่เคลื่อนไหวต่อสู้กับเผด็จการและการละเมิดสิทธิมนุษยชน เราเล็งเห็นด้วยว่าการต่อสู้ของคุณช่วยปลุกเร้าประชาชน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ให้หันมาสนใจสภาพการณ์ทางการเมืองและความสำคัญของการแก้ไขปัญหา รวมทั้งได้สร้างคุณูปการต่อการเรียกร้องระบอบประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประเทศไทย

พิธีรับรางวัลจะจัดขึ้นในวันที่ 18 พฤษภาคม 2017 ที่เมืองกวางจูระหว่างการจัดงาน Gwangju Asia Forum ในช่วงวันที่ 16 -18 พฤษภาคม เราจะยินดีเป็นอย่างยิ่งหากคุณสามารถมาร่วมเวทีเสวนานี้ โดยเฉพาะพิธีมอบรางวัล ทางมูลนิธิยินดีรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินทางมายังประเทศเกาหลี

หากคุณไม่สามารถมาร่วมงานได้ โปรดแจ้งให้เราทราบถึงบุคคลที่จะมาเป็นตัวแทนของคุณ แต่เราภาวนาขอให้คุณได้รับอิสรภาพในเร็ววันเพื่อที่เราจะได้พบคุณที่เมืองกวางจู หากมีสิ่งใดก็ตามที่เราสามารถทำได้เพื่อให้สิ่งนี้เป็นจริง โปรดบอกให้เราทราบทันที เราจะยินดีอย่างที่สุดหากได้ช่วยเหลือคุณ

ขอแสดงความยินดีอีกครั้งที่คุณได้รับรางวัลนี้ สิ่งที่แนบมาด้วยคือจดหมายเชิญและเอกสารขอข้อมูลอื่นๆ ที่จำเป็น

ด้วยความนับถือ

อินเร ยู
ผู้ประสานงานกิจการระหว่างประเทศ

Dear Mr. Jatupat Boonpattararaksa,

The May 18 Memorial Foundation is very happy and honored to inform you that you are the winner of the 2017 Gwangju Prize for Human Rights. Congratulations.

The 2017 GPHR Selection Committee thought highly of your brave and noble actions against dictatorship and violations on human rights. We also noticed that your struggles have aroused attention about political conditions and the importance of their improvement among your citizens, especially among the young and have contributed to bringing democracy to Thailand.

The Award Ceremony will be held on May 18, 2017 in Gwangju during the 2017 Gwangju Asia Forum between May 16 and 18. We would be pleased if you are present at the Forum, especially at the Award Ceremony. All the expenses related to your visit to Korea will be covered by the Foundation.

If unfortunately, though, you are not available for it, please inform us of someone who can be your surrogate for the occasion. But we do pray that you are freed soon enough so we see you in person here in Gwangju. If there is anything that we can do to make this happen, please let us know. We will be more than happy to assist with you.

Congratulations again on your award winning. Please note the attachments of the invitation letter and other papers for further information.

Sincerely,

Inrae You
International Affairs Coordinator

เกี่ยวกับ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน 

‘ไผ่ ดาวดิน’ หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษาและนักกิจกรรมที่เริ่มเป็นที่รู้จักจากการต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการโครงการพัฒนาต่าง ๆ ในภาคอีสาน ในช่วงหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557  ไผ่และเพื่อนเคยชู 3 นิ้วพร้อมใส่เสื้อที่เรียงกันเป็นข้อความว่า “ไม่เอารัฐประหาร” ต่อหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช.ที่สนามหน้าศาลากลาง จ.ขอนแก่น

ในปีต่อมาไผ่และกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาดาวดินก็ได้จัดกิจกรรมรำลึก 1 ปี รัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น ก่อนที่จะลงมาร่วมกับกลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมในนามขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ชุมนุมต่อต้าน คสช. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ จนเป็นเหตุให้ถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดีและถูกจับขังอยู่ในเรือนจำ

ต่อมาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 ไผ่ และกลุ่มกิจกรรมใน ม.ขอนแก่น ได้จัดกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพฯ เพื่อรณรงค์เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นประชามติ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น จนถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง หน.คสช. หลังจากนั้นไผ่และเพื่อนอีก 1 คนยังได้ไปแจกเอกสารรณรงค์ประชามติ ที่ จ.ชัยภูมิ จนเป็นเหตุให้ถูกแจ้งข้อหากระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึง 10 ปี

เหล่านี้คือเหตุการณ์ที่ทำให้ไผ่ถูกจับกุมและดำเนินคดีช่วงหลังรัฐประหาร ซึ่งนับรวมการจับกุมและดำเนินคดีในครั้งนี้ถือได้ว่าไผ่ถูกจับกุมทั้งหมด 5 ครั้ง และถูกดำเนินคดี 5 คดี

