Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

ดูเหมือนระบบธุรกิจที่ถูกแตะน้อยที่สุดในทุกรัฐบาลของไทย ได้แก่ ระบบธนาคารพาณิชย์ ยิ่งใช้ภาษาทางการด้วยว่า “สถาบันการเงิน” ระบบธนาคารพาณิชย์ของไทย ก็กลายเป็นองค์กรที่แทบไม่มีหน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดกล้าแตะ กล้าหือ อาจเพราะมันหมายถึงความมั่นคงของเศรษฐกิจของประเทศ

ไม่เว้นแม้แต่หน่วยงานกำกับและควบคุมสถาบันการเงินของรัฐอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)หรือแบงก์ชาติ ที่ควรเล่นบทบาทพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ในที่สุดก็ร่วมหัวพ่วงท้ายไปกับสมาคมธนาคารไทยด้วย

ท่ามกลางแคมเปญ “ไทยแลนด์ 4.0” ปรากฏว่า แบงก์พาณิชย์ของไทยยังคงสร้างผลประกอบการ (รายได้) จากค่าธรรมเนียมมากเป็นอันดับหนึ่ง

นัยเดียวกันนี้ช่างแตกต่างจากแบงก์พาณิชย์ของกลุ่มประเทศโออีซีดี (OECD/องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) ที่หากเข้าไปดูประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศแล้ว จะเห็นว่ารัฐมีบทบาทหรือเข้าไปแตะ เข้าไปกำกับแบงก์พาณิชย์ของพวกเขาอย่างไร ให้เป็นไปในลักษณะการปกป้องคุ้มครอง จากการเอารัดเอาเปรียบประชาชนของผู้ประกอบการแบงก์ในประเทศของเขา

หลักการง่ายๆ ก็คือ แบงก์พาณิชย์ ไม่ควรตัดช่องน้อยแต่พอตัว กินค่าธรรมเนียมตามน้ำเอากับลูกค้าที่ไม่มีทางเลือก จนกลายเป็นเรื่องปกติ เป็นวัฒนธรรมการทำธุรกิจแบบที่เห็นๆ ในแบงก์พาณิชย์ของไทยในอดีตถึงปัจจุบัน

กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ช่างทนดูภาพที่เกิดขึ้นกับลูกค้าของแบงก์เหล่านี้ ซึ่งก็คือประชาชนตาดำๆ ได้แบบไร้ความรู้สึก ไม่รู้ร้อนรู้หนาว หมายความว่ากระไร? ถ้าไม่ใช่เลือดเย็น

เดี๋ยวนี้แบงก์พาณิชย์ของ OECD  (ที่มีสหรัฐอเมริการวมอยู่ด้วย) มีค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมเกือบเท่ากับศูนย์ เช่น ฟรีโอนเงินระหว่างสาขาหรือเอทีเอ็ม ฟรีถอนเงินระหว่างสาขาของธนาคารเดียวกัน แม้แต่ฟรีออกสเตทเม้นท์หรือออกประวัติธุรกรรม (ทรานสเซคชั่น) รวมถึงฟรีทำบัตรเอทีเอ็ม

หากสิ่งที่แบงก์ต้องทำเพื่อสร้างรายได้ให้กลายเป็นรายได้หลักในการทำธุรกิจสมัยใหม่ก็คือ วาณิชธนกิจ (Investment Banking) ตะหาก หมายถึงการบริหารจัดการเงินฝากอย่างปลอดภัยและถูกต้อง การมุ่งทำมาหากินบนหลักการฟันค่าธรรมเนียมจากลูกค้าประชาชนเป็นรายได้หลักนั้นน่าจะหลักการของแบงก์ยุคจูราสสิคมากกว่ายุค 4.0 เพราะนี่คือเทรนด์ (trend) และแบงก์พาณิย์ของไทยจำเป็นต้องปรับตัวตามกระแสโลกาภิวัตน์ที่ว่า หากขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลให้ความสำคัญ เอาจริงเอาจังต่อเรื่องนี้มากน้อยขนาดไหน

และก็น่าจะทราบกันได้ทันทีว่า บุคคลในรัฐบาลไทยที่ดูแลทางด้านเศรษฐกิจเวลานี้ เอาเรื่องนี้ไปไว้ตรงไหน อยู่ปลายอุโมงค์หรือไม่?

ส่วนหนึ่ง พิสูจน์ได้จากจำนวนตู้เอทีเอ็มในเมืองไทย..

ใครจะไปรู้ได้ว่า ไทยเป็นประเทศที่มีจำนวนตู้เอทีเอ็มมากที่สุดในโลก หากเทียบสัดส่วนจำนวนประชากรลูกค้าของธนาคารทุกแห่ง ตู้เอทีเอ็มมีตั้งอยู่ในตึกแถว จนกระทั่งใกล้ขนำน้อยกลางสวน กลางนา กลางไร่ ที่เป็นอย่างนี้เพราะมันเป็นแหล่งที่มาของรายได้อย่างงดงามของบรรดาแบงก์พาณิชย์ประเภทเสือนอนกิน

คิดดูเอาเถิดว่า ถอนเงิน ดูยอดเงิน ค่าธรรมเนียมต่อคนครั้งละ 20 บาท วันหนึ่งๆ แบงก์เหล่านี้มีรายได้เท่าไหร่ (น่าแปลกที่สำนักวิจัยของแบงก์ต่างๆ ไม่เคยรายงานและวิเคราะห์ถึงเรื่องนี้ทั้งๆ ที่มีข้อมูลอยู่ในมือออกเพียบ) มันน่าจะมากกว่าการลงทุนเพื่ออำนวย ความสะดวกให้กับลูกค้าของธนาคาร แถวๆ ป่า แถวๆ ดอย นี่แสดงว่าธุรกิจเอทีเอ็มต้องมีอะไรดีแน่ๆ ถึงกล้าลงทุนกันขนาดนี้

ขณะที่ในอเมริกา จะมีตู้เอทีเอ็มให้เห็นตามศูนย์การค้าใหญ่ๆ และตามสาขาของแต่ละแบงก์เท่านั้น ที่สำคัญส่วนใหญ่ ฟรีค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมชนิดต่างๆ

ที่สำคัญคือ ความสำคัญของตู้เอทีเอ็มในอเมริกาลดลงอย่างมากแค่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากการหันมาใช้ระบบออนไลน์แบงกิ้ง ซึ่งเป็นระบบที่ปลอดภัยการันตีโดยรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง ก็ยิ่งทำให้ความสำคัญของค่าธรรมเนียมแบงก์ในอเมริกาลดลงไปอีก ไยจะพูดถึงวัฒนธรรมการใช้เงินสด ที่เหลือน้อยเต็มที อย่างน้อยก็จากระบบ “ฟรีเชคกิ้งแอคเค้าท์” (ฟรีค่าธรรมเนียมจ่าย/ออกเชค) ถึงตอนนี้ลูกค้าของธนาคารไม่จำเป็นต้องออกจากบ้านให้เมื่อยตุ้มเลยก็ว่าได้ ไม่รวมถึงอีคอมเมิร์ชที่ลูกค้าธนาคารสามารถทำเอาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน นี่คือ สถานการณ์เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วในอเมริกา

ค่าธรรมเนียมสำหรับธนาคารในอเมริกาจึงมีความสำคัญน้อย และกรรมาธิการการเงินการคลังของคองเกรสเห็นความสำคัญของเรื่องนี้มานานหลายปี แบงก์พาณิชย์ในอเมริกากลายเป็นผู้สนับสนุนหรืออยู่เบื้องหลังธุรกิจอีคอมเมิร์ช ขณะที่องค์กรอีคอมเมิร์ซที่อยู่ฉากหน้ากำลังกลายเป็นสถาบันการเงินในรูปแบบสมัยใหม่ เหมือนดังที่ PayPal หรือระบบชำระเงินออนไลน์เป็นและกำลังทำ

นี่คือ รูปแบบการทำธุรกิจของสถาบันการเงินอเมริกันที่เป็นมากกว่าการตัดช่องน้อยแต่พอตัว “หากินแบบง่ายๆ ไร้ความเสี่ยง”เหมือนแบงก์พาณิชย์ของไทยที่อยู่ด้วยการฟันค่าธรรมเนียมเอากับลูกค้าเพียงสถานเดียว โดยไฟเขียวจากทางการของไทยเอง ใครได้ใครเสียก็รู้ๆ กันอยู่

จึงไม่ง่ายนักที่จะพูดถึง startup business ในเมืองไทย ในเมื่อแบงก์พาณิชย์ไทยที่น่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจสมัยใหม่แบบนี้ ไม่ยอมสนับสนุน ด้วยเกรงว่าจะพาแบงก์ไปเสี่ยงกับ startup เห็นได้ว่า แบงก์ไทยแทบไม่สนใจธุรกิจ startup แต่อย่างใด รัฐบาลโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ปาวๆ ไป แต่ไปติดตันตรงที่ผู้ให้การสนับสนุนการลงทุนหรือการเงินซึ่งก็คือแบงก์พาณิชย์นั่นเอง นั่นอาจเพราะแบงก์ไทยเห็นว่า มีความเสี่ยงและซับซ้อน มิสู้ฟันค่าธรรมเนียมเหมือนที่เคยทำมาในอดีตดีกว่า

ซึ่งหากไปดูเหตุผลของการอนุมัติสินเชื่อให้อาลีบาบาของ “ซอฟท์แบงก์ออฟเจแปน” ก็จะเห็นว่าต่างจากเหตุผลของแบงก์พาณิชย์ไทยมากทีเดียว

ดังนั้น ที่กล่าวกันว่า “สมาคมธนาคารไทยใหญ่กว่าแบงก์ชาติ” ก็น่าจะจริงตามเหตุผลข้างต้น...


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net