ในส่วนคดีของนายจตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน เกิดจากการเข้าแจ้งความดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดย พ.ท. พิทักษ์พล ชูศรี หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ มณฑลทหารบกที่ 23 จากการที่จตุภัทร์ ได้แชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ BBC Thai เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2559 ซึ่งมีผู้แชร์บทความดังกล่าวประมาณ 2,800 ครั้ง แต่มีจตุภัทร์เพียงคนเดียวที่ถูกจับกุมดำเนินคดี โดยในวันที่ 3 ธ.ค. 2559 จตุภัทร์ ถูกจับกุมตัวที่จังหวัดชัยภูมิ ขณะกำลังร่วมขบวนธรรมยาตรา กับพระไพศาล วิสาโล โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แสดงหมายจับที่ออกโดยศาลจังหวัดขอนแก่น

ต่อมาในวันที่ 4 ธ.ค. 2559 ศาลได้พิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จตุภัทร์ โดยทนาย พร้อมนายประกันได้ยื่นหลักทรัพย์ 4 แสนบาท และให้เหตุผลไว้ในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวว่า จตุภัทร์ เป็นผู้ต่องหาคดีการเมืองอยู่ 4 คดี แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีพฤติกรรมหลบหนี อีกทั้งในวันที่ 8 ธ.ค. ผู้ต้องหามีสอบเป็นวิชาสุดท้าย หากไม่ได้เข้าสอบวิชาดังกล่าวจะส่งผลให้เขาเรียนไม่จบตามหลักสูตร ศาลจึงพิจารณาให้ประกันตัว

ต่อมาในวันที่ 22 ธ.ค. 2559 ศาลจังหวัดขอนแก่น ได้นัดพิจารณาคำร้องของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ที่ขอให้ศาลเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว จตุภัทร์ โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ต้องหา ได้ทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว จึงสั่งให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราว ทั้งยังเห็นว่านายประกัน ซึ่งเป็นบิดา ไม่ได้ทำการห้ามปราบการกระทำดังกล่าวแต่อย่างใด

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลได้มีคำสั่งกำชับให้นายประกัน, ผู้ต้องหาให้มาศาลตามนัด ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ พยานหลักฐานในคดี หรือก่อความเสียหายใดๆ หลังปล่อยตัวชั่วคราว หากผิดนัด ผิดเงื่อนไข ศาลอาจถอนประกันและอาจไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอีก และภายหลังปล่อยตัวชั่วคราว ได้ความจากทางไต่สวนว่า ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้ในสื่อสังคมออนไลน์บนเฟซบุ๊กของผู้ต้องหา กับทั้งผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ทั้งผู้ต้องหายังมีแนวโน้มจะกระทำการในลักษณะเช่นนี้ต่อไปอีก ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มีอายุ 25 ปี ย่อมรู้ดีว่า การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวข้างต้นเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาล จึงฟังได้ความตามคำร้องว่า ผู้ต้องหาได้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายภายหลังการปล่อยตัวชั่วคราว ประกอบกับนายประกันผู้ต้องหาไม่ได้กำชับหรือดูแลให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามเงื่อนไขศาลที่มีคำสั่ง จนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าว จึงให้เพิกถอนสัญญาประกันตัวผู้ต้องหา หมายขังผู้ต้องหา ตรวจคืนหลักประกันให้นายประกัน

ต่อมาวันที่ 10 ก.พ. 2560 ศาลได้รับฟ้องคดีดังกล่าว พร้อมไต่สวนคำให้การของจตุภัทร์ โดยเขาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และพร้อมที่จะสู้คดี โดยในวันนั้นศาลได้ใช้อำนาจสั่งขังเขาต่อไประหว่างการพิจารณาคดี และได้นัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งในวันที่ 21 มี.ค. 2560 ทั้งนี้อัยการโจทก์ได้ระบุในคำฟ้องด้วยว่า

"อนึ่ง หากจำเลยขอปล่อยตัวชั่วคราว โจทก์ขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นการกระทำต่อพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งและเทิดทูนของประชาชน และเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี"

ทั้งนี้จตุภัทร์ ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัด จังหวัดขอนแก่น มาตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 2559 โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2560 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา  หลังจากเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา ทนายความเข้ายื่นอุทธรณ์ เพื่อคัดค้านคำสั่งศาลจังหวัดขอนแก่นลงวันที่ 21 มี.ค. 60 ที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัวจตุภัทร์

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รายงานว่า ในคดีนี้ อัยการจังหวัดขอนแก่นเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุภัทร์ต่อศาลจังหวัดขอนแก่น เป็นคดีหมายเลขดำที่ 301/2560 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 และ 14 (3) โดยจตุภัทร์ให้การปฏิเสธ และศาลนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 3-4, 15-17 ส.ค. 60 สืบพยานจำเลยในวันที่ 30-31 ส.ค. และ 5-7 ก.ย. 60 ในชั้นสอบสวน จตุภัทร์เคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นเวลา 18 วัน แต่ถูกถอนประกันจากการที่ยังโพสต์แสดงความเห็นในโซเชียลมีเดีย หลังถูกถอนประกัน ทนายความได้ยื่นประกันจตุภัทร์ รวม 8 ครั้ง และอุทธรณ์รวม 2 ครั้ง แต่ไม่เคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวอีกเลย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท